มาริยา มหาประลัย
สาบานได้ว่า พิธีเปิดโอลิมปิกที่ปักกิ่งซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปสร้างความตะลึงพรึงเพริศ และสามารถตรึงขนทุกเส้นของฉันให้ลุกชันได้ยิ่งกว่าตอนนั่งดูกระโดดน้ำชายเสียอีก (เพราะกระโดดน้ำชายทำให้อย่างอื่นลุกและคันมากกว่า นั่นแน่! คิดอะไร! นั่งดูทีวีนานๆ ยุงมันกัดเลยต้องลุกขึ้นมาเกาเฟ้ย! อ๊ายส์!)
“แม่เจ้าโว้ย! อะไรมันจะ %$#@*&+ ขนาดนั้นฟะเนี่ย!!!” ฉันไม่รู้จะหาคำวิเศษณ์คำไหนมาบรรยายความวิเศษของภาพตรงหน้าได้ ตลอด 3 ชั่วโมงนั้นฉันเผลออ้าปากค้าง ทำตาโต ตบอกผางไปไม่รู้กี่ครั้ง และหลายครั้งเล่นเอาความตื้นตันมาชื้นอยู่ตรงขอบตาเชียวล่ะคุณ อะไรจะขนาดนั้น!
คุณเอ๊ย! ตั้งแต่เกิดมาหนักโลกจนวันนี้ ฉันยังไม่เคยเห็นพิธีเปิดกีฬาครั้งไหนวิจิตรตระการตาอลังการโอฬาริกเท่าครั้งนี้มาก่อนเลย สมัยก่อนฉันว่ายิงธนูไปจุดกระถางคบเพลิงเมื่อโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่าปี 1992 กับจุดไฟในน้ำที่ซิดนีย์ปี 2000 ยิ่งใหญ่แล้ว เจอคุณพี่หลี่หนิงทำตัวเบาหวิวเหาะเหินเดินอากาศโหนสลิงวิ่งไปจุดคบเพลิงแล้วเปรี้ยวแซ่บกว่าเยอะ! (คาดว่ากว่าจะจุดคบเพลิงเสร็จพี่แกคงโดนสลิงรัดจนไข่ฟีบแฟบแบ๋นตะแลดแต๊ดแต๋กันเลยทีเดียว...)
ยิ่งเมื่อกล้องกวาดภาพให้เห็นนักแสดงแต่ละคน พลุเป็นแสนลูกบนฟ้าค่ำคืนนั้นยังสวยน้อยกว่าแววตาของนักแสดงเหล่านั้นที่ฉายความมุ่งมั่นอย่างโดดเด่น มันน่าทึ่งจริงๆ นะคุณขา ที่คนเป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งใจเดียวกันประกาศก้องร้องคำรามให้โลกรู้ว่า “อั๊วะ (คนจีน) แน่แค่ไหน!”
อู้ย! นี่ถ้าเจ้าภาพครั้งหน้าไม่ใช้ดาวเทียมยิงคบเพลิงลงมาจากอวกาศจะเอาอะไรมาชนะล่ะเนี่ย!
“คุณน้อง! คุณพี่ดูแล้วรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนจีนจริงๆ” คุณพี่ท่านหนึ่งบอกฉันด้วยสายตาเปี่ยมศรัทธา ถึงฉันจะหน้าตาเป็นอาซิ้มขนาดนี้ แต่สำนึกของฉันที่มีต่อประเทศจีนนั้นน้อยนิด เนื่องจากโดนกระแสโลกาภิวัตน์ลบเลือนพรมแดนของประเทศไปหมดแล้ว ดังนั้น อย่าได้ถามฉันว่าเช็งเม้งเมื่อไร ทำไมต้องไหว้เจ้า สำนึกของฉันต่อประเทศจีนมีแค่ ฉันชอบกินติ่มซำกับก๋วยเตี๋ยว – อยากสวย เก่ง เป็นนางพญาแบบกงลี่ – หนังจางอี้โหมวเริ่ดถึงเริ่ดมาก! – หมีแพนด้าน่ารักเนอะ – อ๊ายส์! เฉินกว้านซีน่ารักน่ากินจริงเชียว! แค่นั้นแหละคุณ! เผลอๆ ฉันจะรู้จักนิวยอร์คจาก Sex & the City มากกว่าประเทศของบรรพบุรุษด้วยซ้ำ!
แต่อาการปลาบปลื้มปิติของฉันก็มาหงายเงิบเอาเมื่อได้อ่านข่าว (http://www.abcnews.go.com/International/Story?id=5565191&page=1) ว่า แม่หนูน้อยเสื้อแดง Lin Miaoke ที่ร้องเพลงชาติจีนน่ะ ที่จริงแล้วเธอลิปซิงค์! (อ๊ายส์! แอบมาฝึก “ป้านก” ที่เมืองไทยหรือเปล่าจ้ะหนู!) เสียงเพราะๆ ที่เราได้ยินนั้นมาจากแก้วเสียงของแม่หนู Yang Peiyi เด็กผู้หญิงอีกคนซึ่งถูกเปลี่ยนตัวเอาในเกือบจะนาทีสุดท้ายเพราะเธอ...ฟันหลอและ “ไม่น่ารัก”
“เหตุผลก็คือว่า...หนึ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เด็กที่อยู่ในกล้องจะต้องน่ารัก ไร้ที่ติ บ่งบอกความรู้สึกจากข้างในลึกๆ ซึ่ง Lin ให้เราได้ในแง่มุมนั้น แต่ในเรื่องเสียง ทีมของเรามีมติเป็นเอกฉันท์ว่าหนู Yang เติมเต็มความต้องการของเราได้เต็มเปี่ยม เธอเยี่ยมที่สุด” Chen Qigang ผู้กำกับดนตรีประจำพิธีเปิดกล่าว เขายังเรียกการเปลี่ยนตัวครั้งนี้ว่า “การตัดสินใจที่น่าเศร้าที่เราไม่อยากให้เกิด” อีกด้วย
“แต่เมื่อตอนซ้อมใหญ่ เหล่าผู้นำของประเทศบอกว่าต้องเปลี่ยน เราจึงไม่มีทางเลือก ผมคิดว่าผู้ชมจะเข้าใจ นี่คือผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหน้าตาของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเชิญธงชาติของประเทศจีน นี่มันสพคัญมากๆ และผมคิดว่ามันยุติธรรมต่อทั้ง Lin และ Yang เพราะเราได้ทั้งภาพที่ดีที่สุดและเสียงที่ดีที่สุดซึ่งเราหลอมรวมไว้เข้าด้วยกัน” Chen สรุป
ฉันอ่านข่าวนี้จบแล้วเกากบาลแกรกๆ ประเทศจีนก็ตั้งกว้างขวาง คนประเทศนี้ก็มหาศาล เผลอๆ คนจีนกระโดดพร้อมกันโลกจะสะเทือนด้วยซ้ำ ถ้าโหยหาความสมบูรณ์แบบขนาดนั้นมากกันนัก มันจะไม่มีเชียวหรือเด็กที่หน้าตาดี ร้องเพลงเพราะ ไม่ต้องแยกเสียงแยกร่างเป็นสองคนในร่างเดียวแบบนี้
ฉันล่ะงงจริงจริ๊งว่า ถ้าเอาแม่หนูฟันหลอคนนี้ไปร้องเพลงชาติมันทำให้ชาติดูเสื่อมทรามลงตรงไหน เธอขาดคุณสมบัติข้อไหนของการเป็นคนจีน ทำไมเธอถึงเป็นตัวแทนคนจีนไม่ได้ ก็เหมือนคุณเกิดในประเทศไทย สัญชาติไทย เผลอๆ จะตายมันที่ไทยนี่แหละ และไม่เคยคิดหนีไปอังกฤษเหมือนบางครอบครัว แต่จู่ๆ ก็มีคนมาชี้หน้าว่า คุณขาดคุณสมบัติของคนไทยซะงั้น เอ้า! ‘ไรยะ!
”ความเป็นจีน” คืออะไรอันนี้ฉันไม่รู้ เอาแค่เรื่อง “ความเป็นไทย” นี่ก็พูดกันยากหนักหนาแล้ว เพราะ “ความเป็นไทย” แบบที่เราเข้าใจกันนั้นเป็น “ความเป็นไทย” แบบรัตนโกสินทร์ ที่ไม่นับรวมเอาอาณาจักรอื่นๆ อย่างอาณาจักรล้านนา, ศรีวิชัย, ปัตตานี ฯลฯ ไม่รวมเอาเด็กเซ็นเตอร์พอยท์, การเล่นสงกรานต์แบบถนนข้าวสาร, เกย์ซอยสอง, คนเยาวราช, เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ไทยบนรันเวย์ Bangkok Fashion Week ฯลฯ เข้าเป็น “ความเป็นไทย” ด้วย พูดถึง “ความเป็นไทย” เมื่อไร ทำไมต้องเป็นเรื่องโบราณทู้กกกที ไม่รู้ทำไม
“ความเป็นไทย” แบบนี้มักสื่อออกมาอย่างฉาบฉวยแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมชอบทำนั่นแหละ เช่น พูดถึง “ความเป็นไทย” ปั๊บ เรามักจะนึกถึงผู้หญิงห่มสไบ แต่เรามักจะนึกไม่ออกว่า ผู้หญิงปัตตานีห่มฮีญาบนี่เป็น “ความเป็นไทย” ด้วยไหม เพราะ “ความเป็นไทย” ที่เราถูกกระทรวงศึกษาสั่งสมมาไม่เคยให้ภาพ “ความเป็นไทย” ในแง่อื่นนอกจากการห่มสไบร้อยมาลัยเรี่ยมเร้เรไรเป็นแม่พลอย
พูดแล้วก็นึกถึงเรื่องที่พี่ชายของฉันเคยเล่า เมื่อตอนงานลอยกระทงที่ผ่านมามีการประกวดนางนพมาศ ผู้เข้าประกวดต้องใส่ชุดไทย แต่มีอยู่นางหนึ่งใส่ชุดล้านนามา เลยโดนอาจารย์ไล่ให้ไปเปลี่ยนชุดใหม่ เพราะว่าหล่อนใส่ชุดล้านนา ไม่ใช่ “ชุดไทย”...อ๊ายส์! ฟังแล้วฉันจะบ้าตาย เดี๋ยวแม่ฟ้อนเล็บใส่เลยนี่!
วิชาประวัติศาสตร์นั้นควรจะช่วยให้เรารู้ถึงที่มาของตัวตนของเราได้ แต่กลายเป็นว่า ฉันซึ่งเกิดในจังหวัดเพชรบูรณ์แต่ดันไม่เคยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเลยสักกะติ๊ด ฉันรู้ไปโหม้ดดดดว่าสุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร แต่ไม่เคยรู้เลยว่า อ.หล่มสักที่ฉันเกิดมี “ตัวตน” อย่างไรในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย รู้แค่ว่ามะขามอร่อย...แค่เนี้ยะ!
นอกจากนั้น มันไม่เคยฉายภาพให้เราเห็นว่าประชาชนคนเดินดินมีชีวิตอย่างไร เพราะมันคือ “ประวัติศาสตร์ของผู้นำ” ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ของประชาชน” เหมือนที่ใครสักคนเคยบอกว่า “สงครามมีแต่จดจำผู้นำได้ แต่ไม่เคยจำทหารที่ต้องบาดเจ็บล้มตายได้” นั่นแหละ ฉันเลยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย
เอ้า! กลายเป็นว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้ช่วยให้ฉันตอบคำถามได้เลยว่า “ฉันเป็นใคร” แต่กลับสร้างความเป็นอื่น (เกิดความรู้ว่าที่ไหนคือ “บ้านนอก”) และพอกพูนอำนาจของศูนย์กลางจนปูดเป่งเบ่งบวมเช่นนี้ (อะไรๆ ก็กรุงเทพฯ เอะอะก็กรุงเทพฯ หมั่นไส้วุ้ย! ชิ!)
เอาเข้าจริงแล้ว “ความเป็นไทย” ควรจะเปิดกว้างมากพอให้ทุกคนมีพื้นที่ยืนและไม่รู้สึกเป็นอื่น ไม่ได้แช่แข็งไว้แค่ผู้หญิงห่มสไบ วัดพระแก้ว ต้มยำกุ้ง ผ้าไหม ช้าง ฯลฯ แต่รวมไปถึงสงกรานต์แบบข้าวสาร คนจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่แค่กรุงเทเพฯ เกย์ซอยสอง สาวสายเดี่ยวเดินเซ็นเตอร์พอยท์ ชุมชนใต้ทางด่วน ข้าวผัดอเมริกัน (ซึ่งคิดในไทย ไม่มีในอเมริกา) นิยายกำลังภายในภายใต้สำนวนการแปลของน. นพรัตน์ (สร้างขนบการแปลนิยายจีนขึ้นมาแบบที่ไม่มีในนิยายกำลังภายในที่เป็นภาษาจีน) ฯลฯ
ปัญหาในสังคมบ้านเราส่วนหนึ่งก็เพราะการไปแบ่งเขา-แบ่งเราเพื่อยัดเยียดความเป็นอื่นซะ ตกลงเราจะมี “ความเป็นไทย” ไว้ให้เราเข้าใจตัวตนของเรามากขึ้น หรือมีไว้สร้างความเป็นอื่น
เหมือนที่ “ความเป็นจีน” ไม่มีพื้นที่ให้ “เด็กฟันหลอ” ยืนเต็มสองขา...ชิมิเคอะ!!!
“เพื่อผลประโยชน์ของชาติ...เพื่อผลประโยชน์ของชาติ...เพื่อผลประโยชน์ของชาติ” อ๊ายส์! เหตุผลคุ้นๆ ไหมคะคุณขา เหมือนเวลาไล่รื้อถอนพื้นที่เพื่อเอาไปสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า เหตุผลคลาสสิคที่รัฐมักจะอ้างเพื่อใช้หุบปากคนในพื้นที่ที่เดือดร้อนก็คือ “เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เรามันเป็นประเทศประชาธิปไตยนะโว้ย!”
แต่เอ๊ะ! เอ๊ะ! เอ๊ะ! ถ้าวิเคราะห์กันดีๆ “คนส่วนใหญ่ของประเทศ” ในบริบทนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แหงล่ะ! ก็การพัฒนาทุกอย่างในประเทศนี้ก็ประเคนใส่พานถวายเพื่อเมืองหลวงอยู่แล้วนี่นา แต่มันออกจะเป็นตรรกะที่ประหลาดอยู่ไม่น้อย ในเมื่อคนกรุงขยันบริโภคพลังงานกันจนต้องเปิดโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไหงคนต่างจังหวัดต้องมาเดือดร้อนโดนไล่ที่ล่ะ เอ้า! ใครใช้ก็ต้องรับผิดชอบเองเซ่!
แต่ก็น่าสงสัยอยู่หรอกนะว่าทำไมคนกรุงไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไร สังเกตสิว่า เวลาคนเหล่านี้ประท้วงหรือเรียกร้องขึ้นมาซักที คนกรุงก็มักมีอาการเหม็นสาบคนจนขึ้นมา อ๊ายส์! ก็พวกนี้น่ะมันทำให้รถติด (กูมีรถนะโว้ย!) พวกนี้ทำให้หุ้นตก (กูมีหุ้นนะโว้ย!) แถมชาวบ้านพวกนี้ไม่น่ารักเอาซะเล้ย! อันนี้ก็เข้าใจได้ว่า ทำไม “ไม่น่ารัก” ก็ในสื่อต่างๆ “คนต่างจังหวัด” มักถูก Stereotype ให้เป็นคนซื่อ (จนเซ่อ) และเชื่อง ไม่เหมือนภาพตรงหน้าที่คนต่างจังหวัดที่ออกมาประท้วงเย้วๆ เท่าไร จนเราเองก็ลืมไปว่า เขาก็มีปากมีเสียง มีเลือดเนื้อที่สัมผัสได้ถึงความเดือดร้อนเหมือนกัน
ใครบอกว่า ประชาธิปไตยคือการรับฟังเสียงส่วนมาก ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการรับฟังเสียงของทุกคนโดยไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร แม้ว่าจะใช้แนวทางของเสียงส่วนใหญ่ แต่เราก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย และไม่มีสิทธิ์ที่เสียงส่วนใหญ่จะมีไว้เหยียบหัวใครก็ได้เพียงเพราะตัวเองมีพวกมากกว่า
ตรรกะแบบ “กู 17 ล้านเสียงนะโว้ย! กูทำอะไรไม่ผิด” เหมือนที่ทักษิณชอบใช้ และ “กู 11 ล้านเสียงนะโว้ย! กูทำอะไรไม่ผิด” เหมือนที่สมัครชอบใช้จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย โปรดฟังอีกครั้ง! ไม่ใช่ประชาธิปไตย!!
เหมือนที่จีนเอาข้ออ้างเรื่อง “คนส่วนมาก” ไว้เหยียบหัวเด็กฟันหลอไม่ให้เผยอหน้าเป็นตัวแทนประเทศได้
การที่เอาเด็กหน้าตาสวย (แต่เสียงไม่ดี) มาลิปซิงค์เสียงของเด็กเสียงสวย (แต่หน้าตาไม่ดี) แล้วอ้างว่า นี่แหละคือตัวแทนของประเทศแบบนี้ฟังดูแล้วก็ประหลาดพิลึก เพราะมองอีกทางมันแปลว่า “ฉันอยากให้ข้างนอกดูสวย ข้างในจะเป็นยังไงก็ช่าง” ถ้ามีผู้หญิงสักคนมาพูดแบบนี้ คุณจะเรียกผู้หญิงที่พูดแบบนี้ว่า “คนสวย” ไหมล่ะ
มันน่าคิดต่ออีกว่า ใครเป็นคนอธิบายกับเด็กทั้งสองคนถึงเรื่องดังกล่าว หนูน้อยน่ารักคนนั้นจะคิดยังไงที่ผู้ใหญ่มองเห็นเธอแค่ “ความสวย” (ตามข่าวเด็กคนนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นั่นไม่ใช่เสียงเธอ!) แล้วเด็กฟันหลอคนนั้นล่ะจะคิดยังไงที่เธอต้อง “ล่องหน” ไม่ให้ใครรู้ว่าเธอมี “ตัวตน” มีแต่เสียง เธอจะคิดยังไงที่ถูกปลดจากหน้าที่เพียงเพราะเกิดมาหน้าตาเข้าข่าย “ไม่น่ารัก” (ในสายตาคนบางกลุ่ม) เลยเป็นตัวแทนของประเทศไม่ได้
เมื่อปี 1996 โอลิมปิกที่แอตแลนต้า มูฮาหมัด อาลี ได้รับเกียรติให้เป็นคนจุดคบเพลิงคนสุดท้าย มือของเขาสั่นงันงกเพราะโรคพาร์คินสัน แค่ยืนนิ่งๆยังยืนไม่ได้ แต่มือกำยำที่กำคบเพลิงอย่างไหวสั่นนั้นนั่นกลับเป็นภาพที่จับใจฉันมาก
ฉันกลับไปดูคลิปแม่หนูเสื้อแดงลิปซิงค์เพลงชาติจีนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ฉันอดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นยังไงหนอถ้าแม่หนูฟันหลอเป็นคนร้องเพลงชาติ
“ฉันได้ยินแล้ว...และฉันเห็นเธอแล้ว” ฉันอยากให้เธอได้ยินว่าฉันได้ยินและได้เห็นเธอแล้วจริงๆ Yang Peiyi...เด็กฟันหลอที่น่ารักที่สุดในสายตาของฉัน