Skip to main content

พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์

สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ

ปฐมบทว่าด้วยปัญหาที่ดิน 

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่  เป็นพื้นที่ปาประมาณ 100 ล้านไร่  เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน  ทรัพยากรที่ดินในประเทศไทยจึงมีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนในประเทศ  หากเพียงแต่ทรัพยากรที่ดินเหล่านั้นจะมีการนำมาจัดสรร  แบ่งปัน  กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม

ความเป็นจริงคือ ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย ประมาณ 90 % มีที่ดินถือครองรวมกันแค่ประมาณ 10 % ของพื้นที่ประเทศ  หรือมีที่ดินถือครองกันคนละไม่เกิน 1 ไร่  ในขณะที่คนกลุ่มเล็กที่เหลือ 10 % มีที่ดินถือครองรวมกันเป็นพื้นที่ 90 % ของที่ดินทั้งประเทศ  หรือถือครองเฉลี่ยมากกว่า 100 ไร่ ต่อคน   นี่ชี้ให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำสัดส่วนของคนที่มีที่ดินน้อยและมีที่ดินมากในสังคมไทย

ข้อมูลของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ปี 2544 พบว่า 70 % ของที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทย  ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า  ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึง 50 % ของพื้นที่ที่มีอยู่ ประเมินความสูญเสียเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้านบาทต่อปี  ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า  มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเก็บที่ดินจำนวนมากไว้เฉยๆ   โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร  หรือต้องการเก็บที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร เป็นสินค้าขายต่อ  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีคนจนมาลงทะเบียนว่าตนเองมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนับรวมได้ 4.2 ล้านปัญหา  แบ่งเป็นคนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน  มีที่ดินทำกินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกินแม้ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.6 ล้านคน ขอเช่าที่ดินรัฐและครอบครองที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน  รวมแล้วมีเกษตรกรและคนจนในสังคมไทยทีมีปัญหาที่ดินรวมกันไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว  ข้อมูลการสำรวจวิจัยจากทุกสถาบัน  ชี้ให้เห็นทุกครั้งว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เกษตรกรเห็นว่าสำคัญและวิกฤตสำหรับคนจนในประเทศไทย  แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ กลับมีเพียงมาตรการสำรวจและศึกษาวิจัยต่อไป  โดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ในขณะที่ทิศทางหลักของนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาลชุดนายสมัคร  สุนทรเวช  ในปัจจุบันยังคงเป็นนโยบายที่มุ่งเน้น การจัดการระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน การเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ    ไม่ต่างอะไรไปจากแนวนโยบายที่ดินของรัฐบาลชุดทีผ่านๆ มา

บทเรียนคือ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม  แต่มุ่งเน้นการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับภาคเอกชนและเกษตรกร  ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนจนไร้ที่ดินได้  ความอ่อนแอของระบบกฎหมายและนโยบายในสังคมไทย ทำให้สังคมไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน  ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไรมาถือครองไว้ก็ได้  จะซื้อครึ่งหรือค่อนประเทศก็ไม่มีใครจำกัดสิทธิได้  ในขณะที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกินจำนวนกี่ล้านครอบครัวก็ได้   รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน 

ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  ซึ่งจะเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์  ต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราที่ไม่สามารถเก็บกักที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไรได้ต่อไป   แต่ต้องยอมขายที่ดินออกมาเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีจำนวนมาก      ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถช้อนซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้  เพื่อนำมาปฏิรูปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน

การทำงานในการปฏิรูปที่ดินของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา   จึงไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน  ที่ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชน  มากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดินอย่างเป็นธรรม  ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาในสังคมไทยจึงเป็นปรากฏการณ์ที่คนจนไร้ที่ดินไม่มีช่องทางและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมได้  การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ   ขาดการตรวจสอบอย่างทั่วถึง  ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น  และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างคนจน  ภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนหลายกรณีทั่วประเทศไทย

ทรัพยากรน้ำ  เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ย  ยา  ปัญหาที่มากไปกว่าเรื่องที่ดิน

เกษตรกรในประเทศไทย  มิได้กำลังเผชิญปัญหาในเรื่องที่ดินแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  หากเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว  กำลังเผชิญวิกฤตข้อท้าทายต่อความสามารถในการรักษาที่ดินทำกินของครอบครัวหรือแม้แต่อาชีพเกษตรกรไว้ให้ได้   ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสูง การผูกขาดและช่วงชิงทรัพยากรการผลิต  รวมทั้งราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน  และหนิ้สินที่ไม่เคยลดลง

รูปธรรมหนึ่งที่ชัดเจนของทรัพยากรการผลิตที่กำลังถูกแย่งชิง  และมีแนวโน้มนำสู่การผูกขาด  คือน้ำเพื่อการผลิตทางการเกษตร   ความพยายามของรัฐบาลชุดที่แล้ว  ที่ได้ยกร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรน้ำทั่วประเทศทั้งที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรและการพาณิชย์   ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสมบัติของสาธารณะให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ   อยู่ภายใต้กฎหมายและการควบคุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจากส่วนกลาง  ซึ่งจะมีการออกรายละเอียดกฎกระทรวง  เงื่อนไขการใช้น้ำ  การขออนุญาตใช้น้ำ ค่าธรรมเนียม และบทลงโทษ ตามมาอีกเป็นระลอก 

แน่นอนว่า  สำหรับเกษตรกรยากจน ทรัพยากรน้ำที่เคยเป็นสาธารณสมบัติ จะกลายเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงได้ยากขึ้น  มีการควบคุมโดยการใช้กฎหมายบังคับ  มีขั้นตอนที่มากขึ้นในการขอใช้ประโยชน์  และอาจรวมถึงการมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่มากขึ้นสำหรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกรในอนาคตต่อไป

ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดภาวะน้ำขาดแคลน  หรือมีการแย่งชิงการใช้น้ำขึ้น ระหว่างนักลงทุนธุรกิจการเกษตรที่มีเงินลงทุนมหาศาล   นักลงทุนด้านอุตสาหกรรม  กับเกษตรกรยากจนที่ทำการผลิตขนาดเล็กในพื้นที่  อำนาจต่อรองย่อมอยู่กับกลุ่มคนที่คุมโครงสร้างการผลิต และมีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่สูงกว่า   ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย   การเข้าถึงทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับเกษตรกรคนยากจนจึงกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย  และอาจจะหมายรวมถึงตัวเร่งในการขายที่ดินอันเนื่องมาจากปัญหาในการผลิต

ในขณะที่เมล็ดพันธุ์พืช  ทรัพยากรการผลิตที่ครั้งหนึ่งเกษตรกรไทยเคยพึ่งพาตนเองได้อย่างมากในอดีต  เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่กำหนดรูปแบบและระบบการผลิตแบบดั้งเดิมของไทยมาช้านาน  น่าเสียดายว่าปัจจุบันเกษตรกรกว่า 80 %  ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นโดยภาคเอกชน หรือบริษัทธุรกิจการเกษตรทั้งสิ้น  การสูญเสียระบบการสืบทอดเมล็ดพันธุ์ที่เคยเป็นของดั้งเดิม   ทำให้เกษตรกรไทยในปัจจุบันไม่สามารถรักษาระบบการผลิตที่หลากหลายและยั่งยืนเช่นในอดีตเอาไว้ได้  หากต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการผลิตไปสู่การผลิตเชิงเดี่ยว น้อยชนิดในพื้นที่กว้าง   ต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดแมลง  และสารเร่งผลผลิต  ตามกลุ่มสายพันธุ์ที่ได้ซื้อมาจากปริษัทธุรกิจเอกชน

ในทางกลับกัน  ธุรกิจเมล็ดพันธุ์  ธุรกิจปุ๋ยเคมี และธุรกิจสารเคมีการเกษตร  กลับเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอย่างงามยิ่งให้กับภาคธุรกิจเอกชนในเมืองไทย  ข้อมูลตัวเลขคร่าวๆ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ปุ๋ยเคมีปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่าการขายปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกรในประเทศไทย  ตกอยู่ที่ประมาณปีละหกหมื่นล้านบาท  (เฉลี่ยปุ๋ยเคมีราคาตันละ 15,000 บาท)  เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้เหล่านี้  ตกอยู่ในมือของบริษัทธุรกิจการเกษตรเพียง 5 บริษัทที่ถือส่วนแบ่งตลาด 90% ของมูลค่าตลาดปุ๋ยเคมีในประเทศไทย

ไม่ต่างกันมากนักกับธุรกิจสารเคมีการเกษตร  ซึ่งมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรเกือบทั้งหมดของไทยนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2548 มีปริมาณนำเข้าสารเคมี 80,166 ตัน มูลค่า 11,360 ล้านบาท  ส่วนแบ่งตลาดสารเคมีของประเทศไทยอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่  บริษัทนำเข้าสารเคมี 10 อันดับแรกก็ล้วนเป็นบริษัทในเครือของบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น อาทิ เช่น อเวนตีส, Ladda, ไบเออร์ ไทย, Kemtread, ดูปองท์, เอราวัณ, บีเอเอสเอฟ (ไทยแลนด์), Chai Tai, เคมีเทค และเซเนก้า

สุดท้ายคือเงินลงทุนเพื่อการผลิตของเกษตรกรรายย่อย  เกษตรกรไทย 90 % มีหนิ้สินอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  บางส่วนมีหนี้สินเพิ่มเติมกับหนี้นอกระบบ  หนี้กองทุนหมู่บ้าน และหนี้กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน  ที่ดินคือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สำคัญที่เกษตรกรใช้สำหรับการกู้เงิน  ปี 2544 เกษตรกรไทยมีหนี้สินรวมกันทั่วประเทศ  สี่แสนล้านบาท  หรือหนี้สินเฉลี่ยต่อคนที่ 43,000 บาท  ในขณะที่ปีปัจจุบัน เกษตรกรมีหนี้สินรวมกันถึง หนึ่งล้านล้านบาท  และมีหนี้สินเฉลี่ยต่อคนที่ หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาท  ข้อมูลจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตเกษตรกร  ระบุว่า 70 % ของหนิ้สินที่ถูกโอนย้ายเข้ามาที่กองทุนฟื้นฟูฯ คือหนิ้สินที่เกษตรกรไม่มีความสามารถในการใช้คืน  และเป็นหนิ้สินที่หลักทรัพย์ค้ำประกันคือที่ดิน  กำลังจะถูกฟ้องยึดโดยธนาคาร   ปัญหาหนิ้สินเกษตรกรจึงเป็นคอขวดช่วงสุดท้ายของการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรไทย

โครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรผูกขาด  ยากแก่การเยียวยา

ตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร  และราคาผลผลิตทางการเกษตร  คือสิ่งที่เกษตรกรควบคุมไม่ได้  ราคาสินค้าการเกษตรทุกชนิดถูกกำหนดโดย พ่อค้าท้องถิ่น  พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร  หรือตลาดโลกที่เกษตรกรไม่เคยรู้จัก  เกษตรกรคนจนในประเทศไทยตกอยู่ในสถานะเป็นเบี้ยล่าง  ที่ต้องขายสินค้าที่ตนเองผลิตโดยไม่สามารถต่อรองราคากับพ่อค้า    เป็นอย่างนี้มานานโดยที่รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซง  ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างจริงจัง  ส่งผลต่อเนื่องเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ  ต้นทุนการผลิต เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ย ยา ดอกเบี้ยเงินกู้แพงขึ้น  เกษตรกรคนจนจึงอยู่ในภาวะขาดทุนจากการผลิต  ยิ่งผลิตมาก ยิ่งขาดทุนมาก

ในขณะที่บริษัทธุรกิจการเกษตรในประเทศไทย  กลับเป็นบริษัทธุรกิจการเกษตรที่ชาญฉลาด  สามารถควบคุม ผูกขาด กระบวนการผลิตสินค้าการเกษตรแต่ละชนิดไว้ได้ในทุกขึ้นตอน  ทั้งการผลิตและการตลาด  เป็นลักษณะการควบคุมในแนวดิ่งตั้งแต่ปัจจัยเพื่อการผลิตเริ่มต้น  จนถึงสินค้าที่พร้อมเพื่อการบริโภค  กรณีตัวอย่างการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการผลิตเนื้อสัตว์  บริษัทธุรกิจสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดขายให้กับเกษตรกร  สามารถมีโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการขายปุ๋ยเคมี  และยาฆ่าแมลงให้กับเกษตรกร  มีบริษัทในเครือและสาขาทั่วประเทศที่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกร  มีบริษัทในเครือทำโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้ผลผลิตข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ  มีบริษัทในเครือทำธุรกิจเลี้ยงสัตว์ เช่น  หมู ไก่  กุ้ง  ซึ่งต้องใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตจากโรงงานอาหารสัตว์  มีบริษัทในเครือทำธุรกิจโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์   มีธุรกิจร้านค้าปลีกเพื่อขายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และธุรกิจส่งออกเนื้อสัตว์แช่แข็งไปนอก  ครบทุกขั้นตอนและกระบวนการ

การมีสายป่านเงินลงทุนจำนวนมหาศาล  ทำให้บริษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้สามารถควบคุม โครงสร้าง ระบบการผลิตและการตลาด ของสินค้าการเกษตรไว้ได้ในทุกขั้นตอน  อำนาจการต่อรองของบริษัทการเกษตรเหล่านี้ในระบบการผลิตและการตลาดจึงสูงมาก เกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดินที่ผ่านมาจึงมีความสัมพันธ์กับบริษัทในลักษณะ ลูกไล่หรือลูกจ้างที่ทำการผลิตพืชผลทางการเกษตร   เพื่อป้อนให้กับเครือข่ายโครงสร้างการค้าขนาดใหญ่  ที่บริษัทเหล่านี้ควบคุมอยู่นั่นเอง  

ที่ผ่านมา โครงการความช่วยเหลือต่อเกษตรกรของรัฐบาล  เช่นการรับจำนำข้าว  หรือการประกันราคาพืชผล  มักเป็นไปในลักษณะชั่วคราว  ไฟไหม้ฟาง โดยไม่ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือให้ตรงประเด็น  ในหลายครั้งเกิดการติดขัดในการดำเนินการ  เนื่องจากกลไกภายในขาดการตรวจสอบจากภาคประชาชน  เกิดปัญหาคอรัปชั่นได้ง่าย  ในหลายกรณีแทนที่โครงการความช่วยเหลือเหล่านั้น  จะถูกส่งผ่านไปยังองค์กรของเกษตรกรโดยตรง  กลับให้ภาคธุรกิจเอกชนรับสัมปทานไปดำเนินการแทน  กลายเป็นการเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ให้กับบริษัทธุรกิจ   ที่ควบคุมโครงสร้างตลาดผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้นเข้าไปอีก

การที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาแทรกแซงราคาผลผลิตและปกป้องเกษตรกรรายย่อยในระบบตลาดสินค้าเกษตรที่ผูกขาดนี้อย่างจริงจัง    เปรียบเสมือนกับเป็นการลอยแพให้เกษตรกรรายย่อยและคนจน  ตกเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ  ไร้อำนาจต่อรองในตลาดสินค้าเกษตรที่ดูเหมือนจะเสรี  แต่แท้ที่จริงแล้วผูกขาด    ทั้งในตลาดระดับประเทศและตลาดโลก

ไม่มีสวัสดิการและทรัพยากรเหลือพอสำหรับคนยากจน 



เกษตรกรและคนยากจนปัจจุบันเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  ในอัตราเท่ากับคนรวยในทุกครั้งที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคใช้ในครัวเรือน เสียภาษีที่ดิน  ค่าน้ำ ค่าไฟ  ค่ารักษาพยาบาล และค่าศึกษาเล่าเรียนบุตร  ในอัตราเดียวกับคนที่มีฐานะทั่วไป     เกษตรกรยากจนที่มีหนี้สินสูงจนแทบจะต้องขายที่ดินใช้หนี้   ก็ต้องเสียภาษีและจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เท่ากับคนรวยที่มีเงินหลายสิบล้าน  สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ไม่ได้ให้สวัสดิการกับคนจน   ไม่ได้มีการจัดสรร  กระจายความมั่งคั่งให้กับคนยากจน  หรือไม่ได้มีการกระจายทรัพยากรและงบประมาณของรัฐออกมาช่วยเหลือเกษตรกรยากจนฐานล่างที่กำลังเดือดร้อนมากเท่าที่ควรจะเป็น  

ในทางตรงกันข้าม  คนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว  เช่น กลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจ  กลับเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงอำนาจรัฐ  ในระดับที่สามารถแทรกแซงหรือเอื้อให้มีการนำเอาทรัพยากรของรัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจของตน  แม้แต่ในนามเพื่อการช่วยเหลือและ ยกระดับวิถีชีวิตชองเกษตรกรรายย่อย  เช่น การทำโครงการร่วมกับภาครัฐสนับสนุนและขายปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงให้เกษตรกร  การสัมปทานรับจำนำข้าวเปลือกในโครงการของรัฐ   การสัมปทานเช่าพื้นที่ป่าสงวนราคาถูกจากรัฐเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ และการขายต้นกล้าราคาถูกให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร   และแน่นอน  ผลประโยชน์และสวัสดิการของเกษตรกรและคนยากจนในโครงการเหล่านี้   จึงมักลงเอยจบลงด้วยการวกเข้ากระเป๋าของนักลงทุนรายใหญ่อีกครั้ง

โดยภาพรวม  การทำการผลิตที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุนขนาดใหญ่ หรือการขายผลผลิตในระบบตลาดที่ควบคุมโดยกลุ่มบริษัทในเครือทุนขนาดใหญ่  จึงไม่มีอนาคตสำหรับเกษตรกรรายย่อย  และคนจนไร้ที่ดิน นอกเสียจากว่า เกษตรกรรายย่อย และคนจนไร้ที่ดินยินดีที่จะเป็นลูกไล่  ลูกจ้างทำการผลิต  เพื่อยกประโยชน์และผลกำไรให้กับกลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจเหล่านั้นไป

การปลดปล่อยตัวเองของเกษตรกรรายย่อยและ คนจนไร้ที่ดิน

 



1) ที่ดินเป็นทรัพยากรของสังคมและทรัพยากรการผลิตที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรกรรม     เกษตรกรจึงต้องจำไว้ให้มั่นว่า    สังคมไทยจำเป็นต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  เพื่อให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยสามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง   ไม่ว่าจะโดยการปฏิรูปที่ดินของภาครัฐ  หรือการปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชนเองก็ตาม

2) ที่ดินที่กักตุนไว้เพื่อเก็งกำไร มีเจ้าของ แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ คือตัวบ่งชี้ความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน  ควรถูกมาใช้ในการผลิตและจัดสรรให้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน

3) เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง และก้าวพ้นไปจากวงจรความไม่เท่าเทียม  เกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดิน จึงต้องเข้าใจระบบและโครงสร้างสังคมไทย  เข้าใจโครงสร้างการถือครองที่ดิน  ระบบการผลิตและการตลาด  ที่เกษตรกรยากจนในปัจจุบันเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของฐานล่างที่เสียเปรียบในโครงสร้าง   ในขณะที่ธุรกิจการเกษตรกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  กำลังกอบโกยผลประโยชน์จากระบบนี้ในหลากหลายรูปแบบ

4) เพื่อที่จะมีอาชีพเกษตรกรได้อย่างมั่นคง  เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง  และเพื่อป้องกันการรุกรานจากระบบทุนเป็นใหญ่ เกษตรกรจึงต้องช่วยเหลือกันในการปกป้องผืนดินของตนเองไว้  สร้างระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบใหม่ๆ ที่สังคม  ชุมชนเกษตรกรรมสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องผืนดินร่วมกับระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกที่เป็นอยู่ 

5) นอกเหนือจากการมีที่ดินเป็นของตนเอง  เกษตรกรจะต้องสามารถพึ่งพาตนเองให้ได้ในปัจจัยการผลิตพื้นฐาน  อาทิ เมล็ดพันธุ์  น้ำ  ปุ๋ยธรรมชาติ  สารกำจัดโรคแมลงที่เป็นธรรมชาติ  และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่จำเป็น

6) เกษตรกรจะต้องเลือกที่จะทำการผลิตในระบบที่เป็นอิสระ  มิต้องตกเป็นเบี้ยล่าง  ลูกไล่ หรือลูกจ้างให้กับกลุ่มพ่อค้า  กลุ่มทุนธุรกิจการเกษตรอีกต่อไป  

7) เป้าหมายของการมีอาชีพเป็นเกษตรกร  ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ  สามารถที่จะเลือกชนิดพืชที่ปลูก  เลือกระบบการผลิตพืชที่ต้องการปลูก  ที่ยั่งยืน  เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบครัวเกษตรกร และผู้บริโภคผลผลิตนั้นๆ

8) เพื่อก้าวไปให้พ้นจากกลไกตลาดขนาดใหญ่ที่ถูกผูกขาดไว้แล้วโดยกลุ่มทุนระดับชาติและสากล   เกษตรกรจึงต้องสร้างทางเลือกทางการตลาดด้วยตนเอง  นั่นอาจหมายรวมถึงการสร้างตลาดท้องถิ่นในแบบดั้งเดิมขึ้นมาใหม่  ตลาดทางเลือก ตลาดนัดริมทาง  ตลาดนัดสุดสัปดาห์  ตลาดขายตรงให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

หรือแม้แต่การขายให้กับเครือข่ายเกษตรกร คนยากจนที่ต้องการผลผลิตการเกษตรเหล่านั้น และสามารถจ่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม

9) เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง  รวมกลุ่มคนที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน  รวมกลุ่มคนในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน  แก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ของตนเองให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  ช่วยเหลือกันในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต  และสร้างระบบการตลาดใหม่ที่เป็นของเกษตรกรและควบคุมโดยเกษตรกร 

10) ความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนในการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ  เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีองค์กรของเกษตรกรที่เข้มแข็ง  เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการกำหนดนโยบายด้านที่ดินและแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม  การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เป็นจริง  เข้าถึงการตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรด้านการเกษตร

11) การผลักดันให้รัฐทำหน้าที่ของภาครัฐ  คือภารกิจที่สำคัญขององค์กรเกษตรกร  หน้าที่ของรัฐเหล่านั้นคือ การอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรยากจนอย่างเต็มที่  โดยการยกเลิกหนี้สินอันเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐ  สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค  ประกันราคาพืชผลการผลิตให้คุ้มกับตันทุนการผลิตที่เกษตรกรต้องจ่ายไป  ช่วยเหลือด้านการแปรรูปผลผลิตและสนับสนุนการขายผลผลิตในตลาดท้องถิ่น  ยุติการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีที่บีบให้เกษตรกรทำการผลิตภายใต้กลไกตลาดที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่

และทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่อยากจะบอกกับเกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดินว่า ถึงแม้เราจะเริ่มที่ปฐมบท  ปัญหาที่ดินทำกินของคนจนทั่วประเทศ  แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินต่อไป   ให้ถึงยังจุดที่ความเข้าใจในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมได้เกิดขึ้น  โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของภาคเกษตรกรรมได้ถูกแก้ไข  และนั่นย่อมหมายถึงการต้องใช้พลังแรงของคนจนไร้ทีดินและเกษตรกรรายย่อยจากหลากหลายสาขา  หลากหลายเครือข่ายมาร่วมแรงร่วมใจกันผลักดัน

 

บล็อกของ คนไร้ที่ดิน

คนไร้ที่ดิน
ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา    การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดประเด็นการปฏิรูปที่ดิน แจกสปก. นับว่าโดนใจประชาชนที่เฝ้ารอคอย สปก. 4-01 และหวังว่าวันหนึ่งจะมีการออกเป็นโฉนดที่ดินตามแรงโฆษณาของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมือง ปัญหาการไม่มี สปก. 4-01 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินมีจำนวนมาก มีโครงการปฏิรูปที่ดิน แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ดิน และยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของความซ้ำซ้อนระหว่างแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น เช่น พื้นที่ป่าตามกฎหมาย ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์…
คนไร้ที่ดิน
โดย... สมจิต คงทน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  ก่อนจะมาเป็นนารวม ชาวบ้านเขวาโคก-เขวาทุ่ง ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมตัวกันเพื่อดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าสาธารณะของชุมชนที่อยู่คู่มากับหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ไว้สำหรับหาอยู่หากิน เก็บของป่า เก็บเห็ด เก็บฟืน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตแต่เมื่อปี 2538 มีกลุ่มทุนเอกชนจากนอกพื้นที่ทั้งหมด 8 ราย มาบุกรุก แผ้วถางป่าธรรมชาติดอนหนองโมง-หนองกลางของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินผืนนี้ไว้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
คนไร้ที่ดิน
กองเลขาฯเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ความขัดแย้งและการต่อสู้ของชนชั้นปกครองเป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ มากกว่า 3 ปี จนยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในขณะนี้ ขั้วความขัดแย้งคือ กลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมภายใต้อิทธิพลศักดินา ส่วนอีกฝ่ายคือ กลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการทำศึกวัดดุลกำลัง เพื่อนำไปสู่การจัดปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหม่ ทั้งอำนาจในทางการเมือง อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรของสังคม ศึกช่วงชิงการยึดกุมความได้เปรียบในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจละการผลิตครั้งนี้ “ชนชั้นผู้ชม”…
คนไร้ที่ดิน
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่นอันดามัน ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ทางออกกรณียึดที่ดินชุมชนสัมปทานป่า-เลให้นายทุน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ควนปริง ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 150 คน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ…
คนไร้ที่ดิน
ศลิษา ทองสังข์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาทางการเมืองและโครงสร้าง ปัญหาที่ดินไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวนา หรือคนสลัม แม้แต่คนเมือง คนชั้นกลางก็ประสบปัญหาที่ดินอยู่อาศัย การใช้ประเด็นเรื่องการผูกขาดที่ดิน นักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ทุนข้ามชาติ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวมเพื่อสร้างแรงผลักดันการกระจายการถือครองที่ดินได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขมาตรการทางภาษีที่ดิน ตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2541 เป็นเวลา 10 ปี เต็ม…
คนไร้ที่ดิน
นนท์ นรัญกร   ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 147 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A และ ป่าสงวนแห่งชาติโซน C ประมาณ 80 ล้านไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการพื้นที่ป่าของของกรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีบทเรียนหลายประการ ที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานให้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังจะสร้างปัญหาใหม่ตามมา ดังที่เป็นข่าวเรื่องความพยายามใน การเซ้งพื้นที่อุทยานฯ ให้กับภาคเอกชนเช่าทำธุรกิจ บทเรียนประการแรก…
คนไร้ที่ดิน
พงษ์ทิพย์  สำราญจิตต์สังคมไทย  เป็นสังคมที่เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน แทบจะไม่มีที่ยืนหรือสามารถบอกเล่าสถานะของตนเองต่อสังคมได้ โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การผลิตและการตลาด  ได้ถูกผูกขาดและกำกับควบคุมโดยคนกลุ่มเล็ก บริษัทธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมหาศาล ในสนามเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดไว้แล้วเช่นนี้  แน่นอนว่าเกษตรกรรายย่อยย่อมมิอาจแข่งขันได้ นี่เป็นที่มาของสภาพการณ์ในชนบทสังคมไทยที่เกษตรกรรายย่อยกำลังกลายเป็นแรงงานรับจ้างและคนจนไร้ที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
คนไร้ที่ดิน
                                                                                                   …
คนไร้ที่ดิน
  สมจิต  คงทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป  ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้  ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน  ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"  นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ…