“บางระจัน บางระจัน บางระจัน ไม่อาจยืนอยู่ทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง บางระจัน บางระจัน บางระจัน ไม่อาจยืนอยู่ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง”
เสียงเพลงปลุกใจจากวงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดังอย่าง คาราบาว กลายเป็นเพลงอันน่าจดจำเมื่อถูกฉายคู่กับภาพยนตร์เรื่อง บางระจัน ผลงานการกำกับของ ธนิตย์ จิตนุกูล ในปี 2543 ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นปลุกใจที่ทำเงินได้มหาศาลถึง 100 ล้านบาท แถมยังได้มีโอกาสไปฉายทั่วโลก แน่ล่ะว่า นั่นคือ จุดเริ่มต้นของบรรดาหนังชาตินิยมที่ถูกสร้างขึ้นมามากมายในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผลงานแห่งสยามประเทศอย่าง สุริโยทัย หรือ กระทั่ง ตำนานที่ไม่จบสิ้นเสียอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีการสร้างต่อเนื่องมาจนถึงภาค 6 แล้วก็ตาม แม้จะทำเงินน้อยลงไปตามลำดับแต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาตินิยมที่ขายได้เสมอในประเทศไทยแห่งนี้
แน่ล่ะว่า ยิ่งปัจจุบันนั้นมีการหยิบ บางระจัน บทประพันธ์ของไม้เมืองเดิม มาทำใหม่เป็นละครโดยสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ในตอนนี้ การมาของละครเรื่องนี้นั้นได้มาพร้อมกับวิวาทะอันน่าสนใจ เมื่อตัวละครนั้นพูดถึงชาตินิยมอันข้นคลั่กซึ่งไม่เข้ากับช่วงเวลาที่เรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเลยแม้แต่น้อย (กระนั้นผู้สร้างได้จงใจเปลี่ยนจากพม่าไปเป็นอังวะแทน) กระนั้นเองเนื้อหาสาระของละครก็ยังพูดถึงความรักชาติของชาวบ้านที่ต้องปกป้องแผ่นดิน การพูดถึงความอ่อนแอของรัฐ สถาบันไปจนถึงเรื่องราวขุนนางที่เลวร้าย หนังยังคงพูดถึงภาพเดิม ๆ ของบางระจันในตำราเรียนของเราเสมอ ๆ โดยมีเรื่องราวของตัวละครอื่นสร้างเสริมขึ้นมาเพื่ออรรถรสเท่านั้น
แน่ล่ะว่า การมาของบางระจันนั้นได้กลายเป็นวิวาทะที่น่าสนใจเมื่อบรรดานักประวัติศาสตร์ต่างให้แง่มุมถึงบางระจันในแง่ที่แตกต่างกันไป พวกเขาบอกว่า เอาจริงแล้ว บางระจันไม่ได้ปกป้องอยุธยา หรือ ชาติไทย (ซึ่งยังไม่มีกำเนิดเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ) เพียงแต่ว่า พวกเขาปกป้องบริเวณดินแดนของเขาเท่านั้น อย่างที่ อ. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้กล่าวไว้ว่า ชาวบางระจันนั้นไม่ได้ปกป้องอยุธยาเพียงแต่ปกป้องตัวของพวกเขาเอง อันเนื่องจากทัพของพม่านั้นจะเข้ามากวาดต้อนทรัพยากรในบริเวณนั้น แน่ล่ะว่า คำอธิบายนี้ไปสอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์หลายท่านที่ยืนยันว่า ความเข้าใจในเรื่องบางระจันของคนไทยนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดอันเนื่องจากบทเรียนที่ถูกสอนกันมาโดยรัฐนั่นเอง
ทว่า คำอธิบายเหล่านี้และหลักฐานที่น่าเชื่อกลับไม่ใช่สิ่งที่คนไทยบางส่วนชอบใจนัก หลายคนมองว่า การศึกษาเรื่องเล่านี้ทำลายภาพที่ถูกสร้างมาของพวกเขาหมดสิ้น บ้างก็ด่าทอโจมตีนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นกันแบบไร้เหตุผล จนหลายคนมองว่า ประวัติศาสตร์ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสียแล้ว
ทั้ง ๆ ที่เอาจริงแล้วประวัติศาสตร์นั้นเป็นเพียงข้อเขียนที่ถูกบันทึกและศึกษาสืบต่อกันมาเพื่อให้เข้าใจถึงอดีตของชาตินั้น ๆ ด้วยซ้ำ แน่ล่ะว่า เมื่อเป็นงานวิจัยนั้นย่อมหมายความว่า เมื่อมีหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อถือได้ก็ย่อมที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
เพียงแต่ว่า ประเทศของเรานั้นยังมีสภาพที่ดึงประวัติศาสตร์ไว้เป็นของสูง แตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นเครื่องมือชาตินิยมในการทำลายผู้อื่นและผู้เห็นต่างไปในที่สุด
ไม่ชอบเรื่องนี้ไม่รักชาติ หรือ กระทั่งเห็นต่างคือการไม่รักชาติเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้อย่างน่ากังขายิ่ง
แน่ล่ะว่า มันถูกโยงว่า ประวัติศาสตร์ในไทยแตะต้องไม่ได้ไปเสียนี่ ทั้งที่เอาจริงแล้วประวัติศาสตร์สามารถมองตีความในเชิงต่าง ๆ ได้เสมอ ๆ เมื่อเราเทียบกับประวัติศาสตร์ชาติอื่นที่นำมาทำให้ป๊อปและมีความเข้าถึงตัวคนมากขึ้น ไม่สิ อย่างน้อยก็ทำให้มันสามารถวิพากษ์และจับต้องได้มากกว่า
ครับผมกำลังยกตัวอย่างของประเทศที่หยิบจับประวัติศาสตร์มาเปลี่ยนวัฒนธรรมป๊อปได้อย่างยอดเยี่ยม
นั่นคือ ญี่ปุ่นครับ
อย่างที่เราทราบ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาไม่ได้หยิบประวัติศาสตร์ไว้บนหิ้ง แต่เขาปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สามารถแตะต้องได้และนำมาดัดแปลงใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ในมุมมองที่แตกต่างกันไป
แน่ล่ะว่า ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้นั้นได้มีอนิเมะที่ดัดแปลงมาจากเกมคอมพิวเตอร์ชื่อดังออกฉายอยู่ตอนนี้ และได้เป็นหนึ่งในอนิเมชั่นที่มีคนติดตามรอคอยมากที่สุดในปีนี้ครับ
เรื่องนั้นก็คือ Kantai Collection
Kantai Collection หรือเรียกกันว่า Kancole เป็นเกมออนไลน์ชื่อดังที่มาในรูปแบบการ์ดแบบแผนการรบโดยค่าย Kadokawa Game ที่ออกให้บริการมาประมาณสามสี่ปีเห็นจะได้ และแนวคิดของมันต่างจากแนวการ์ดอื่น ๆ ก็ตรงที่บรรดาการ์ดของเรานั้นคือ เรือรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นสาวน้อยโมเอะที่มีรูปลักษณ์และหน้าตาแตกต่างกันไปครับ แน่ล่ะว่า ความสนุกและการออกแบบสาว ๆ จากเรือรบนั้นเป็นที่ถูกใจของบรรดาโอตาคุเป็นอันมาก และความนิยมของมันก็โด่งดังมากจนมีคำเรียกบรรดาเกมเมอร์ทั้งหลายที่ติดเกมนี้ว่า ป่วยเรือกันไปทีเดียว นั่นยังส่งผลให้เกมนี้ถูกพัฒนาไปเป็นมังงะ โดจิน หรือ กระทั่ง ไลท์โนเวลที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเหมือนกัน และอย่างที่เห็นมันถูกดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นไปแล้ว
(ภาพจากในเกมของ Kantai Collection)
แน่ล่ะว่า เนื้อหาของฉบับอนิเมชั่นนั้นเกี่ยวข้องกับ สาวน้อยนามว่า ฟุบุกิ สาวน้อยผู้มีจิตใจของเรือรบในอดีตได้เดินทางมาประจำการในโรงเรียนกองทัพเรือที่ทำหน้าที่ต่อสู้กองเรือใต้ทะเลลึก ศัตรูของมวลมนุษยชาติที่ครอบครองทะเลแห่งนี้อยู่และผู้ที่จะเอาชนะพวกนั้นได้ก็คือ เหล่าสาวน้อยผู้มีจิตวิญญาณของเรือรบ นี่คือ เนื้อหาของอนิเมชั่นเรื่องนี้ครับ
ต้องบอกว่า เนื้อเรื่องของอนิเมชั่นเรื่องนี้นั้นเป็นไปตามขนบของอนิเมชั่นแนวสาวน้อยที่มาก่อนหน้านี้อย่าง Strike Witch ที่หยิบจับเครื่องบินและนักบินในช่วงสมัยสงครามโลกมาดัดแปลงเป็นสาวน้อยเพื่อสู้กับสัตว์ประหลาดต่างมิติที่มาบุกโลกของเราจนทำให้มนุษย์ที่ควรจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องร่วมมือกันต่อสู้กับพวกนี้แทน เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่เนื้อหาของมันหยิบจับช่วงเวลาสงครามโลกมาดัดแปลงได้อย่างแนบเนียน เปลี่ยนศัตรูจากบรรดาสัมพันธมิตรไปเป็นมนุษย์ต่างดาวแทน
และผลของมันคือ ไม่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแทน
อนิเมชั่นได้พาเราไปรู้จักกับตัวละครหลักในเรื่องได้แก่ ฟุบุกิ สาวน้อยผู้มีความฝันอยากจะเป็นเรือรบที่เก่งกาจพอที่จะอยู่เคียงข้าง รุ่นพี่อาคากิ ผู้แสนอ่อนโยนให้ได้ ทว่าตัวเธอนั้นนอกจากทฤษฏีในห้องเรียนแล้วการปฏิบัติของเธออยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างยิ่งยวด กระนั้นเธอก็ไม่ยอมแพ้และพยายามฝึกฝนตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นโดยมีบรรดาเพื่อน ๆ รุ่นพี่ของเรือรบต่าง ๆ ให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ รวมทั้งผู้การด้วยคอยดูการเติบโตของสาวน้อยคนนี้เช่นกัน
ครับ ต้องบอกว่า เป็นงานอนิเมชั่นที่ดำเนินเรื่องไปตามที่หลายคนคาดเดาได้ ทว่าสิ่งที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ถูกพูดถึงกันคือ เมื่อตอนที่ 3 ของมันได้ออกฉายและทำการจมเรือ หรือ ฆ่าตัวละครทิ้งไปต่อหน้าต่อตา
(คิราซากิตอนจมลงสู่ก้นทะเล ภาพจาก Kantai Collection Ep.3)
ตัวละครนั้นคือ คิราซากิ สาวน้อยอ่อนโยนที่ถูกยิงและจมลงไปในที่สุดตามประวัติศาสตร์เดียวกับเรือรบชื่อเดียวกันนี้เสียด้วยซ้ำ
นั่นเองที่ทำให้บรรดานักดูอนิเมชั่นทั้งหลายพากันตะลึงว่า เอาจริงเหรอกับการจมเรือโชว์แบบนี้ แน่ล่ะว่า มันได้บอกเราว่า เนื้อหาของเรื่องนี้ผูกติดกับสิ่งที่ประวัติศาสตร์นั่นเองและทำให้หลายคนพากันไปศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้นกันอย่างยิ่งยวด ว่า ต่อจากนี้อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้
เรือลำไหนจะจม จะรอด แน่ล่ะว่า Kantai มีส่วนช่วยให้บรรดาวัยรุ่นยุคใหม่หันไปศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น หลายคนที่ชมเรื่องนี้หรือเล่นเกมนี้นั้นมีความเข้าใจและเก่งกาจด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ส่วนนี้กันข้นคลั่กเลยทีเดียว แถมบางคนยังต่อยอดงานค้นคว้ากันต่อไปจนมีงานวิจัยต่าง ๆ ออกมาอีกเรียกได้ว่า การเปลี่ยนเรือรบและประวัติศาสตร์อันน่าเบื่อหน่ายกลายเป็นเรื่องน่าค้นหาและสนุกสนานของวัยรุ่นได้อย่างตรงจุดทีเดียว
(โอดะ โนบุนะ หรือ โอดะ โนบุนากะ จอมคนแห่งยุคเซ็นโกคุที่ถูกแปลงเป็นหญิงในไลท์โนเวลเรื่อง Oda nobuna no yabou)
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของญี่ปุ่นที่หยิบจับประวัติศาสตร์น่าเบื่อ หรือ สิ่งที่เข้าไม่ถึงให้ตรงจุดหมายของพวกเขา เราได้เห็นงานมังงะชื่อดังหรือโนเวลต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมากมายและมีแง่มุมตีความเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่าง ๆ กันไม่ว่าจะเป็น Light Novel เรื่อง oda nobuna no yabou หรือ จอมนางอหังการ โนบุนะ ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของ Sengoku โดยเอาโอดะ โนบุนากะให้เปลี่ยนเพศกลายเป็น สาวน้อยผมทองที่มีความฝันอยากรวบรวมแผ่นดิน เนื้อหาของเรื่องนี้นั้นพาเรากระโจนไปพร้อมกับตัวเอกหนุ่มที่กลายเป็นทหารของโนบุนะในการรวบรวมประเทศและทำให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์มากขึ้น ในเชิงการตีความที่ต่างออกไป แน่ละว่า โนเวลเรื่องนี้โด่งดังจนมีอนิเมชั่นออกมาและเนื้อหาก็ใกล้จะถึงจุดสุดท้ายไปทุกทีเช่นกัน
การแปลงเพศตัวละครเป็นมนุษย์โดยเฉพาะเพศหญิงนั้นเกิดขึ้นมากมายด้วยอุปสงค์ว่า ถ้าเปลี่ยนเพศตัวละครหญิงน่าจะทำให้คนดูที่เป็นวัยรุ่นชายเข้าถึงมากกว่า แน่ล่ะว่า นั่นเกิดขึ้นกับผลงานอย่าง Kantai Collection , Strike Witch , Girl An Panzers หรือ โนเวลอย่าง oda nobuna no yabou กระทั่งผลงานเกมชื่อดังที่กลายเป็นอนิเมชั่นชื่อก้องอย่าง Fate Stay Night เองก็เปลี่ยนเพศของกษัตริย์อาเธอร์เป็นผู้หญิงเช่นกัน ไม่รวมถึงบรรดามังงะ เกม หรืออื่น ๆ ที่หยิบจับสิ่งต่าง ๆ มาเปลี่ยนเพศให้คนเข้าถึงง่าย และแน่ล่ะว่า ผลพลอยได้ของมันนั้นก็คือ การทำให้โอตาคุหรือวัยรุ่นที่ชื่นชอบเรื่องราวเหล่านี้ได้ติดตามหรือศึกษางานจริงกันต่อไป แน่ล่ะว่า ญี่ปุ่นเองถือว่าประสบความสำเร็จในด้านนี้อย่างสูงทีเดียว
Saber จาก Fate Stay Night (การเปลี่ยนแปลงเพศตัวละครที่โด่งดังที่สุด)
เอาแค่ปรากฏการณ์ของ Kantai Collection ก็น่าจะยืนยันถึงการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้เป็นวัฒนธรรมป๊อปได้แล้ว
แต่ที่น่ายกย่องก็คือ การที่ญี่ปุ่นไม่ได้มองว่า ประวัติศาสตร์หรือบุคคลต่าง ๆ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เพราะหากมองกันจริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์นั้นเป็นเพียงวรรณกรรมที่ถูกเขียนขึ้นอย่างหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นจึงสามารถเปลี่ยนถกได้อย่างอิสระ
โดยไม่ต้องกังวลว่า ใครจะมาชี้หน้าบอกไม่รักชาติ หรือ กำลังลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เลย
หลายคนที่อ่านบทความนี้เชื่อว่า หลายคนต่างรู้จักสามก๊กจากเกม Dynasty Warrior หรือรู้จักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจากเกมอย่าง Samurai Warriror หรือ Basara กระทั่งเกมวางแผนรบก็ตาม หรือรู้จักตำนานของกษัตริย์อาเธอร์และบรรดาวีรชนที่มีชื่อเสียงจาก Fate Stay Night เป็นแน่แท้ คงต้องพูดว่า นี่คือผลพลอยได้ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งจับต้องได้และสามารถเพิ่มมูลค่าของมันในเชิงเศรษฐกิจและรวมไปถึงการประพันธ์งานในมุมมองต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เราจึงไม่เห็นภาพคนญี่ปุ่นประท้วงบริษัทเกมที่เอา โอดะ โนบุนากะมาเป็น สาวน้อย หรือ กระทั่งการเปลี่ยนเรือยามาโต้ให้กลายเป็นสาวน้อยในเกม ลองคิดสิครับว่า เป็นประเทศเรามาทำแบบนี้คงมีสภาพถูกประณามโจมตีจากผู้คนและอาจจะถึงขั้นต้องออกนอกประเทศกันเลยด้วยซ้ำ
ทั้งที่เอาจริงแล้วการปลูกฝังโดยใช้วัฒนธรรมป๊อปนั้นเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาตลอดได้อย่างแนบเนียน และเข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ เรือรบในตำนานอย่าง ยามาโต้ที่จมไปในช่วงสงครามโลกให้กลายเป็นเรือรบกู้โลกในอนิเมชั่นเรื่อง space battleship yamato 2199 ที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายคนกู้โลกขึ้นมา และยามาโต้กลายเป็นหนึ่งในอนิเมชั่นระดับตำนานที่ไม่ว่าจะสร้างกี่ครั้งก็ได้รับความนิยมมาโดยตลอด รวมทั้งบรรดาสินค้าทั้งหลายเองก็ได้รับความนิยมตลอด แถมยามาโต้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของญี่ปุ่นไปแล้ว เมื่อพูดถึงเรือที่เสมือนจิตวิญญาณของชาวอาทิตย์อุทัยนี้ ยามาโต้จึงปรากฏทั้งในภาพยนตร์ มังงะ ซีรีย์ จนกระทั่งแนวต่อสู้กับสัตว์ประหลาดยังมีเช่นกัน
นั่นคือสิ่งที่งานเหล่านี้แฝงลงไปอย่างไม่ขัดเขินในงานเหล่านี้จนดูไม่ยัดเหยียด ขณะเดียวกันคนดูก็สามารถเข้าถึงงานเหล่านี้และเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของชาติได้ไปพร้อม ๆ กัน
ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ในการเปิดความคิดเห็นของเยาวชนและมุมมองต่าง ๆ ได้กว้างไกลขึ้น ซึ่งในสังคมสมัยใหม่นั้นการเปิดกว้างความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ใช่ปิดกั่นบังคับให้ยอมรับสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีการตั้งคำถามใด ๆ ไป
วัฒนธรรมของการพูดจาและถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลและเปิดกว้าง คือ สิ่งที่ประเทศของเรายังขาดไป และไม่อาจจะเป็นแบบต่างประเทศได้
จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ความเป็นชาติรวมทั้งประวัติศาสตร์ของบางระจัน ท้าวสุรนารี พันท้ายนรสิงห์ หรือประวัติศาสตร์อื่น ๆ จะอยู่ในสภาพสูงส่งจนแตะต้องไม่ได้และไม่มีสิทธิตั้งคำถามใด ๆ จนถึงทุกวันนี้
ทั้ง ๆ ที่หากมีการพูดกันอย่างมีหลักฐาน เรื่องราวเล่านี้มีคุณค่ามากกว่าการกราบไหว้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าไม่ใช่หรือ
นั่นคือสิ่งที่เราคงต้องจับตาดูกันไปว่า ประวัติศาสตร์ของเราจะทำเป็นวัฒนธรรมป๊อปได้แบบประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เรามีพื้นที่ถกเถียงความคิดกันได้หรือยังต่างหาก
(ฟุบุกิ ตัวเอกของเรื่องที่จะมองเรื่องราวสงครามนี้ไปพร้อมกับคนดู (ที่เป็นผู้การ) และเรียนรู้กับเติบโตไปพร้อม ๆ กัน โชคชะตาของเธอจะเป็นเช่นไร)
เมื่อเราสามารถยอมรับการถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล ประวัติศาสตร์จะเป็นแสงสว่างที่นำทางเราไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายแบบในอดีต กระทั่งเป็นอุทาหรณ์สอนใจเราได้ในอนาคต
เหมือนเช่นที่เหล่าสาวน้อยใน Kantai นั้นแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและภาพของความเจ็บปวดในช่วงสงครามโลกที่เกิดขึ้นจากการฆ่าฟันกันของมนุษย์เอง
การล่มของคิราซากินั้นตอกย้ำให้เห็นถึงความโหดร้ายที่ซุกซ่อนอยู่และให้เราตระหนักถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้น ๆ ว่า
อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก
ประวัติศาสตร์จึงควรเป็นแสงสว่างมิใช่ความมืดมิดดั่งที่คนเข้าใจกัน
และหวังว่า เราจะตระหนักถึงมันด้วยเหมือนกัน
+++++++++++++++
ป.ล. ไม่ได้เขียนนานเพราะติดภารกิจส่วนตัว แต่จะพยายามอัพบทความเรื่อย ๆ นะครับ ใครรอผมเขียนอยู่ก็รออ่านกันได้ทุกอาทิตย์เช่นเคยครับผม