Skip to main content

-1-

ปกติแล้ว ผมจะไม่หยิบนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ขึ้นมาเปิดดูเพราะไม่คิดว่ามีคอลัมน์อะไรที่ดึงดูดใจเพียงพอ นอกจากก่อนหน้านี้ที่พลิกเปิดไปดู “เรื่องสั้น” เพื่อตรวจดูว่าเรื่องสั้นของตัวเองได้รับการพิจารณาหรือเปล่า แต่ตอนนี้ผมหมดปัญญาและพลังที่จะเขียนเรื่องสั้นแล้ว  ดังนั้นเวลาหยุดดูที่แผงหนังสือผมเพียงแต่กวาดสายตาดูนิตยสารรายสัปดาห์ยี่ห้อนี้เพียงผ่าน ๆ เท่านั้น

แต่ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ล่าสุดที่หน้าปกเป็นรูป “ธีรยุทธ  บุญมี” นักคิดวิธีสร้างข่าวให้ตนเองนั้นสะกดให้ต้องหยิบขึ้นมาเปิดดู ที่น่าสนใจไม่ใช่รูป “ธีรยุทธ  บุญมี” แต่เป็น “คำ” ที่พาดผ่านหน้าปกซึ่งเขียนว่า “ตุลาตอแหล ?”

พาดหัว “แรง” แบบนี้เป็นใครก็คงต้องสะดุดหยุดดู ผมพลิกไปอ่านโดยระทึกในดวงหทัยพลัน จึงได้ทราบว่าที่แท้แล้วคำนี้ได้มาจากบทสัมภาษณ์ของ “จรัญ ภักดีธนากุล”  ขอโทษ เขียนผิด ไม่ใช่ “จรัญ ภักดีธนากุล” แต่เป็น “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ต่างหาก (ชื่อ “จรัล” จำนวนมากที่ขยันเป็นข่าวช่างชวนให้สับสนจริง)

บทสัมภาษณ์ของ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ตีแสกหน้า “ธีรยุทธ  บุญมี” ตรง ๆ โดยไม่ต้องอ้อมค้อมให้น่ารำคาญ “จรัล  ดิษฐาอภิชัย” อ้างอิงไปถึง “ลาว คำหอม” นักคิดนักเขียนผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำอะไรที่ถอยหลังอย่างเช่นเรื่องการใช้กฎหมาย “มาตรา 7”   อันโด่งดังที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือที่เรียกว่าเป็นนายกพระราชทานและ “ธีรยุทธ  บุญมี” ก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนมาตรา 7 อย่างแข็งขัน   

พอพูดถึง “ลาว คำหอม” ก็ให้รู้สึกว่านักคิดนักเขียนที่มีความคิดทางการเมืองก้าวหน้าแบบ “ลาว  คำหอม” นั้นหายากเต็มทีในสมัยปัจจุบันซึ่งถ้าไม่หมกมุ่นกับปัญหา “ตัวบุคคล”  อย่างอดีตนายก ฯ “ทักษิณ ชินวัตร”  จนคิดอะไรไม่ออก มองอะไรไม่เห็นก็เอาการเอางานกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” “คุณธรรม จริยธรรม” “บริโภคนิยม”  “ทุนนิยมสามานย์”

ผมเคยบ่นกับบรรณาธิการใหญ่ท่านหนึ่งว่าทำไมนักเขียน (บางคน) จึงมีความคิดที่จะขับไล่อดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร แต่ขาดสติและปัญญาที่จะต่อต้านรัฐประหาร (ผมจำไม่ได้แล้วล่ะว่าบรรณาธิการใหญ่ท่านนั้นตอบว่าอะไร)

ที่ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” อ้าง “ลาว คำหอม” นั้นก็เพราะ “ลาว  คำหอม” เป็นบุคคลที่ “ธีรยุทธ  บุญมี” เคารพนับถือ

-2-

ผมเคยสงสัยหลายครั้งว่า “ธีรยุทธ  บุญมี”  เคยเข้าไปอยู่ใน “ป่า” จริงหรือ แน่นอนใคร ๆ ก็รู้ว่าเขาเคย “เข้าป่า” หลายปี ที่ผมสงสัยจริง ๆ ก็คือ “ป่า” ให้กำเนิดหรือตอกย้ำหรือสร้างความคิดทางการเมืองแบบใดกับกลุ่มคนที่ “เข้าป่า” (ผมเขียนถึง “เข้าป่า” นะครับ ไม่ใช่ “เข้าป๋า” ตัวเองชักจะสับสนเหมือนกัน)

แต่ละครั้ง แต่ละหนที่ “ธีรยุทธ  บุญมี”  นำเสนอความคิดสู่สาธารณะ สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงให้กับผมและเชื่อว่าหลายคนก็คงผิดหวังเหมือนกัน อันที่จริงบทบาทที่ดูดีที่สุดของ “ธีรยุทธ  บุญมี” ก็คือการเป็นจิตรกรและแปลวรรณกรรม ไม่ใช่ปัญญาชนสาธารณะขาประจำที่ออกมาสร้างข่าวด้วยการวิจารณ์รัฐบาลหรือนำเสนอความคิดแบบ “ชนชั้นนำนิยม” ครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดก็คือเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์พลังขับเคลื่อนใหม่ในสังคมไทย” ซึ่งอ่านแล้วอยากจะอาเจียน

ธีรยุทธ บุญมี  บอกว่า “กระบวนการตุลาการภิวัตน์มองอย่างกว้างที่สุดก็คือ กระบวนการที่อำนาจตุลาการปรับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตวินิจฉัยของตัวเองเพื่อให้ตัวเองปฏิบัติภาระหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของยุคสมัยได้ดี ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง”

แค่คำว่า “อัตวินิจฉัยของตัวเอง”  ก็มีปัญหาแล้วละครับ ไม่รู้มันแปลว่าอะไร แล้วประโยคนี้ยิ่งเป็นปัญหาหนัก  “ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง” ใครที่มีความรู้ในการตีความภาษาช่วยอธิบายหน่อยเถิดว่ามันมีความหมายว่าอะไร “ภารกิจของยุคสมัย” ที่ฟังดูโก้เก๋นั้นหมายถึงอะไร?

“ธีรยุทธ  บุญมี” อธิบายต่อไปว่าด้านหลัก ๆ ของตุลาการภิวัฒน์มีอะไรบ้าง มีข้อหนึ่งที่เขาบอกว่า

“การรักษาหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาคของคนกลุ่มน้อย ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี สิทธิเด็ก คนชรา การดูแลความเสมอภาคในโอกาสการทำงานของสตรี คนกลุ่มน้อย”

อ่านแล้วอยากจะอาเจียนจริง ๆ ผมอยากจะถามคนอ่านว่า คนที่มีความคิดแบบ “ชนชั้นนำนิยม” ที่ยกอภิสิทธิ์การตัดสินใจต่าง ๆ ให้อยู่ในวิจารณญาณของคนบางกลุ่มซึ่งในที่นี้คือตุลาการนั้นจะเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ? ช่างน่าสงสัยว่าความเท่าเทียมที่ “ธีรยุทธ บุญมี”  พูดถึงนั้น คงจะเป็นความเท่าเทียม “ภายในชนชั้น” คือระหว่าง “พวกไพร่ด้วยกันเอง” มากกว่าจะเป็นความเท่าเทียมระหว่างคนที่เป็นตุลาการกับคนที่เป็นชาวนาหรือกรรมกร

“ธีรยุทธ  บุญมี” ยังด้นต่อไปว่า “ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีคดีความที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ไม่มากนัก อาทิเช่น การตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปตท. ซึ่งขัดแย้งกับองค์กรผู้บริโภค การตัดสินคดียุคพรรคไทยรักไทย ในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคดีอื่นๆ อีกไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของตุลาการภิวัตน์ให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้ตุลาการภิวัตน์ได้มีบทบาทที่เป็นคุณกับประชาชนและประเทศต่อไป”

ชัดนะครับ “ธีรยุทธ บุญมี” บอกว่าการยุบพรรคไทยรักไทยเป็นตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งที่จริงเหตุการณ์นี้นำความเสื่อมมาสู่สถาบันตุลาการมากกว่าอะไรอื่น สถาบันตุลาการถูกด่าทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ประชาชนสูญศรัทธา หนำซ้ำยังทำอะไรที่ขัดกับคำตัดสินนั่นคือเลือกไทยรักไทยในคราบของพลังประชาชนกลับเข้ามาอีก

ยิ่งอ่านบทความของ “ธีรยุทธ  บุญมี” แล้วก็ยิ่งรู้สึกสลดอดสู แล้วพอได้เห็นพาดหัวของเนชั่นสุดสัปดาห์ก็รู้สึกดีขึ้นมาหน่อย แต่อยากจะแย้งเนชั่นสุดสัปดาห์ว่า

“ตุลาไม่ได้ตอแหลหรอก แต่มันเป็นปัญหาตัวของบุคคลเสียมากกว่า”
                                            


 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…