Skip to main content
สาละวิน,ลูกรัก


พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือ


จนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม


ในขณะที่พ่อของลูกเกิดและเติบโตในสังคมวัฒนธรรมชาวกระยันตั้งแต่เด็กจนโต จนไม่สามารถแยกขาดจากความเชื่อ พิธีกรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด


การเลี้ยงดูสาละวินท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อนั้น แม่เองจึงต้องแบ่งรับแบ่งสู้กับพิธีกรรมต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวลูก และคิดว่ามันไม่เป็นผลเสียอะไรมากมาย กลับเป็นผลดีในทางจิตวิทยาเสียด้วยซ้ำ


เพราะความเชื่อนำไปสู่ความศรัทธา เมื่อคนมีจิตศรัทธา จิตที่อยู่เหนือกาย เช่นคำที่พระว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แล้วไซร้ เมื่อผ่านพิธีกรรมที่เกิดมาจากศรัทธาอันแรงกล้า ก็จะก่อให้เกิดผลดีตามไปด้วย


เช่นวันนี้ ที่แม่ยอมให้จัดพีธีเรียกขวัญลูก ด้วยย่าของลูกเชื่อว่า ลูกร้องไห้งอแงในยามค่ำคืนอยู่นานเกือบครึ่งเดือนแล้ว ทั้งยังเพิ่งสร่างไข้ จึงทำให้ไม่ยอมทานข้าวได้มากเช่นเคย


ชาวกระยันเชื่อว่า ขวัญของเด็กออกจากร่างหนีไปเที่ยวเล่นไกล หรือไม่ก็ขวัญหายระหว่างทาง และไม่สามารถกลับเข้าร่างของตนเองได้ จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญขึ้น


ก่อนวันพิธีพ่อกับแม่ต้องจัดเตรียม สัตว์ไว้ทำพิธี ทั้งหมู และไก่อีกหลายตัว เมื่อถึงวันเรียกขวัญ หมูเจ้ากรรมก็ต้องถูกเชือด เพื่อนำเนื้อมาประกอบพิธีกรรม ในหลายขั้นตอน


ขั้นแรกเมื่อหมูเจ้ากรรมถูกชำแหละเนื้อ พ่อหมอจะดูที่ตับของหมู เพื่อทำนายในส่วนของภาพรวมของครอบครัว ว่าจะมีสิ่งดี หรือสิ่งไม่ดีอย่างไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของเราบ้าง ต่อมาก็จะนำเนื้อหมูและเครื่องในที่สำคัญ ทั้งที่นำมาหุงต้มเรียบร้อยแล้ว และที่ดิบๆอยู่ ใส่ไว้ในก๋วยหรือตะกร้า ซึ่งจะนำไปเซ่นไหว้วิญญาณที่อยู่ตามถนนหนทางหรือป่าเขา ในทิศใดทิศหนึ่งที่ทำนายไว้ว่าขวัญของลูกจะไปตกอยู่ เพื่อเบิกทางให้ขวัญกลับเข้าร่าง

 

โดยในก๋วยดังกล่าวจะประกอบด้วย เครื่องเซ่นไหว้อื่นๆ เช่น หมากพู ยาสูบ เหล้าต้ม เหรียญเงิน มีด พร้า เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้าวของมีค่าใส่ลงไปด้วยก็ได้ โดยในตอนกลับก็สามารถหยิบกลับมาด้วยได้เช่นกัน


พ่อหมอจะมีอาสาสมัครสองคน ซึ่งจะเรียกกันว่าหมา คนหนึ่งคอยช่วยหยิบยกของเซ่นไหว้ อีกคนจะคอยเห่าคอยหอน คือทำเสียงคล้ายหมา เวลาไปถึงจุดที่ตั้งของเซ่นไหว้


เมื่อพ่อหมอทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จก็จะทิ้งก๋วยไว้ แล้วเรียกวิญญาณกลับตามมา ทุกคนในบ้านก็จะนั่งคอยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะลูกที่พ่อหมอจะต้องขานชื่อ ซึ่งผู้ถูกขานชื่อต้องรับว่า "เฮ๊ย" แปลว่าอยู่ ในกรณีลูกที่เล็กมากพ่อจึงต้องคอยขานรับแทน


นอกจากหมูแล้วยังต้องใช้ ไก่สดๆ และต้องเป็นไก่ตัวเมียในกรณีที่ลูกเป็นผู้ชาย และต้องเป็นไก่ตัวผู้ถ้าเป็นลูกสาว


พ่อหมอจะทำการเชือดคอ ให้เลือดไก่ออกมาที่ปาก แล้วใช้ปากไก่แตะมาที่หน้าผากของคนในบ้าน ให้เกิดเป็นรอยเลือดติดอยู่ ซึ่งรอยดังกล่าวต้องให้ติดไว้อย่างน้อยหนึ่งวันโดยไม่ลบออก


จากนั้นจะยกสำรับอาหารที่ปรุงจากเนื้อหมู ให้ทุกคนในบ้านล้อมวงทาน โดยต้องทานให้หมดเกลี้ยงชาม พ่อเฒ่าพ่อแก่ในหมู่บ้านก็จะขึ้นมาผลัดกันมัดข้อมือคนในบ้าน ด้วยฝ้ายสีขาวจนครบทุกคน


พ่อหมอจะใช้ไก่อีกตัวหนึ่งหลังจากเสร็จพิธีเพื่อทำนายว่า ขวัญลูกน้อยเข้าร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือยัง โดยจะดูที่กระดูกหน้าแข้งของไก่ทั้งสองข้าง ซึ่งจะมีรูเล็กๆที่สามารถสอดไม้ไผ่แหลมๆ เข้าไปได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากการทำนายที่สืบต่อๆกันมา


พ่อหมอจะไว้ชีวิตไก่ตัวหนึ่งปล่อยไว้กลางบ้าน เป็นตัวแทนว่าขวัญของลูกกลับมาแล้ว โดยจะสาดเข้าสารไปทั่วบ้าน หากไก่กินข้าวสารดี ไม่ตื่นหนีแสดงว่าขวัญของลูกคืนร่างดีแล้ว ทั้งนี้เจ้าบ้านต้องสาดข้าวสารไปทั่วบ้านอย่างน้อยสามวันติดกัน หลังจากจบวันพิธีแล้ว


เมื่อพิธีกรรมสิ้นสุดลง ก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับชาวบ้าน และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญบ้านไปในตัว


พ่อหมอก็จะต้องเดินทางกลับบ้านโดยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทุกอย่าง โดยเจ้าบ้านจะต้องแบ่งเนื้อหมู น้ำส้ม น้ำหวาน เหล้า ฯลฯ ใส่ในถุงย่ามติดตัวให้พ่อหมอกลับด้วย รวมทั้งเงินค่าทำพิธีอีกจำนวนหนึ่ง


ทั้งนี้หมาทั้งสองตัว หรืออาสาสมัครที่คอยเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อหมอในการทำพิธีก็จะได้รับส่วนแบ่งตามไปด้วย


กว่าพิธีต่างๆจะจบลงที่ล้างจานชามภาชนะก็เกือบเย็น ลูกมีท่าทีแจ่มใสขึ้น แม่คิดว่าลูก

คงสนุกกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย ชลมุนอยู่ใต้ถุนบ้านกับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ตื่นเต้นกับพิธีกรรมแปลกๆ จนเหนื่อยล้าและหลับง่ายดายไม่ร้องสักแอะ


สมแล้วกับค่าทำขวัญที่เสียไปหลายตังค์ แม่คิดว่าขวัญของลูกคงคืนร่าง เมื่อได้สัมผัสกับโลกแปลกใหม่อีกอย่างหนึ่งของชีวิต.


รักลูก,แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…