เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

มีการแยกบทบาทตามสรีระทางเพศ กลายเป็นบทบาทที่ถูกกำหนดว่าแบบนี้ “ถูกต้อง” แบบนี้ “ควรจะเป็น” จนทำให้บางครั้ง ผมเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่ผู้หญิงทำได้ เช่น ผมถูกผู้ใหญ่ทั่วไปสอนให้เป็นคนที่เข้มแข็งอย่าร้องไห้ให้ใครเห็นไม่งั้นจะอ่อนแอเหมือนผู้หญิง ผมถูกสอนจากโรงเรียนว่าเป็นผู้ชายต้องอดทน แข็งแรง ทำงานหนักให้เป็น ต้องเป็นผู้นำ ผมถูกบอกว่าเป็นผู้ชายต้องกล้ากินอาหารดิบๆ กินเหล้า เที่ยว มีแฟนไวๆ จึงจะสมกับความเป็นชาย
   
การสั่งสอนของสังคมผ่านโครงสร้างสถานบันต่างๆ ทำให้ผมเห็นถึงบทบาทความสัมพันธ์ของคนด้วยกันที่ไม่เท่าเทียม เพราะจากการทำงานและประสบการณ์ชีวิตก็เห็นว่าเพราะการสอนต่างๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้โครงการอำนาจไม่มีความเท่าเทียมกัน ผู้ชายสามารถคุยเรื่องเพศได้ถือว่าเก่งผู้หญิงคุยถือว่าเป็นคนไม่ดี ผู้ชายพกถุงยางอนามัยได้ผู้หญิงพกก็ถูกมองว่าไม่ดี ผู้ชายมีคู่นอนหลายคู่ถือว่าเก่งเท่แต่ผู้หญิงกลับถูกมองว่าไม่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พบว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้เรื่องเพศและโอกาสในความเข้าใจเรื่องเพศวิถีของตนเอง ดังนี้ความเป็นเพศของชายกับหญิงจึงไม่เท่ากัน และยังนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เท่าเทียม
   
สำหรับผมแล้ว การคุยเรื่องเพศของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจและพูดคุยกัน เหมือนดังที่ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่สาวที่ผมรู้จักคนหนึ่ง และเราก็ได้มีโอกาสทำความเข้าใจในเรื่องเพศร่วมกัน
   
ในการทำงานเรื่องเพศ หลายคนมองว่ายากต่อการทำความเข้าใจในเรื่องคู่ของตัวเอง ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น กรณีที่เราเป็นผู้หญิง และคู่ความสัมพันธ์ของเราเป็นผู้ชาย การที่จะให้ผู้หญิงคนนั้นเริ่มคุยเรื่องเพศก่อน ก็อาจถูกคู่ของเธอที่คบหาอยู่รู้สึกตกใจ หรือมองเธอคนนั้นในทางที่ไม่ดีก็เป็นได้
   
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ปัจจุบันผู้หญิงหลายคนเริ่มคุยเรื่องเพศของตนมากขึ้น และผู้ชายเองก็ไม่ได้มองผู้หญิงมุมลบๆ อย่างเดียว หากมองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่ได้รับฟังเรื่องของคนที่ตัวเองคบอยู่
   
มีประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากเรื่องของเพื่อนรุ่นพี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานในเรื่องเพศกับองค์กรพัฒนาเอกชนมาเป็นระยะเวลานานหลายปี
   
พี่สาวคนนี้ เล่าว่า “ในคู่ของตัวเอง เวลามีหรือไม่อยากมีอะไร พี่ทำงานด้านนี้ แต่คู่ไม่ได้ทำ แรกๆ กลัวเหมือนกัน แต่พอคุย ก็รู้ว่าเขาเข้าใจง่าย เวลาเราอยากมีหรือไม่อยากมี เราก็คุยกัน พี่ไม่ได้กลัวเรื่องไม่ไว้ใจ ก็กังวล ก็ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สุดท้ายก็คุย เขาก็ฟังเรา เขาก็รู้ว่าทำไมเราคิดแบบนี้”
    
“อย่างความสุขทางเพศ พี่ก็คุยเรื่องถ้าเรามีแบบไม่ป้องกัน พี่ก็ถามว่า ใช้กับไม่ใช้อะไรรู้สึกดี เขาก็บอกว่า ไม่ใส่ดีกว่า แล้วพี่ก็ถามกลับว่าทำไม เขาบอกว่ามันไม่ได้แนบเนื้อ พี่ก็ถามว่าจริงเหรอ เค้าก็บอกว่าเวลาใส่ก็เสร็จเหมือนกัน มันเป็นเรื่องความรู้สึก”
   
แล้วเวลาคุยแบบนี้ เขามองเราอย่างไร?

“ไม่นะ พี่ว่าเรื่องแบบนี้ต้องคุยกัน คุยตั้งแต่ไม่เคยมีอะไรกัน คุยมาตลอด ยกตัวอย่างคนรอบข้าง อย่างบางทีเขามองชายกับชายภาพลบ พี่ก็จะคุยกับเขา อย่างเวลาไปไหน ก็จะคุยกับเขา เวลาเขาเห็นคู่ไหน เวลาที่พี่คิดว่าจะเติมก็เติมตลอด” 
   
แน่นอนว่า เพื่อนชายของคู่เราหลายๆ คนอาจมองในด้านลบ แต่การได้เริ่มคุยกับคู่ของตัวเองก็ทำให้สามารถขยาย ไปกับคนอื่นต่อได้ อย่างความคิดของพี่คนนี้ที่มองว่า เราอาจไม่ใช่คนสุดท้ายของเขา ที่เราทำไปเพื่อวันหน้าถ้าเขาคบคนใหม่ เขาก็ไม่ได้ดูหมิ่นใคร เขาก็ไม่เบียดเบียนคนอื่นๆ มีความเข้าใจในคู่ของเขา เราไม่คิดว่าจะคบกับคนนี้ไปตลอด จากกรณีดังกล่าวนับได้ว่า เป็นการเริ่มต้นคุยเรื่องเพศจากคนใกล้ตัว
   
ทว่าบางครั้งการคุยเรื่องเพศกับคนใกล้ตัวก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกับคนบางคน แต่สำหรับพี่สาวคนที่รู้จักนั้น เล่าให้ฟังว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดกับคู่ของตน 

“พี่ว่า เขาดีขึ้น เวลาเห็นคนอื่นก็เป็นห่วงสุขภาพคนอื่นมากขึ้น เช่นเอาถุงยางให้เพื่อน สอนน้องชายเขา ก็คุย เรื่องการป้องกัน เรื่องความเสี่ยง เขาก็ช่วยเรื่องแจกถุงยาง เพื่อนที่รู้จักเวลาไปเที่ยวอาบอบนวดเขาก็คุยกับเพื่อน” พี่เขาอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคู่ของตัวเอง และยังมองว่า “เวลาเห็นเขาเปลี่ยน จะรู้สึกดี ไม่ได้ช่วยสังคมทั้งหมด แต่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ก็ดีแล้ว ได้ช่วยเพื่อนๆ ปลอดภัยดี”
   
ในรายละเอียดบางเรื่อง กว่าที่จะทำให้คู่เปลี่ยนทัศนคติได้ แน่นอนว่าการพูดคุยอาจมีทั้งเรื่องบางเรื่องที่คุยได้ และบางเรื่องคุยไม่ได้ บางเรื่องใช้เวลาในการอธิบายมากกว่าบางเรื่อง อาทิเช่น เรื่องท่วงท่า หรือลีลาการร่วมเพศ

“พี่จะคุย ส่วนใหญ่ จะถาม อย่างเวลาดูหนังโป๊ ก็ลองมาทำ แบบนี้ใช่ ไม่ใช่ ชอบไม่ชอบ ในความคิดของเขาอาจมี แต่เขาไม่กล้า พี่ว่าเซ็กส์ของคนกับในหนังต่างกันมาก คนเราจริงๆ ไม่ได้ร้องแรงๆ โอเวอร์ๆ หรือข้ามกันไปมา เหมือนในหนังที่ผู้หญิงต้องร้องครวญครางอย่างดุเดือด ผู้ชายต้องทำแรงๆ ในความเป็นจริง พี่ว่ามันไม่ได้รุนแรงเหมือนในหนัง คือเรานึกถึงความรู้สึกของคู่มากกว่า”
 
“อย่างท่า เราก็คุยว่าแบบนี้ แรงไป เบาไป เราก็คุยว่า ควรจะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนพี่บอกเขาว่าไม่ชอบโลดโผน มันก็ช่องเดียวกัน พี่คุยตลอด เพราะรู้ว่าต้องเริ่มจากคู่เราก่อนที่จะไปบอกกับคนอื่นๆ เวลาเราไปบอกคนอื่นๆ แล้วไม่ได้เริ่มจากตัวเอง มันมีความรู้สึกบางอย่าง อย่างคู่หรือคนที่รู้จัก พี่ก็จะคุยกับคนทุกคน ทั้งใกล้ตัว อย่างเพื่อน สนิทไม่สนิท”

นอกจากการคุยเรื่องเพศจากคนใกล้ตัวแล้ว การคุยกับคนรอบข้าง เพื่อขยายความเข้าใจ หรือสร้างพื้นที่ในการคุยเรื่องเพศก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันด้วยประสบการณ์ของแต่ละคน
 
“พี่ว่าเรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องลามก เรื่องเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบตั้งแต่จับไปจนถึงสอดใส่ มันไม่ใช่ลามก แต่มันอยู่ที่ ‘คำพูด’ และ ‘กาลเทศะ’ พี่ไม่เคยโดนว่า ว่าลามก แต่พี่ดูว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหนก่อน อย่างเวลาคุยก็ต้องค่อยๆ คุยจากเรื่องไกลตัวมาใกล้ตัว อย่างรุ่นน้องบางคนก็ไม่ได้ถามตรงๆ แต่คุยอ้อมๆ แล้วค่อยเข้าเรื่อง”

การคุยอาจไม่จำเป็นต้องคุยแบบตรงอย่างขวานผ่าซาก แต่เราสามารถที่จะคุยอย่างอ้อมค้อม แต่เมื่อถึงจุดสำคัญแล้วก็ต้องคุยเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อม ไม่วกวน แต่ต้องเข้าถึงเรื่องอย่างเปิดเผย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการคุยเรื่องเพศ

ทั้งนี้ การคุยด้วยท่าทีที่เป็นมิตร สบายใจ เป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการคุย เป็นปัจจัยสำคัญต่อ การคุย เพราะอย่างประสบการณ์ของรุ่นพี่คนนี้ มองว่า “เรื่องไหนที่ใช่ ไม่ใช่เราก็จะบอก บางครั้งอาจดุ บางครั้งไม่ดุ เรามีเจตนาดีเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว คือคุยด้วยความเป็นมิตร เป็นมิตรมันอธิบายไม่ได้ แต่มันสัมผัสได้”

การคุยเรื่องเพศจากมุมของตัวเอง กับคู่หรือคนรอบข้าง ความเป็นมิตร คือหัวใจที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างปลอดภัยและนำไปสู่การมองชีวิตของตัวเองในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

และเมื่อเราเอาความเป็นหญิงชายออกไปเราก็จะเรียนรู้ความเป็นคนของคนๆ นั้นได้มากยิ่งขึ้น

 

 

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์