Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก

 

สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เมื่อก่อนแม่ชอบที่จะเดินทาง มันเริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่แม่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่สี่ เป็นครั้งแรกที่แม่ได้เดินทางด้วยรถไฟ ขบวนรถสายเหนือออกจากเด่นชัยสู่อยุธยา จุดหมายปลายทาง ก่อนที่จะหยุด ณ ชานชาลาหัวลำโพง กรุงเทพฯ ช่างเป็นขบวนรถไฟที่แม่ไม่มีวันลืม


วันนั้นแม่โกหกทางบ้านว่าที่โรงเรียนมีงานประเพณี ต้องมาค้างเสาร์ –อาทิตย์ แท้ที่จริงแม่วางแผนว่าจะเดินทางไปหาแม่ (ยาย) ที่จังหวัดอยุธยา


สามปีแล้วที่เราแม่ลูกไม่ได้พบหน้ากัน ด้วยพ่อกับแม่ของแม่ต้องแยกทางกันเดิน เมื่อแม่รู้ว่าแม่ของแม่อยู่ที่อยุธยา จึงทำให้แม่ตัดสินใจทุบกระปุกที่มีอยู่นำเงินทั้งหมดมาใช้เป็นค่าเดินทาง


ความตื่นเต้นแม้กระทั่งการเดินไปซื้อตั๋ว ณ จุดขายตั๋วครั้งแรก แม่ยังจำได้ไม่ลืม เพราะกลัวว่าจะเป็นที่สังเกต และถูกสารวัตรนักเรียนจับได้ว่าหนีเรียน กลัวมิจฉาชีพจะมาหลอกลวงหากรู้ว่าเราเดินทางเป็นครั้งแรก ในตอนนั้นแม่กลัวและตื่นเต้นสารพัด


แทบทั้งคืนที่ต้องนั่งมาในรถไฟขบวนอันแสนเชื่องช้า เสียงฉึกฉักของรถไฟมันเต้นไปตามจังหวะหัวใจของแม่ เพราะกลัวว่าถ้าหากเผลอหลับไปอาจจะทำให้แม่เลยสถานีอยุธยา ด้วยความไม่แน่ใจว่าสถานีต่อไปจะเป็นสถานีอะไร แม่จึงต้องเงี่ยหูฟังการประกาศจากเจ้าหน้าที่รถไฟทุกครั้งที่ขบวนรถจอดที่สถานี


และแล้วแม่ก็ถึงจุดหมายในยามเช้าตรู่วันต่อมา แม่เกือบจะจำแม่ของแม่ไม่ได้ เพราะยายของลูกในตอนนั้นดูอ้วนท้วนสดใสกว่าเมื่อก่อน อาจเป็นเพราะการตัดสินใจเลิกรากับพ่อเป็นสิ่งที่แม่คิดถูกต้อง แต่นั่นก็ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาในความรู้สึกของแม่


แม่ใช้เวลาอยู่กับแม่ที่อยุธยาราวสองวัน ก่อนที่จะขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันกลับจังหวัดแพร่ ยายของลูกมาส่งแม่ที่สถานี ในขณะที่รถไฟเคลื่อนขบวนออกไปเราโบกมือลาจนลับตากัน


การลาจากครั้งนั้น แม่รู้สึกว่ามันช่างแสนทรมานเป็นการพลัดพรากอีกครั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้มาเจอกันอีกเมื่อไร แม่ไม่สามารถอดกลั้นน้ำตาได้ น้ำตาของแม่พรั่งพรูอาบแก้มลงมาไม่หยุด


แม้ว่าแม่จะเติบโตขึ้นและได้ประสบกับการลาจากมานับครั้งไม่ถ้วน แต่แม่ก็ไม่เคยที่จะชินชากับมันเลยสักครั้ง บางครั้งแม่หลบเลี่ยงที่จะไปส่งใครที่สถานีรถ เพราะเวลาที่เรามองรถเคลื่อนตัวออกจากสถานี เหมือนว่ามันได้พรากดวงใจเราติดล้อตามไปด้วย


สาละวินเองก็คงรู้สึกเช่นนี้ เมื่อไปส่งเพื่อนของแม่ที่แวะมาเยี่ยมเยือนครอบครัวของเรา โดยเฉพาะบางคนที่กลายมาเป็นเพื่อนเล่นของลูก และลูกก็จะติดหนึบเป็นพิเศษ เช่น ลุงตรี หรือลุงเสือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปส่งขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ ลูกก็จะกอดหนึบไม่ยอมให้ขึ้นรถ ร้องไห้โยเยจะตามไปด้วย


แม่ต้องคอยปลอบลูกว่า พวกเขาไปไม่นานหรอกแล้วก็จะกลับมาเยี่ยมพวกเราอีก วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้นลูกคงได้ขึ้นรถโดยสารคันใหญ่ ที่เคลื่อนตัวบนถนนทางหลวงสู่เมืองที่พวกเขาจากมาตามที่ลูกปรารถนาแน่นอน


ดูเหมือนว่าการได้เดินทางด้วยรถคันใหญ่ไปเมืองเชียงใหม่ ,กรุงเทพฯ ตามที่ลูกได้ยินได้ฟังมาจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของลูกไม่น้อยเลยทีเดียว


ลูกรู้ไหมว่า บ่ายวันหนึ่งหลังจากที่ลูกรบเร้าแม่ว่าจะไปเชียงใหม่สักครั้ง ลูกตัดสินใจถือขวดนมไปทิ้งที่ท่าน้ำหลังบ้าน แล้วบอกว่าจะไม่กินนมแล้ว เมื่อแม่โกหกลูกว่า หากลูกยังกินนมชงจากขวด ลูกจะไม่สามารถขึ้นรถคันใหญ่ไปที่ไหนๆได้


ที่แม่ต้องโกหกลูกเช่นนี้ก็เพราะว่า ลูกถึงวัยที่ควรจะหย่านมจากขวดได้แล้ว และหันมาดื่มนมจากแก้ว แต่เป็นสิ่งที่ยากที่จะให้ลูกเลิกดื่มนมจากขวดโดยทันที แม่จึงต้องอาศัยวิธีนี้คอยชักจูงลูก เพราะแม่รู้ว่าลูกอยากขึ้นรถคันใหญ่ที่เคยไปส่งใครต่อใครกลับบ้านเหลือเกิน


ลูกจึงยอมพลัดพรากจากสิ่งที่ลูกรักและเคยชินมานานกว่าสองปี เพื่อที่จะพบกับการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกก้าวของตัวเอง.


รักลูก
แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…