ประมาณวันที่ 14 เมษายน 2551 นี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและได้มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551
ส่งผลให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่ม องค์กร เยาวชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ อย่างขะมักเขม้น
อย่างไรก็ตามสำหรับเจตนารมณ์แล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวมีขึ้นมาเพื่อให้เกิดกลไกการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งเท่าที่ผมได้อ่านกฎหมายนี้ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น น่าจะมีแนวโน้มดังนี้....
1. กฎหมายได้กำหนดให้มีแนวทางและหลักการการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชนไว้ เช่น การพัฒนาเยาวชนต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรก ต้องให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิ มีส่วนร่วม ได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอย่างเต็มที่
2. กำหนดสิทธิให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนรับรองการเกิด การพัฒนา การยอมรับ การคุ้มครองและโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง การเกิดหรือสถานะอื่นของเด็กและเยาวชน บิดามารดา หรือผู้ปกครอง (ม.7)
3. การสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการจัดทำแผนการสนับสนุน “ให้สำนักงานหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ร่วมมือ ส่งเสริม และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ทว่าการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงหลักการและแนวทาง การมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสังคมในท้องถิ่นด้วย” (ม.8)
นั่นหมายความว่า หากเยาวชนรวมตัวกัน และเข้าไปขอให้มีการจัดทำแผน โครงการ กิจกรรม ก็เป็นสิ่งที่ อบต. หรือ อบจ. หรือ เทศบาล องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ต้องให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม
4. ในคณะกรรมส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ และอื่นๆ รวมยี่สิบกว่าคน กำหนดให้มีตัวแทนมีเด็กและเยาวชน 2 คน รวมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งถือเป็นกฎหมายด้านเด็กและเยาวชนฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการระดับชาติ
5. คณะกรรมการและสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จะร่วมกันจัด “สมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ” ปีละ 1 ครั้ง ขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ทบทวนกลไกและกระบวนการทำงานและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ เพื่อนำไปสู่นโยบายด้านเด็กและเยาวชนแห่งชาติต่อไป
6. เน้นให้ทุกภาคส่วนมาพัฒนาเด็กและเยาวชน เช่น ให้องค์กรเอกชนและองค์กรชุมชนมีสิทธิขอจดทะเบียนเป็น “องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน” กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะได้รับการสนับสนุน เช่น งบประมาณ อาสาสมัคร การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
7. จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนระดับ จังหวัดและอำเภอ ขึ้น เพื่อเป็นกลไกการประสานงาน การทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ และระดับชาติ ทั้งนี้ สภาเด็กและเยาวชนจะเป็นเวทีการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เป็นตัวแทนเสียงของเด็กและเยาวชนที่จะให้ข้อเสนอแนะ ต่อการทำงาน นโยบาย แผนงาน และงบประมาณของภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อีกด้วย
ในเรื่องนี้ หลายจังหวัดเริ่มมีการเตรียมความพร้อมในการจัดให้มี “สภาเด็กและเยาวชน” ขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกลไกระยะเวลาของกฎหมาย ซึ่งหลายจังหวัดดำเนินการด้วยความร่วมมือของภาคีองค์กรที่เกี่ยวข้อง และบางจังหวัดก็ยังต้องประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในการจัดตั้งต่อไปเพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและหลากหลาย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปนี้จะเห็นบทบาทของเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมเพื่อตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้น และผู้ใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน จะให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนอย่างจริงจังและไม่ละทิ้งหลักการมี “ส่วนร่วม” ของเด็กและเยาวชนออกไปจากใจ
หากใครอยากศึกษา พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://oppy.opp.go.th/news/youth22.pdf