เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์

 

ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่งเราก็เป็นนักพัฒนาตัวเองไปในตัวด้วย เพราะในแต่ละครั้งที่ได้ทำงานกับคนอื่นๆ หรือแม้แต่งานที่ต้องทำกับตัวเอง การทำงานนี้ก็เป็นการขัดเกลาให้เกิดคุณค่าภายในตัวเอง เป็นการสร้างประโยชน์แก่ตนในการเพิ่มพูนทักษะ ความสามารถ ศักยภาพ และวิธีคิด ทัศนคติต่างๆ ในการมองโลก และการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม

ในแง่มุมของการทำงานนั้น มีหลายคนที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาที่จะสำรวจจิตใจตัวเอง หรือการได้กลับมามอง ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความสัมพันธ์ และพลังชีวิตด้านในของตน แต่ก็สนุกกับการทำงาน การคิด วิเคราะห์ ถกเถียง อภิปราย และลงมือปฏิบัติทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการทำงานที่เคร่งครัดต่างๆ เหล่านี้ บ่อยครั้งที่นำพาความตึงเครียดมาสู่คนทำงาน กลายเป็นบรรยากาศการทำงานที่เคร่งขรึม ไม่มีความสุข ขาดกำลังใจในการทำงาน และยังทำให้การทำงานไม่สามารถดำเนินการไปได้ตามที่คาดหวังไว้ และทำให้สมดุลในชีวิต ความรักและความสัมพันธ์สะดุดลง


สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีหลายองค์กรหน่วยงาน ที่เริ่มต้นให้สมาชิกในองค์กรมีกิจกรรมในการหันกลับมารู้ใจตัวเอง อยู่กับตัวเอง มาจัดการดูแลความสุข ความทุกข์ และเสริมสร้างพลังจากภายในจิตใจของตน ผ่านการภาวนาในรูปแบบต่างๆ บ้างก็ไปฝีกอบรมแนวจิตวิญญาณ บ้างก็ทำกิจกรรมกันเอง เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ทำงานอย่างมีความสุข และมีพลังใจในการทำงานร่วมกัน


การกลับมาดูแลจิตใจตัวเองของคนทำงาน ถือเป็นเรื่องที่ควรทำไปพร้อมๆ กับการทำงานเพื่อผู้อื่น นั้นคือ นอกจากจะเป็นการสร้าง
“ปัญญา” จากภายในตัวเองแล้ว การทำงานกับคนอื่นด้วยความกรุณา เมตตา ปรารถนาดีก็เป็นความสมดุลที่จะนำพาความเข้าใจ ความสุข มาสู่การทำงานอย่างแท้จริง


ฉะนั้นแล้วปรากฏการณ์นี้ จึงเป็นบรรยากาศ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนทำงานในระดับองค์กร และเครือข่าย ได้กลับมาพูดคุยสอบถามความสุขความทุกข์ของกัน มีความสัมพันธ์กันในแง่
“ความเป็นคน” มากกว่า “ความเป็นงาน” ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในองค์กรที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันของนักทำงานพัฒนาสังคม


ดังนั้นแล้ว คนทำงานสังคม ไม่ว่าจะอยู่ระดับใดก็ตาม ก็ย่อมเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ ในชีวิต เจอเรื่องที่ทุกข์ใจ สุขใจ เปลี่ยนแปลงไปมา ด้วยเหตุนี้การวางความคิด การใช้หัวสมอง หรือแม้แต่ถอดหมวกบทบาทหน้าที่และนำใจตัวเองกลับมาดูแลเรียนรู้อารมณ์ “ความรู้สึกภายใน” ตัวเองและคนรอบข้างจึงเป็นอีกเรื่องที่ควรทำให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ชีวิตความสัมพันธ์ที่สมดุลและอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและมีความสุข

 


ใช้ความเป็นคนเข้าหากัน


ในความหลากหลายทางเพศ รสนิยมทางเพศ ชีวิตทางเพศ หรือแม้แต่รูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศของคนนั้นมีมากมายแตกต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมของแต่ละคน ทว่าการอยู่ร่วมกันอย่างไรที่จะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายนี้ย่อมเป็นเรื่องท้าทายของแต่ละคนที่จะเข้าหาปฏิสัมพันธ์กัน


การอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและเข้าใจนี้ หลักการสำคัญหนึ่งคือ
“ใช้ความเป็นคนเข้าหากัน” ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีรสนิยมทางเพศแบบใด มีชีวิตทางเพศแบบไหน สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องเราควรมองข้ามไป เพื่อนำมาสู่ความจริงแท้ของแต่ละคนนั้นคือ “ความเป็นคน” เช่น ไม่ว่าเรารักใครก็ตามเรารักในความเป็นคนของเขา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเขาเป็นชายหรือเขาเป็นหญิง หรือ หญิงรักหญิงก็จำเป็นต้องเป็นทอมกับดี้ตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่อยู่ที่ว่า คนสองคนมีความรู้สึกดี และมีความรักแก่กัน


เมื่อเรามองตัวเองว่าเราเป็นคนๆ หนึ่งที่เติบโตมา มีสรีระทางเพศที่แตกต่างกัน และความเป็นเพศก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมขัดเกลาของสังคม และวัฒนธรรม ที่บอกเราเสมอว่าลักษณะแบบใดที่เรียกว่าชาย หรือหญิง
, ลักษณะแบบใดเรียกว่าชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง และพฤติกรรมทางเพศแบบใดที่ปกติ หรือผิดปกติ สิ่งที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจาก “ความคิด” ที่เรานิยามความหมายให้ค่ากับความเป็นเพศของคนนั้นๆ จนกลายเป็น “ความคิดฝังหัว” ที่เราได้ตัดสินแบบตายตัว ว่าแบบไหนคือใช่ หรือไม่ใช่ ซึ่งสิ่งที่เกิดจากความคิดได้ให้ค่าในความเป็นคนของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป โดยเอาประเด็นเรื่องเพศมาเป็นเงื่อนไขกำกับ และโดยมากจะตัดสินความเป็นคนบนฐานคิดเรื่องเพศแบบ 2 ขั้วเท่านั้น


ดังนั้นก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่องเพศวิถีของคนแต่ละคน เราจึงควรวางเรื่องความคิดต่างๆ ลงก่อน และกลับมามองที่ความเป็นคน กลับมาสู่ความจริงแท้ในสิ่งที่เป็นมนุษย์ของคนแต่ละคน เพื่อให้เราสามารถที่จะสัมผัสประสบการณ์จริงของชีวิตที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในอดีตและปัจจุบันของแต่ละคนได้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่ความเคารพและเข้าใจในความเป็นคนของคนคนนั้น


ในความเป็นคนจริงแท้แล้ว ไร้เพศ ไม่มีชาย ไม่มีหญิง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีใช่หรือไม่ใช่ มีแต่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรที่เคารพในความเป็นมนุษย์ของคนนั้นๆ และเข้าใจในความเป็นคนที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้นำไปสู่ชีวิตที่ปลอดภัย ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา เลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดความรุนแรง อันนำไปสู่ความเป็นสุขร่วมกันอย่างแท้จริง

 

 

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์