Skip to main content

ผมรู้สึกประหลาดใจ คาดไม่ถึง เหลือเชื่อ รับไม่ได้ ต่อบทความของศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2550  ผมอ่านอย่างตั้งใจทีคำ ทีละประโยค  เมื่ออ่านจบแล้ว ได้แต่ส่ายหัว บ่นงึมงัมอยู่คนเดียวว่านิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียนอย่างที่เขียนไปแล้วได้อย่างไร

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ในวัยชรา ได้ทำลายตัวเองด้วยการเขียนบทความอันน่าสะอิดสะเอียนเพื่อชื่นชม คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างหน้ามืดตามัว เขาเขียนว่า

“คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ภายใต้สภาวการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือภายใต้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ) มาอย่างน้อยสามเรื่องแล้ว คุณอภิสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเสีย เมื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม,คุณอภิสิทธิ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงและสัญญาว่าจะแก้ไขเมื่อได้เป็นรัฐบาล และไม่กี่วันมานี้ คุณอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่แนะนำมิให้นักการเมืองใช้ 111 อดีตผู้บริหาร ทรท.เป็นสื่อในการหาเสียง”

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เชื่อจริงๆ หรือว่า ทั้งสามเรื่องข้างต้นอันเป็นการแสดงถึง ความสง่างามและความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ไม่ถามตัวเองเลยหรือว่าทั้งสามเรื่องข้างต้นนั้นเป็น “ความตั้งใจ” ของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จริง ๆ  หรือเป็นแค่โวหารประชาธิปไตยเพื่อเรียกคะแนนชื่นชมเท่านั้น ?  

นอกจากให้สัมภาษณ์ไปตามเรื่องตามราวตามแผนการตลาดแล้ว ที่ผ่าน ๆ มา นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เคยเห็นคนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรเพื่อประชาธิปไตยมาก่อนบ้างหรือไม่ ?

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ลืมไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยสร้างผลงานอะไรไว้หรือไม่เคยสร้างผลงานอะไรไว้บ้างในอดีต นิธิ เอียวศรีวงศ์ จำไม่ได้หรือว่า คนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นั้นเคยให้การสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นผู้สนับสนุนมาตรา 7  ที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญบัดซบที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้คัดค้านอย่างแข็งขัน!

อย่างไม่ปิดบัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความชิ้นนี้ออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550  เขาแสดงจุดยืนของเขาออกมาแล้วว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือพรรคใดควรจะเป็นรัฐบาล

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทความชิ้นนี้ถูกเขียนด้วยรสนิยมทางการเมืองที่แย่เอามาก ๆ และทำลายหลักการอย่างร้ายแรงไม่ต่างอะไรกับที่พรรคประชาธิปัตย์และคมช.กระทำต่อประชาธิปไตย

อันที่จริงการแสดงจุดยืนหรือรสนิยมทางการเมืองของตัวเองออกมาเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่การเชียร์อย่างมืดบอดแบบนี้ของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ นับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจกระทั่งสมควรประณาม และเมื่อคิดว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์เป็นนักวิชาการอันดับต้น  ๆ ของประเทศ ที่พูดหรือเขียนมีคนฟังคนอ่านและคนคล้อยตาม เป็นนักวิชาการที่ถูกคาดหวังว่ามีความเป็นกลางหรืออย่างน้อยก็ยึดควรหลักการ ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่แล้วนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ก็แสดงตัวตนออกมาไม่ต่างอะไรจากนักการเมือง

มากไปกว่าการแสดงจุดยืนแบบปัจเจกชนของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ การเขียนบทความผ่านสื่อ คือการโน้มน้าวชักจูงใจ(อาจเรียกได้ว่าหลอก)คนอ่าน ตลอดจนศิษยานุศิษย์ของเขาให้คล้อยตามเห็นดีเห็นงามไปกับเขาว่าคุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ มีความเหมาะสมกว่าใครอื่นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหิริโอตตัปปะเลยสักนิดเดียว ดังนั้นเขาจึงดั้นด้นเขียนต่อไปว่า

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้ความนุ่มนวลก็มีความสำคัญ”

คำกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านสำรอกได้เลยทีเดียว เพราะนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสกคาถาให้คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ กลายเป็นบุคคลที่ “อาจหาญและมีศักดิ์ศรี” กับ “นุ่มนวลแต่สง่างาม” แบบไม่ต้องคิดมากไปแล้วในพริบตา  

อันที่จริงหากจะมองหาความดีของใครสักคนแล้วนำมายกย่องเทิดทูนนั้น คนทุกคนสามารถที่จะถูกยกย่องได้หมด  เพราะคนทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีในชีวิตปะปนกันไป ไม่เว้นแม้แต่โจร ไม่เว้นแม้แต่คุณทักษิณ  ชินวัตร และคุณอภิทธิ์  เวชชาชีวะ การที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์มองเห็นแต่ความดีของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  และมองเห็นแต่ความไม่ดีของคุณทักษิณ  ชินวัตร นั้นหมายความว่าอย่างไร?

มันคงไม่ได้หมายความว่าอย่างไร นอกจากหมายความว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชอบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็เท่านั้นเอง  แม้ว่าจะต้องเขียนบทความเชียร์ที่เต็มไปด้วยอคติอย่างน่าเกลียด เขาก็ยอมทำ

ในท้ายยบทความ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชื่นชมคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแขวะคู่แข่งอย่างคุณสมัคร สุนทรเวชไปพร้อมกันว่า

“แม้ว่าการปลดปล่อยการเมืองไทยออกจากระบบราชการ และกองทัพเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสุดยอด แต่เราควรหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกับกองทัพอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนของกองทัพเอง ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้น ความนุ่มนวลแต่แกร่งกล้าของคุณอภิสิทธิ์อาจช่วยให้คุณอภิสิทธิ์สามารถนำทหารกลับกรมกองโดยสงบ และสร้างระบบราชการให้เป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายที่ประชาชนสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางการเมืองได้ และนี่เป็นข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์เหนือคู่แข่งที่แสดงอาการแข็งกร้าวหยาบคาย เพราะโอกาสที่เราจะดันทหารกลับกรมกองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อนั้นมีอยู่”

ถ้าคุณยังคิดว่านักวิชาการเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และน่าเชื่อถือศรัทธา อ่านบทความของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชิ้นนี้แล้วคุณจะรู้ว่าความคิด ความเชื่อในเรื่องนี้นั้นไม่ถูกต้องเอาเสียเลย ตรงกันข้ามทีเดียว นักวิชาการเป็นกลุ่มที่สมควรประณามเป็นอันดับต้น ๆ ในบางกรณีนั้นสมควรถูกประณามมากกว่านักการเมืองเสียอีก.

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
มหาชนสีแดงยื่นบันไดแห่งการยุบสภาให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีนลงมาอย่างง่าย ๆ ชนิดที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แต่ไม่เป็นผลอะไร ด้วยโมหะจริต นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้ว่าจะต้องทำอะไรที่เสียเกียรติความเป็นผู้นำไปมากก็ตาม
เมธัส บัวชุม
การเคลื่อนพลของคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดินน่าตื่นตาตื่นใจและอลังการสมการรอคอย แม้ว่าการมาทางเรือจะผิดจากความคาดหวังอยู่มากก็ตาม ผมยืนรอชมขบวนเรือของคนเสื้อแดงบนสะพานกรุงธนนานกว่า 3 ชั่วโมงพร้อมกับแดงคนอื่น ๆ เต็มสะพาน โบกไม้โบกมือ ไชโยโห่ร้องกับคนเสื้อแดงที่ขับรถผ่านไปมา
เมธัส บัวชุม
แม้ผลการตัดสินคดียึดทรัพย์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่คนเสื้อแดงหลายคนยังรู้สึกเจ็บปวด บางคนถึงขั้นหลั่งน้ำตาทั้งที่เงินนั้นไม่ใช่เงินของตนเอง พวกอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อเหลืองไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าที่คนเสื้อแดงหลั่งน้ำตานั้นไม่ใช่เพราะเสียดายเงินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่ถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะรู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองทำอะไรไม่ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรมบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า
เมธัส บัวชุม
ไม่ว่าผลการตัดสินคดียึดทรัพย์ (ปล้นทรัพย์อย่างถูกกฎหมาย) ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาเป็นอย่างไร การลุกฮือของคนเสื้อแดงก็ยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เสื้อแดงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยี่หระเลยกับทรัพย์สินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรเพราะนั่นเป็นราคาที่อดีตนายก ฯ ต้องจ่ายสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลายคนจะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้นถ้าไม่จ่ายด้วยเลือดและชีวิตก็ต้องจ่ายด้วยทรัพย์สินแสนแพง
เมธัส บัวชุม
 เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ เขม็งเกลียวแน่นใกล้ถึงจุดวิกฤติ ข่าวเกี่ยวกับการทำรัฐประหารก็ลอยมาจากทางโน้นทางนี้เป็นระยะ น่าเชื่อบ้าง ไม่น่าเชื่อบ้าง ราวกับว่ารัฐประหารเป็นทางออกเดียวในการจัดการปัญหา
เมธัส บัวชุม
การเข้าครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงอย่างผิดกฏหมายขององคมนตรีคุณธรรมสูงอย่างสุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแม้แต่น้อย ไม่ใช่ข้อค้นพบที่น่าตื่นเต้น ไม่ใช่ความลับที่น้อยคนรู้ ชาวบ้านร้านตลาดในบริเวณนั้นต่างก็รู้กันเป็นอย่างดีว่าวิลล่าสวยงามบนเขายายเที่ยงนั้นเป็นของใคร
เมธัส บัวชุม
ผมค่อนข้างแปลกใจที่สังคมไทยยังไม่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ว่าที่จริงสงกรานต์เลือดเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เป็นโอกาสเหมาะไม่น้อยสำหรับการเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งอาจจะจบลงด้วยการทำลายพลังประชาชนรากหญ้าและคนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าลงอย่างย่อยยับ จนยากที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ หรืออาจเป็นไปในทางกลับกันก็ได้หากประชาชนได้รับชัยชนะคือระบอบประชาธิปไตยจะขยับไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด อำนาจของอำมาตย์จะถูกจำกัดวง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด?
เมธัส บัวชุม
-1- ฉันมีวิธีเผชิญหน้ากับอาการนอนไม่หลับด้วยการนอนลืมตาอยู่ในความมืด พยายามไม่คิดอะไร แต่ดวงความคิดของฉันก็ไหลลอยไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้ หวนรำลึกไปถึงสถานที่และผู้คนที่ฉันเคยพานพบประหนึ่งว่าฉันเพิ่งจากผู้คนและสถานที่เหล่านั้นมา
เมธัส บัวชุม
เรื่องราวในชีวิตของคนเราสามารถนำมาเขียนแต่งเป็นนิยายได้ทั้งนั้น โดยการใส่พล็อตหรือท้องเรื่องเข้าไป ตีความให้ดูน่าสนใจ แล้วเสาะหา(สร้าง)ข้อมูลเพื่อยัดลงไปในพล็อตที่วางไว้โดยอาจหยิบเพียงบางช่วงบางตอนของชีวิตก็ได้
เมธัส บัวชุม
คงไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใดที่เราได้เห็นปัญญาชนสยาม ปัญญาชนสาธารณะอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปออกโทรทัศน์ของทาง ASTV “รายการรู้ทันประเทศไทย” ที่มีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการผู้หากินกับวาทกรรม “ชาวบ้าน” มายาวนาน งนี้เพราะหลายคนซึ้งแน่แก่ใจแล้วว่าบั้นปลายชีวิตของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้หลงตนนั้นโน้มเอียงไปทางเผด็จการ หรือไปทางศักดินามากเสียยิ่งกว่าจะยืนข้างชาวบ้านอย่างที่เขาพร่ำพูดถึงเสมอ
เมธัส บัวชุม
หากผมบอกว่าชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้แล้ว บางคนคงโต้แย้ง ผมจึงต้องเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ให้กว้าง ๆ ว่า ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคมการเมืองในโลกปัจจุบัน ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าความหมายและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
เมธัส บัวชุม
รถไฟไทยเป็นอย่างที่เป็นอยู่มานาน โดยแทบไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลยตั้งแต่เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพราะความเสื่อมโทรมของรถไฟให้ประโยชน์แก่คนหลายกลุ่ม รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ดังนั้นแนวคิดใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้รถไฟเปลี่ยนไปจึงถูกต่อต้านแม้จะมีผลการวิเคราะห์วิจัยรองรับอยู่จำนวนมาก