Skip to main content

-1-

ปกติแล้ว ผมจะไม่หยิบนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ขึ้นมาเปิดดูเพราะไม่คิดว่ามีคอลัมน์อะไรที่ดึงดูดใจเพียงพอ นอกจากก่อนหน้านี้ที่พลิกเปิดไปดู “เรื่องสั้น” เพื่อตรวจดูว่าเรื่องสั้นของตัวเองได้รับการพิจารณาหรือเปล่า แต่ตอนนี้ผมหมดปัญญาและพลังที่จะเขียนเรื่องสั้นแล้ว  ดังนั้นเวลาหยุดดูที่แผงหนังสือผมเพียงแต่กวาดสายตาดูนิตยสารรายสัปดาห์ยี่ห้อนี้เพียงผ่าน ๆ เท่านั้น

แต่ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ล่าสุดที่หน้าปกเป็นรูป “ธีรยุทธ  บุญมี” นักคิดวิธีสร้างข่าวให้ตนเองนั้นสะกดให้ต้องหยิบขึ้นมาเปิดดู ที่น่าสนใจไม่ใช่รูป “ธีรยุทธ  บุญมี” แต่เป็น “คำ” ที่พาดผ่านหน้าปกซึ่งเขียนว่า “ตุลาตอแหล ?”

พาดหัว “แรง” แบบนี้เป็นใครก็คงต้องสะดุดหยุดดู ผมพลิกไปอ่านโดยระทึกในดวงหทัยพลัน จึงได้ทราบว่าที่แท้แล้วคำนี้ได้มาจากบทสัมภาษณ์ของ “จรัญ ภักดีธนากุล”  ขอโทษ เขียนผิด ไม่ใช่ “จรัญ ภักดีธนากุล” แต่เป็น “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ต่างหาก (ชื่อ “จรัล” จำนวนมากที่ขยันเป็นข่าวช่างชวนให้สับสนจริง)

บทสัมภาษณ์ของ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ตีแสกหน้า “ธีรยุทธ  บุญมี” ตรง ๆ โดยไม่ต้องอ้อมค้อมให้น่ารำคาญ “จรัล  ดิษฐาอภิชัย” อ้างอิงไปถึง “ลาว คำหอม” นักคิดนักเขียนผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำอะไรที่ถอยหลังอย่างเช่นเรื่องการใช้กฎหมาย “มาตรา 7”   อันโด่งดังที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือที่เรียกว่าเป็นนายกพระราชทานและ “ธีรยุทธ  บุญมี” ก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนมาตรา 7 อย่างแข็งขัน   

พอพูดถึง “ลาว คำหอม” ก็ให้รู้สึกว่านักคิดนักเขียนที่มีความคิดทางการเมืองก้าวหน้าแบบ “ลาว  คำหอม” นั้นหายากเต็มทีในสมัยปัจจุบันซึ่งถ้าไม่หมกมุ่นกับปัญหา “ตัวบุคคล”  อย่างอดีตนายก ฯ “ทักษิณ ชินวัตร”  จนคิดอะไรไม่ออก มองอะไรไม่เห็นก็เอาการเอางานกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” “คุณธรรม จริยธรรม” “บริโภคนิยม”  “ทุนนิยมสามานย์”

ผมเคยบ่นกับบรรณาธิการใหญ่ท่านหนึ่งว่าทำไมนักเขียน (บางคน) จึงมีความคิดที่จะขับไล่อดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร แต่ขาดสติและปัญญาที่จะต่อต้านรัฐประหาร (ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่าบรรณาธิการใหญ่ท่านนั้นตอบว่าอะไร)

ที่ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” อ้าง “ลาว คำหอม” นั้นก็เพราะ “ลาว  คำหอม” เป็นบุคคลที่ “ธีรยุทธ  บุญมี” เคารพนับถือ

-2-

ผมเคยสงสัยหลายครั้งว่า “ธีรยุทธ  บุญมี”  เคยเข้าไปอยู่ใน “ป่า” จริงหรือ แน่นอนใคร ๆ ก็รู้ว่าเขาเคย “เข้าป่า” หลายปี ที่ผมสงสัยจริง ๆ ก็คือ “ป่า” ให้กำเนิดหรือตอกย้ำหรือสร้างความคิดทางการเมืองแบบใดกับกลุ่มคนที่ “เข้าป่า” (ผมเขียนถึง “เข้าป่า” นะครับ ไม่ใช่ “เข้าป๋า” ตัวเองชักจะสับสนเหมือนกัน)

แต่ละครั้ง แต่ละหนที่ “ธีรยุทธ  บุญมี”  นำเสนอความคิดสู่สาธารณะ สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงให้กับผมและเชื่อว่าหลายคนก็คงผิดหวังเหมือนกัน อันที่จริงบทบาทที่ดูดีที่สุดของ “ธีรยุทธ  บุญมี” ก็คือการเป็นจิตรกรและแปลวรรณกรรม ไม่ใช่ปัญญาชนสาธารณะขาประจำที่ออกมาสร้างข่าวด้วยการวิจารณ์รัฐบาลหรือนำเสนอความคิดแบบ “ชนชั้นนำนิยม” ครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดก็คือเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์พลังขับเคลื่อนใหม่ในสังคมไทย” ซึ่งอ่านแล้วอยากจะอาเจียน

ธีรยุทธ บุญมี  บอกว่า “กระบวนการตุลาการภิวัตน์มองอย่างกว้างที่สุดก็คือ กระบวนการที่อำนาจตุลาการปรับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตวินิจฉัยของตัวเองเพื่อให้ตัวเองปฏิบัติภาระหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของยุคสมัยได้ดี ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง”

แค่คำว่า “อัตวินิจฉัยของตัวเอง”  ก็มีปัญหาแล้วละครับ ไม่รู้มันแปลว่าอะไร แล้วประโยคนี้ยิ่งเป็นปัญหาหนัก  “ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง” ใครที่มีความรู้ในการตีความภาษาช่วยอธิบายหน่อยเถิดว่ามันมีความหมายว่าอะไร “ภารกิจของยุคสมัย” ที่ฟังดูโก้เก๋นั้นหมายถึงอะไร?

“ธีรยุทธ  บุญมี” อธิบายต่อไปว่าด้านหลัก ๆ ของตุลาการภิวัฒน์มีอะไรบ้าง มีข้อหนึ่งที่เขาบอกว่า

“การรักษาหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาคของคนกลุ่มน้อย ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี สิทธิเด็ก คนชรา การดูแลความเสมอภาคในโอกาสการทำงานของสตรี คนกลุ่มน้อย”

อ่านแล้วอยากจะอาเจียนจริง ๆ ผมอยากจะถามคนอ่านว่า คนที่มีความคิดแบบ “ชนชั้นนำนิยม” ที่ยกอภิสิทธิ์การตัดสินใจต่าง ๆ ให้อยู่ในวิจารณญาณของคนบางกลุ่มซึ่งในที่นี้คือตุลาการนั้นจะเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ? ช่างน่าสงสัยว่าความเท่าเทียมที่ “ธีรยุทธ บุญมี”  พูดถึงนั้น คงจะเป็นความเท่าเทียม “ภายในชนชั้น” คือระหว่าง “พวกไพร่ด้วยกันเอง” มากกว่าจะเป็นความเท่าเทียมระหว่างคนที่เป็นตุลาการกับคนที่เป็นชาวนาหรือกรรมกร

“ธีรยุทธ  บุญมี” ยังด้นต่อไปว่า “ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีคดีความที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ไม่มากนัก อาทิเช่น การตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปตท. ซึ่งขัดแย้งกับองค์กรผู้บริโภค การตัดสินคดียุคพรรคไทยรักไทย ในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคดีอื่นๆ อีกไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของตุลาการภิวัตน์ให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้ตุลาการภิวัตน์ได้มีบทบาทที่เป็นคุณกับประชาชนและประเทศต่อไป”

ชัดนะครับ “ธีรยุทธ บุญมี” บอกว่าการยุบพรรคไทยรักไทยเป็นตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งที่จริงเหตุการณ์นี้นำความเสื่อมมาสู่สถาบันตุลาการมากกว่าอะไรอื่น สถาบันตุลาการถูกด่าทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ประชาชนสูญศรัทธา หนำซ้ำยังทำอะไรที่ขัดกับคำตัดสินนั่นคือเลือกไทยรักไทยในคราบของพลังประชาชนกลับเข้ามาอีก

ยิ่งอ่านบทความของ “ธีรยุทธ  บุญมี” แล้วก็ยิ่งรู้สึกสลดอดสู แล้วพอได้เห็นพาดหัวของเนชั่นสุดสัปดาห์ก็รู้สึกดีขึ้นมาหน่อย แต่อยากจะแย้งเนชั่นสุดสัปดาห์ว่า

“ตุลาไม่ได้ตอแหลหรอก แต่มันเป็นปัญหาตัวของบุคคลเสียมากกว่า”
                                            


 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
มหาชนสีแดงยื่นบันไดแห่งการยุบสภาให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีนลงมาอย่างง่าย ๆ ชนิดที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แต่ไม่เป็นผลอะไร ด้วยโมหะจริต นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้ว่าจะต้องทำอะไรที่เสียเกียรติความเป็นผู้นำไปมากก็ตาม
เมธัส บัวชุม
การเคลื่อนพลของคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดินน่าตื่นตาตื่นใจและอลังการสมการรอคอย แม้ว่าการมาทางเรือจะผิดจากความคาดหวังอยู่มากก็ตาม ผมยืนรอชมขบวนเรือของคนเสื้อแดงบนสะพานกรุงธนนานกว่า 3 ชั่วโมงพร้อมกับแดงคนอื่น ๆ เต็มสะพาน โบกไม้โบกมือ ไชโยโห่ร้องกับคนเสื้อแดงที่ขับรถผ่านไปมา
เมธัส บัวชุม
แม้ผลการตัดสินคดียึดทรัพย์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่คนเสื้อแดงหลายคนยังรู้สึกเจ็บปวด บางคนถึงขั้นหลั่งน้ำตาทั้งที่เงินนั้นไม่ใช่เงินของตนเอง พวกอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อเหลืองไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าที่คนเสื้อแดงหลั่งน้ำตานั้นไม่ใช่เพราะเสียดายเงินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่ถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะรู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองทำอะไรไม่ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรมบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า
เมธัส บัวชุม
ไม่ว่าผลการตัดสินคดียึดทรัพย์ (ปล้นทรัพย์อย่างถูกกฎหมาย) ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาเป็นอย่างไร การลุกฮือของคนเสื้อแดงก็ยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เสื้อแดงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยี่หระเลยกับทรัพย์สินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรเพราะนั่นเป็นราคาที่อดีตนายก ฯ ต้องจ่ายสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลายคนจะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้นถ้าไม่จ่ายด้วยเลือดและชีวิตก็ต้องจ่ายด้วยทรัพย์สินแสนแพง
เมธัส บัวชุม
 เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ เขม็งเกลียวแน่นใกล้ถึงจุดวิกฤติ ข่าวเกี่ยวกับการทำรัฐประหารก็ลอยมาจากทางโน้นทางนี้เป็นระยะ น่าเชื่อบ้าง ไม่น่าเชื่อบ้าง ราวกับว่ารัฐประหารเป็นทางออกเดียวในการจัดการปัญหา
เมธัส บัวชุม
การเข้าครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงอย่างผิดกฏหมายขององคมนตรีคุณธรรมสูงอย่างสุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแม้แต่น้อย ไม่ใช่ข้อค้นพบที่น่าตื่นเต้น ไม่ใช่ความลับที่น้อยคนรู้ ชาวบ้านร้านตลาดในบริเวณนั้นต่างก็รู้กันเป็นอย่างดีว่าวิลล่าสวยงามบนเขายายเที่ยงนั้นเป็นของใคร
เมธัส บัวชุม
ผมค่อนข้างแปลกใจที่สังคมไทยยังไม่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ว่าที่จริงสงกรานต์เลือดเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เป็นโอกาสเหมาะไม่น้อยสำหรับการเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งอาจจะจบลงด้วยการทำลายพลังประชาชนรากหญ้าและคนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าลงอย่างย่อยยับ จนยากที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ หรืออาจเป็นไปในทางกลับกันก็ได้หากประชาชนได้รับชัยชนะคือระบอบประชาธิปไตยจะขยับไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด อำนาจของอำมาตย์จะถูกจำกัดวง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด?
เมธัส บัวชุม
-1- ฉันมีวิธีเผชิญหน้ากับอาการนอนไม่หลับด้วยการนอนลืมตาอยู่ในความมืด พยายามไม่คิดอะไร แต่ดวงความคิดของฉันก็ไหลลอยไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้ หวนรำลึกไปถึงสถานที่และผู้คนที่ฉันเคยพานพบประหนึ่งว่าฉันเพิ่งจากผู้คนและสถานที่เหล่านั้นมา
เมธัส บัวชุม
เรื่องราวในชีวิตของคนเราสามารถนำมาเขียนแต่งเป็นนิยายได้ทั้งนั้น โดยการใส่พล็อตหรือท้องเรื่องเข้าไป ตีความให้ดูน่าสนใจ แล้วเสาะหา(สร้าง)ข้อมูลเพื่อยัดลงไปในพล็อตที่วางไว้โดยอาจหยิบเพียงบางช่วงบางตอนของชีวิตก็ได้
เมธัส บัวชุม
คงไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใดที่เราได้เห็นปัญญาชนสยาม ปัญญาชนสาธารณะอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปออกโทรทัศน์ของทาง ASTV “รายการรู้ทันประเทศไทย” ที่มีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการผู้หากินกับวาทกรรม “ชาวบ้าน” มายาวนาน งนี้เพราะหลายคนซึ้งแน่แก่ใจแล้วว่าบั้นปลายชีวิตของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้หลงตนนั้นโน้มเอียงไปทางเผด็จการ หรือไปทางศักดินามากเสียยิ่งกว่าจะยืนข้างชาวบ้านอย่างที่เขาพร่ำพูดถึงเสมอ
เมธัส บัวชุม
หากผมบอกว่าชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้แล้ว บางคนคงโต้แย้ง ผมจึงต้องเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ให้กว้าง ๆ ว่า ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคมการเมืองในโลกปัจจุบัน ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าความหมายและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
เมธัส บัวชุม
รถไฟไทยเป็นอย่างที่เป็นอยู่มานาน โดยแทบไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลยตั้งแต่เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพราะความเสื่อมโทรมของรถไฟให้ประโยชน์แก่คนหลายกลุ่ม รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ดังนั้นแนวคิดใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้รถไฟเปลี่ยนไปจึงถูกต่อต้านแม้จะมีผลการวิเคราะห์วิจัยรองรับอยู่จำนวนมาก