ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ-
ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน
กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน
…ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
อีกกี่ผู้พลีตน
อีกกี่คนจึงจะชี้
จึงมันผู้กาลี
สำนึกค่า - “ประชาชน”?
…เจ็บไหมเล่าพี่น้อง
กี่เสียงร้องเรากู่ก่น
กี่เลือดเนื้อวีรชน
ที่ไหลท้นแล้วซึมหาย?
ครั้งแล้วและคราเล่า
ที่เพียงเรามาฟูมฟาย
ปีเดือนเคลื่อนพ้นหาย
ดั่งละลายกับสายลม?
ด้วยผู้ทุกข์ยาก
ก็ยังยากยังระทม
ทั้งปวงมันผู้ขี่ข่ม
ก็สุขสมอยู่ลอยนวล?
ฤาแผ่นดินนี้สิ้นแล้ว
ตลอดแนวแถวขบวน
ทัพไทที่ท้าทวน
ที่ก้าวสวนกระแสพาล?
ยังหรอก, ทรรัฐ!
กี่กำจัดประหัตประหาร
กี่กระสุนทมิฬมาร
เรามิเคยจะสูญพันธุ์
ยังหยัดและยังอยู่
ยังร้องกู่ยังใฝ่ฝัน
แค้นคั่งทั้งปวงนั้น
ยังนับวันจะทวงคืน
มิท้อ และมิพรั่น
จะฝ่าฟันจะแข็งขืน
เถิด, กี่หอกกระบอกปืน
มิขอคืนปณิธาน
จะก้าวเคียงผองคนทุกข์
จะร้องปลุกไปชั่วกาล
จะบรรเลงเพลงขับขาน
ต้านตีต่อทรชน
ฆ่าเราอีกกี่ครั้ง
เลือดเราหลั่งอีกกี่หน
ทุกเลือดเนื้อวีรชน
จะเติบต้นเป็นช่อธรรม
ตุลาฯ สู่ ตุลาฯ
ถึง พฤษภาฯ ยิ่งตอกย้ำ
ทุกเลือดเนื้อวีรกรรม
คือเสียงปลุกเราลุกทวง
ทุกเลือดเนื้อวีรชน
ไม่สูญเปล่า - เราสัญญา!
"คารวะวีรชน"
กานต์ ณ กานท์
(14 ตุลาคม 2543)
บทกวีนี้ ผมเขียนขึ้นในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2543 เพื่ออ่านในวาระ "27 ปี 14 ตุลาคม 2516"
ณ เวทีหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเย็นวันเดียวกัน
ผมขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง ในวาระครบรอบ “31 ปี 6 ตุลาคม 2519”, “34 ปี 14 ตุลาคม 2516”, “15 ปี พฤษภาคม 2535” และ “75 ปี แห่งการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” เพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณวีรชนทุกท่าน ที่ได้สละชีวิตเพื่อบุกเบิกเส้นทางสู่เสรีภาพและอธิปไตยของประชาชน แม้ว่าในวันนี้ ประเทศไทยจะยังไม่สามารถก้าวไปถึงความหมายที่แท้จริงของถ้อยคำเหล่านั้นเลย
และเพื่อจะตอกย้ำคำมั่นที่ว่า
จะไม่ยอมให้ความเสียสละเหล่านั้น “สูญเปล่า” ไป
เราสัญญา
หมายเหตุ:
กวีรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมอ่านบทกวีในวาระดังกล่าวคือ (เรียงลำดับตามการอ่านในเวทีวันนั้น)
ศิลป์ ศิวากรณ์ (พีรศักดิ์ ชัยเสรี - เสียชีวิตแล้ว), พณ ลานวรัญ, ส.ดอกไม้แดง และ
กานต์ ณ กานท์ โดยมี "โก้" และ "เก่ง" (ขออภัย ผมไม่ทราบชื่อจริงของทั้งสองคนครับ) เป็นผู้บรรเลงไวโอลินและกีตาร์โปร่งเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ประกอบ