สมจิต คงทน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอก)
ฉันจึงยืนหยัดอยู่ที่นี่
เมื่อฉันมีโอกาสติดสอยห้อยตามทีมถ่ายทำวีซีดีสารคดีเรื่องการจัดการที่ดินโดยชุมชนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และได้เดินทางไปยังหมู่บ้านหนึ่งในเทือกเขาบรรทัด เพื่อบันทึกเรื่องราวของพี่น้องคนไร้ที่ดินที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ในที่ดินและชุมชนของตนเองเอาไว้ได้อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรี
ป่าเทือกเขาบรรทัด
บ้านทับเขือ-ปลูกหมู เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เส้นทางสัญจรค่อนข้างลำบากมากต้องลงเขาขึ้นเขาสลับกันไปมาตลอดทาง ยิ่งถ้าวันไหนฝนตกทางก็จะลื่นมาก แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว
ชาวบ้านที่นี่มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆละ 3-4 หลังคาเรือนแต่ละกลุ่มอยู่ห่างกันพอสมควรและส่วนใหญ่ก็เป็นเครือญาติกัน ไปมาหาสู่ระหว่างกันด้วยการเดินเท้าและมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 45 ครอบครัว มีอาชีพหลักทำสวนยางพาราซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก ครอบครัวละประมาณ 5-10 ไร่ ไม่เกินนี้
ชุมชนเล็กๆแห่งนี้เริ่มก่อร่างขึ้นเมื่อ 51 ปีที่แล้วหรือประมาณปี พ.ศ.2500 เพราะต้องการที่ดินทำกินชาวบ้านจึงมาปักหลักอาศัยอยู่ที่นี่
วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นไปอย่างเรียบง่ายแทบไม่ต้องใช้เงินในการซื้อหาของกินเพราะทุกอย่างหาได้จากป่า อย่างวันที่พวกเราไปถึงพี่น้องที่นี่ได้ทำอาหารมื้อกลางวันสำหรับรับประทานร่วมกัน แกงหน่อไม้สด ต้มกะทิผักหวาน น้ำพริกกะปิ กินกับผัดสด เช่น ลูกเนียง สะตอ และผักพื้นบ้านอื่นๆ ตบท้ายด้วยขนุน คุณลุงสมาชิกในหมู่บ้านบอกเราว่าหน้านี้ยังไม่มีทุเรียนและจำปาดะ (ไม่อยากคิดเลยถ้าต้องกินสองอย่างหลังไปด้วยชีวิตวันนั้นจะเป็นอย่างไรนะ) อาหารมื้อนี้ทำให้พวกเราลุยงานต่อได้ทั้งวันไปจนเย็นย่ำ และก็เป็นกับข้าวที่ทุกคนประทับใจมากอย่างไม่มีวันลืมจริงๆ
พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
แต่เบื้องหลังความเป็นอยู่ของชาวบ้านหมู่บ้านทับเขือ-ปลักหมู มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นที่ทำให้พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ต้องลุกขึ้นมาสู้ เพื่อปกป้องพื้นที่ทำกิน เราไม่มีที่ไปแล้ว" นายสมนึก พุฒนวล ที่ปรึกษากลุ่มฯ บอกกับพวกเราว่า "เมื่อปี 2550 มีข่าวมาทางวิทยุว่าจะมีการชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง จากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเพราะอุทยานประกาศทับที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้าน เมื่อฟังแล้วก็ฉุกคิดว่า ทำไมปัญหาเหมือนของเราเลย จึงตัดสินใจเดินทางไปที่ชุมนุม ไม่คิดว่า....เมือไปถึงก็เจอพี่น้องจากหมู่บ้านเดียวกันประมาณ 10 คนอย่างไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน"
นางปราณี แท่นมาก หนึ่งใน 10 ของชาวบ้านที่เข้าร่วม พูดด้วยน้ำเสียงแจ่มชัดว่า "เมื่อพวกเรากลับมาถึงหมู่บ้านได้ร่วมกันวางแผนเดินสายเชิญชวนพี่น้อง ใช้เวลาประมาณ 7 วันในการเดินส่งข่าวถึงทุกคนในหมู่บ้าน เพื่อให้มาเจอกัน ซึ่งในครั้งแรกสมาชิกทุกคนได้เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง โดยมีพี่เลี้ยงจากเครือข่ายชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัดเข้าร่วมด้วย "
เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาตอนนั้นกำลังคุกรุ่นและรอวันคลี่คลาย เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานมีการข่มขู่ชาวบ้านมาตลอดตั้งแต่ปี 2525 ว่าห้ามโค่นต้นยาง ห้ามซ่อมแซมทางสัญจรไปมา ห้ามซ่อมบ้าน รวมถึงการจับกุมชาวบ้านและเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านบางรายเป็นเงินถึง 40,000 บาท
การประชุมในครั้งแรกจึงมีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน คือประกอบด้วยประธาน กรรมการ มีการตั้งกองทุนและมีมติร่วมกันว่าจะออกมาเจอกันทุกวันที่ 1 ของเดือน ทั้งนี้เพื่อพุดคุยสารทุกข์สุกดิบและประเมินสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านที่อยู่กับป่าจะมีความรัก ความผูกพันและหวงแหนทรัพยากรทุกชนิดที่อยู่ในป่าเช่นเดียวกับพี่น้องชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งพวกเขามีกฎกติกา การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนที่ทุกคนต้องเคารพและยึดถือเป็นต้นว่า ห้ามทำลายป่าสมบูรณ์เด็ดขาด ห้ามล่าสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ให้ปักเขตแดนพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าให้ชัด สมาชิกที่ต้องการเปลี่ยนมือการใช้ประโยชน์ต้องแจ้งให้กรรมการทราบ รวมถึงการมีสมุดบันทึกบอกรายละเอียดว่าที่ดินของใคร อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและเปลี่ยนมือที่ดิน ข้อห้ามเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวขององค์กรชุมชนเพื่อปกป้องรักษาป่า และที่สำคัญคือเพื่อความสันติสุขในชุมชน
การรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่นี่ทำให้เกิดวัฒนธรรมร่วมแรงร่วมใจ นายเวียน ทองขวิด ประธานกลุ่มเล่าถึงเรื่องนี้ว่า "เมื่อบ้านหลังหนึ่งของสมาชิกในชุมชนกำลังจะพังไม่สามารถอยู่ได้แล้ว จึงได้แจ้งต่อกรรมการชุมชนว่ามีความจำเป็นต้องสร้างใหม่ ระหว่างที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันสร้างบ้าน ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานประมาณ 10 คน เดินทางมาเจอพอดีและได้สอบถามเรื่องราวเป็นอย่างไร ตนก็บอกความจริงกับเจ้าหน้าที่ไป ถ้าไม่เชื่อให้เข้าไปดู เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปที่บ้านหลังดังกล่าวก็มิได้พูดว่าอะไร" เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ กล้าหาญมากขึ้นในการยืนหยัดอยู่ที่นี่
วงแลกเปลี่ยน
นางปราณี แท่นมาก ปัจจุบันอายุ 28 ปีพูดถึงชุมชนแห่งนี้ว่า "เธอเป็นคนแรกที่เกิดที่นี่ รักที่นี่และผูกพันกับที่นี่มาก สมัยเด็กตอนไปโรงเรียนต้องเดินออกจากหมู่บ้านไปไกลมาก (ลากเสียงยาว) เมื่อไปถึงปากทางก็ต้องโบกรถต่อไปอีกเพื่อขออาศัยไปลงที่โรงเรียน วันไหนโบกรถได้ช้าก็ไปโรงเรียนสาย ทำเช่นนี้จนเรียนจบม.3 ต่อมาพ่อและแม่ไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ จึงหยุดเรียนมาระยะหนึ่ง และเมื่อเก็บเงินได้จึงเรียนต่อศึกษาผู้ใหญ่จนจบม.6 เธอยังบอกอีกว่าเคยเข้าไปทำงานในเมือง แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะความวุ่นวาย จึงลาออกมาทำเกษตรที่บ้าน ดังนั้นพืชทุกตัว สมุนไพรทุกชนิดเธอรู้จักดี และปัจจุบันเธอทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกลุ่ม...... "
ศาลาประชุมหมู่บ้านทับเขือ
ถึงวันนี้ชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมูยังคงยืนหยัดคุ้มครองพื้นที่ทำกินและชุมชนของพวกเขาต่อไปตราบนานเท่านานจนกว่าชีวิตจะหาไม่ รวมทั้งพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้ว่า การปฏิรูปที่ดินหรือการจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชน ย่อมมีความยั่งยืนหรือเป็นทางออกได้มากกว่าการใช้นโยบายหรือกฎหมายป่าไม้ที่เป็นอยู่มาขับไล่ชาวบ้าน