คาราวานความดีของวัยรุ่นอาชีวะ

ใครจะไปรู้ว่าเทคโนโลยีบางอย่างจะทำให้เราไม่พลาดการสื่อสารที่สำคัญได้จริงๆ เรื่องเกิดเมื่อวันหนึ่ง, ขณะที่ผมกำลังออนไลน์โปรแกรมแชทยอดนิยมนั้น พี่ต้าร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แห่งกลุ่ม Y-ACT) ก็ได้เข้าโปรแกรมออนไลน์ MSN จากในค่ายแห่งหนึ่ง ณ สวนแสนปาล์ม นครปฐม ซึ่งเป็นการอบรมนักศึกษาอาชีวศึกษากว่า 30 สถาบัน
 
“อยากดูป่ะ” พี่ต้าร์ถามและได้เปิดโปรแกรมวิดีโอออนไลน์ขึ้นมา
ผมตอบว่าอยาก – สักพัก ภาพเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ พี่ๆ ได้ปรากฏออกมา และมีภาพของเพื่อนๆ เยาวชนที่เข้าร่วมค่ายกำลังทำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน

20080320 การอบรมนักศึกษาอาชีวศึกษากว่า 30 สถาบัน

ผมถามพี่ต้าร์ว่ามาทำอะไรกัน?
พี่ต้าร์ บอกว่า “วันนี้น้องอาชีวะกว่า สามสิบสถาบัน จากกลุ่มโรงเรียน จตุจักร ชัยสมรภูมิ ธนบุรี และสวนหลวง ร.9 ได้มาจัดกิจกรรมโครงการ คาราวานความดี อาชีวศึกษาพัฒนาสังคม ซึ่งจะอบรมกันสามวันเลยนะ จากวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 มีนาคม เลยแหละคุณเต้า”  

“นี่มันน่าสนุกมากๆ เพราะว่าน้องๆที่มาจากโรงเรียนต่างๆ ล้วนแต่เป็นคนที่คิดโครงการดีๆ ที่จะไปทำเพื่อพัฒนาสังคม”

ไม่ทันได้ถามต่อพี่ต้าร์ก็เล่ามาอย่างตื่นเต้น “วันนี้น้องๆ มีโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ โครงการละ สองหมื่นบาท กว่า สี่สิบโครงการ มีเด็กๆ กว่า แปดสิบคน นี่แหละ คือพลังสังคมต่อๆไป และที่สำคัญ มีคุณครูกว่าสี่สิบคนที่เป็นที่ปรึกษาโครงการมาร่วมด้วย”
    
แถมย้ำท้ายด้วยว่า “เห็นมั้ยว่านี่แหละคือพลังในการขับเคลื่อนสังคม ในระดับรากหญ้าเลยทีเดียวและที่สำคัญ โครงการของน้องๆ ล้วนเกี่ยวกับวิชาชีพอาชีวศึกษา ที่น้องๆร่ำเรียนกันมา”
     
ผมตื่นเต้นและถามว่ามีโครงการอะไรที่น้องๆ ทำบ้าง? พี่ต้าร์จึงได้ยกตัวอย่างโครงการของเพื่อนอาชีวะโครงการหนึ่ง ชื่อว่า “คืนความสุขให้น้อง” ที่โรเรียนมีนบุรีโปลีเทคนิค เป็นโครงการที่จะจัดกิจกรรมกับเด็กๆ ในชุมชนสุเหร่าคลองหนึ่ง โดยจะจัดเตรียมอุปกรณ์และจัดสร้างเครื่องเล่นให้กับชุมชน
     
เพื่อนๆ เจ้าของโครงการบอกว่า ปัญหาในชุมชนมีอยู่มาก เด็กๆมักจะเล่นเกมและใช้ยาเสพติด น้องๆเห็นว่านี่เป็นปัญหาสำคัญ เลยอยากแก้ไขปัญหา เลยจะไปสร้างสนามเด็กเล่น เพื่อให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและสวนเด็กเล่น ที่จะอยู่ในชุมชน เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครองและสร้างสัมพันธ์ให้คนในชุมชน
     
ผมและพี่ต้าร์ต่างออกเสียง “วู้ว์” พร้อมๆ กันในการสนทนา และผมคิดก็ในใจว่าจะถามความรู้สึกของครูที่ดูแลเป็นพี่เลี้ยงในค่ายว่าเขาคิดยังไง...
    
ไม่ทันได้ถามพี่ต้าร์ก็บอกว่า เมื่อบ่ายหลังกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ คุณครูจำนวนหนึ่งได้มานั่งคุยกันกับทีมงาน ถึงบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ให้กับน้องเยาวชนกลุ่มนี้หลังจากที่แนะนำตัว ก็ได้บอกเล่าความคาดหวังของครูกว่าสี่สิบคนที่มาร่วมค่ายกันในครั้งนี้
     
เช่น  “ผมมีความหวัง ความฝันว่า อยากให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เค้าสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองมีไปใช้เพื่อบริการชุมชน เพื่อที่ตนเองจะได้มีประสบการณ์และทำประโยชน์กับชุมชน ทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์”

หรือ “อยากให้เด็กและเยาวชนใช้ความรู้ของตัวเองช่วยเหลือสังคม”
หรือ “เค้าจะได้นำความรู้ไปพัฒนาต่อ จากการที่มาร่วมกิจกรรม”
หรือ “อยากให้นักเรียนอาชีวศึกษา รู้จักกันเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่าย เป็นพี่น้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมในอนาคต”
หรือ “อยากให้เด็กรู้จักกัน มีการรวมตัวกันสร้างกลุ่ม เพื่อพัฒนาไปถึงเป้าหมายของตนเอง”    
หรือ “เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบัน สร้างความรู้จักส่งเสริมให้เด็กทำงานเป็นทีม และพัฒนาให้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบัน เกิดการประสานเชื่อมโยงกัน”
หรือ “อยากให้กิจกรรมที่นักเรียนทำ นักเรียนทำด้วยความสุข เกิดจากการวางแผน คิด และดำเนินการของเด็กเอง นำความรู้ออกไปสู่สังคมได้”
หรือ “สังคมได้รับสิ่งดีๆ คุ้มค่า จากการทำกิจกรรมของเด็ก และสิ่งที่เค้าน่าจะได้รับกลับมาคือคุณค่าของตนเอง และความภาคภูมิใจในตัวของเด็กและเยาวชนเอง”

ผมได้รับรู้ถึงสิ่งที่พี่ต้าร์เล่าแล้วทำให้คิดไปไกลถึงกระบวนการพัฒนาเยาวชนของประเทศเราที่มักจะเอาเด็กมาลงโทษด้วยการจำกัดสิทธิบางอย่าง แต่ไม่ได้บอกเด็กในฐานะทรัพยากรสำคัญของสังคม ซึ่งกระบวนการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามที่ตัวเองต้องการและมีส่วนร่วมน่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่คนทำงานด้านนี้ควรจะรับไปพัฒนาให้เกิดในกลไกของตนอย่างจริงจัง
    
ในขณะที่พิมพ์เรื่องนี้อยู่ ผมก็เปิดโปรแกรมแชทขึ้นมาอีกครั้ง ปรากฏว่าพี่ต้าร์ออกจากโปรแกรมแชทนี้ไปเสียแล้ว เหลือไว้แค่เพียงเรื่องราวที่ได้เล่ามาเป็นช๊อตๆ ให้ผมได้รับรู้

ผมไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ค่ายอบรมจะเป็นอย่างไรต่อไป หากเพียงผมเห็นอนาคตที่ดีของประเทศไทยอยู่กลายๆ.....

ความเห็น

Submitted by อ้ายแสงดาวฯ on

เต้า คับ ก้อเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะให้ดี อ้ายคิดว่าถ้าเยาวชนได้รับรู้และเข้าใจโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ก็จักดียิ่งขึ้น ว่าทำไมสังคมบ้านเราและทั่วโลกจึงรุ่มร้อนเช่นนี้ฯลฯ

รำลึก เต้า คับ 22มีค พรุ่งนี้ ถ้า เต้ามีเวลาโอกาสอยากให้เต้า มาร่วมงาน concert ล้างฟิลม์ถ่ายรูปของอ้ายที่สุดสะแนน เน้อ รักษาสุขภาพ คับ

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์