อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางบางกลุ่มที่เป็นพวก “สองไม่เอา” คือไม่เอาทั้ง “ทักษิณ” และ “ไม่เอารัฐประหาร” จนเป็นประเด็นถกเถียงน่าสนใจทางโลกไซเบอร์
นักวิชาการบางคนพยายามที่จะไปให้พ้นจาก “สองไม่เอา” โดยพูดถึง “ทางเลือกที่สาม” แต่ที่สุดก็ไม่สามารถบอกได้ว่า “ทางเลือกที่สาม” นั้นคืออะไร
การพยายามค้นหาหรือสร้าง “ทางเลือกที่สาม” มีข้อดีในแง่ที่ว่าอาจช่วยเปิดจินตนาการทางการเมืองให้กว้างขึ้นแต่ก็นั่นแหละใครจะบอกได้ว่า “ทางเลือกที่สาม” เป็นอย่างไร “ทางเลือกที่สาม” มีจริงหรือ ?
เมื่อ “ทางเลือกที่สาม” ไม่มีอยู่จริง ก็จำเป็นต้อง “เลือกเอาข้างใดข้างหนึ่ง” และการบังคับให้ต้อง “เลือกเอาข้างใดข้างหนึ่ง” ได้หวนกลับมาสร้างปัญหาอีกครั้งเมื่อต้องหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปหลังคณะรัฐประหาร “คาย” อำนาจที่สวาปามเข้าไปออกมา
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม “ทางเลือก” ในครั้งนี้มีเพียงสองทางเหมือนเดิมนั่นคือไม่พรรคพลังประชาชนก็ประชาธิปัตย์ ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบทั้งสองทางแต่ก็ต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง เป็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ไม่ได้
การกาช่องไม่ลงคะแนนเสียงให้ใครหรือประสงค์ที่จะไม่เลือกใครนั้นไม่อาจทำให้ทางเลือกสองทางนี้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล การไม่ลงคะแนนให้ใครจึงไม่ใช่ทางเลือกที่สาม
ปัญญาชนหรือคนชั้นกลางบางส่วนอาจรู้สึกพึงพอใจในตนเองที่ “เลือกที่จะไม่เลือก” หรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนเสียงให้ใคร แต่ทางเลือกหรือวิธีการกระทำเช่นนี้คือการแสร้งทำเป็นมืดบอดหรือหลอกตัวเองว่ามีอิสระ เสรีภาพมากพอที่จะเลือกตามใจตนเองเพราะผลลัพธ์ยังคงออกมาเหมือนเดิมนั่นคือมีทางแค่สองทางเท่านั้น
การมีทางเลือกเพียงสองทางเป็นกติกาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้าใจได้ง่าย ๆ นักวิชาการและชนชั้นกลางไม่ต้องกระแดะ หรือดัดจริตว่าจะมี “ทางเลือกที่สาม” ให้สำหรับคนที่ไม่พอใจตัวเลือกทั้งสองเพราะที่สุดแล้วดังที่กล่าวตอนต้นคือนักวิชาการผู้กล่าวถึง “ทางเลือกที่สาม” ก็ไม่อาจบอกได้ว่า “ทางเลือกที่สาม” คืออะไร
ดังนั้น ระหว่างทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นที่มีอยู่ ควรจะเลือกทางใดดี ?
ก่อนหน้านี้ทางเลือกคือไม่ “ทักษิณ” ก็ “รัฐประหาร” ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีตรงกลางให้ยืน
ในเวลาต่อมาหรือในปัจจุบันทางเลือกเปลี่ยนจาก “ทักษิณ” เป็น “พรรคพลังประชาชน” ส่วน “รัฐประหาร” เปลี่ยนเป็น “พรรคประชาธิปัตย์”
“ทักษิณ” หันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่คมช.ซึ่งล้มเหลวในทุก ๆ ทาง รวมทั้งองค์กรพันธมิตรและพวก “นอกระบบ” ทั้งหลายได้หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่ได้ “กินฉี่ทหาร” แต่พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็น “พวกเดียว” กับ “ทหาร” “ทหาร” ที่ทำลายประเทศ ทำลายการเมือง ทำลายเจตนารมณ์ในการ “เลือก” ของประชาชนเสียงข้างมาก
นอกจาก “ทหาร” แล้วแนวร่วมทางฟากของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมี “องค์กรเถื่อน” ที่อยู่ในที่มืดแล้วใช้ “มือสกปรก” สอดเข้ามา
ในขณะที่พรรคพลังประชาชนถูกกลั่นแกล้ง ใส่ความ อย่างหนักไม่ว่าจะเป็นจาก คมช.เรื่องเอกสารลับ หรือการสอดมือสกปรกเข้าแทรกแซงกกต.เพื่อให้โทษกับพรรคพลังประชาชนและให้คุณกับพรรคประชาธิปัตย์
เหล่านี้ล้วนทำให้พรรคพลังประชาชนเป็นตัวเลือกที่น่าเลือกกว่าพรรคประชาธิปัตย์มาก เพราะพรรคพลังประชาชนต่อสู้ตามกติกาในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นถนัดกับการ “เล่นนอกเกม” ทำลาย ”หลักการ” สร้าง “หลักกู” เพื่อหวังผลชนะสถานเดียว
อย่างไรก็ตาม ทางเลือกระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังดูดีกว่าทางเลือกระหว่าง “ทักษิณ” กับ “รัฐประหาร” เพราะ “รัฐประหาร” นั้น “เลวร้าย” กว่า “ทักษิณ” อย่างเทียบกันไม่ติดแต่ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลวงก็ยังเกลียด “รัฐประหาร” น้อยกว่า
นี่เป็นเรื่องที่น่าสมเพชของชนชั้นกลาง ส่วนชนชั้นกลางที่เป็นปัญญาชนที่ “ขายตัว” ให้กับการ ”รัฐประหาร” นั้นนับว่าน่าเห็นใจเพราะกระสันอำนาจและยศศักดิ์เสียจนหน้ามืดตามัว ลืมสิ่งที่ตนเองได้เคยพูด เคยเขียนไว้
คนชั้นกลางบางพวกอาจไม่เลือกพรรคพลังประชาชนด้วยหมกมุ่นอยู่กับความกลัว “ทักษิณ” ขึ้นสมอง แต่อย่างไรเสีย พรรคพลังประชาชนเป็นทางเลือกที่ “เลวน้อยกว่า” เมื่อเทียบกันกับพรรคประชาธิปัตย์ และคน “ส่วนใหญ่” ก็ได้เลือกให้เห็นชัดเจนแล้วในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ปัญหาของคนชั้นกลางไม่ใช่อยู่ที่การ “เลือก” แต่อยู่ที่การ “ไม่เลือก” ด้วยยึดติดกับภาพลวงตาว่ามี “ทางเลือกที่สาม” บทความนี้ขอเสนอว่าเลิกยึดติดเรื่อง “ทางเลือกที่สาม” แล้วตัดสินใจเลือกทางที่ “เลวน้อย” กว่า ซึ่งคำตอบย่อมไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์หากแต่เป็น “พลังประชาชน”