กาลชีวิตของผมเดินทางผ่านมาแล้วอีกหนึ่งปี และคงจะเดินทางต่อไปตามเข็มนาฬิกา สายน้ำ สาดลม แสงแดด เช่นนี้อีกเรื่อยๆ ตราบที่ยังคงมีลมหายใจอยู่...
เมื่อปีที่แล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้น อันเกี่ยวข้องกับเยาวชน คนหนุ่มสาวในประเทศนี้มีมากมายทั้งร้ายดี โดยส่วนตัวแล้ว เห็นความพยายามของผู้ใหญ่หลายภาคส่วนที่เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมของเยาวชนอยู่มากมายหลายหลาก
โครงการพัฒนาเยาวชนจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ล้วนมุ่งเน้นให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างที่ได้รับรู้มาดังเช่น โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม ที่เครือข่ายเยาวชน 14 กลุ่ม ได้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, โครงการ Youth Venture โครงการที่ทางมูลนิธิอโชก้า ประเทศไทย ดำเนินการขึ้นเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการทำกิจกรรมตามที่ตนถนัด, โครงการของภาคธุรกิจ เช่น โครงการที่มูนนิธิซีเมนต์ไทยสนับสนุน โครงการชั่วโมงนี้เพื่อเด็ก ที่ทางสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ดำเนินการ หรือแม้แต่โครงการแบ่งปันฯ ที่ทางเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับภาคีดำเนินการ ฯลฯ
ลักษณะโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น “มือใหม่” หรือ “มือปานกลาง” หรือ “มือเก่า” ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางให้เยาวชน ในการเข้ามาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ได้ทั้งสิ้น
กล่าวสำหรับเยาวชนมือใหม่ ที่ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ตามที่โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม หรือ ชื่อสั้นๆ ว่า “เยาวชนพันทาง” นั้น ก็ได้ดำเนินการสนับสนุนเยาวชนมือใหม่มากกว่า 300 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เยาวชนได้คิดเองและดำเนินการเองภายใต้งบประมาณสนับสนุนไม่เกินโครงการละ 8,000 บาท ทั่วประเทศ
จากที่ได้รับฟังความรู้สึกของเยาวชนมือใหม่ที่เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น สอนหนังสือให้ น้อง อาสาสมัครตรวจสอบการเลือกตั้ง ค่ายพัฒนาทักษะ ละครสัญจร ปลูกป่า อนุรักษ์น้ำ เป็นต้น เยาวชนหลายคนต่างมองว่าการทำกิจกรรมทางสังคมนี้ เป็นการทำให้ตัวเองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของตัวเองในการทำเพื่อผู้อื่น และยังช่วยทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนต่อชุมชนหมู่บ้านของตนมากขึ้น
คือได้ฝึกคิด ฝึกทำ ไปด้วยพร้อมๆ กัน
เมื่อย้อนกลับมามองที่ตัวเอง, ผมจำได้ว่า ตอนเมื่อก่อนที่แรกเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมเยาวชนนี้ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าใดนัก จะมีเพียงแต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการทำกิจกรรม และอีกอย่างที่พบก็คือลักษณะกิจกรรมที่บางองค์กรที่สนับสนุนให้เยาวชนทำก็เป็นกิจกรรมประเภทการประชุม เอาเด็ก มานั่งฟังผู้ใหญ่บรรยาย แต่ไม่ได้สร้างการเรียนรู้มากเท่าที่ควร
ช่วงเมื่อก่อนจำได้ว่ากว่าจะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมนั้นต้องผ่านการอบรม เคี้ยว เค้น ฝึกทักษะ ลงสนามต่างๆ นานา กว่าจะได้มานำกระบวนการ ชวนคุยในวงใหญ่ ได้แสดงละครตามที่ต่างๆ ต้องใช้เวลานานหลายเดือนหลายปี แต่สมัยนี้เยาวชนนักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ มักเข้ามาโดยผ่านการจัดเวทีประชุม เพื่อนำเสนอความคิดเห็นมากกว่า ดังนั้นในช่วงหลังๆ จึงมักได้ยินคำพูดของรุ่นพี่หลายๆ คนว่า “เด็กกิจกรรมสมัยนี้พูดเป็น แต่คิดไม่เป็น”
เมื่อฟังคำพูดและมองสิ่งที่กำลังเป็นไปอยู่ในทุกวันนี้ ผมเห็นว่ามีเวทีต่างๆ มากมายที่ผู้ใหญ่ให้เยาวชนเข้าร่วม ให้เยาวชนออกมามีส่วนสำคัญในการแสดงพลัง แต่มักเป็น ลักษณะเวทีพูดมากกว่าเวทีคิด หลายครั้งเราจะพบว่าเยาวชนพูด นำเสนอเก่ง แต่คิดหรือวิเคราะห์ไม่ค่อยได้(เรื่อง) ซึ่งทำให้ขาดมุมมอง เนื้อหา ประเด็นจากประสบการณ์จริงๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน คือถ้าพูดตรงๆ คือ พูดลอยไปลอยมา มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ เทือกนั้นๆ
(เยาวชนหลายคนที่เข้าร่วม “สภาเด็กและเยาวชน” ระดับจังหวัด ของที่ต่างๆ น่าจะทราบดีว่า กิจกรรมแบบที่ให้เยาวชนเข้ามาร่วมแบบผ่านๆ นั้น เกิดผลกระทบต่อตัวเยาวชนอย่างไรบ้าง หรือ เยาวชนที่ไม่ทำกิจกรรมกับสภาเยาวชนจังหวัด แต่เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ ก็จะพบและรู้ว่าการทำงานในพื้นที่แบบจริงๆ จังๆ นั้น ช่วยให้ตัวเองคิด วิเคราะห์เป็นมากน้อยเพียงใด)
นอกจากนี้อีกมุมที่เห็นคือ การพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นช่วงหลังๆ มักเป็นกิจกรรมที่เอื้อเฉพาะเยาวชนที่ผู้ใหญ่มองว่าดี และเป็นเวทีพูดมากกว่าคิดนี้ ผมเข้าใจดีว่า ผู้ใหญ่เองมีความมุ่งหวังที่อยากจะทำกิจกรรมกับเยาวชนแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คือ ไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรกับเยาวชน และไม่รู้ว่าจะเข้าถึงกลุ่มเยาวชนต่างๆ ที่หลากหลายได้อย่างไร
โดยเฉพาะผู้ใหญ่ระดับ “องค์การบริหารส่วนตำบล” ที่ต่อไปจะต้องทำงานกับเยาวชนมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ก็กำลังจะมีการประกาศใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ทุกตำบลต้องมีศูนย์เยาวชน, ทุกอำเภอ ต้องมีสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ, ทุกจังหวัดต้องมีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด, และรวมทั้งประเทศก็จะมีสภาเด็กและเยาวชนระดับประเทศไทยด้วย
ทีนี้กลับมาว่า เมื่อนโยบายพร้อมสนับสนุน แต่คนทำงานยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็เป็นบทบาทจำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและเยาวชนว่านอกจากจะคิดหรือกำหนดนโยบายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว ต้องพัฒนาแนวทางในการพัฒนาคนทำงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลและโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างมากในท้องถิ่น
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในห้วงต่อไป คือความท้าทายของคนทำงานกับเยาวชนและเยาวชนนักกิจกรรมทั้งหลายที่จะดำเนินงานร่วมกัน, ท้าทายเช่นว่าจะสร้างเยาวชนให้มีความคิด วิเคราะห์ พูดเป็น ทำเป็น ได้พร้อมๆ กันอย่างไร โจทย์ใหญ่นั้นน่าจะอยู่ตรงจุดนี้ การที่ผู้ใหญ่จะทำอะไรเพื่อเยาวชนแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการตอนนี้คงจะใช้ไม่ค่อยได้ เพราะแนวทางที่ดีระดับหนึ่งคือ ถ้าจำอะไรเพื่อเยาวชน ต้องถามที่เยาวชน และใช้โอกาสนั้นๆ สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เยาวชนพูดเป็น คิดเป็น ทำเป็น พร้อมๆ กัน ...ให้เยาวชนทำได้มากกว่า “พูด”