“อากาศหนาวๆ เย็นๆ อย่างนี้ หากได้หาใครสักคนมาอยู่ข้างกายก็คงจะดี” เพื่อนรุ่นพี่พูด บอกเสมือนจะสื่อให้ผมหาใครสักคนมาอยู่ข้างกาย เพื่อเป็นเพื่อนคุย แต่ผมคิดว่านัยยะของคำพูดนี้ น่าจะสะท้อนความคิดบางอย่าง ว่าการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เราในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ แน่นอนว่าจะช่วยทำให้เราอุ่นกายและอุ่นใจได้พร้อมๆ กัน
ผมครุ่นคิดถึงคำพูดของเพื่อนรุ่นพี่ หลายวัน พลันกับได้ยินเรื่องราวเรื่องการคัดค้านมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือ ‘มอ’ นอกระบบ ก็ทำให้นึกถึง ความรักนอกระบบ ไปด้วย
ความรักนอกระบบ กับ ‘มอ’ นอกระบบ แม้จะไม่เหมือนกัน แต่ความต่างของทั้งสองเรื่องก็น่าจะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปของสังคมมนุษย์ได้อย่างเท่าทัน
มหาวิทยาลัยนอกระบบ จะเป็นจุดเริ่มต้นของ “จุดจบ” บางอย่างของชีวิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องหลักประกันทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งผมมองว่า การนำมหาวิทยาลัยภายใต้รัฐแปรรูปไปสู่การอยู่ในกำกับ จะสามารถสร้างความอิสระของสถานอุดมศึกษาในการบริหารจัดการต่างๆ แต่นั้นอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดีต่อนักศึกษาผู้เล่าเรียนและแสวงหาเท่าใดนัก
เนื่องเพราะทุกวันนี้ การอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและการกำหนดเพดานสนับสนุนงบลงทุนเพื่อการศึกษานั้น รัฐอุดหนุนค่อนข้างจะพอดีต่อความจำเป็นของแต่ละสถานที่ และหากออกนอกระบบไปแล้วเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการยกเลิกเพดานการศึกษาและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐอย่างเพียงพอและทั่วถึง นั่นจึงทำให้มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบต่างจัดการหาทุนมามากขึ้น
ส่วนความรักนอกระบบ ในที่นี่ผมจะกล่าวถึง ความรักระหว่างคนกับคน หรือระดับปัจเจก ซึ่งมีนัยระหว่างคู่กับคู่นั่นเองแหละครับ – ความรักนอกระบบ นั้น เป็นความรักที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับของคนในสังคมมากกว่า “ความรักตามระบบ” เนื่องเพราะความรักที่เป็น “ความรักของคนรักเพศเดียวกัน” – เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง, “ความรักของคนอายุน้อย” – เช่น เยาวชน วัยรุ่น เด็กๆ, “ความรักนอกสมรส” - ไม่ได้แต่งงานแล้วดันมีรักหรือมีเซ็กส์กันก่อนแต่ง หรือ “ความรักของคนหลายใจ” – พวกที่แบบไม่ได้รักเดียวใจเดียว ความรักต่างๆเหล่านี้เป็นความรักนอกระบบ ที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคม
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น, ผมเองก็ไม่ทราบนะครับ
ทั้งนี้ เมื่อความรักนอกระบบ นำไปสู่ “เซ็กส์” ด้วยล่ะก็ ไม่ต้องพูดเลยว่าจะได้รับการยอมรับแค่ไหน เพราะสังคมยังคงเมินเฉย และไม่ยอมรับต่อเซ็กส์ที่ไม่ใช่เซ็กส์ของผู้ใหญ่ เซ็กส์ของคนรักต่างเพศ เซ็กส์เพื่อสืบทายาท เซ็กส์กับคนๆ เดียว และเซ็กส์พร้อมกับพิธีกรรมแต่งงาน ฉะนั้นแล้ว เซ็กส์ของเด็ก เซ็กส์ของคนรักเพศเดียวกัน เซ็กส์เพื่อความบันเทิง เซ็กส์กับคนหลายๆ คน และเซ็กส์ก่อนแต่งงาน ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นแน่แท้
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้, ผมเองก็ไม่ทราบนะครับ
ทว่าเมื่อได้รับฟัง พี่ๆ บางคนเล่าให้ฟังเรื่องว่าความรักและเซ็กส์สัมพันธ์ของคนไทยแต่เดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร หลายคนยกตัวอย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เรื่องลิลิตพระลอ ขึ้นมาเปรียบให้เห็นสังคมไทยสมัยแต่เดิมดั้งว่า แท้แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องเพื่อความบันเทิง ไม่ได้มีไว้เพื่อสืบพันธุ์ หรือเพื่อจรรโลงศีลธรรมอันดีงาม ต่อเมื่อไทยรับเอาอิทธิสมัย “วิคทรอเรีย” เข้ามาใช้ อาทิเช่น การแต่งตัวของหญิง การครองเรือน หรือแม้กระทั่งการรักนวลสงวนตัว ก็เกิดในยุคนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบคือได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
นับตั้งแต่นั้นมา ความรักแบบในระบบ จึงถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อทำให้เป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคม กลายเป็นจารีตประเพณีที่หยั่งลึกลงไปในสังคม ทำให้พื้นที่ของคนที่มีความรักแตกต่างออกไปจากบรรทัดฐานของสังคม ไม่ได้รับการยอมรับและเข้าใจ กลับกลายเป็นของแปลกแยกในสังคมไปโดยปริยาย
เมื่อทราบประวัติศาสตร์แล้ว ใช่จะหมายความว่าเราจะต้องยอมรับเรื่องเพศนอกระบบทันทีก็คงไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์คงทำให้เราได้เห็นถึงที่มาของเรื่องบางเรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยอมรับในประวัติศาสตร์เลย อย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่า เวลามีคนบอกว่า แบบนี้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เราจะได้บอกได้ว่า วัฒนธรรมไทยแท้แล้วเป็นแบบไหนกันแน่
ส่วนเรื่องการจะยอมรับหรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์อาจช่วยทำให้เรามองสังคมมองเรื่องเพศเรื่องความรักอย่างเข้าใจมากขึ้น อันจะนำไปสู่การ “รื้อสร้าง” วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ต่อเรื่องเพศวิถีของคนที่กว้างขึ้น เข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น
ในใจผมจริงๆ แล้ว อยากให้เรามองความรักนอกระบบด้วยความเข้าใจ และยอมรับในวิถีชีวิตทางเพศของคนที่แตกต่างจากเรา แม้ว่าเขาจะเลือกมันหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเขามีวิถีแบบนั้นแล้ว เราน่าจะมองเขาด้วยความเอื้ออารีและไม่ตีตราหรือต่อว่าต่อขานกับทางเลือกชีวิตของคนนั้นๆ ตราบเท่าที่ทางเลือกนั้นไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ส่วนเรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่ว่าใครจะเอาบทเรียนจากต่างประเทศมาพูดคุยสรรพคุณว่าดีแบบนั้น แบบนี้ ผมว่ามันดูจะเป็นการพูดที่ไม่เข้าใจเลยว่าบริบทวัฒนธรรมการศึกษาของบ้านเราเป็นแบบไหน (การศึกษาก็เริ่มปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับการสถาปนารักในระบบ) แม้ว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาจะมุ่งไปที่การแข่งขันทางการตลาดก็ตาม ผมว่าระบบการศึกษาควรจะแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ มากกว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนะครับ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาของคนยากจน เป็นต้น
ทั้งนี้ จุดหนึ่งที่ผมว่ารักนอกระบบยังดีกว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นก็คือ ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความปลอดภัย ความสุข ความรับผิดชอบ และยินยอมพร้อมใจของคนสองคน ทว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่มีทั้งความปลอดภัย ความสุข ความรับผิดชอบ และความยินยอมพร้อมใจของคนที่เกี่ยวข้องเลยแม้แต่นิด...