Skip to main content

ผมไม่มีปัญหาอันใดกับ ‘ข้อเสนอ’ ของกลุ่ม ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’ ในบทความ ‘12 เหตุผลที่ต้องเลือกเบอร์ 12 (และอย่าลืมเบอร์ ส.ส.เขตของ พปช.)’ [1] ซึ่งเขียนโดยคุณหมอกิติภูมิ จุฑาสมิต [2]

แต่ขออนุญาตเห็นต่าง ต่อข้อสรุปชี้ขาดของคุณหมอที่ว่า

“…เพราะการ “Vote No” (กาช่องไม่เลือกใคร) ยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร เพราะนั่นจะต้องถูกตีความทันทีว่า นักการเมืองทุกพรรคล้วนสกปรก จนคนรังเกียจที่จะเลือก (สู้คนดีจากระบบราชการไม่ได้)

เพราะฉะนั้น คุณต้องเลือก!” [3] 


เพราะในความเห็นผม ทั้ง 2 ทาง คือ 1. การกา ‘เลือกพปช.’ และ 2. การกาช่อง ‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากกระทำอย่างชัดเจนและเปิดเผยในเจตนารมณ์ คือการไม่ยอมรับรัฐประหาร แล้ว ย่อมไม่ ‘สูญเปล่า’

1. กาเลือกพรรคพลังประชาชน เพื่อแสดงเจตนาว่า

- ไม่ปฏิเสธ ‘การเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นกระบวนการออกเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย (แต่)
- ปฏิเสธพรรคที่สยบยอมต่อรัฐประหาร (และเลือกพรรคฝ่ายตรงข้ามแทน)
- ไม่ต้องการให้พรรคที่มีส่วนสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร, สยบยอมต่อรัฐประหาร, มีส่วนทำให้รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารผ่าน ฯลฯ ได้เสียงข้างมาก และเป็นรัฐบาล  (จึงต้องเลือกพรรคฝ่ายตรงข้ามแทน)
- ต้องการเลือกพรรคที่ประกาศจุดยืนคัดค้านการรัฐประหาร และสนับสนุนนโยบายยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550
- ยืนยันว่า พรรคไทยรักไทยมีสิทธิ์เป็นรัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก่อนรัฐประหาร ด้วยการเลือกพรรคตัวแทน คือพรรคพลังประชาชน
- ท้าทายฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารให้ฉีกหน้ากากตัวเอง
ฯลฯ

2. กาช่อง ‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’ เพื่อแสดงเจตนาว่า

- ไม่ปฏิเสธ ‘การเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นกระบวนการออกเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย (แต่)
- ไม่ยอมรับรัฐประหารและกระบวนการที่ตามมา (รวมทั้ง)
- ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550
- ไม่ยอมรับการเลือกผู้แทนของประชาชนและรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายเลือกตั้งที่ร่างโดยคณะบุคคลที่มาจากการรัฐประหาร และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่คณะรัฐประหาร/ผู้สนับสนุนออกแบบไว้
- ‘พรรคไทยรักไทย’ มีสิทธิ์เป็นรัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก่อนรัฐประหาร  และการยุบพรรคไทยรักไทย-ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คนนั้นปราศจากความชอบธรรม ดังนั้น การคัดค้านต่อการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้ ต้องเป็นการยกเลิกหรือให้เป็นโมฆะ ไม่ใช่ ‘นิรโทษกรรม’ ซึ่งเท่ากับยอมรับอำนาจดังกล่าว
- ไม่ยอมรับการ ‘ปิดเกม’ และ ‘ฟอกตัว’ ของคณะรัฐประหาร ด้วย ‘ละครการเลือกตั้ง’ ครั้งนี้ ว่าเป็นการ ‘คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน’ 
- ไม่ว่าผลการเลือกตั้ง (และ ‘สิ่งที่จะเกิดขึ้น’ ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล) จะออกมาเช่นไร ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิและความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารต่อไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย (เช่น รัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นต้น)
ฯลฯ

ในแง่ความเสี่ยง,
ผมเห็นว่า ทั้ง 2 ทางนี้ล้วนมีความเสี่ยง

กล่าวคือ สามารถถูกบิดเบือนเจตนาได้พอๆ กัน

ผมเห็นด้วยกับคุณหมอกิติภูมิว่า การ ‘Vote No’ (กาช่องไม่เลือกใคร) นั้น อาจถูกคมช.และผู้สนับสนุน “…ตีความทันทีว่า นักการเมืองทุกพรรคล้วนสกปรก จนคนรังเกียจที่จะเลือก (สู้คนดีจากระบบราชการไม่ได้)…” ซึ่งเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร (เอ… รัฐประหารซ้อนล้มการเลือกตั้งอีกทีดีไหม?) ฯลฯ

แต่ จริงหรือไม่ว่า – การกาเลือกพรรคพลังประชาชนนั้น ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งเช่นกัน ที่จะถูกคมช.และผู้สนับสนุนตีความทันทีว่า เป็นเพียงเสียงที่ถูกครอบงำโดย ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ (จะซื้อมา, ใช้อิทธิพลบังคับมา หรือเข้าฝันล่อลวงมา ก็แล้วแต่จินตนาการของผู้กล่าวหา), เป็น ‘เสียงสกปรก’, ‘ผีทักษิณ’ ยังคงอยู่ (และยังน่ากลัว), ประชาชนยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย ฯลฯ ดังนั้น รัฐประหารที่ผ่านมาจึงชอบธรรม  - คมช., ทหาร และอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยยังจำเป็นอยู่ ต้องอยู่คู่การเมืองไทยต่อไป (เอ… รัฐประหารซ้อนล้มการเลือกตั้งอีกทีดีกว่า?) ฯลฯ

ในเมื่อเป็นเช่นนี้
เรายังจะไปแคร์การตีความของคมช.และมหามิตรของเขาทำไมกันครับ?

 

ผมจึงเห็นว่า บนจุดยืน ‘คัดค้านรัฐประหาร’ การแสดงออกต่อการเลือกตั้ง 23 ธันวาคมนี้ ประชาชนสามารถ ‘เลือก’ กระทำได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งการ ‘กาเลือกพปช.’ ตามข้อเสนอของคุณหมอกิติภูมิ/กลุ่ม  ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’ และการ ‘กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน’

ขอเพียงแสดงออกอย่างชัดเจนและเปิดเผยในเจตนารมณ์ ว่า
เพราะเราไม่ยอมรับรัฐประหาร!

และขอเพียงไม่ลืมว่า ทั้ง 2 ทางเลือกนี้มีความเสี่ยงในการถูกบิดเบือนเพื่อฉวยใช้พอๆ กัน ดังนั้น ประชาชนจึงจำเป็นจะต้องติดตามจับตาอย่างใกล้ชิด (ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจเป็นของ ‘ประชาชน’ เสมอ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง)

หากพบว่าเจตนารมณ์นี้ถูกบิดเบือนภายหลัง ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม

ประชาชนผู้ยึดมั่นในประชาธิปไตยจะต้องไม่ยอม!

 

 

[1] กลุ่ม ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’, ‘12 เหตุผลที่ต้องเลือกเบอร์ 12 (และอย่าลืมเบอร์ ส.ส.เขตของ พปช.)’, คอลัมน์ ‘ปีกซ้ายพฤษภาฯ’
[2] จากการเปิดเผยของคุณหมอเองในหน้าแสดงความคิดเห็นต่อบทความ
[3] โปรดดู: http://www.prachatai.com/05web/th/home/10603 

บล็อกของ กานต์ ณ กานท์

กานต์ ณ กานท์
ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”…
กานต์ ณ กานท์
  โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติดหลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิตย้ำจำ ย้ำคิด กำกวมโธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”หลักการวางไว้ (หลวมๆ)ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้วแหงนคอรอฟ้าล้าแววมืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอยอนิจจา… อนิจจัง…ความเอยความหวังอย่าถดถอยแม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอยฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่องงามหรูตรูตรามลังเมลืองเฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!
กานต์ ณ กานท์
  การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii…
กานต์ ณ กานท์
  ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ- ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน …ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
กานต์ ณ กานท์