ผมเพิ่งกลับจากค่ายเยาวชนที่จังหวัดเชียงราย เป็นการจัดกิจกรรมเรื่องเพศ มีวัยรุ่นหลายคนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งโดยหลักแล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องเพศ เพศภาวะ และเพศวิถี ซึ่งเน้นการพูดคุยจากมุมภายในของผู้เข้าร่วมแต่ละคน
มีน้องคนหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรม บอกความรู้สึกกับผม “ผมดีใจมากครับ ที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้ อยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสเลย ดีนะครับที่พวกพี่มาจัด”
น้องอีกคนหนึ่งก็บอกอีกว่า ที่ชุมชนของตัวเองได้มีการจัดกิจกรรมโดยอบต. แต่กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นการกีฬา กิจกรรมตามวันสำคัญ และเยาวชนในชุมชนก็เข้าร่วม
ฟังน้องทั้งสองคนพูดขึ้นมาผมก็คิดถึง ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ท้องถิ่นสร้างสรรค์ เยาวชน1000ทาง: ทิศทางนโยบายที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น” ที่โครงการเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคมได้จัดการศึกษาขึ้น
ในการศึกษาเบื้องต้นจากการสอบถามวัยรุ่นทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 5,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเกือบทั้งหมดถึง 97 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งกิจกรรมที่วัยรุ่นอยากทำมากที่สุดคือ กิจกรรมด้านท่องเที่ยว กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมด้านดนตรี กิจกรรมด้านยาเสพติด และกิจกรรมด้านกีฬา ตามลำดับ
หล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นในปัจจุบันอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมแต่ยังขาดโอกาส พื้นที่ เวทีในการเข้าร่วม และแม้ว่าจะได้เข้าร่วมในชุมชนแต่ก็เป็นเพียง “ผู้เข้าร่วม” มากกว่า “ผู้นำ” กิจกรรม
วัยรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากวัดตามบันไดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน 8 ขั้นที่ยูนิเซฟ กำหนดไว้ ก็คงจะอยู่ในระดับ “ต่ำ” คือเป็นเพียงแค่ ผู้เข้าร่ม หรือ “ไม้ประดับ” เท่านั้นเอง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้สะท้อนในกิจกรรมที่วัยรุ่นตอบแบบสำรวจคือกิจกรรมวันสำคัญ และกิจกรรมประเพณี
ที่กล่าวว่าเป็นกิจกรรมสั้นๆ เพราะไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาทักษะของวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝึกกระบวนการคิด กระบวนการพัฒนาทักษะ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของวัยรุ่นที่อยากทำกิจกรรมคือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจกระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ สร้างคุณค่าความดีให้กับตัววัยรุ่นเอง
ฉะนั้นแล้ว กิจกรรมที่วัยรุ่นอยากทำเพื่อสังคม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความคิดของตัวเองมากกว่าการแค่เป็นมือไม้ แรงงานในการจัดกิจกรรมของชุมชนเพียงเท่านั้น
เมื่อน้องคนที่บอกผมว่า อบต.เขาจัดกิจกรรมแค่วันสำคัญและวันตามประเพณี ผมก็เล่าให้เขาฟังถึงสิ่งที่การศึกษาวิจัยได้ค้นพบ แต่ทว่าในมุมของ อบต.เองการศึกษาวิจัยก็พบว่า อบต.มีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการทำงานกับวัยรุ่น รวมถึงมีความสนใจในการพัฒนาทักษะชีวิต ความรู้ ส่งเสริมศักยภาพของวัยรุ่น อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม อบต. ยังขาดข้อมูลที่บอกเกี่ยวความสนใจในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของวัยรุ่นในชุมชน
ทั้งนี้ อบต.หลายแห่งยังมีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณและทำงานกับวัยรุ่นในรูปแบบต่างๆ ทั้งการดำเนินโครงการ การเป็นพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา การอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่ รวมถึงอาหารและยานพาหนะ แต่แนวทาง องค์ความรู้ และวิธีการนั้นยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงความต้องการของวัยรุ่นได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นนั้น อาจเป็นเพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ อบต.จัด ยังคงเป็นกิจกรรมระยะสั้น และไม่ได้กระตุ้นให้วัยรุ่นในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตั้งแต่ต้น
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หาก อบต. หรือผู้ใหญ่ที่อยากสนับสนุนกิจกรรมของวัยรุ่นก็ต้องหากิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ น่าสนใจ และพัฒนาทักษะของวัยรุ่นให้มากกว่ากิจกรรมแบบไม้ประดับเพียงอย่างเดียว
ทุกวันนี้ วัยรุ่นอยากทำกิจกรรมเยอะ แต่ขาดช่องทางในการสนับสนุน หากผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการสนับสนุนวัยรุ่นให้ทำกิจกรรม เช่น โรงเรียน อบต. อาจต้องชวนวัยรุ่นมาคิด มาร่วมทำในฐานะ “ผู้นำ” มากกว่า แค่การให้วัยรุ่นเป็นเพียง “กลุ่มเป้าหมาย” เท่านั้น