Skip to main content

ห้านาทีของการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

ศุภณัฐ บุญสด

นาทีที่หนึ่ง : เจตนารมณ์ของการรัฐประหาร

​เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(ต่อไปนี้จะเรียกคณะรัฐประหาร)เข้ามาปกครองประเทศโดยการใช้กำลังทหารทำรัฐประหาร อันเป็นวิถีการเข้าสู่อำนาจโดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย  โดยเจตนารมณ์ทางการเมืองในการทำรัฐประหารครั้งนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 ว่าคณะรัฐประหารต้องการรักษาความมั่นคงของชาติและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์  ต่อมาคณะรัฐประหารจึงได้ออกประกาศข้อห้ามและบทลงโทษหลายฉบับมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุม ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ห้ามสร้างความขัดแย้งต่อการปฏิบัติงานของคณะรัฐประหาร ควบคุมการทำงานสื่อสารมวลชน เป็นต้น เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว   

ดังนั้น  หากบุคคลใดที่กระทำการอันเป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหารครั้งนี้ ย่อมมีสถานะเป็นศัตรูทางการเมืองโดยตรงกับคณะรัฐประหาร

นาทีที่สอง : การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557

ภายใต้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสามฉบับดังกล่าว คณะรัฐประหารได้ขยายเขตอำนาจของศาลทหารเหนือประชาชนที่กระทำความผิดอาญา ได้แก่ 1. องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112  2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 (2)  3. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  4. ความผิดอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องในคดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดบางอย่างอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร  5. ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490  

เนื้อหาสาระของประกาศทั้งสามฉบับเป็นการบัญญัติกฎหมายกำหนดให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในประกาศทั้งสามฉบับต้องได้รับการพิจารณาจากกระบวนการพิจารณาที่แตกต่างออกไป  โดยมิอาจค้นหาเหตุที่สมควรได้ว่าเหตุใดบรรดาความผิดที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดที่มีสาระสำคัญเป็นความผิดอาญาจึงต้องได้รับการพิจารณาจากกระบวนการพิจารณาที่แตกต่างจากความผิดอาญาอื่นๆ  ผลคือประกาศทังสามฉบับเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพให้มีผลใช้บังคับกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะ  เป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุทางการเมือง  โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มพลเรือนที่มีความคิดทางการเมืองในทางที่แตกต่างจากอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งได้ประกาศไว้ชัดเจนในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557

นาทีที่สาม : ปรากฏปัญหาของศาลทหารในระดับการเมือง รัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากล

​ในระดับการเมือง การจัดตั้งศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร โดยสภาพขององค์กรที่กฎหมายกำหนดให้ศาลทหารมีสถานะเป็นกรมที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ไม่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร1 รวมทั้งตุลาการศาลทหารอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม2 ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในปัจจุบันเป็นบุคลากรของคณะรัฐประหาร รวมถึงองค์คณะตุลาการศาลทหาร 3 คนประกอบไปด้วยทหารจบนิติศาสตร์ 1 คน และทหารไม่จบนิติศาสตร์ 2 คน3 เสียงข้างมากขององค์คณะจึงสามารถถูกกำหนดได้โดยทหารที่ไม่จบนิติศาสตร์

ดังนั้น การกำหนดผลของคำพิพากษาในคดีของศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหาร จึงอาจถูกกำหนดได้โดยคณะรัฐประหารให้เป็นไปเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลักและอาจปรากฏความบกพร่องในการให้เหตุผลทางกฎหมายในคำพิพากษาได้

ในระดับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากล  รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 ได้รับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีจากองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเป็นอิสระและมีสิทธิได้รับการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลเหนือขึ้นไป ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 เป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญที่ประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครองจากการใช้อำนาจรัฐ  แต่ปรากฏว่าการจัดตั้งศาลทหารโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารไม่สอดคล้องกับสิทธิและขัดรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยสิ้นเชิง 

เนื่องจากในแง่องค์กรและระบบงานบุคลากร ศาลทหารมีสภาพที่ไม่เป็นอิสระโดยจากฝ่ายบริหารสิ้นเชิง เพราะศาลทหารเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพและกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย บังคับบัญชาหรือสั่งการและให้คุณให้โทษแก่ตุลาการศาลทหารที่เป็นข้าราชการทหาร  

และในแง่ความเป็นกลางตามหลัก “ไม่มีผู้ใดที่เป็นตุลาการได้ในคดีของตนเอง” เนื่องจากคู่ความที่ต้องขึ้นศาลทหารเป็นคู่กรณีโดยตรงกับคณะรัฐประหาร(ซึ่งเป็นคณะข้าราชการทหาร)  ดังนั้น การที่ต้องได้รับการพิพากษาจากตุลาการศาลทหาร(ที่เป็นข้าราชการทหาร) ย่อมมีปัญหาไม่อาจสร้างหลักประกันเรื่องความเป็นกลางของศาลให้แก่คู่ความอีกฝ่ายได้

สุดท้าย  ภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารอยู่ในเวลาไม่ปกติ4 บุคคลจึงได้รับการพิจารณาเพียงศาลชั้นต้นชั้นเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาให้ศาลระดับสูงขึ้นไปทบทวนคำพิพากษาได้

นาทีที่สี่ : จากมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) สู่มาตรา 315 ของร่างรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าการประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสามฉบับที่กำหนดให้นำพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร  จะมีปัญหาเป็นการบัญญัติกฎหมายทีขัดต่อความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการจัดตั้งศาลทหารโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารจะมีปัญหาในระดับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากล และคำพิพากษาของศาลทหารจะมีสภาพเป็นอาชญากรรมที่คณะรัฐประหารกระทำต่อประชาชนและมีความบกพร่องทางการให้เหตุผลทางกฎหมายเพียงใด  แต่รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ได้ออกแบบระบบมาปิดกั้นไม่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความบกพร่องดังกล่าวได้ เนื่องจากมีการรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้เป็นที่สุด ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไว้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และผลของมาตราดังกล่าวที่รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของความบกพร่องเหล่านี้ก็ถูกยืนยันซ้ำอีกครั้งโดยการตีความรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)มาตรา 4 และ 45 ของศาลรัฐธรรมนูญในคำสั่งที่ 83/2557 และคำสั่งไม่ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ของศาลทหาร5

และในอนาคตอันใกล้หากเกิดเงื่อนไขที่คณะรัฐประหารไม่ดำเนินการประกาศให้ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารและร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารสามารถประกาศใช้ได้  การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย  ทั้งนี้ตามความในมาตรา 315 ของร่างดังกล่าว6 ทำให้หากการปกครองโดยคณะรัฐประหารสิ้นสุดลงแล้วแต่การนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหารก็สามารถดำเนินต่อไปได้และก็ไม่อาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย   

นาทีที่ห้า : ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารและประกาศความสูญเปล่าของคำพิพากษาศาลทหาร

หากประกาศทั้งสามฉบับที่ประกาศนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ถูกยกเลิกและร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร)สามารถประกาศใช้ได้ ย่อมเกิดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและมาจากระบอบที่เป็นประชาธิปไตยต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะรักษาและเยียวยาผลร้ายในระบบกฎหมายและการเมืองที่เกิดจากการรัฐประหาร  โดยการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกประกาศคณะรัฐประหารและประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาทั้งหลายที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรมของศาลทหารที่เกิดจากการใช้อำนาจตามประกาศฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557  และหลังจากนั้นถ้าจะดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาใด ก็ให้ดำเนินคดีไปตามความเป็นธรรม ตามกรอบของกฎหมายที่มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย(ตราขึ้นโดยผู้แทนประชาชน)โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมปกติ


 

1 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 5

2 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 10

3 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 27

4 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 36 และ 61

5 http://www.prachatai.com/journal/2015/01/57598

6 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 315 “บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนี้”

 

บล็อกของ ศุภณัฐ บุญสด

ศุภณัฐ บุญสด
แนวทางการจำกัดอำนาจศาลทหารไม่ให้มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในระบบกฎหมาย ศุภณัฐ บุญสด แนวคิดเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหาร
ศุภณัฐ บุญสด
ประวัติของมาตรา 44 และการตรวจสอบโดยศาลศุภณัฐ บุญสด
ศุภณัฐ บุญสด
ห้านาทีของการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารศุภณัฐ บุญสดนาทีที่หนึ่ง : เจตนารมณ์ของการรัฐประหาร