ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลัง
ตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร
หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ ที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจ ค่าเงิน เป็นตัวจักรสำคัญมากกว่าการดำเนินการนโยบายทางด้านสังคมโดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชน
หากนับระยะเวลาให้หลังไปไม่กี่เดือนหรืออาจเป็นปีกว่าๆ (ที่จริงมันมีทุกวันและครับ) ที่สถานการณ์ของวัยรุ่นนั้นได้ถูกมองว่าเป็นสถานการณ์เด่นทางสังคมที่คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตทั่วไป จนถึงวิถีชีวิตทางเพศ ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เยาวชนล้วนแต่ถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” และเป็น “วิกฤต” สังคมอยู่เสมอ จนทำให้หลายฝ่ายออกมาให้การตอบรับในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง (และทำตามกระแสแบบผ่านๆ)
ดังรูปธรรมหนึ่ง ที่รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชน 5 ด้าน เมื่อต้นปี 2550 ได้แก่ หนึ่ง ด้านการสร้างสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว สองด้านกลไกกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา สามด้านสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ สี่ด้านการสร้างจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน และห้าด้านกฎหมายครอบครัว
การดำเนินการตามวาระแห่งชาติดังกล่าว ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และแกนนำเยาวชน เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ชุดรัฐประหาร) นี้ และยังมีทิศทางว่าจะดำเนินได้ดีต่อไปในอนาคต หากมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ทว่า แนวโน้มที่บ่งชี้ว่า วาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชนทั้งห้าเรื่องนี้จะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่นั้น เราอาจต้องศึกษาถึงนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ถนนแห่งการเลือกตั้งอีกไม่กี่วันนี้
แต่ขอโทษครับ, พรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ไม่มีนโยบายที่กล่าวถึงด้านเด็กและเยาวชนโดยตรงเลยแม้แต่นิด ทว่าพวกเขายังมุ่งนโยบายประชานิยม (แบบใหม่-ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนทักษิณ) นโยบายลด แลก แจกแถมเพื่อให้พรรคการเมืองของตนได้รับเลือกเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านี้กำลังบอกถึงอนาคตของการเมือง-สังคม และโดยเฉพาะอนาคตของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ไร้ซึ่งผู้ใหญ่ พรรคการเมือง ที่สนใจ ตระหนักในการส่งเสริม สนับสนุนด้านเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา บทเรียนการทำงานกับภาครัฐ พบว่า “เมื่อผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายก็จะเปลี่ยน” นั่นหมายถึงนโยบายเยาวชนที่ถูกผลักดันได้ดีนั้นเกิดจากการที่ผู้บริหารของรัฐบาลมีความสนใจ ตระหนักในการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่แล้วนโยบายกลับหันเหเป็นเรื่องอื่นแทน แล้วในที่สุดก็ไม่มีใครสานต่อนโยบายเดิม (ที่ทำได้เพียงนิดเดียว) อีกต่อไป
จนผลสุดท้าย งานหรือนโยบายนั้นๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เพียงเพราะนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลเหล่านั้นมัวแต่เล่น “เก้าอี้ดนตรี” จนลืมไปว่ามีเด็กและเยาวชนหลายคนมุ่งให้นโยบายนั้นๆ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดหาย แต่ยังไงเสียกรณีเยี่ยงนี้นั้นย่อมสะท้อนถึงความคิด-ทัศนคติ-ความใส่ใจ ต่อเรื่องเด็กและเยาวชนของคนการเมืองได้เป็นอย่างดี
มาถึง ณ ตรงนี้ ผมคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนให้ชัดเจนเลยว่ามีอะไร อย่างไร และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรเพื่อเด็กและเยาวชนบ้าง นอกจากจะรอให้มีกระแสก่นด่า วิพากษ์เยาวชนทีหนึ่งก็ค่อยสนใจทีหนึ่ง ตามทฤษฎี “วัวหายล้อมคอก” ที่พวกท่านๆ ชำนาญ
หรือหากพรรคการเมืองใด คิดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนไม่ออก ผมเสนอว่าลองให้โอกาสเยาวชนได้เข้าไปเสนอ-แสดงความคิดเห็นบ้างเถิดว่าพวกเราเยาวชนต้องการอะไรและอยากให้รัฐบาลชุดต่อไปผลักดันเรื่องไหนบ้าง
หากพรรคการเมืองไหนคิดว่าเรื่องเด็กและเยาวชนนั้นไม่จำเป็น ก็ไม่เป็นไรครับ, เพราะผมเชื่อแน่ว่าพอเลือกตั้งเสร็จ - พอมีกระแสปัญหาเยาวชน – พอมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ - เหมือนเมื่อปีที่แล้วและหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้ใหญ่มักชอบทำด้วยอ้างความชอบธรรมนั้นแล้ว พวกเขาคนสูงวัยเหล่านั้น, พรรคการเมืองที่เตรียมลงสนามเลือกตั้งวันนี้ ก็จะสนใจใคร่ตระหนักเรื่องเด็กและเยาวชนขึ้นมาในบัดดล...