Skip to main content
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ภายใต้การนำของ สาวิทย์ แก้วหวาน ผู้ซึ่งเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน ฯ เป็นการประท้วงในสไตล์เดียวกับการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร นั่นคือเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อให้ได้ตามความต้องการของตนเอง 

นายสมเชาว์ โกศล นายกสมาคมมัคคุเทศก์ จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวว่า
“กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไม่มั่นใจเดินทางมาภาคใต้ ได้หันไปจองแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือและภาคอีสานแทน ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน อย่าปล่อยให้เกิดวิกฤตท่องเที่ยวซ้ำสอง หลังจากเกิดการปิดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตร เมื่อปี 2551 มาแล้ว"  (มติชนรายวัน, 20 ตุลาคม, 2552)

สหภาพแรงงานใช้มุกแบบพันธมิตรคือ ลาหยุด-ป่วย,ข่มขู่จะปิดหัวลำโพง,ยึดหัวรถจักรขบวนที่กำลังวิ่งอ้างว่าจะนำไปตรวจสภาพความพร้อม

พนักงานฝ่ายบริการ รฟท.คนหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า
“ผู้บริหารและฝ่ายการเดินรถสั่งให้จำหน่ายตั๋วโดยสารและปล่อยขบวนรถให้มาที่ จ.สุราษฎร์ธานี ไป-กลับ ได้วันละ 3 ขบวนเท่านั้น เนื่องจากมีขบวนรถเหลืออยู่น้อยแล้ว หากปล่อยให้ขบวนรถเดินทางไปถึงชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และชุมทางหาดใหญ่ อาจถูกกลุ่มสหภาพ รฟท.ยึดหัวรถจักรไว้อ้างตรวจซ่อมบำรุง เพื่อเพิ่มแรงกัดดันให้ฝ่ายบริหารลาออก เพราะหัวรถจักรส่วนใหญ่และขบวนรถท้องถิ่นถูกกักไว้ที่ อ.หาดใหญ่ จนเกือบหมดแล้ว” (มติชนรายวัน, 20 ตุลาคม, 2552)
 
 
 
เป็นที่รู้กัน สาวิทย์ แก้วหวาน ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรมาช้านานตั้งแต่ขับไล่อดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนถึงอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กระทั่งได้เป็นแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตร         
ดังนั้นสไตล์การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงาน ฯ กับรูปแบบการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรจึงมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เรียกได้ว่าลอกกันมาเลยทีเดียว

ความคล้ายคลึงที่ว่านั้นคือ ทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องของตนเองโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ นำความเดือดร้อนของประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเพื่อเป็นข้อต่อรอง  ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือการยึดสนามบินซึ่งเป็นการนำ
“ความเดือดร้อนนานาชาติ” เข้ามาเป็นเครื่องต่อรองซึ่งก็ได้ผลเพราะรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นไป (ด้วยความร่วมมือของศาล) แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองนั้นกลุ่มพันธมิตรไม่แม้แต่จะคิดรับผิดชอบ

ว่าที่จริง นอกจากการยึดสนามบิน การประท้วงโดยการหยุดงานเพื่อต่อรองกับรัฐบาลในลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 สมาชิกรัฐวิสาหกิจ 43 แห่งทั่วประเทศนัดหยุดงานพร้อมกันเพื่อกดดันรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ท่ามกลางความพรั่นพรึงของประชาชนที่ต้องใช้บริการรัฐวิสาหกิจ

สาเหตุและข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ฯ  ในการนัดหยุดงานครั้งนี้แม้ว่าจะอ้างเรื่องของความไม่พร้อมของหัวรถจักร แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องภายในที่ประชาชนไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย
“กรณีที่มีพนักงานนัดหยุดงานพร้อมเพรียงจำนวนมากที่สถานีหาดใหญ่และสถานีปากน้ำโพนั้น ส่วนเหนึ่งเป็นผลจากความไม่พอใจที่มีการโยกย้ายระดับผู้ช่วยพนักงานประจำสถานีทั้ง 2 แห่งออกไปจากพื้นที่ โดย ทั้ง 2 คน เป็นกรรมการและอนุกรรมการของสหภาพ รฟท.ด้วย” (มติชนรายวัน, 20 ตุลาคม, 2552) ทั้งยังเรียกร้องเลยเถิดไปถึงขั้นให้ปลดผู้บริหารรฟท.

พนักงานรัฐวิสาหกิจทำเช่นนี้ได้เพราะมีอำนาจต่อรอง เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่เอาแต่ได้   ผมมองว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ได้รับสวัสดิการล้นเหลือ เมื่อเทียบกับประชาชนหาเช้ากินค่ำซึ่งไม่มีสวัสดิการอะไรกับเขาเลย

อันที่จริงผมไม่เคยคิดว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเป็นขบวนการภาคประชาชนเลยด้วยซ้ำ ยิ่งเมื่อดูที่รูปแบบและผลกระทบจากการเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งเน้นสร้างความเดือดร้อนสาธารณะแล้วยิ่งไม่อาจนับว่าเป็นขบวนการภาคประชาชนได้เลย   น่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มุ่งกดดันรัฐบาลเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัวมากกว่า เช่นเดียวกับที่ผมไม่นับการเคลื่อนไหวของสำนักสันติอโศกกระทั่งกลุ่มพันธมิตรว่าเป็นขบวนการภาคประชาชนเหมือนกัน เพราะหากดูที่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวแล้วเห็นได้ชัดว่าบั่นทอนทำลายพลังประชาชน ทำให้ขบวนการภาคประชาชนอ่อนแอลง

 

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…