Skip to main content
สาละวิน,ลูกรัก


พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือ


จนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม


ในขณะที่พ่อของลูกเกิดและเติบโตในสังคมวัฒนธรรมชาวกระยันตั้งแต่เด็กจนโต จนไม่สามารถแยกขาดจากความเชื่อ พิธีกรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด


การเลี้ยงดูสาละวินท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อนั้น แม่เองจึงต้องแบ่งรับแบ่งสู้กับพิธีกรรมต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวลูก และคิดว่ามันไม่เป็นผลเสียอะไรมากมาย กลับเป็นผลดีในทางจิตวิทยาเสียด้วยซ้ำ


เพราะความเชื่อนำไปสู่ความศรัทธา เมื่อคนมีจิตศรัทธา จิตที่อยู่เหนือกาย เช่นคำที่พระว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แล้วไซร้ เมื่อผ่านพิธีกรรมที่เกิดมาจากศรัทธาอันแรงกล้า ก็จะก่อให้เกิดผลดีตามไปด้วย


เช่นวันนี้ ที่แม่ยอมให้จัดพีธีเรียกขวัญลูก ด้วยย่าของลูกเชื่อว่า ลูกร้องไห้งอแงในยามค่ำคืนอยู่นานเกือบครึ่งเดือนแล้ว ทั้งยังเพิ่งสร่างไข้ จึงทำให้ไม่ยอมทานข้าวได้มากเช่นเคย


ชาวกระยันเชื่อว่า ขวัญของเด็กออกจากร่างหนีไปเที่ยวเล่นไกล หรือไม่ก็ขวัญหายระหว่างทาง และไม่สามารถกลับเข้าร่างของตนเองได้ จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญขึ้น


ก่อนวันพิธีพ่อกับแม่ต้องจัดเตรียม สัตว์ไว้ทำพิธี ทั้งหมู และไก่อีกหลายตัว เมื่อถึงวันเรียกขวัญ หมูเจ้ากรรมก็ต้องถูกเชือด เพื่อนำเนื้อมาประกอบพิธีกรรม ในหลายขั้นตอน


ขั้นแรกเมื่อหมูเจ้ากรรมถูกชำแหละเนื้อ พ่อหมอจะดูที่ตับของหมู เพื่อทำนายในส่วนของภาพรวมของครอบครัว ว่าจะมีสิ่งดี หรือสิ่งไม่ดีอย่างไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของเราบ้าง ต่อมาก็จะนำเนื้อหมูและเครื่องในที่สำคัญ ทั้งที่นำมาหุงต้มเรียบร้อยแล้ว และที่ดิบๆอยู่ ใส่ไว้ในก๋วยหรือตะกร้า ซึ่งจะนำไปเซ่นไหว้วิญญาณที่อยู่ตามถนนหนทางหรือป่าเขา ในทิศใดทิศหนึ่งที่ทำนายไว้ว่าขวัญของลูกจะไปตกอยู่ เพื่อเบิกทางให้ขวัญกลับเข้าร่าง

 

โดยในก๋วยดังกล่าวจะประกอบด้วย เครื่องเซ่นไหว้อื่นๆ เช่น หมากพู ยาสูบ เหล้าต้ม เหรียญเงิน มีด พร้า เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้าวของมีค่าใส่ลงไปด้วยก็ได้ โดยในตอนกลับก็สามารถหยิบกลับมาด้วยได้เช่นกัน


พ่อหมอจะมีอาสาสมัครสองคน ซึ่งจะเรียกกันว่าหมา คนหนึ่งคอยช่วยหยิบยกของเซ่นไหว้ อีกคนจะคอยเห่าคอยหอน คือทำเสียงคล้ายหมา เวลาไปถึงจุดที่ตั้งของเซ่นไหว้


เมื่อพ่อหมอทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จก็จะทิ้งก๋วยไว้ แล้วเรียกวิญญาณกลับตามมา ทุกคนในบ้านก็จะนั่งคอยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะลูกที่พ่อหมอจะต้องขานชื่อ ซึ่งผู้ถูกขานชื่อต้องรับว่า "เฮ๊ย" แปลว่าอยู่ ในกรณีลูกที่เล็กมากพ่อจึงต้องคอยขานรับแทน


นอกจากหมูแล้วยังต้องใช้ ไก่สดๆ และต้องเป็นไก่ตัวเมียในกรณีที่ลูกเป็นผู้ชาย และต้องเป็นไก่ตัวผู้ถ้าเป็นลูกสาว


พ่อหมอจะทำการเชือดคอ ให้เลือดไก่ออกมาที่ปาก แล้วใช้ปากไก่แตะมาที่หน้าผากของคนในบ้าน ให้เกิดเป็นรอยเลือดติดอยู่ ซึ่งรอยดังกล่าวต้องให้ติดไว้อย่างน้อยหนึ่งวันโดยไม่ลบออก


จากนั้นจะยกสำรับอาหารที่ปรุงจากเนื้อหมู ให้ทุกคนในบ้านล้อมวงทาน โดยต้องทานให้หมดเกลี้ยงชาม พ่อเฒ่าพ่อแก่ในหมู่บ้านก็จะขึ้นมาผลัดกันมัดข้อมือคนในบ้าน ด้วยฝ้ายสีขาวจนครบทุกคน


พ่อหมอจะใช้ไก่อีกตัวหนึ่งหลังจากเสร็จพิธีเพื่อทำนายว่า ขวัญลูกน้อยเข้าร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือยัง โดยจะดูที่กระดูกหน้าแข้งของไก่ทั้งสองข้าง ซึ่งจะมีรูเล็กๆที่สามารถสอดไม้ไผ่แหลมๆ เข้าไปได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากการทำนายที่สืบต่อๆกันมา


พ่อหมอจะไว้ชีวิตไก่ตัวหนึ่งปล่อยไว้กลางบ้าน เป็นตัวแทนว่าขวัญของลูกกลับมาแล้ว โดยจะสาดเข้าสารไปทั่วบ้าน หากไก่กินข้าวสารดี ไม่ตื่นหนีแสดงว่าขวัญของลูกคืนร่างดีแล้ว ทั้งนี้เจ้าบ้านต้องสาดข้าวสารไปทั่วบ้านอย่างน้อยสามวันติดกัน หลังจากจบวันพิธีแล้ว


เมื่อพิธีกรรมสิ้นสุดลง ก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับชาวบ้าน และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญบ้านไปในตัว


พ่อหมอก็จะต้องเดินทางกลับบ้านโดยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทุกอย่าง โดยเจ้าบ้านจะต้องแบ่งเนื้อหมู น้ำส้ม น้ำหวาน เหล้า ฯลฯ ใส่ในถุงย่ามติดตัวให้พ่อหมอกลับด้วย รวมทั้งเงินค่าทำพิธีอีกจำนวนหนึ่ง


ทั้งนี้หมาทั้งสองตัว หรืออาสาสมัครที่คอยเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อหมอในการทำพิธีก็จะได้รับส่วนแบ่งตามไปด้วย


กว่าพิธีต่างๆจะจบลงที่ล้างจานชามภาชนะก็เกือบเย็น ลูกมีท่าทีแจ่มใสขึ้น แม่คิดว่าลูก

คงสนุกกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย ชลมุนอยู่ใต้ถุนบ้านกับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ตื่นเต้นกับพิธีกรรมแปลกๆ จนเหนื่อยล้าและหลับง่ายดายไม่ร้องสักแอะ


สมแล้วกับค่าทำขวัญที่เสียไปหลายตังค์ แม่คิดว่าขวัญของลูกคงคืนร่าง เมื่อได้สัมผัสกับโลกแปลกใหม่อีกอย่างหนึ่งของชีวิต.


รักลูก,แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…