แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจนถึงปัจจุบัน อาจจะมีทั้งที่ถูกใจ-สะใจ และชวนให้ผิดหวัง-ระอา คละเคล้าปะปนกันไป (ส่วนจะหนักไปข้างใดนั้น คงขึ้นอยู่กับจุดยืนและความคาดหวังของแต่ละท่าน) แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับว่า หลากหลายปรากฏการณ์เหล่านั้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย หรือพลิกผันไปจากการประเมินของบรรดาคอการเมืองหลายๆ ท่านแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ไม่เพียงการชนะการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน (พปช.) ที่ตามมาด้วยท่าทีคุมเชิงอันสุดแสน 'สง่างาม' ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และกลเกมการต่อรองของบรรดาพรรคการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ใบเหลือง-ใบแดง ก่อนจะลงท้ายด้วยความ 'สมานฉันท์' ภายใต้การนำของพปช. และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ชื่อ 'สมัคร สุนทรเวช' เท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการ 'ต่อสาย' พูดคุยกันของบุคคลสำคัญบางคน ที่ตอกย้ำการประเมินของคอการเมืองจำนวนหนึ่ง (ซึ่งก่อนหน้านี้มีราคาเพียงแค่ 'ข่าวลือ') ถึงแนวโน้มของการ 'สมานฉันท์' ระหว่างกลุ่มที่ถูกเรียกว่า 'อำนาจเก่า' กับกลุ่ม 'อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย' (ที่หลายคนเรียกว่า 'กลุ่มอำนาจเก่ากว่า') ภายหลังการเลือกตั้ง อีกด้วย
……….
แม้การที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ชื่อสมัคร สุนทรเวช จะทำให้มีทั้งผู้ปีติยินดี, ผู้ผิดหวังขุ่นเคือง และผู้กระอักกระอ่วนใจ จนทำให้ประเด็น 'ความเหมาะสม' ของตัวคุณสมัคร ถูกนำขึ้นมาถกเถียงกระทั่งวิวาทะในหลายพื้นที่ แต่ประชาชนผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหารย่อมตระหนักดีว่า ลำพังตัวคุณสมัครนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
เพราะตัวคุณสมัครไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับการที่ประชาชนสามารถรักษา/กอบกู้หลักการประชาธิปไตย ในส่วนของกระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลของประเทศ เอาไว้ได้
โดยหลักการเดียวกัน ไม่ว่าตัวนายกรัฐมนตรีจะบริสุทธิ์ผุดผ่องมาจากไหน หากขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยอำนาจกระบอกปืนรัฐประหาร ย่อมปราศจากความชอบธรรม
ที่สำคัญคือ ลำพังการที่คุณสมัครได้เป็นนายกฯ และพปช.ได้จัดตั้งรัฐบาล นั้นยังไม่ใช่ 'คำตอบ' หรือจุดหมายในการต่อสู้ของประชาชนที่ดำเนินมากว่าปี นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549
และทุกคนทราบดีว่า 'การต่อสู้ยังไม่จบ'
'ชัยชนะ' ในยกนี้ของประชาชนผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหาร จากการที่พปช.ซึ่งได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่สามารถตะโกนบอกคมช.และมหามิตรว่า ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่ยอมรับรัฐประหาร และอยู่ที่สามารถกอบกู้สิทธิในการเลือกรัฐบาล ซึ่งถูกอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยทำลายไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กลับคืนมาได้
เพราะเจตนารมณ์ของผู้คนที่กากบาทเลือกพปช. และผู้คนที่ไม่กากบาทเลือกพรรคที่สยบยอมต่อรัฐประหาร คือการประกาศ 'ไม่ยอมรับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549' และ 'ไม่ยอมรับอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย'
เจตนารมณ์นี้ ไม่เพียงแต่คมช.และมหามิตรในทุกวงการ รวมถึงฝ่ายค้านหมาดๆ อย่างปชป.เท่านั้นที่ควรตระหนัก แต่พปช.และพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง 'บุคคลสำคัญ' ทั้งหลาย ก็ควรจดจำไว้ให้ขึ้นใจ ทั้งเจตนารมณ์และพันธะสัญญาทั้งปวงที่ได้ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง
อย่าได้บิดพลิ้วหรือบิดเบือน
……….
เช่นเดียวกับตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา,
ประชาชนอย่างเราๆ จำเป็นต้องช่วยกันจับตาดูสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปนี้อย่างมีสติ รวมทั้งเดินหน้าผลักดันตามวิถีทางประชาธิปไตยให้บรรลุเจตนารมณ์ที่มุ่งหมาย
ที่สำคัญคือ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ 'นอกเจตนารมณ์' ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากน้ำมือของ 'ใคร' หรือ 'ฝ่ายใด' ก็ตาม
ครับ, ดังที่เราเฝ้าย้ำเตือนกันและกันอยู่เสมอว่า
'การต่อสู้ยังไม่จบ'