Skip to main content

ดา ตอร์ปิโด เขย่ารากฐานความศรัทธาของคนไทยอีกคำรบหนึ่งด้วยการพูดปราศรัยต่อหน้าสาธารณะที่ท้องสนามหลวงเมื่อคืนวันที่ 18 กรกฎาคม อย่างตรงไปตรงมา และไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม จากข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อแขนงต่าง ๆ บอกให้รู้ว่าการปราศรัยของเธอนั้นเกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูง


ต้องยอมรับว่า ดา ตอปิโดร์ เป็นคนกล้าและแกร่งอย่างที่หลายคนทำไม่ได้ในแง่ที่ว่ากล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิดโดยไม่ต้องพะวงว่าจะเกิดผลร้ายตามมา


ทราบจากที่เป็นข่าว สนธิ ลิ้มทองกุล นำคำพูดของ ดา ตอร์ปิโด มาเล่าซ้ำออกอากาศผ่าน ASTV ไปทั่วประเทศ คำปราศรัยของดา ตอร์ปิโด ที่คนสนามหลวงฟังเพียงไม่กี่คนกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โตและมีผู้คนรับรู้ไปทั่วบ้านทั่วเมืองและเป็นเหตุให้เขาต้องออกถูกออกหมายจับ เข้ามอบตัวโดยนำฝูงชนไปปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล ข่มขู่ไปต่าง ๆ นานาหากไม่ยอมให้ประกันตัว


ถ้าหากสิ่งที่ ดา ตอร์ปิโด พูดปราศรัยเป็นเรื่องดี ๆ ที่น่ายกย่องสรรเสริญก็ควรที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปจะได้รับรู้ แต่หากสิ่งที่ ดา ตอร์ปิโด กล่าวบนเวทีสนามหลวงนั้นเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม การช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ทั่วประเทศโดยกลุ่มพันธมิตร ฯ จึงเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง


ถ้าม็อบพันธมิตรฯ เห็นว่า ดา ตอร์ปิโด หมิ่นเบื้องสูงก็สามารถร้องเรียนกับตำรวจได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องนำคำพูดของเธอ มาเล่าซ้ำให้ผู้ชุมนุมและคนทั้งประเทศฟัง แต่เหตุใดเล่าที่สนธิ ลิ้มทองกุล จงใจจะเล่าเรื่องนี้ซ้ำ


ต้องการวาดภาพสร้างจินตนาการเชื่อมโยงการกระทำครั้งนี้ เข้ากับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามแบบที่เขาถนัด ?

หรือต้องการ “สร้างความจริง” ว่าด้วยเรื่อง “สาธารณรัฐ” ที่เขาโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด ?

หรือว่าสนธิ ลิ้มทองกุล มีเจตนาที่จะหมิ่นสถาบันเบื้องสูงโดยอาศัย “ปาก” ของคุณดา ตอร์ปิโด ?


สนธิ ลิ้มทองกุล ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดคำพูดของ ดา ตอร์ปิโดเท่านั้น หากแต่นำคำพูดนั้นมาขยาย เพิ่มเติม ใส่ไฟ ปั้นน้ำเป็นตัว ปลุกระดม เพื่อเร้าอารมณ์รวมหมู่ให้เกิดความรู้สึกคลุ้มคลั่งตามแบบของพวก “ฝ่ายขวา” ที่มักนำเอาเรื่องชาติ (เขาพระวิหาร) ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาเล่น


การที่สนธิ ลิ้มทองกุล นำเรื่องนี้มาเล่น และขยายจนเกินจริงนั้น เขามีจุดประสงค์เพื่อต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือ ?


ความจงรักภักดี ของ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเรื่องที่น่าสงสัย ครั้งหนึ่งในงานสัมมนาว่าด้วยเรื่อง “สองไม่ยืน” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็เคยตั้งข้อกังขาในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน


อันที่จริง สนธิ ลิ้มทองกุล มีปัญหาเรื่องนี้หลายครั้ง แต่เขาไม่เคยหลาบจำ ในทางตรงข้ามดูเหมือนว่า ”เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน” นั้น เขามีความนิยมเป็นพิเศษ เขาไม่เคยจะละเว้นให้ผ่านไปโดยไม่นำมาขยายผลหรือทำให้เป็นประเด็น


จุดประสงค์หรือเจตนาของสนธิ ลิ้มทองกุล ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ กระทั่งดัดแปลง คำพูดของดา ตอร์ปิโด นั้นคืออะไรกันแน่ ?


เจตนาแท้จริงของสนธินั้นไม่มีใครล่วงรู้ได้ บางทีเขาอาจไปไกลเสียจนถึงจุดที่ตัวของเขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าเจตนาของตนเองคืออะไร บางทีคนเราเมื่อได้รับความกดดันมาก ๆ หรือต้องต่อสู้มาก ๆ เป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกก็จะเปลี่ยนไป ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อชัยชนะแต่กลายเป็นต่อสู้เพื่อต่อสู้ การต่อสู้กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง


พันธมิตร ฯ ก็คงจะเป็นอย่างนั้น พวกเขาเริ่มต้นต่อสู้กับรัฐบาลใหม่ด้วยการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาเปิดประเด็นโจมตีรัฐมนตรีบางคนกดดันเพื่อให้ลาออก ต่อมาเป็นการขับไล่รัฐบาลทั้งคณะที่พวกเขาย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นการเสนอการปกครองระบอบใหม่มาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบ 70 : 30 ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการลากตั้งถึง 70 % ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการตอบรับแม้ในหมู่คนกรุงเทพ ฯ


เหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า พันธมิตรกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้ต่อสู้ ต่อสู้เพราะต้องต่อสู้ หรือต้องต่อสู้เพราะว่ามันเป็นเรื่องการทำธุรกิจ


อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคดีความในอดีตที่ยังค้างอยู่ในศาล ท่าทีที่ “ก้าวล่วง” หลายต่อหลายครั้ง อาจพอสรุปการกระทำของสนธิ ลิ้มทองกุลในครั้งนี้ได้ว่า “อาจจะ” มีเจตนาที่จะหมิ่นเบื้องสูง หรือมีเจตนาที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการหมิ่นเบื้องสูง (ผมสามารถใช้คำว่า “อาจจะ” หรือ ”สุ่มเสี่ยง” ในการพิพากษาตัดสินคนอื่นได้แบบเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาตัดสินอย่างน่าอัศจรรย์ในคดีเขาพระวิหารโดยใช้คำว่า “อาจจะ” และ “สุ่มเสี่ยง”)


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสนธิ ลิ้มทองกุล “อาจจะ” มีเจตนาที่จะหมิ่นเบื้องสูง แต่เขาก็ได้รับการประกันตัวออกไปเพราะเขาคิดว่าเขาคือมาเฟีย ในขณะที่ ดา ตอร์ปิโด ต่างออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอชื่นชม อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จากใจจริงที่ขอยื่นประกันตัว ดา ตอร์ปิโด โดยไม่กลัวผลกระทบที่จะเกิดแก่ตนเอง


ดา ตอร์ปิโด และสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ต่างกัน เรามาดูกันสิว่าระหว่างคนที่กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อกับมาเฟียข้างถนนจะมีบทสรุปตอนท้ายอย่างไร.


บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…