Skip to main content

ประเทศไทย 2551 - "สองอนุรักษ์นิยมชนกัน" ?i

 

"สมัคร" และ "6 ตุลาฯ" (อีกครั้งหนึ่ง):

การให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว CNN ของสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำให้เหตุการณ์  "6 ตุลาฯ" กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากที่จำๆ ลืมๆ (และจำแบบเลือนๆ) มากว่า 30 ปี

 

แน่นอนว่า การให้สัมภาษณ์ของคุณสมัครในครั้งนี้ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน่าละอาย ไม่น้อยหน้าการให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์นี้ในครั้งก่อนๆ ของบุคคลเดียวกันนี้

 

อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์นี้ได้ยืนยันข้อเท็จจริงหนึ่งว่า สมัคร สุนทรเวชมีส่วนร่วมต่อเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" อย่างไม่ต้องสงสัย และผู้ให้สัมภาษณ์เองก็ได้ตอกย้ำอีกครั้งว่า เขาเป็นนักการเมือง "อนุรักษ์นิยม-ขวาจัด" ของแท้แน่นอน

 

ผู้ที่ยังไม่ "ลืม" เหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" ย่อมทราบดีว่า การสังหารหมู่ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เกิดขึ้นโดยน้ำมือของผู้ที่ "อนุรักษ์นิยม-ขวาจัด" แบบเดียวกับคุณสมัครนี่เอง

พูดให้กระชับลง ทว่าครอบคลุมยิ่งขึ้นก็คือ เป็นการสังหารโหดโดย "พลังอนุรักษ์นิยม"

 

แต่สิ่งที่ทำให้การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ส่งผลแตกต่างจากครั้งก่อนๆ นั้นอยู่ที่สถานะของผู้ให้สัมภาษณ์

เพราะไม่เพียงวันนี้ สมัคร สุนทรเวช คือนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย แต่ยังสังกัดพรรคพลังประชาชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพราะสถานการณ์ยุบพรรคไทยรักไทย อันเป็นผลจาก "รัฐประหาร 19 กันยาฯ"

 

ซึ่งเป็นรัฐประหารโดย "พลังอนุรักษ์นิยม"

 

ปรากฏการณ์ที่ตามมา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ต่อกรณีนี้ จึงมีความแตกต่างออกไป และน่าสนใจอย่างยิ่ง


 

+++++


 

สองอนุรักษ์นิยมชนกัน?:

ที่ผ่านมา ผู้ที่พยายามเคลื่อนไหวและจุดประเด็นให้ "ชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ" คือนักวิชาการ อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา ประชาชน ฯลฯ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็น "คนเดือนตุลาฯ (2519)" ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว และผู้ที่ไม่ใช่ รวมถึงผู้ที่เกิดไม่ทัน - โตไม่ทัน ดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่นอกจากความต้องการที่จะชำระสะสางประวัติศาสตร์หน้าที่ถูกทำให้มืดมนมาหลายสิบปีและเรียกร้องความยุติธรรมแล้ว ผู้คนเหล่านี้ยังความคล้ายคลึงกันในจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับแนวคิด "อนุรักษ์นิยม-ขวาจัด" ซึ่งทำให้นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ถูกเรียกรวมๆ ว่าเป็น "ฝ่ายซ้าย"

 

การเรียกร้องให้ "ชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ" ของคนกลุ่มนี้ จึงไม่ได้แปลกประหลาดหรือผิดที่ผิดทางแต่อย่างใด เพราะนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกเรียกว่า "ฝ่ายซ้าย" ถูกเรียกว่า ‘คอมมิวนิสต์' และถูกกล่าวหาว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง' ก่อนถูกสังหารโหดโดย ‘พลังอนุรักษ์นิยม'

 

แต่การจุดและชูประเด็น "6 ตุลาฯ" ใน พ.. นี้ กลับต่างออกไป

ที่สำคัญคือ ไม่ได้มีเพียง "ฝ่ายซ้าย" อย่างที่แล้วๆ มา

 

ไม่เพียงมีกลุ่มแกนนำ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย", ขุนพลจากค่ายผู้จัดการ, สื่อมวลชนชื่อดังที่เกลียดชังรัฐบาลทักษิณมากจนสามารถรู้สึกยินดีกับ "รัฐประหาร 19 กันยาฯ" เท่านั้น แต่ยังมีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

 

ความสอดคล้องลงตัวของผู้คนในกลุ่มหลังนี้ คือการที่ต่างก็มีส่วนสำคัญในการขับไล่รัฐบาลทักษิณบนแนวทางของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (ต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า "พันธมิตรฯ")

 

ซึ่งแนวทางของ "พันธมิตรฯ" ตั้งแต่การชูประเด็น "ถวายคืนพระราชอำนาจ" จนถึง "มาตรา 7" นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ว่าผูกพันแนบแน่นกับแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" เพียงใด และการใช้ข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โจมตีอดีตนายกรัฐมนตรีของพันธมิตรฯนั้น เป็นวิธีการที่ "อนุรักษ์นิยม" ขนาดไหนii

 

หากรัฐประหารเมื่อค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นชัยชนะของ "พลังอนุรักษ์นิยม" อย่างสิ้นกังขา

บรรดาผู้คนที่ร่วมกันผลักดันจนเกิดรัฐประหารดังกล่าว ย่อมเป็น ‘‘พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด (ยุคใหม่)'' โดยไม่ต้องสงสัย

 

ขณะที่ดูเหมือนว่าทั้ง ‘‘พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด(ยุคใหม่)'' และสมัคร สุนทรเวช ต่างก็มีอุดมการณ์จะสอดคล้องกันถึงเพียงนี้ - แต่แล้วเหตุใด จู่ๆ บรรดาผู้มีผลงานโดดเด่นในการยืนเคียงข้างและสนับสนุน "อำนาจอนุรักษ์นิยม" อย่างแข็งขันมาเป็นปีๆ จึงได้ชักแถวกันออกมาโจมตี - ประณามสมัคร สุนทรเวช และการกระทำของเขาภายใต้ "อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม" ในเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" ขึ้นมาอย่างแข็งขัน?

 

ทั้งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สมัคร สุนทรเวช นั้นเป็นนักการเมือง "อนุรักษ์นิยม-ขวาจัด" และไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เหตุการณ์ป่าเถื่อนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 25419 นั้น เป็นผลมาจาก "อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม"

อุดมการณ์ชนิดเดียวกับแนวทางเคลื่อนไหวของ "พันธมิตรฯ" - อุดมการณ์ชนิดเดียวกับที่ให้่กำเนิดและอุ้มชู "รัฐประหาร 19 กันยาฯ"

ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งใดกัน? - คนเหล่านี้ "เปลี่ยนขั้ว" (อีกครั้งหนึ่ง) หรือ?

 

เปล่าเลย,

ข้อสังเกตของหลายๆ คนล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า -

การที่ผู้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความรับผิดชอบของสมัคร สุนทรเวช ต่อเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" ในวันนี้ อย่างคึกคักแข็งขันและโดดเด่น (จนแทบจะบดบังการเคลื่อนไหวของ "ฝ่ายซ้าย" และญาติวีรชนนั้น) โยงใยแนบแน่นกับความพ่ายแพ้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ของอำนาจจากฝ่าย "อนุรักษ์นิยม"

ซึ่งตามข้อสังเกตนี้, ไม่ว่าสมัคร สุนทรเวช จะมีแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" เพียงใด จะ "ขวาจัด" ขนาดไหน ก็ไม่ใช่ "คำตอบ" - ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

และในทางกลับกัน ไม่ว่าอุดมการณ์ของสมัคร สุนทรเวช จะเป็นเช่นไร หากว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับ "กลุ่มอำนาจเก่า" ที่มีปลายยอดเป็นทักษิณ ชินวัตร เหล่าบรรดา "พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด (ยุคใหม่)" ก็คงไม่มีปฏิกิริยาเช่นนี้ หรือถึงเพียงนี้

 

จากสมการข้างต้น - การออกมาโจมตีและประณาม สมัคร สุนทรเวช ของ "พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด (ยุคใหม่)" ในครั้งนี้ แท้จริงแล้วก็ยังอยู่บน "อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม-ขวาจัด" เช่นเดิม และยังคงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของ ‘อำนาจอนุรักษ์นิยม' เช่นเคย นั่นเอง

 

 

+++++

 

 

"ชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ" - ไปให้ถึง:

แม้การปะทะกันระหว่างผู้ยืนอยู่ในพรมแดนของ "ฝ่ายขวา" ในครั้งนี้จะน่าสนใจติดตามว่าจะจบลงเช่นใด แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ การชูเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" ซึ่งเป็น "โศกนาฏกรรมของฝ่ายซ้าย" มาโจมตีหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ "พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด (ยุคใหม่)" หลงลืมไปหรือไม่ว่า

 

นอกจากเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" จะเป็นบาดแผลของฝ่ายซ้ายแล้ว ยังเป็นบาดแผลของประเทศไทย เพราะเป็นการฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมทารุณที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ซึ่งฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" เองนั่นแหละ ที่เป็นผู้พยายามปกปิดและกลบบังมาตลอดเวลาเวลาหลายสิบปี

 

ที่สำคัญ "พันธมิตรอนุรักษ์นิยม-ขวาจัด (ยุคใหม่)" หลงลืมไปหรือไม่ว่า

แม้แต่สมัคร สุนทรเวช เองก็ไม่ใช่ "คำตอบ" ของเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย


 

บทความนี้จึงไม่ได้ต้องการขวางทานกระแสการรื้อฟื้นเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" รวมทั้งการที่ "ฝ่ายซ้าย" หลายคนได้ถือเป็นโอกาสในการปลุกกระแสเพื่อ "ชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ" อย่างจริงจัง (แม้ "ฝ่ายซ้าย" หลายคนจะยังลังเลต่อความชุลมุนของสถานการณ์อยู่ก็ตาม) เลยแม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม - ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการผลักดันกระแสดังกล่าวนี้ ให้สามารถบรรลุ "เป้าหมายที่แท้จริง" นั่นคือการ "ชำระประวัติศาสตร์"' หน้าสำคัญนี้ให้ได้ ทั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกสังหาร-ทารุณกรรมในเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" และเพื่อฉีกกระชากหน้ากากของฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" ที่ครอบงำสังคมไทยอยู่จนทุกวันนี้ ออกไปให้จงได้

 

เพียงแต่ความวิตกของผู้เขียนคือ สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะยอมให้เรื่องนี้ลงเอยที่เพียงการ "ดิสเครดิต" สมัคร สุนทรเวช แล้วก็จบๆ ไป

กล่าวได้อีกอย่างคือ เป็นเพียงเกมของฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" ที่จบลงด้วยผลประโยชน์ของ "อำนาจอนุรักษ์นิยม" (อีกครั้งหนึ่ง)

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมเท่ากับยินยอมให้ฝ่าย "อนุรักษ์นิยม" สร้างความอัปยศ ด้วยการเล่นละครหลอกลวง เพื่อชักลากการเมืองไทยให้กลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ โดยใช้เลือดเนื้อของ "วีรชน 6 ตุลาฯ" เป็นบันไดเหยียบย่ำ

อีกครั้งหนึ่ง - เท่านั้นเอง

 

 




i ชื่อบทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากบทความชิ้นสำคัญของเกษียร เตชะพีระ ชื่อ "การเมืองไทยจาก ๑๔-๖ ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2545.

ii ยังไม่นับว่า อุดมการณ์และจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นผูกพันแนบแน่นต่อแนวคิด ‘อนุรักษ์นิยม' เพียงใด

 

บล็อกของ กานต์ ณ กานท์

กานต์ ณ กานท์
ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”…
กานต์ ณ กานท์
  โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติดหลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิตย้ำจำ ย้ำคิด กำกวมโธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”หลักการวางไว้ (หลวมๆ)ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้วแหงนคอรอฟ้าล้าแววมืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอยอนิจจา… อนิจจัง…ความเอยความหวังอย่าถดถอยแม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอยฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่องงามหรูตรูตรามลังเมลืองเฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!
กานต์ ณ กานท์
  การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii…
กานต์ ณ กานท์
  ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ- ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน …ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
กานต์ ณ กานท์