การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ
ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น
แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii
แม้ว่าจะต้องขอขอบคุณท่านประธาน ที่กรุณาเอ่ยตัวเลขคร่าวๆ นี้ออกมา เนื่องจากไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะทราบว่า ชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียว สนช.ที่มาจากการรัฐประหารนี้ได้ผ่านกฎหมายออกไปบังคับใช้มากมายขนาดไหน
เพราะ - กฎหมายฉบับใดที่คาดว่าแสดงถึงความ "ก้าวหน้า" ก็ประโคมข่าวใหญ่โต
ขณะที่กฎหมายบางฉบับกลับแทบจะไม่เป็นข่าว ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง
แต่ - นอกจากตัวเลขคร่าวๆ ดังกล่าว จะไม่ได้แสดงถึง "ความชอบธรรม" ใดๆ ของรัฐบาลและสนช. ชุดนี้แล้ว ยังชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า อะไรที่ทำให้ผู้ทรงเกียรติที่มาจากการรัฐประหารเหล่านี้ ตั้งหน้าตั้งตาร่างและผ่านกฎหมายอยู่นั่นแล้ว?
ทั้งที่เพียรประกาศว่าจะเร่งคืนอำนาจ - คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน และยืนยันว่ามีการเลือกตั้งภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรืออีกเพียง 60 กว่าวันข้างหน้า
แล้วเหตุใดจึงต้องเร่งผลักดันกฎหมายสำคัญขนาดนี้ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนขนาดนี้ และมีเสียงต่อต้านคัดค้านขนาดนี้ ?
เพื่ออะไร? "ความมั่นคง" ?
"ความมั่นคง" นอกจากจะเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารทุกครั้งแล้ว ยังเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน ตลอด 75 ปีของระบอบที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
การแบกปืนลากรถถังเข้ามารัฐประหารยึดอำนาจ - ฉีกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 กันยายน 2550 ก็อ้าง "ความมั่นคง", การออกกฎอัยการศึก ก็อ้าง "ความมั่นคง", การจำกัดสิทธิในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ก็อ้าง "ความสมานฉันท์" อันเป็นไปเพื่อ "ความมั่นคง", การผลักดันกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อ้าง "ความมั่นคง"
และล่าสุดคือ การผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"
ท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้คงหลงลืมไปว่า "ความมั่นคง" ภายในประเทศนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยการออกกฎหมายมาลิดรอนหรือคุกคามสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของประชาชน
ตัวอย่างจากหลายประเทศบอกชัดเจนว่า การลิดรอนและคุกคามสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของประชาชน ส่งผลอย่างไรต่อ "ความมั่นคง" ภายในประเทศนั้น?
หรือหากไม่ต้องการมองออกไปภายนอก ก็เพียงตอบคำถามว่า ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 และการดำเนินการร้อยแปดในนาม "ความมั่นคง" แล้ว ประเทศไทยมี "ความมั่นคง" ภายในสูงขึ้นเพียงไร? (หากตอบว่าสูงขึ้น หรือสูงขึ้นมาก ก็จำเป็นต้องตอบอีกคำถามว่า แล้วทำไมยังดันทุรังผลักดันกฎหมายฉบับนี้?)
หากเป้าหมายคือ "ความมั่นคง" ภายในประเทศจริง, แทนที่จะดิ้นรนร่างและตรากฎหมายไม่รู้จบอยู่อย่างนี้ ผมก็อยากร้องขอต่อบรรดาผู้ทรงเกียรติในสนช., รัฐบาล รวมทั้งคมช. ว่า
"พอเสียทีเถิดครับ"
ยุติบทบาททางการเมืองของท่านเสีย
เพื่อปล่อยให้ประเทศสามารถไปถึงการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
ท่านที่เป็นทหารก็กลับเข้ากรมกองไปเสีย
ท่านที่เป็นพลเรือนก็กลับไปทำหน้าที่เดิมของท่าน
ท่านใดที่ต้องการรับใช้ประเทศด้วยวิถีทางทางการเมือง ก็พาตัวเองลงสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนได้ตัดสิน
พอเสียทีเถิดครับ
เพื่อ "ความมั่นคง" ภายในประเทศนี้
i โปรดดู: "ร่างพ.ร.บ.มั่นคงฉบับแก้ไข อำนาจ ‘กอ.รมน.' ยังล้นเหลือ", มติชน, วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10813, หน้า 2.
ii โปรดดู: สมชาย หอมลออ, "หยุด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (อีกครั้งหนึ่ง)", http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9986&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
iiiโปรดดู: http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9986&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai