Skip to main content

จับตาเลือกตั้งทั่วไปพม่า 2015 (1)

 

Democracy is a device that ensures we shall be governed no better than we deserve.

George Bernard Shaw

 

ในปี 2015 นี้ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะเป็นที่สนใจของชาวพม่ามากเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 นับตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษ การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1990 ภายหลังเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลนายพลเนวินจนนำไปสู่การนองเลือดในปี 1988 ผลปรากฏว่าพรรคฝ่ายค้านที่เพิ่งตั้งขึ้นมา นามว่าพรรคสันนิบาทเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) หรือ NLD ที่มีด่ออองซานซูจี (Daw Aung San Suu Kyi) เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย (392 จากทั้งหมด 492 ที่นั่งในสภาลุดดอ) แต่ต่อมาสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ สล็อร์ก (SLORC) ปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และสั่งควบคุมตัวด่ออองซานซูจิไว้ในบ้านพักเรื่อยมา

รัฐบาลเผด็จการทหารสล็อร์กปกครองพม่าเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1997 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเอสพีดีซี (SPDC) หรือสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ มีนายพลตานฉ่วยเป็นประธานมายาวนานจนเอสพีดีซีถูกยุบในปี 2011 พร้อมกับการสาบานเข้ารับตำแหน่งของเตงเส่ง อดีตนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่า ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลทหารคือผู้กุมอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการไว้อย่างเด็ดขาด หลัง 1988 มีความพยายามจากนักศึกษา ประชาชน หรือแม้แต่พระสงฆ์ที่จะท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหาร แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างหนักตลอดมาแม้รัฐบาลจะประกาศใช้แผนโร้ดแมบ 7 ขั้นตอนสู่การเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2003 การท้าทายอำนาจรัฐครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในเหตุการณ์ “การปฏิวัติชายจีวร” (Saffron Revolution) ที่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นกว่าเท่าตัว จนทำให้พระสงฆ์และประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนนในหัวเมืองใหญ่ ๆ ในพม่าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกปราบปรามในที่สุด

ในสภาพการยึดอำนาจและการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหารอย่างเข้มงวด ผ่านกระบวนการเช่นการขึ้นบัญชีดำ (blacklist) สื่อ นักเขียนและนักวิชาการต่างประเทศจำนวนหนึ่งแล้ว สิ่งตีพิมพ์ภายในประเทศยังถูก “เซนเซอร์” อย่างเข้มงวดผ่านกองเซ็นเซอร์ (Press Scrutiny Board) และยังมีการจับกุม “นักโทษการเมือง” อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยยังแย่ลงตามลำดับ จากการกวาดล้างขบวนการติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยที่ต่างตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการปกครองจากรัฐบาลพม่า

ภายหลังการนำแผนโร้ดแมบ 7 ขั้นตอนสู่การเป็นประชาธิปไตยมาใช้ร่วม 8 ปี พัฒนาการสู่ประชาธิปไตยในพม่าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2010 SPDC ถูกยุบและต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นพรรคการเมืองชื่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP หลังการเลือกตั้งปี 2010 พร้อม ๆ กับชัยชนะถล่มทลายของ USDP ซึ่งต่างชาติและพรรค NLD มองว่าเป็นการเลือกตั้งจอมปลอม (sham) สภาลุดดอ หรือสภาสูง เลือกอูเตงเส่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาสูงอย่างท่วมท้น (408 จาก 659 เสียง)[1] ในสายตานักวิเคราะห์ภายนอกพม่า การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเตงเส่งนับว่ามีนัยยะสำคัญและเป็นตัวกำหนดทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพม่า เริ่มตั้งแต่การออกนโยบายนิรโทษกรรมนักโทษนับหมื่นคน (ในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองที่แท้จริงเพียงไม่กี่คน) รวมทั้งด่ออองซานซูจีด้วย การเริ่มเจรจาสันติภาพกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย การให้เสรีภาพกับสื่อเพิ่มมากขึ้น (เห็นได้จากการปล่อยให้ประชาชนใช้ YouTube ได้เป็นครั้งแรก)[2] จนทำให้ในปีต่อมานิตยสารไทม์จัดอันดับให้อูเตงเส่งเป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลของโลก[3] แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่พรรค NLD และด่ออองซานซูจียังสนับสนุนให้นานาชาติคว่ำบาตรรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่งต่อไป

ในช่วงระหว่างปี 2011 ถึง 2012 ในกระบวนการ “ปฏิรูป” มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความมั่นใจให้ประชาคมโลกว่าพม่ากำลังเดินทางไปสู่ถนนสายประชาธิปไตยที่ยั่งยืน การพยายามนำเสนอภาพการปฏิรูปเชิงบวกโดยเฉพาะการปล่อยตัวด่ออองซานซูจีนั้นได้รับการตอบสนองที่ดีจากนานาประเทศ ผู้บริหารระดับสูงของประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกทยอยเยือนพม่า นับตั้งแต่นางฮิลลารี คลินตัน (ธันวาคม 2011) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (พฤศจิกายน 2012 และพฤศจิกายน 2014) และนายบันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ครั้งแรกตั้งแต่ 2009 และครั้งที่สองในกลางปี 2012) นับได้ว่าในช่วง 2 ปีนี้ เป็นช่วงที่ต่างชาติเริ่มให้ความมั่นใจจนทำให้นานาชาติเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าในที่สุด

แต่ในช่วงเวลาใกล้เคียง ก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของพม่า ทั้งตัวรัฐบาลเองและผู้นำฝ่ายค้านอย่างด่ออองซานซูจี นับตั้งแต่การจลาจลระหว่างศาสนา ระหว่างชาวยะไข่และพม่าที่เป็นชาวพุทธกับชาวมุสลิมในแคว้นยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจาก “อารมณ์” ของชาวพุทธที่ได้รับการปลุกระดมจากขบวนการต่อต้านชาวมุสลิม (ส่วนหนึ่งเป็นชาวโรฮิงญา) ที่มีผู้นำเป็นพระสงฆ์นาม “อูวีระทู” (U Wirathu) ท่ามกลางความรุนแรงและการสังหารหมู่ชาวมุสลิมนั้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติพุ่งความสนใจไปที่ท่าทีของด่ออองซานซูจี แต่ทั้งนางและพรรค NLD เลือกที่จะปิดปากเงียบ จนมีนักข่าวเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Myanmar Times ตามหาด่ออองซานซูจีในฐานะคนหาย![4] ในบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับท่าทีของนางต่อโรฮิงญาเมื่อไม่นานมานี้ ด่ออองซานซูจีกล่าวว่ามิได้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่าโดยชาวพุทธหัวรุนแรงอย่างที่สื่อต่างชาติอ้าง และกล่าวต่อว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการทนทุกทรมานของเราภายใต้ระบอบเผด็จการ ดิฉันคิดว่าหากคุณอยู่ภายใต้เผด็จการมาหลายปี ผู้คนก็จะไม่เชื่อซึ่งกันและกัน เผด็จการนั่นแหล่ะที่สร้างสภาพของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน”[5]

แน่นอนว่าภาพความรุนแรงที่ออกมาและการออกมาสัมภาษณ์เพื่อปฏิเสธว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาไม่ได้เกิดขึ้นในพม่าสร้างความไม่พอใจให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และทำให้ความมั่นใจในตัวด่ออองซานซูจีในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเริ่มถูกท้าทาย ภาพลักษณ์ของด่ออองซานซูจีในช่วงตั้งแต่พรรค NLD ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในการเลือกตั้งซ่อมปี 2012 นับเป็นครั้งแรกที่พรรค NLD ลงเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 1990 (ได้รับเลือก 43 จาก 44 ที่นั่งที่ว่างลง สภาลุดดอมีสมาชิกทั้งหดม 664 คน) [6] ด่ออองซานซูจีกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็น “นักการเมือง” เต็มตัวในทันที

อย่างไรก็ดี ท่าทีของด่ออองซานซูจีภายหลัง 22 ปีที่รอคอยนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะในทางปฏิบัติเสียงของ NLD นั้นมีน้อยมากในสภาที่มีสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นนักการเมืองจากพรรค USDP การเข้าสู่การเมืองพม่าอย่างเต็มตัวของด่ออองซานซูจีเคยถูกมองว่าเป็น “หลักไมล์” (milestone) สำคัญของการเมืองสมัยใหม่พม่า แต่มาบัดนี้เริ่มมีเสียงโอดครวญออกมาจากพม่าแล้วว่าบทบาทของ “ด่อซู” ในฐานะนักการเมืองนั้นน่าผิดหวัง[7] นอกจากเธอจะไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนที่ทุกข์ยากและถูกรัฐกระทำแล้ว ทีท่าที่ประนีประนอมกับ USDP และประธานสภาลุดดออย่างฉ่วยมาน (Shwe Mann) ยังทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าได้สมยอมกับอดีตรัฐบาลทหารไปเสียแล้วด้วย

ในบล๊อกต่อไปเราคงได้พูดถึงด่ออองซานซูจีกันอีกเป็นแน่

 

 



[1] Associated Press, “Burma names Thein Sein as president,” The Guardian, 4 February 2011: เข้าถึงได้ที่http://www.theguardian.com/world/2011/feb/04/burma-names-thein-sein-president

[2] “Timeline: Myanmar’s reforms under civilian government,” Reuters, 14 October 2011: เข้าถึงได้ที่ http://www.reuters.com/article/2011/10/14/us-myanmar-timeline-idUSTRE79D19720111014

[3] Thant Myint-U, “U Thein Sein,” Time, 18 April 2012: เข้าถึงได้ที่ http://content.time.com/time/specials/packages/article/0,28804,2111975_2111976_2112089,00.html

[4] ลลิตา หิงคานนท์, “โอ้ว่าอองซานซุจี ท่านอยุ่หนใด?,” ประชาไท, 30 เมษายน 2013; แปลจาก Roger Mitton, “Oh Daw Suu, where art thou,” Myanmar Times, 29 April 2013.

[5] “Suu Kyi blames Burma violence on ‘climate of fear’,” BBC, 24 October 2013: เข้าถึงได้ที่ http://www.bbc.com/news/world-asia-24651359

[6] Kocha Olarn, “Myanmar confirms sweeping election victory for Suu Kyi’s party,” CNN, 4 April 2012: เข้าถึงได้ที่ http://edition.cnn.com/2012/04/04/world/asia/myanmar-elections/

[7] Jane Perlez, “For Some, Daw Aung San Suu Kyi Falls Short of Expectations in Myanmar,” The New York Times, 12 November 2014: เข้าถึงได้ที่ http://www.nytimes.com/2014/11/13/world/asia/for-some-daw-aung-san-suu-kyi-falls-short-of-expectations-in-myanmar.html

 

บล็อกของ มะฉ่วยหวา

มะฉ่วยหวา
            ก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไม่นาน รัฐธรรมนูญฉบับแรกถือกำเนิดขึ้น (ค.ศ.1947) และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 1962 เมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารและประกาศนำนโยบาย “วิถีพม่าสู่ระบอบสังคมนิยม” (Burmese Way to Socialism) ของสถาปฏิวัติมาใช้  รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงถูก
มะฉ่วยหวา
รัฐสภาของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์หรือที่เรียกว่า “ปยีตองซุ้ ลุ้ดด่อ” (Pyidaungsu Hluttaw) ประกอบไปด้วย 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) หรือ “ปยีตุ้ ลุ้ดด่อ” (Pyithu Hluttaw) สภาชนเผ่า (House of Nationalities) หรือ “อ
มะฉ่วยหวา
จับตาเลือกตั้งทั่วไปพม่า 2015 (1)  Democracy is a device that ensures we shall be governed no better than we deserve.George Bernard Shaw