Skip to main content
 

สาละวิน,ลูกรัก

เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
\\/--break--\>

สิบสองคนที่เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน   มีแม่เพียงคนเดียวที่เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่สอบผ่านได้ดังตั้งใจ  เชียงใหม่จึงกลายมาเป็นเมืองที่แม่อยู่อาศัยนานกว่าแปดปี

ครั้งแรกของลูกที่เดินทางจากแม่ฮ่องสอนบ้านเกิดมาเชียงใหม่ ลูกอายุได้เพียงแปดเดือนเศษ เป็นปีเดียวที่ลูกเกิด และเป็นช่วงย่างเข้าหน้าหนาว

พ่อของลูกก็เช่นกันที่ได้เดินทางมาเชียงใหม่เป็นครั้งแรก และคงเป็นครั้งแรกที่พ่อได้นั่งรถเมล์โดยสารออกนอกเมืองไกลๆ เช่นนี้  สู่เมืองแปลกหน้า ที่อยู่เพียงใกล้ตาแต่ไกลตีนของชนเผ่าที่ไร้สัญชาติ

มันเป็นการยากที่เราสามคนจะได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกัน แต่ด้วยความพยายามของแม่ ที่เข้าออกที่ว่าการอำเภออยู่หลายรอบ  เพื่อขออนุญาตให้พ่อซึ่งถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวเขาว่า บัตรเขียวขอบแดงโดยผู้ถือบัตรต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่กับทางอำเภอ  ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย

พ่อของลูกต้องไปขออนุญาตจากผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน เมื่อได้คำรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องเข้าไปแสดงหลักฐาน กับทางอำเภอ แจ้งวัตถุประสงค์ ซึ่งทางปลัดอำเภอที่รับผิดชอบก็จะสอบถามรายละเอียด เช่น มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะเดินทางไปเชียงใหม่ เมื่อไปถึงแล้วพักอาศัยอยู่บ้านใคร

ที่สำคัญหากไม่มีธุระสำคัญก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาต  ตอนนั้นเราจึงต้องผิดศีลโกหกไปว่าจะไปเยี่ยมญาติที่ป่วยอยู่ จนกระทั่งพ่อได้รับอนุญาตให้เดินทางได้เพียง 7 วัน แม้จะเป็นเวลาแสนสั้นแต่ก็ทำให้เราดีใจกันมาก

ความจริงแล้วเราไม่มีธุระอะไรกันมากมาย  แม่เพียงอยากให้พ่อได้เดินทางไปในเมืองที่แม่เคยอาศัยมานานกว่าแปดปี เมืองที่พ่อเคยได้เห็นเพียงการนึกภาพและคำบอกเล่าของแม่เท่านั้น

เมื่อถึงวันที่เราจะเดินทาง แม่เลือกรถเที่ยวสุดท้ายเวลาสามทุ่มกว่า เพราะเราจะได้เดินทางถึงเชียงใหม่ในเวลาเช้ามืดพอดี

แม่ฮ่องสอนที่หนทางคดเคี้ยวลาดชันใช้เวลาเดินทางข้ามเขตรอยต่อจังหวัดๆ เดียวนานถึงแปดชั่วโมง พอๆ กับการเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯซึ่งระยะทางยาวไกลกว่ากันถึงสองเท่าเลยทีเดียว

ลูกหลับไปแล้วอยู่ในอ้อมกอดแม่ ส่วนพ่อนั้นตาทั้งสองข้างคงจะเบิกโพลงในความมืดเมื่อต้องเจอกับด่านทหารในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

เมื่อรถจอดทุกคนต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อทหารที่ขอตรวจค้น แม้เราจะได้ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังกลายเป็นจุดสนใจ เมื่อพ่อต้องแสดงหลักฐานที่ไม่ใช่บัตรประชาชนเหมือนคนอื่นๆ แต่เป็นหนังสือสองสามหน้าที่มีรูปถ่ายและลายนิ้วมือ

แม่รู้สึกว่าในความเหน็บหนาวของอากาศพ่อกลับรู้สึกหน้าร้อนผ่าวด้วยความอาย และความรู้สึกเช่นว่านี้ก็คงเกิดกับหลายๆคนที่ต้องแสดงหลักฐานเช่นพ่อแม้ว่าเขาจะแต่งเนื้อแต่งตัวภายนอกแบบเดียวกับคนทั่วไป แต่ก็ยังต้องรู้สึกอับอายต่อความแตกต่างที่ตนเองมีอยู่ดี

ยังมีด่านเช่นว่านี้อยู่เป็นระยะ กว่าจะเข้าเขตจังหวัดเชียงใหม่  แม่กับพ่อต้องผลัดเปลี่ยนกันอุ้มลูกที่นอนอุ่นอยู่ในผ้าห่มหนา ที่ตระเตรียมมาด้วยกลัวว่าลูกจะหนาว จนรู้สึกเหมื่อยขบกันไปตามๆกัน

จนกระทั่งถึงอาเขต หรือสถานีรถโดยสารประจำทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยสวัสดิภาพ ท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คนต่างถิ่นต่างที่หลายชีวิต ด้วยความรู้สึกต่างๆกันไป  

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…