รัฐสภาของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์หรือที่เรียกว่า “ปยีตองซุ้ ลุ้ดด่อ” (Pyidaungsu Hluttaw) ประกอบไปด้วย 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) หรือ “ปยีตุ้ ลุ้ดด่อ” (Pyithu Hluttaw) สภาชนเผ่า (House of Nationalities) หรือ “อะเมี๊ยวตา ลุ้ดด่อ” (Amyotha Hluttaw) และสภาภูมิภาคและรัฐ (Regional and State Hluttaws)
สภาผู้แทนราษฎร หรือที่บางครั้งเรียกว่าสภาประชาชนหรือสภาล่าง (Lower House) นั้นประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 440 คน ในปัจจุบัน รัฐสภาเมียนมาร์มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละอำเภอ (township) มีจำนวนทั้งสิ้น 330 คน และส่วนที่สองอีก 110 คนมาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่า ด้านสภาชนเผ่า หรือสภาสูง (Upper House) นั้นมีสมาชิกทั้งหมด 224 คน สมาชิก 168 คนในจำนวนนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (เขตหรือรัฐละ 12 คน) อีก 56 คนมาจากการแต่งตั้งจากกองทัพ และในส่วนของสภาภูมิภาคและรัฐจะมีอยู่ในเขตทั้ง 7 เขต รัฐ 7 รัฐ 6 พื้นที่ปกครองตนเอง และอีก 1 เขตปกครองตนเอง ในแต่ละเขตจะมีสภาของตนเอง ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและตัวแทนจากกองทัพในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 เฉกเช่น 2 สภาแรก ปริมาณของที่นั่งในแต่ละเขตและรัฐขึ้นอยู่กับปริมาณของอำเภอ (ในแต่ละอำเภอมีสมาชิกสภาภูมิภาคและรัฐได้ 2 คน)
สภาทั้ง 3 ประเภทภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นฉบับที่ 3 และนำมาใช้ในปี 2008 ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาร์มีขึ้นในปลายปี 2010 (นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990) ในการเลือกตั้งปี 2010 พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดคือพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลของนายพลตานฉ่วย ได้ที่นั่งรวม (ทั้ง 3 สภา) 884 ที่นั่ง จาก 1,156 ที่นั่ง (ดูตารางด้านล่าง) ด้านพรรคเล็กอื่น ๆ ได้รับคะแนนเสียงไม่มาก ที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 คือพรรค National Unity Party (NUP) และ Shan Nationalities Democratic Party (SNDP) ตามลำดับ
ผลการเลือกตั้งในปี 2010
(แยกเป็นพรรค)
ที่มา: http://www.networkmyanmar.org/images/stories/PDF5/elere.pdf
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งปี 2010 พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์อย่างพรรค NLD (National League for Democracy) มิได้เข้าร่วมแต่อย่างใด เพราะพรรคมีมติคว่ำบาตรการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2010 โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปี 2008 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย และกฎหมายการเลือกตั้งไม่ยุติธรรม นอกจากผู้นำ NLD คนสำคัญและสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าอย่างด่ออองซานซุจีจะยังถูกควบคุมตัวในบ้านพักอยู่ (ต่อมาเธอจะได้รับการปล่อยตัวอย่างถาวรในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2010) กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ของเมียนมาร์ยังตั้งเงื่อนไขว่าหาก NLD ต้องการลงแข่งในสนามเลือกตั้ง พรรคจะต้องขับ (expel) อองซานซุจีออกจากพรรคก่อน เพราะเธอมีประวัติอาชญากรรม (criminal record) เมื่อ NLD ปฏิเสธข้อกำหนดของรัฐบาลทำให้ NLD กลายเป็นพรรคผิดกฎหมาย
การเลือกตั้งในปี 2010 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพรรค NLD และมีผู้เรียกการเลือกตั้งครั้งนั้นว่าการเลือกตั้งจอมปลอม (sham election) นานาอารยประเทศออกมากดดันเมียนมาร์โดยมองว่าการเลือกตั้งเป็นการจัดฉากขึ้นเพื่อ “ฟอกขาว” ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารพม่าที่ถูกโจมตีจากนานาชาติมาโดยตลอด และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร กองทัพก็จะยังมีบทบาทสูงสุดในทางการเมืองอยู่ต่อไป