Skip to main content

โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหาร นักฆ่าหน้าจอตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใดว่าจะกดปุ่มให้โดรนสังหารยิงถล่มคุณหรือไม่? อนุสนธิจากข่าว “โดรนโจมตีในเยเมน เสียชีวิต ๑๒ ราย” 

Kasian Tejapira(9 ส.ค.56)

 ภาพโดรนบนเรือบรรทุกเครื่องบิน 

 
โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหารอันกลายเป็นอาวุธหลักอย่างหนึ่งที่อเมริกาใช้รบกับผู้(ต้องสงสัย)ก่อการร้ายทั่วโลกขณะนี้ คุมโดยมือสังหารหรือนักฆ่าหน้าจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ที่นั่งดูภาพถ่ายทอดสดจากกล้องที่ติดตั้งอยู่บนโดรนแบบ real time ห่างออกไปนับร้อยนับพันไมล์ แล้วตัดสินใจบัดเดี๋ยวนั้นว่าจุดเล็ก ๆ ที่เห็นอยู่บนจอ (ซึ่งอาจเป็นคุณก็ได้) ใช่ “ผู้(ต้องสงสัย)ก่อการร้าย” ที่สมควรตายหรือไม่? ถ้าใช่, ก็กดปุ่ม.....
 
แล้วพวกเขาตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใด?
 
เกณฑ์ดังกล่าวเรียกว่า “signatures” หรือลักษณะเฉพาะตัว (การโจมตีตามลักษณะเฉพาะตัวแบบนี้จึงเรียกว่า signature strikes) อันได้แก่บรรทัดฐานจำนวนหนึ่งที่ถือว่าเกี่ยวพันกับปฏิบัติการก่อการร้าย จะเรียกว่า “ชิ้นส่วนพยานหลักฐานแวดล้อมกรณี” ก็ได้ นสพ. Washington Post บรรยายหลวม ๆ ว่า “ลักษณะเฉพาะตัวคือแบบแผนพฤติกรรมที่สืบจับได้โดยการดักฟังสัญญาณ, แหล่งข้อมูลที่เป็นบุคคล, และการสอดแนมทางอากาศ...ซึ่งบ่งชี้ว่ามีผู้ปฏิบัติงานสำคัญหรือแผนการร้ายที่มุ่งโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯอยู่ที่นั่น” 
 
ว่ากันว่าตัวประธานาธิบดีโอบามาเองรู้เรื่อง “การโจมตีตามลักษณะเฉพาะตัว” เป็นครั้งแรกหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๙ เพียง ๓ วัน และเจ้าหน้าที่อเมริกันก็เริ่มพูดถึงมันกันอย่างเปิดเผยเมื่อต้นปี ๒๐๑๒ เป็นต้นมา
ศ. เควิน เฮลเลอร์
 
ศาสตราจารย์กฎหมาย เควิน เฮลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ในออสเตรเลีย เคยลองสังเกตศึกษารายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการโจมตีด้วยโดรน แล้วประมวล “ลักษณะเฉพาะตัว” ที่เป็นเกณฑ์ให้อเมริกันใช้ตัดสินใจโจมตีเป้าหมายด้วยโดรนออกมาได้ ๑๔ ประการ เขาพบว่า.....
 
- ลักษณะเฉพาะตัวดังกล่าว ๕ ประการ ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ
- แต่อีก ๕ ประการ คลุมเครือน่าสงสัย
- ส่วนอีก ๔ ประการนั้น ผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแน่ชัด ได้แก่
 
๑) ชายวัยฉกรรจ์ (military-age male หรือ MAM) ที่อยู่ในพื้นที่ที่รู้กันว่ามีปฏิบัติการก่อการร้าย
๒) คบค้าสมาคมกับผู้ที่รู้กันว่าเป็นนักรบ
๓) กลุ่มชายติดอาวุธโดยสารรถบรรทุกในพื้นที่ใต้การควบคุมของอัลเคด้าในคาบสมุทรอาหรับ
๔) ค่ายพักน่าสงสัยในพื้นที่ใต้การควบคุมของอัลเคด้า
 
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เฮลเลอร์ออกตัวว่าในสภาพที่เราไม่รู้แน่ว่าเอาเข้าจริงทางการอเมริกันใช้ “ลักษณะเฉพาะตัว” อันใดบ้าง และ “ลักษณะเฉพาะตัว” อันไหนถูกประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยเป้าไหน ก็ยากยิ่งจะประเมินความชอบด้วยกฎหมายของโปรแกรมการโจมตีตามลักษณะเฉพาะตัวด้วยโดรนได้
 
ข้อที่น่าเคลือบแคลงยังมีอีกว่าตกลงแนวทางชี้นำกำกับ “การโจมตีตามลักษณะเฉพาะตัว”นี้ มันเป็นกรอบขอบเขตของปฏิบัติการที่อนุญาตให้ทำได้ หรือ สูตรสำเร็จสำหรับใช้แถลงให้เหตุผลความชอบธรรมหลังฆ่าไปเรียบร้อยแล้วกันแน่?
พลเอกโคลิน เพาเวลล์
 
จะว่าไป อะไรบางอย่างที่คล้าย “การโจมตีตามลักษณะเฉพาะตัว” ก็เป็นสิ่งที่กองทัพอเมริกันเคยทำมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ดังที่พลเอกโคลิน เพาเวลล์ อดีตประธานคณะเสนาธิการกองทัพและรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เคยเล่าว่า:
 
“ผมจำวลีที่เราใช้ในสนามรบได้ มันคือ MAM หรือ ชายวัยฉกรรจ์ ถ้าเกิดฮ.ลำหนึ่งสังเกตเห็นชาวนาใส่ม่อฮ่อมดำที่ท่าทางพิรุธแม้แต่น้อยว่าอาจเป็น MAM แล้ว นักบินก็จะบินวนไปดักยิงสกัดข้างหน้าเขา ถ้าเขาขยับเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่ของเขาจะถือเป็นหลักฐานว่าส่อเจตนาเป็นศัตรู แล้วการรัวยิงครั้งถัดไปจะไม่ใช่ยิงสกัดหน้าแต่ตรงตัวเขาเลย โหดไหม? อาจจะใช่”
 
รายงานข่าวบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีโอบามาดึงเรื่องการตัดสินใจใช้โดรนสังหารไปรวมศูนย์ไว้วงในคณะบริหารรอบตัว แต่ละครั้งที่ตัดสินใจออกคำสั่งให้ “จัดการได้” มีเส้นตายเรื่องเวลากำกับ และในเวลาจำกัดนั้น กระบวนการตัดสินใจก็ทำกันอย่างระมัดระวัง ละเอียดลออรอบคอบรัดกุมและพยายามให้แม่นยำที่สุด เรื่องนี้รบกวนมโนธรรมสำนึกของโอบามามาก 
 
แต่ขณะเดียวกัน ทั้งที่มีเด็กและผู้หญิงบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อโดรนถูก ๆ ผิด ๆ มากมาย โอบามาก็ทำใจไม่ได้ที่จะเลิกใช้อาวุธโดรนนี้เสียที....
 
จนมีผู้สงสัยว่าเอาเข้าจริง Obama ต่างจาก Bush จริงหรือ? หรือเป็น Obushma กันแน่?
โอบุชมา
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"