Skip to main content

        ถ้าพูดถึงกลุ่มคนที่มีสิทธิเสียงอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมานั้นต้องพูดว่า กลุ่มคนชนชั้นกลางนั้นเป็นกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะออกมาแสดงออกทางการเมืองกันอย่างมากมายผ่านการชุมนุมของกลุ่ม กปปส ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปปัตย์ ที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ผ่านการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจของเหล่าบรรดาชนชั้นกลางทั้งหลายอย่างน่าสะพรึงจนทำให้ม๊อบที่เคยพยายามจะจุดให้ติดหลายครั้งแต่ไม่ติดในสมัยรัฐบาลของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นกระแสคลื่นใหญ่ที่เกือบซัดเข้าใส่จนรัฐบาลเกือบล่มกันไปเสียด้วยซ้ำ กระทั่งรัฐบาลถอนร่างนิรโทษกรรมออกไปและยุบสภา กระแสของ กปปส จึงลดตัวลงกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่มีใครสนใจจะติดตามอีกแล้วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

         แน่นอนว่า เมื่อมองไปยังกลไกของการชุมนุมนั้น กลุ่มคนชนชั้นกลางเป็นเหมือนฟันเฟื่องใหญ่ที่ขับเคลื่อนให้ม๊อบ กปปส จุดติด ด้วยการชูเรื่องการล้างผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นหลักทำให้ ประชาชนชนชั้นกลางที่เกลียดการคอร์รับชั่นทั้งหลายออกมากันมากมาย จนหลายคนบอกว่า มันเป็นกระแสที่จุดติดจนไม่น่าเชื่อว่า แม้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะออกจากประเทศได้หลายปีแล้ว ความกลัวก็ยังถูกเกาะกุมอยู่ในใจของคนชนชั้นกลางที่มองว่า เขากระทำผิดจริง ๆ และต้องการให้เขามารับโทษต่างจากคนต่างจังหวัดหรือผู้สนับสนุนเขาที่มองว่า โดนกลั่นแกล้ง เป็นคดีการเมืองที่เกิดขึ้นมากกว่า ความไม่ลงตัวนี้เองก่อเกิดความตรึงเครียดในสังคมไทยอยู่ช่วงหนึ่งเสียด้วยซ้ำ และเลยเทอญไปจนถึงขั้นการล้มการเลือกตั้ง การปฏิรูปประเทศที่หลายคนพากันส่ายหน้า เมื่อการชุมนุมนี้ชูเรื่อง ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ สภาประชาชน ฯลฯ โดยผ่านการสนับสนุนกลุ่มคนชนชั้นกลางไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ นักข่าว ข้าราชการ ทหาร ดารานักแสดง เซเล็บในวงการต่าง ๆ ที่ต่างตบเท้าออกมาสนับสนุนม๊อบนี้ ยิ่งมากไปกว่านั้นเมื่อพวกเขาพูดการโกงเลือกตั้ง การซื้อเสียง การคอร์รับชั่นในทางรังเกียจเดียจฉันท์ และมุ่งหมายจะกำจัดการโกงและคอร์รับชั่นให้หมดไปเพื่อให้ประเทศนี้เป็นประเทศที่สะอาดและเต็มไปด้วยคนดี

        จนใครหลายคนกังขาว่า มันจะทำได้อย่างไรเสียด้วยซ้ำ

         และประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ที่คนชนชั้นกลางในเมืองต่างพูดถึงนั้นคืออะไร ในเมื่อในความหมายของประชาธิปไตยจริง ๆ นั้นมีอยู่แล้ว

         พจนานุกรมแปลไทยเป็นไทยของอาจารย์เปลื้อง นคร ให้ความหมายของประชาธิปไตยเอาไว้ว่า ระบอบการปกครองที่ถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ หรือระบอบการปกครองที่ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ซึ่งคือหลักการปกครองหลักที่ประเทศส่วนใหญ่นิยมใช้กันในตอนนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีอัมบราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามของประชาธิปไตยไว้ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แน่นอนว่า สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วต้องบอกว่า ประเทศของเขานั้นเป็นประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างแท้จริงก็ว่าได้

          แม้ว่าหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยจะให้เสียงส่วนมากจะเป็นใหญ่ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่า เสียงส่วนมากจะทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะสังคมประชาธิปไตยอันแท้จริงนั้นย่อมเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิมีโอกาสตรวจสอบตัวแทนของตัวเองที่เข้าไปในสภาว่า ทำประโยชน์ให้กับประเทศมากแค่ไหนสลับกับตรวจการคอร์รับชั่นไปพร้อม ๆ กันผ่านอำนาจรัฐที่มอบหมายไว้ให้รวมทั้งสื่อเองก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบรัฐไปด้วย เรียกว่า รัฐจะเข้มแข็งได้มากเพียงใดประชาชนก็เข้มแข็งพอจะตรวจสอบรัฐได้เช่นกัน

         กระนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมากหรืออำนาจการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มันได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางจุดยืน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การมีสิทธิในชีวิตและร่างกายของตัวเองไปด้วย ซึ่งต้องบอกว่า ประชาธิปไตยคือสิ่งที่คู่ขนานกับเสรีภาพน่าจะถูกต้องกว่า

          และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเสียงส่วนมากละเมิดหลักการแห่งเสรีภาพนี้ล่ะ

           สมมติว่า เสียงส่วนมากที่เป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงรวมตัวสร้างกฎบ้า ๆ บอสักอย่างขึ้นมาเพื่อระบายอารมณ์ตัวเองใส่คนชนชั้นล่างหรือเสียงส่วนน้อยอย่างไม่เป็นธรรมขึ้นมาล่ะ

           นั่นเรียกว่าประชาธิปไตยได้จริง หรือ ?

            นี่คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสยองขวัญที่มีชื่อว่า The Purge (คืนอำมหิต) (2013) ของผู้กำกับ James DeMonaco ที่บอกเล่าเรื่องราวของโลกอนาคตอันไม่ไกลจากนี้นัก เมื่อพรรคแห่งชาติของอเมริกาได้ชนะการเลือกตั้งโดยได้รับเสียงสนับสนุนและกลุ่มคนชนชั้นกลางค่อนไปทางชนชั้นสูงอย่างท่วมท้นจนได้เป็นรัฐบาล ประกอบสภาพสังคมในตอนนั้นอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานมากขึ้นเป็นเท่าตัว  นั่นเองที่ทำให้เกิดการอาชญากรรมที่สูงขึ้นทั้งการปล้น ฆ่า ขมขื่น และอื่น ๆ อีกมากมายจนสังคมแทบจะเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ทว่านั่นเองที่ทำให้รัฐบาลโดยพรรคแห่งชาติอเมริกาได้ผ่านกฎหมายหนึ่งออกมานั่นคือ กฎหมายวันล้างบาป หรือ The Purge ที่กำหนดให้ในวันชาติอเมริกาคือวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันล้างบาป วันที่อาชญากรรมทั้งหมดไม่ผิดกฎหมายเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น การปล้น ฆ่า ข่มขืน หรืออะไรก็ตาม ถือว่า ถูกกฎหมายทั้งสิ้น และใครที่ไม่ต้องการร่วมขอให้อยู่แต่ในที่พักอาศัยจนจะถึงเวลารุ่งเช้าเท่านั้น

           หนังได้พาเรากระโจนไปจับตาดูครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงครอบครัวหนึ่งได้แก่ ครอบครัวแซนดิน ครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาธรรมดาครอบครัวหนึ่ง นำโดย เจมส์ ชายหนุ่มผู้คิดค้นระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับบ้านต่าง ๆ เพื่อใช้คุ้มครองตัวเองในคืนล้างบาป ซึ่งเจ้าเครื่องรักษาความปลอดภัยที่ว่านี่เองที่ทำให้ครอบครัวของเขามีกินมีใช้กันอย่างสุขสบาย ภายใต้บรรยากาศของหมู่บ้านอันแสนร่มรื่น ที่มีเพื่อนบ้านนิสัยดีที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและโอบอ้อมอารี เจมส์นั้นมีภรรยาอันแสนน่ารักและลูกสาวและลูกชายสองคน แน่นอนว่า ในคืนล้างบาปนี้พวกเขาเลือกที่จะอยู่ในบ้านหลังนี้ ใต้ระบบการรักษาความปลอดภัยชั้นยอดที่เขาสร้างขึ้นเพื่อรอให้ถึงเช้า ทว่าในตอนนั้นเอง ชายผิวดำคนหนึ่งได้วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนมายังบ้านหลังนี้ เพราะถูกไล่ล่าโดยกลุ่มคนสวมหน้ากากกลุ่มใหญ่ ซึ่งแซมกับครอบครัวของเขาไม่ยอมเปิดให้ เพราะไม่อยากไปยุ่งกับเรื่องนี้ ทว่า ลูกชายของเขาได้ตัดสินใจที่จะเปิดประตูรับชายคนนี้เข้ามาในบ้าน และนั่นเองคือ จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งใหญ่

           หลายคนที่นั่งชมเรื่องนี้หลายคนต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เรื่องมันจะไม่เกิดเลย ถ้าลูกชายของแซมไม่เปิดให้ชายผิวสีคนนี้เข้ามาส่งผลให้พวกหน้ากากเข้าโจมตีบ้านหลังนี้ หลายคนบอกลูกชายคนนี้ว่า มึงโลกสวยไปหน่อยไหม โดยไม่ทันได้สังเกตว่า ต้นปลายสาเหตุมันเกิดขึ้นจากอะไร

           คำตอบคือ มันไม่ได้เกิดมาจากลูกชายของเจมส์หรอกครับ

           แต่เกิดจากบรรดาชาวชนชั้นกลางค่อนไปทั้งสูงทั้งหลายที่นั่งดูหนังอยู่แล้วกร่นด่าลูกชายของแซมนั่นต่างหากครับ

            หลายคนคงช็อคตาตั้งงุนงงว่า ทำไม ผมถึงหันมาด่าคนชนชั้นกลางทั้งหลายเช่นนี้ ก็คงเพราะ หนังเรื่องมันสะท้อนให้เห็นความกลวงเปล่าของมนุษย์โดยเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นกลางทั้งหลายนั่นเอง

            และมาในแบบชนิดที่แสบสันต์ที่สุดด้วย

            จุดประสงค์ที่แท้จริงของคืนล้างบาปนี้นั้นเกิดขึ้นเพื่อกำจัดต้นตอของความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งอาชญากรรมที่เกิดในประเทศนี้นั้น พวกเขาลงความเห็นว่า ต้นตอของอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นจากสองสาเหตุ ได้แก่ คนจนหรือคนชนชั้นล่าง คนผิวสี กลุ่มคนต่างด้าว คนจน คนพิการและอื่น ๆ มากมายที่ทำให้รัฐต้องเสียเงินดูแลคนพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การให้เงินชดเชยคนตกงาน รัฐสวัสดิการต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ คนพวกนี้ไม่ได้เสียภาษีให้มากมายแบบพวกเขา ในสายตาของคนชนชั้นกลางและผู้สนับสนุนรัฐนั้นจึงไม่ต่างกับขอทานหรือกาฝากที่เป็นส่วนให้เศรษฐกิจตกต่ำ นั่นเองที่มีการบังเกิดความคิดว่า คนพวกนี้นับวันจะมีเยอะขึ้นเกินไป ถ้าลดคนพวกนี้ลงไปได้ล่ะก็ รัฐก็ต้องไม่ต้องแบกภาระตรงนี้ บวกกับอีกสาเหตุนั่นก็คือ ความเครียดของคนชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงพวกนี้ที่กำลังกังวลกับเศรษฐกิจตกต่ำและสังคมที่แหลกเหลวแบบนี้ส่งผลให้พวกเขาเกิดความกังวล ความเครียดซ่อนอยู่ในใจและอยากจะระบายมันไปในทางรุนแรง การมีวันนี้จึงนอกจากจะใช้เพื่อกำจัดชนชั้นล่างแล้วยังมีขึ้นเพื่อให้ระบายความเลวทรามต่ำช้ากับด้านมืดที่อยู่ในใจของกลุ่มคนผู้ดีมีศีลธรรมทั้งหลายไปพร้อม ๆ กันด้วย

            เรียกว่า ยิงนกครั้งเดียวได้สองตัวเลยด้วยซ้ำ

             อย่างที่บอก นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการที่รัฐต้องจ่ายในแต่ล่ะปีให้พวกคนจนเหล่านี้แล้ว ยังได้มอบความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ให้กับผู้สนับสนุนรัฐบาลไปด้วยนั่นก็คือ การสร้างโลกที่ไม่มีอาชญากรรม โลกแห่งคนดีหรือที่เรียกว่า ยูโทเปีย ขึ้นมาไปพร้อม กันโดยใช้วันล้างบาปนี้แหละที่จะทำให้ไปถึงตรงนั้น

             โดยที่เหล่าผู้สนับสนุนนโยบายนี้ต่างก็เป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์ระบอบความดีจอมปลอมพวกนี้ทั้งนั้นก็ต่างเห็นด้วยกันกับความคิดวิปริตนี้กันถ้วนหน้า เพราะคิดว่า พวกเขากำลังจะได้สร้างสรรค์สังคมที่ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีความยากจน เต็มไปด้วยรุ่งโรจน์ของชาติตามที่รัฐต้องการ โดยไม่รู้ว่า พวกนั่นเองที่สร้างรอยบาดแผลลึกเอาไว้ให้กับหลายคนจนกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันระเบิดขึ้นในสักวันหนึ่ง

              หลายคนบอกว่า The Purge นั้นค่อนข้างอ่อนด้อยในด้านการสร้างความระทึกขวัญต่างจากหนังแนวเดียวกันอย่าง You’re Next ที่ทำได้ดีกว่า กระนั้น The Purge ทำได้ดีกว่ามาในการพาเราไปสำรวจกระชากหน้ากากคนดีทั้งหลายอย่างโหดเหี้ยมเพื่อให้เห็นว่า คนชนชั้นกลางผู้แสนดีเหล่านี้นั้น ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสัตว์ป่าในชุดสูทเท่าไหร่นัก

              สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวันล้างบาปก็คือ มันคือ วันที่ให้คนได้ออกมาปลดปล่อยกระทั่งอาชญากรรมกันได้อย่างเสรียิ่ง และเหยื่อของพวกนั้นก็ไม่พ้นคนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม คนต่างด้าว คนผิวสีที่เป็นเสมือนมะเร็งในสายตาคนพวกนี้มาตลอด จึงไม่แปลกใจว่า เหล่าคนที่ล้างบาปพวกนี้นั้นต่างสวมชุดสูทและเสื้อผ้าราคาแพงหล่อเหลาสวยงาม บางคนการศึกษาดีมากจนไม่น่าเชื่อเลยว่า พวกเขาจะร่วมในพิธีล้างบาปเช่นนี้ได้ แถมยังกระทั่งการฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยมอย่างไม่รู้สึกรู้สาใด ๆ เพียงเพราะว่า คนที่ไล่ล่าแตกต่างกับพวกเขาทั้งผิวสี ฐานะ การศึกษา แค่นั้น พวกเขาก็สมควรตายในสายตาของพวกนี้ไปเสียแล้ว แน่นอนว่า หนังมันได้ตั้งคำถามว่า การที่เรายืนอยู่เฉย ๆ และมองภาพของชายคนนี้ที่จะต้องตายต่อหน้าเฉย ๆเลยไม่ช่วยอะไรนั้น

              คือ สิ่งที่คนดีควรจะทำเหรอ

              หลายคนตอบว่า ใช่ ช่างมัน ไม่เกี่ยวกับเรา ใครจะตายก็ช่างนั่นคือสิ่งที่ครอบครัวแซนดินเลือกเอาไว้แล้ว เพียงทว่าหนังมันตบหน้าเราหลายฉาดว่า บ้านหลังนี้อาจจะติดดอกไม้แสดงถึงการเคารพและยืนยันสนับสนุนกฎหมายที่ว่านี้ก็จริงอยู่ หนังได้พาเราไปเล่นว่า ครอบครัวนี้โดยเฉพาะเ จมส์ ไม่ได้เชื่อมั่นในหลักการของพรรคการเมืองหรือรัฐที่คุมอำนาจอยู่เลย เจมส์ก็เพียงแค่อาศัยจังหวะนี้กอบโกยเอาผลประโยชน์เข้าหาตัวเองให้มากที่สุดด้วยการประดิษฐ์อุปกรณ์ป้องกันภัยใหม่ล่าสุดขึ้นมาและใช้มันนี่ล่ะขายให้บ้านมีเงินทั้งหลายเข้ากระเป๋าตัวเอง จึงต้องบอกว่า เขาเป็นเพียงปลาที่ติดกระแสน้ำและไหลไปตามทางก็เท่านั้นเอง

                ความตลกร้ายของหนังก็คือ การให้เราเห็นฉากครอบครัวนี้กินข้าวด้วยกันพลางสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้าระลึกถึงความดีที่ร้ายกว่าคือ เจมส์สอนลูกชายของเขาถึงการทำความดีมาตลอดว่า จะต้องช่วยเหลือผู้ลำบาก และลูกชายของเขาที่ซึมซับเรื่องนี้และเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาควรจะทำคือ การเปิดประตูให้ชายผิวสีเข้ามาในบ้าน

              เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่พ่อของเขาสอนมาตลอดนั่นคือ การช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก

            ผมจึงอยากถามย้อนใครก็ตามที่บอกว่า ลูกชายของเจมส์ว่า โลกสวยนั้นว่า ใครกันแน่ที่โลกสวย ?

           ระหว่างเด็กชายที่มีจิตสำนึกและช่วยเหลือคนที่กำลังจะถึงตาย กับ คนชนชั้นกลางค่อนสูงทั้งหลายที่สนับสนุนกฎหมายวันล้างบาปนี้โดยเชื่อมั่นว่า สาเหตุของความตกต่ำทางเศรษฐกิจ สังคม นั้นเกิดขึ้นจากคนจนหรือด้อยโอกาสพวกนี้ และคิดว่า ถ้ากำจัดคนพวกนี้ลงไปได้บ้าง ปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลายลง

          ใครกันแน่ที่โลกสวย ?

          ความยอดเยี่ยมในการตั้งคำถามของ The Purge ก็คือ การแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราทุกคนนั้นต่างสวมหน้ากากด้วยกันแทบทั้งสิ้น เพียงแต่หน้ากากในเรื่องนี้นั้นเป็นเพียงการอุปมาอุปไมเล็ก ๆ ถึงตัวตนที่แท้จริงมนุษย์ที่ทุกคนนั้นต่างสวมหน้ากากเข้าหากันและปิดบังตัวตนที่แท้จริงตัวเองเอาไว้

          เหมือนเช่นที่โจ๊กเกอร์ในหนังเรื่อง The Dark Knight เคยกล่าวเอาไว้ว่า คนพวกนี้มันหน้าไหว้หลังหลอก เมื่อยามที่มันต้องแบ๊ทแมน พวกมันจะเรียกหา แต่เมื่อถึงเวลาที่พวกมันไม่ต้องการหรือต้องเดือดร้อน พวกนี้ก็พร้อมผลักไล่ไสสงแบ๊ทแมนให้ไปตายแทนอยู่ดี

          คำพูดที่ดูเหมือนเป็นตลกร้ายของโจ๊กเกอร์ใช้ได้ดีกับหนังเรื่องนี้ตรงที่เราได้เห็นว่า คนชนชั้นกลางในหนังสยองขวัญหลายเรื่องนั้นช่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่บัดซบมาก ๆ จนบางทีเรายังรู้สึกได้ถึงความน่าหมั่นไส้ส่วนตัวที่เกิดขึ้นในสายตาคนทำหนังหลายคนที่มองว่า ชนชั้นกลางพวกนี้ต่างหากคือ ตัวร้ายที่น่าฆ่าให้ตายยิ่งกว่าผู้ใด

          Funny Game หนังของผู้กำกับเลือดเย็นอย่าง ไมเคิ่ล ฮานาเก้ เองก็เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นภาพความหมั่นไส้ของผู้กำกับโดยส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากหนังเขาหลายเรื่องที่มักจะแสดงภาพของคนชนชั้นกลางที่แสนดีและมีภาพจำที่เป็นระบบประมาณว่า ถ้าคุณคิดถึงชนชั้นกลางล่ะก็ คุณต้องนึกภาพนี้ออก ไม่ว่าจะเป็น ภาพครอบครัวแสนสุข รถคันหรู พ่อแม่กินข้าวกันในบ้านสวย ๆ ติดทะเลสาบ มันเป็นภาพจำของคนชนชั้นกลางผู้แสนดีที่เราหรือคนดูที่มาดูหนังนั้นแอบคิดในใจว่า เมื่อไหร่ครอบครัวนี้จะถูกฆาตกรไล่ล่าซะที เนื่องจากเราไม่ได้อยากมาดูภาพครอบครัวแสนสุขเหล่านี้บนจอ เราคนดูนั้นอยากมองเห็นความพินาศ ความตาย และอื่นที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านี้ นัยยะคือ เรามันขี้อิจฉาและอยากเห็นความพินาศเป็นนิจอยู่แล้ว (ไม่งั้นจะไปดูหนังกันทำไม) แต่ถึงแบบนั้นเราก็แอบเชียร์ให้พวกตัวเองที่เราอยากให้มันเกิดเรื่องนั้นน่ะมีชีวิตรอดกลับมา และมาเชียร์ผู้ร้ายให้ตายแทน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้คนดูทั้งหลายพึ่งเชียร์ให้เอ็งไล่ฆ่าครอบครัวหรือกลุ่มวัยรุ่นพวกนั้นไม่ใช่หรือไง

          ดังนั้นนี่จึงเป็นคำยืนยันว่า ชนชั้นกลางทั้งหลายนั้นเป็นพวกปลิ้นปลอก โลกสวย ที่สรรหาความพินาศแต่ต้องการตอนจบที่สวยหรู ซึ่งเป็นอย่างที่เห็นในหนังเรื่อง The purge ที่บอกเราว่า ไอ้การสร้างสันติด้วยการฆ่าคนนั้นไม่มีทางที่จะไปถึงสันติไปได้หรอก

          ซึ่งเรื่องนี้คนชนชั้นกลางทั้งหลายก็ไม่มีใครรู้หรอกจนกว่าภัยจะมาถึงตัวนั่นแหละ

          ประดุจคำกล่าวที่ว่า คุณไม่มีวันรู้หรอกว่า กำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถ้าหากคุณไม่เจอการละเมิดสิทธินั้นด้วยตัวเองเสียก่อน

          อย่างเช่นครอบครัวแซนดินที่เอาจริงก็ไม่ใช่คนสนับสนุนกฎหมายนี้ตรง ๆ พวกเขาแค่ได้ผลประโยชน์จากกฎหมายนี้เท่านั้น และนั่นเองที่ทำให้พวกเขากลายเป็นที่เกลียดชัง จากบรรดาเพื่อนบ้านผู้แสนดีที่วางเป้าหมายในล้างบาปปีนี้เอาไว้ว่า ครอบครัวแซนดินคือ เป้าหมายของพวกเขา

          ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?

          พวกเพื่อนบ้านบอกภรรยาของเจมส์ว่า ที่เลือกครอบครัวของเธอนั้นก็เพราะ ไอ้ระบบรักษาความปลอดภัยที่สามีของเธอสร้างขึ้นนี่ล่ะที่ขูดรีดขูดเนื้อพวกเขาให้ต้องซื้อมาป้องกันตัว ในขณะที่ครอบครัวแซมดินได้รับผลประโยชน์นั้นไปด้วย พวกเธอจึงรู้สึกแค้นเคืองอย่างยิ่งมานานแล้ว เมื่อสบโอกาสที่ครอบครัวนี้ถูกโจมตีพวกเธอจึงออกมาล้างบาปด้วยตัวเอง

          เพื่อฆ่ายกโคตรครอบครัวนี้

          นั่นเองที่ทำให้เรารู้สึกขนลุกกับหน้ากากแสนดีในช่วงต้นเรื่องของพวกเธอ ใครจะคิดว่า ใบหน้ายิ้มแย้มอันเป็นมิตรของคนดี ๆ ที่ดูดีในสายตาเรานั้นจะเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกที่มองหาโอกาสที่จะฆ่าครอบครัวนี้มาตลอด เราจึงเข้าใจนัยยะของคำว่า หน้ากาก ในเรื่องนี้ออกมาได้อย่างน่าสะพรึงยิ่ง

          ประดุจคำกล่าวที่ว่า  ถ้าคุณอยากรู้ว่า เขาเป็นคนอย่างไร ให้มอบอำนาจไปสิ

          นั่นเป็นคำเปรียบเปรยที่ตบหน้าเราหลายครั้งให้เห็นว่า คนเรามันรู้หน้าก็ไม่มีรู้ใจ และที่สำคัญการศึกษา ฐานะ ผิวสี ไม่ใช่ตัวกำหนดว่า พวกเขาจะเป็นคนดีอย่างที่เราเข้าใจกันสักหน่อย

          อย่างเรื่อง You’re Next (2013) ก็เป็นหนังสยองขวัญอีกเรื่องที่หลายคนยกย่องว่า ทำได้ดีสนุกกว่า The purge หลายเท่า แต่สำหรับผมแล้วสิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ ถอดโครงสร้างของหนังสยองขวัญเดิม ๆ ออกทิ้ง โดยเฉพาะโครงเรื่องอันว่าด้วย ฆาตกรโรคจิตบุกฆ่าครอบครัวแสนสุขที่ทุกคนต้องช่วยกันสู้มาเป็นการถอดหน้ากากให้เห็นว่า บางครั้งหลายอย่างก็ไม่ใช่ที่เราเห็นเสมอไป

          เอาจริงแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตายในครอบครัวสุขสันต์แห่งนี้นั้นไม่ใช่จู่ ๆ จะมีคนมาไล่ล่าพวกเขาเฉย ๆ หรอก แต่เพราะ มันคือการวางแผนฆาตกรรมที่เกิดขึ้นผ่านการร่วมมือของคนในครอบครัวที่หวังจะฆ่าทุกคนเอาประกันจากพ่อแม่นั่นเอง

          หลายคนอ่านแล้วตกใจแน่ ๆ ว่า เฮ้ย ไงแบบนั้น ซึ่งสำหรับผมปกติมากนะ เพราะที่เรารู้ ๆ กันเสมอก็คือ มีการวางแผนฆ่าเอาประกันแบบนี้จริง ๆ และเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งน่าตกใจก็คือ การวางแผนฆ่านั้นเกิดขึ้นกับครอบครัวคนผิวขาวมีฐานะกันเยอะมากเสมือนบอกว่า ถ้าเพื่อเงินล่ะก็ต่อให้ฆ่าล้างโคตรตัวเอง พวกฉันก็ไม่สนหรอก

          นั่นทำให้เรารู้สึกขนลุกกับพฤติกรรมโฉดชั่วของเหล่าคนชนชั้นกลางแสนดีที่อุดมไปด้วยการศึกษา ฐานะ และสังคมอันมีหน้ามีตา ทว่าจิตใจของพวกเขากลับมืดดำยิ่งกว่าคนชนชั้นล่าง คนจน ที่พวกเขาดูถูกเสียอีก

          อย่างที่เรารู้ครอบครัวแซนดินรอดพ้นคืนล้างบาปมาได้อย่างสะบักสะบอมด้วยความช่วยเหลือจากชายผิวสีที่ลูกชายของพวกเขาช่วยเอาไว้นั่นเอง ทั้ง ๆ ที่เขาน่าจะใช้โอกาสนี้หนีไปด้วยซ้ำ กระนั้นชายคนนี้ก็กลับมาช่วยครอบครัวนี้สู้กับเพื่อนบ้านจอมโหดได้อย่างสะใจคนดู จนกระทั่งคืนล้างบาปได้จบสิ้นไปในช่วงตะวันรุ่งมาถึง

          แม้ว่า ครอบครัวแซนดินจะไม่ได้สังหารเพื่อนบ้านจอมโหดนี้ และปล่อยพวกเขาไปพร้อมกับความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในใจ หน้ากากที่สวมใส่ได้พังทลายลงไปในคืนเดียว จนเราได้แต่ตั้งคำถามว่า เฮ้ย ต่อไปพวกเอ็งจะอยู่กันได้ยังไง ในโลกแสนสุขกลวง ๆ ที่ว่านี้

          ภาพความเลือนลอยของครอบครัวแซมดินที่เหลืออยู่ ภาพของชายผิวสีที่เดินจากและเอาชีวิตรอดจากคืนนี้ไปได้ นั้นเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยายหรือเกิน

          ความสำเร็จของ The Purge  ทำให้มีภาคต่อตามอย่างรวดเร็วในปีนี้ต้องบอกว่า ภาคต่อของหนังเรื่องนั้นได้ทำให้เราเห็นภาพคืนล้างบาปที่กว้างขึ้นใหญ่ยิ่งกว่าเดิมและแสดงให้เราเห็นว่า บางครั้งเราอาจจะซวยเพราะสิ่งที่เราเลือกหรือสนับสนุนเอาไว้โดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้อย่างเช่น หนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ดันมารถเสียในคืนล้างบาปพอดี ส่งผลให้พวกเขาตกเป็นเป้าหมายของพวกที่ออกมาไล่ล่าอย่างช่วยไม่ได้ และนั่นเองที่ตัวอย่างของหนังได้โลกที่กว้างขึ้นว่า เกิดอะไรบ้างในคืนล้างบาปนั้น ทั้งการค้ามนุษย์ที่ทำให้นึกถึงหนังแอบด่าคนชนชั้นกลางอย่าง Hostel ขึ้นมาเหมือนกันด้วยนัยยะที่ด่าตรง ๆ ไปยังคนพวกนี้ การที่มีตัวละครที่พยายามแก้แค้นแต่ต้องมาช่วยเหลือคนที่ซวยในคืนนี้

          และที่น่าสนใจคือ เราได้เห็นว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับชนชั้นล่างที่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัยราคาแพงของเจมส์ แซมดินล่ะก็

          พวกเขาจะมีสภาพเป็นเช่นไร ?

          ไม่มีใครรู้ว่า เรื่องราวนี้จะจบลงแบบใด แต่ที่แน่ ๆ เรามองเห็นกระแสความไม่พอใจของผู้คนกระจายไปทั่ว ราวกับเป็นการคืนชีพของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเพราะการกดขี่ของบรรดาคนชนชั้นสูงในตอนนั้น ที่สร้างความเจ็บปวดให้พวกเขาจนแทบทนไม่ไหว

          และจบลงด้วยการนองเลือดและปฏิวัติในที่สุด

          ดังนั้นปลายทางของรัฐบาลในภาพยนตร์เรื่อง The Purge นั้นไม่ใช่โลกที่ไร้อาชญากรรมอย่างที่ใฝ่ฝัน แต่เป็นโลกที่ใกล้ถึงการปฏิวัติไปทุกที

          เหมือนหนังจะเตือนไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลาย คนชนชั้นกลาง มือสากปากถือศีล ทั้งหลายให้สำเนียกตัวเองว่า พวกคุณอาจจะเสียงดังกว่า มีฐานะดีกว่า การศึกษาดีกว่า ถึงกระนั้นพวกคุณก็เป็นคนเหมือนกันกับคนชนชั้นล่างที่คุณดูถูกนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นหัดเคารพในสิทธิเสรีภาพของเรากันหน่อยได้ไหม

          อย่าได้ลำพองใจและคิดว่า ตัวเองยิ่งใหญ่เหนือคณา เพราะจุดจบของสังคมที่ไม่มีความยุติธรรมอันเกิดจากการไม่เห็นคนอื่น การเหยียบชนชั้นอื่นนั้น ปลายทางของมันก็มีอยู่เพียงอันเดียวเท่านั้นเอง

          ฟังแล้วน่าขนลุกดีนะครับ

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ