Skip to main content

คงไม่มีอะไรต้องพูดมากนอกจากนี่คือ ภาพยนตร์ซอมบี้ที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และที่สำคัญนี่ไม่ใช่หนังที่สร้างโดยฮอลลีวู้ดแต่เป็นเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเอเชียที่เรียกว่าเป็นเบอร์หนึ่งไปแล้วในด้านคุณภาพของหนังที่นอกจากฮอลลีวู้ดแล้วมีเพียงประเทศนี้ที่ทำหนังออกมาได้สากลและสนุกในแบบที่ทุกคนต้องรู้จัก ซึ่งคราวนี้พวกเขากลับมาในฐานะของหนังซอมบี้บ้าง

                แน่นอนว่า นี่คือ หนังซอมบี้ที่ถูกสร้างขึ้นตามขนมของหนังซอมบี้ในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่รวดเร็วปานจรวด ซอมบี้วิ่งและกระหายเลือด การสร้างตัวละครที่ถูกเซ็ตให้เป็นตัวละครที่คนดูต้องชอบและเชียร์ กับตัวละครที่คนต้องเกลียด และดราม่าของตัวละครที่มีต่อกันและกัน แน่ล่ะว่า นี่ไม่ใช่ของใหม่เลย เพราะ ถ้าเป็นซอมบี้จะรู้ว่า นี่คือ หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่รู้จะกี่ครั้งแล้วนั่นเอง

                พูดก็คือ นี่หนังซอมบี้ที่นำขนบธรรมเนียมของซอมบี้ในยุคโรเมโร่มาทำใหม่อีกครั้ง ถึงแม้ว่า นับจากเวลาที่โรเมโร่ทำหนังเรื่องแรกอย่าง Night of living Dead ในปี 1968 ก็ผ่านไปกว่า 40 กว่าปีแล้ว แต่สิ่งที่โรเมโร่นำเสนอในหนังของเขายังไม่เคยล้าสมัยไปด้วยซ้ำ

                มันยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาราวกับเทปที่เล่าย้อนกลับ แถมยังเป็นเทปที่รุนแรงและเลือดโฉกยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

                ผมจะพาทุกท่านไปพบกับมรดกของโรเมโร่ในหนังซอมบี้สัญชาติเกาหลีเรื่องนี้ครับ


1. ซอมบี้ ตัวแทนบริโภคนิยม และ ทุนนิยม

                ตั้งแต่เริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกอย่าง Night of Living Dead นั้น จอร์จ โรเมโร่ไม่เคยมองซอมบี้เป็นตัวแทนของสิ่งอื่นนอกเสียจากพวกมัน หรือ สิ่งที่ไม่ใช่พวกเรา หากจะมองย้อนไปในช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามกำลังปะทุ ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ความหวาดกลัวต่อคนอื่นเริ่มแพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนหวาดระแวงกลัวจะเป็นพวกมันไปหมดนี่คือสิ่งที่โรเมโร่สะท้อนมาในหนังของเขาในตอนนั้น จากนั้นซอมบี้ก็พัฒนามาเป็นตัวแทนของทุนนิยมและบริโภคนิยมในเรื่อง Dawn of the dead ที่เขาให้เห็นว่า แม้คนจะตายไปแล้วก็ยังมาเดินห้างอยู่ดี

                โรเมโร่กล่าวไว้ว่า ห้างสรรพสินค้าคือ ตัวแทนลัทธิบริโภคนิยมชั้นดีที่เขาให้ตัวเอกมาหลบที่นี่เพราะ ที่นี่มีทุกอย่าง ในขณะที่ซอมบี้เองก็มาที่นี่เพราะ สำนึกของพวกมันเคยมาเดิน ซื้อของและจับจ่ายที่นี่ แม้ตายไปแล้วก็ยังมีความคิดแบบนั้นอยู่ดี

                ดังนั้นหากมองว่า การกินของซอมบี้นั้นคือ ตัวแทนที่บอกว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการกินสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ใยดีและแยแสทั้งนั้น เราพร้อมจะครอบครองทุกอย่างชนิดไม่สนใจสิ่งใด ด้วยเหตุผลว่า เราต้องได้มันมาให้ได้ ไม่ต่างกับฝูงซอมบี้ที่ต้องการกินเนื้อมนุษย์ด้วยซ้ำไป

                แน่ละว่า ยิ่งเวลานานไปเข้า ซอมบี้ที่เดินเช้ามีสภาพไร้จิตวิญญาณก็ค่อย ๆ พัฒนาเข้าสู่ซอมบี้วิ่ง 4X100 ที่ดุร้ายขึ้นกว่าเดิม ยิ่งในเรื่อง Train to Busan แล้ว ซอมบี้พวกนี้วิ่งเร็วเป็นจรวดด้วยซ้ำไป

                แน่นอนว่า หากย้อนไปในช่วงปี 2002 นั้น หนังซอมบี้จากอังกฤษอย่าง 28 days Later เป็นหนังซอมบี้เรื่องแรกที่ให้ซอมบี้วิ่งเร็วไม่เหมือนซอมบี้ยุคก่อนที่เดินช้าและดูเซื่องซึม ซึ่งตัวแดนนี่ บอยส์ บอกว่า ที่ให้ซอมบี้ในหนังของเขาวิ่งได้นั้นเป็นเพราะ พวกมันเป็นคนติดเชื้อไม่ใช่ซอมบี้ กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า จาก 28 days later เป็นต้นมากระแสซอมบี้สายพันธุ์วิ่งก็เกิดขึ้นไปทั่วจนเป็นภาพลักษณ์หนึ่งของซอมบี้ยุคใหม่ไปแล้ว

                ทำให้ซอมบี้สายพันธุ์เดิมเริ่มหาได้ยากขึ้นไปทุกที

                เอาจริงแล้วโรเมโร่ไม่ค่อยปลื้มกับการเปลี่ยนแปลงของซอมบี้ในยุคนี้สักเท่าไหร่นัก เขามองมาตลอดว่า ซอมบี้เดินช้าเพราะ พวกมันตายไปแล้วนั่นเอง

                แต่เอาจริงแล้วนัยยะของซอมบี้ในยุคนี้คือ ภาพสะท้อนของระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่รุนแรงมากขึ้นกว่ายุคแรกหลายเท่า ภาพของผู้คนที่วิ่งกันไคว้คว้าไล่ล่าเหยื่ออย่างบ้าคลั่ง มันสะท้อนถึงภาพบริโภคนิยมที่กลืนกินเราจนแทบกลายเป็นสัตว์ป่า เราอยากจะกิน อยากจะได้ โดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ยิ่งภาพการติดเชื้อต่อ ๆ กันนั้นยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนสามารถตกเป็นทาสของทุนนิยมหรือบริโภคได้อย่างง่ายดาย เหมือนเชื้อโรคที่แพร่จากการกัดเพียงครั้งเดียวก็ทำให้พวกคุณกลายเป็นแบบนั้นไม่ต่างกัน

                แน่นอนว่า ซอมบี้ในเทรนทูปูซานก็เช่นกัน มันสะท้อนภาพทุนนิยมที่กลืนกินเกาหลีใต้จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นคนอีกเลย เราเห็นภาพการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงการเอาตัวรอดของผู้คนในเรื่องอย่างชัดเจน ซึ่งนั้นแหละคือ ทุนนิยม ภาพของคนที่ต้องหาทางเอาตัวรอด ถีบหัวส่งคนอื่นอย่างไม่สนใจอะไร นั่นคือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความน่าสะพรึงของทุนนิยมที่กลืนกินผู้คนอย่างบ้าคลั่ง เรารู้ดีว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ซอมบี้คือ มนุษย์ที่ต้องแหวกว่ายหาทางรอดในระบบทุนนิยม หากคุณไม่พร้อม มันจะกินคุณจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์อีกเลย

                ฉากที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือ ฉากที่พวกพระเอกหนีรอดมาจนถึงอีกโบกี้ได้ และถูกขับไล่ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพสองอย่างคือ นัยยะด้านการเมือง และ การพูดถึงระบบทุนที่พร้อมผลักไสผู้คนที่ไม่เห็นด้วยให้ออกไปจากสังคม นัยยะคือ ทุนนิยมมันโหดร้ายพอที่จะผลักคนที่อ่อนแอกว่ากำลังน้อยกว่าให้ออกไป ซึ่งมันวิพากษ์ถึงสังคมเกาหลีที่นับวันจะอยู่ในสภาพพังทลายไปทุกนาที หากเราตั้งคำถามส่วนตรงนี้ เราจะพบว่า มนุษย์ในทุนนิยมเกาหลีเรื่องนี้ช่างน่ากลัวยิ่งกว่าซอมบี้ซะอีก

                ซอมบี้คือ ซากดิบ อาจจะหมายถึงมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ลืมเลือนจิตใจความเป็นคน วิ่งหาเพียงประโยชน์ของตนอย่างเดียวโดยไม่สนใจที่จะช่วยใคร ซึ่งหากมองว่า มนุษย์ในเรื่องนี้เป็นซอมบี้มาตั้งแต่ต้น ก็มีเพียง ลูกสาวของพระเอกที่เหมือนจะลำบากใจกับการรักษาความดี ความเป็นมนุษย์ของตัวเองเอาไว้ในสภาพสังคมที่แตกสลายที่น่าจะเป็นคน ในขณะที่ตัวละครอื่น ๆ นั้นมีสภาพเป็นซากมนุษย์ที่ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง

2. การเมืองเรื่องซอมบี้

                หนังซอมบี้ถูกใช้เป็นงานวิพากษ์วิจารณ์รัฐมานานแสนนาน ตั้งแต่ครั้งที่โรเมโร่ทำหนังเรื่อง Night of Living Dead แล้วด้วยซ้ำ โรเมโร่ให้เราได้พบกับความวุ่นวายในการหาความจริงว่า เหตุการณ์ผีดิบคืนชีพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เขาพาเราไปเห็นข้อถกเถียงของบรรดานักวิทยาศาสตร์ในจอที่สุดแล้วก็ไม่มีใครอธิบายได้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ซ้ำแล้ว หนังตีซ้ำใส่คนดูว่า รัฐไม่เคยคิดช่วยแก้ปัญหาให้ใครทั้งนั้น พวกเขาทำได้แค่บอกว่า กำลังจะช่วย ทั้งที่บ่อยครั้งพวกเขานี่แหละสร้างปัญหาขึ้นมาเสียเอง

                ในหนังเรื่อง The Return of Living dead ของ แดน โอแบนนอน ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายเรื่องเดียวกันนี้ก็พูดถึงว่า เหตุการณ์ซอมบี้ใน Night นั้นเกิดขึ้นจากสารเคมีของรัฐบาลที่ทิ้งเอาไว้ทำให้บรรดาผีดิบคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง นี่ยังไม่รวมบรรดาหนังซอมบี้ทั้งหลายที่บอกเราพร้อมกันว่า

                รัฐบาลนี่แหละที่เชื่อใจไม่ได้

                เทรนทูปูซานก็เช่นกัน

                หนังฉายให้เราเห็นภาพของรัฐบาลที่ออกมาพูดพรำบอกให้ประชาชนฟังข่าวสารของตัวเอง และ อย่าตื่นตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น แถมยังโกหกหน้าด้าน ๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ใช่ซอมบี้ตามที่ข่าวว่ากัน หนังยังตลกใส่ที่คนในรถไฟดูคลิปในยูทุปเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัฐทำไปพร้อมกันเพื่อให้เราเห็นว่า รัฐไม่เคยบอกความจริง ไม่สิ เขาไม่คิดจะพูดอะไรทั้งนั้น

                เพราะสิ่งที่เราก็คือ พวกเขามีเอี่ยวสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยนั่นเอง

                แน่ล่ะว่า หนังให้เรารู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นจากสารเคมีที่ปนเปื้อนเข้าไปในน้ำนั่นเอง

                ตรงนี้นั้นทำให้พอนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของเกาหลีใต้ที่มีข่าวว่า มีสารเคมีปนเปื้อนลงในแม่น้ำภายในกรุงโซลส่งผลให้มีปลาตายเป็นจำนวนมากและทำให้น้ำเป็นพิษไปชั่วขณะหนึ่งด้วยซ้ำ

                เหตุการณ์นี้สร้างความเจ็บปวดให้คนเกาหลีใต้อย่างมากที่รัฐบาลปกปิดเรื่องนี้เอาไว้แถมยังร่วมมือกับอเมริกาในการทดลองสารเคมีพวกนี้อีกต่างหาก ไม่แปลกที่นี่คือ หนึ่งในเหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้มีบรรดาผู้กำกับหลายคนหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดถึง

                The Host (อสูรกายพันธุ์) คือ หนังเรื่องแรกที่เล่าปัญหานี้อย่างจริงจังด้วยการแทนภาพหายนะที่เกิดขึ้นจากทิ้งสารเคมีนั้นลงน้ำ และสารเคมีที่ว่านั้นดันไปทำปฏิกิริยากับลูกอ็อดตัวหนึ่งให้มันผ่าเหล่ากลายเป็นสัตว์ประหลาดกินคนที่นำความชิบหายมาสู่ครอบครัวหาเช้ากินค่ำเข้าพอดี

                หรือหนังอย่าง Deranged ในปี 2012 ก็เป็นอีกเรื่องหยิบยกเหตุการณ์นี้มาใช้โดยเล่าเรื่องของปรสิตประหลาดที่เกิดขึ้นจากสารเคมีที่ทิ้งลงในแม่น้ำนี้ ปรสิตตัวนี้เมื่อเข้าไปในร่างของใคร มันจะเข้าควบคุมสมองแล้วพาไปฆ่าตัวตายในแม่น้ำนี้จนศพลอยไปทั่วอย่างน่าสยดสยอง

                สองภาพยนตร์ที่ว่านี้เป็นเสมือนภาคต่อทางจิตวิญญาณที่หยิบยกเหตุการณ์ทิ้งสารเคมีลงน้ำนี้มาพูดถึงเช่นกันว่า รัฐบาลของเกาหลีใต้นั้นไว้ใจไม่ได้ เพราะ พวกเขาไม่เคยมีความจริงใจกับประชาชนเลยสักนิด เอาแค่จะบอกความจริงก็ไม่ยอมบอกแถมโกหกหน้าด้าน ๆ พวกเขาไม่เคยเปิดเผยเงินภาษีที่ได้มาจากประชาชนนับแสนล้านวอนนั้นหายไปไหน พวกเขาเอาไปทำอะไรกันหมด ที่สำคัญประชาชนตัวเล็ก ๆ ตาดำ ๆ แทบไม่มีสิทธิไปรู้เลยด้วยซ้ำว่า พวกเขาเอามันไปทำอะไร เพราะ กว่าจะรู้ พวกประชาชนนี่แหละที่เจอผลกระทบนี้ก่อนใครเสมอ

                ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม นี่คือภาพสะท้อนความไม่เชื่อมั่นในรัฐของคนเกาหลีที่มองว่า รัฐบาลไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

                พวกเขาเป็นแค่ตัวเรือดที่สูบเลือดสูบเนื้อประชาชนก็แค่นั้น

                และที่สำคัญพวกเขาไม่มีใครตายเพราะ เหตุการณ์สยองนี้เลยสักคน

                แค่นี้คงพอทำให้เราเห็นแล้วว่า รัฐในหนังนั้นโหดร้ายเพียงใด พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะกำจัดคนเห็นต่าง คนที่ทำให้สถานะของรัฐพวกเขาสั่นคลอน พวกเขาพร้อมจะตัดทุกอย่างทิ้งไปแบบไม่ใยดีโดยอ้างคำว่า เพื่อความสงบ

                ดังนั้นเพื่อความสงบของพวกเขา

                พวกเขาไม่จำเป็นต้องพูดความจริงใด ๆ ด้วยนั่นเอง

                จึงไม่แปลกในตอนจบของเรื่องที่พวกเขาพร้อมใช้กระสุนปืนยิงคนทันทีทั้งที่ไม่รู้ว่า เป็นซอมบี้หรือไม่ แต่รัฐกลับสั่งลงมาให้สังหารได้เลยอย่างเลือดเย็น

                แค่นั้นก็คงพอแล้วที่หนังซอมบี้นั้นรัฐจะไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นตัวปัญหาที่ตัวเอกต้องหาทางรอดเอาเองเสมอมา

                คุณไม่มีสิทธิตั้งคำถามกับรัฐ เพราะ รัฐต้องการให้คุณเชื่อโดยไม่สงสัยอะไรเลยต่างหาก

 3. ครอบครัวและระบบทดสอบศีลธรรม

                ซอมบี้เป็นงานที่ใช้วิพากษ์ระบบครอบครัวกันอยู่แล้ว ซึ่งพอมาอยู่ในระบบสังคมของเกาหลีใต้นั้น มันให้เราเห็นถึงภาพการล่มสลายของครอบครัวในประเทศนี้ได้อย่างชัด

                พระเอกของเรื่องเป็นนักธุรกิจที่มีปัญหาระหองระแหงกับภรรยาจนต้องเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว ในบ้านกับแม่ของเขา ซึ่งหนังให้เราเห็นว่า เขาเป็นพ่อที่แย่แค่ไหน แค่จำวันเกิดลูกยังจำไม่ได้ แถมยังไม่รู้เลยว่า ลูกต้องการอะไร เขาเป็นผู้ชายที่มีสภาพแบบหัวหน้าครอบครัวทั่วไปคือ รู้แต่หาเงินไม่รู้จักใจคนในบ้าน เขาไม่รู้เลยว่า ทำไมลูกของเขาถึงหยุดร้องเพลง เขาไม่รู้อะไรในฐานะพ่อเลยสักอย่าง แถมยังแสดงให้เห็นภาพคนเห็นแก่ตัวให้ลูกเห็นแทบทุกครั้งไปจนเธอหมดหวังกับพ่อไปหลายรอบ

                จะว่าไงดี มันคือ ภาพสะท้อนของทุนนิยมที่บัดนี้เข้าถึงในตัวบ้านแล้วยิ่งวิกฤตซอมบี้เกิดขึ้นมาเพียงใด มันยิ่งพาให้เราไปไกลในการตั้งคำถามกับสถาบันครอบครัว คุณค่าศีลธรรมของผู้คนในสังคมที่มันพังทลาย

                หนังมันบอกเราในวิกฤตหายนะ มนุษย์พร้อมจะโยนทิ้งศีลธรรมออกไปเพื่อเอาตัวรอดเสมอ

                เหมือนที่พระเอกเอาสันดานของเขามาสอนลูกให้เห็นแก่ตัว ทั้งที่ลูกสาวของเขายึดมั่นใจสิ่งที่เขาพร่ำสอนมาตลอดอย่างการเชื่อมั่นในความดีด้วยซ้ำ แต่เขากลับบอกให้มันทิ้งไป

                แน่ล่ะว่า มันตั้งคำถามว่า แล้วเราจะสอนเรื่องความดีไปทำไมในเมื่อถึงเวลาไม่มีใครเชื่อในความดีเลยสักคน

                อารมณ์เดียวกับเรื่อง The Purge ที่ครอบครัวแซนดินพร่ำสอนลูกเรื่องการทำความดี แต่พวกเขากลับคิดจะปล่อยให้คนตายทั้งที่ไม่สนใจด้วยซ้ำ เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันพาเราไปตั้งคำถามของระบบศีลธรรมในใจตัวละคร และในใจคนดูว่า คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

                ร้อยทั้งร้อยมองว่า ถ้าเป็นกูก็จะทำแบบนั้น ถ้ามือสาวได้ก็ต้องหาทางเอาตัวรอด บางคนกร่นด่าเด็กน้อยที่ใจดีในสถานการณ์แบบนั้น มันยิ่งเป็นตัวสะท้อนรับศีลธรรมของหนังได้อย่างดี หากจะบอกว่า มันคือ หนังที่พาเราไปถามว่า เราเป็นคนแบบไหนได้ชัดเจนมากกว่า

                อีเด็กโลกสวย คือ สิ่งที่หลายคนพูดถึงเด็กสาวในเรื่องในฐานะตัวละครที่มีความดีมากเกินไป ไม่สิ เขายึดมั่นในความดีมากไปในสายตาของคนดูต่างหาก ซึ่งนี่ไม่แปลกที่หลายคนจะส่ายหน้ากับพฤติกรรมของเธออย่างใยดีใด ๆ และอยากความตายของเธอเสียด้วยซ้ำ

                กระนั้นเองหนังเรื่องนี้ก็ตลบตะแลงให้เราเข้าข้างเด็กสาวคนนี้ไปพร้อม ๆ กับให้เห็นว่า วิกฤตไวรัสครั้งนี้คือ การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ผู้ฉ้อฉลและไร้ศีลธรรมต่างหาก

                เพราะสุดท้ายผู้ที่รอดชีวิตคือ ตัวละครที่มีสถานะบริสุทธิ์นั่นคือ เด็กสาว และ หญิงท้องที่มีนัยยะสะท้อนการกำเนิดเกิดโลกใหม่ขึ้นมานั่นเอง

4. อารมณ์ความสิ้นหวังของมนุษย์

                ปัญหาเดียวที่หนังเรื่องนี้มีระดับกราฟที่ไม่สุดทางนั้นคือ ตอนจบของหนัง

                ตอนจบของหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า คนทำใจดีเกินไปและมองโลกในเชิงอุดมคติเกินไปทั้งที่ตัวหนังมีปัจจัยที่ทำให้หนังมันจบดาร์กและให้เราสิ้นหวังกับโลกได้ด้วยซ้ำ

                แน่นอนว่า เอาจริงหนังมันทำให้นึกถึงเรื่องหนังอย่าง The Mist ที่จบลงด้วยความย่อยยับของการศรัทธาในความดี หรือ หนังอย่าง Night of Living Dead ก็เลือกจบด้วยโศกนาฏกรรมเช่นกัน ซึ่งทำให้คนพูดถึงมันในการพาคนเราไปตั้งคำถามว่า

                ในโศกนาฏกรรมนี้ไม่มีใครเหลือความดีอีกแล้ว การที่หนังเลือกจบด้วยการให้ความหวังมันทำให้หลายคนรู้สึกว่า กูดูมาเพื่ออะไรเหมือนกัน เพราะ สุดท้ายเรารู้ดีว่า เรื่องจริงมันไม่ได้สวยงามแบบในภาพยนตร์หรอก

                โรเมโร่เคยให้คนยิงเบน ตัวเอกที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวในเรื่องจนตาย เพราะคิดว่า เป็นซอมบี้ และพวกเขาไม่สนใจว่า เขายิงผิดตัว เพราะสุดท้าย เบนถูกจับไปเผารวมกับซอมบี้ตัวอื่น ๆ หรือ The Mist ที่จบด้วยที่พระเอกยิงทุกคนในรถตาย แต่ตัวเองกลับรอดชีวิตในช่วงเวลาที่หมอกสลายไปแล้ว

                มีคนบอกว่า หากหนังเลือกจบด้วยฉากสุดโศกนากฎกรรมนั้นจริง เราคงได้เห็นการวิพากษ์เรื่องของรัฐมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

                สรุปรวมแล้ว เทรน ทู ปูซาน คือ หนังซอมบี้เกาหลีใต้ที่หยิบสิ่งที่จอร์จ เอ โรเมโร่ บิดาแห่งราชาซอมบี้ทำทิ้งเอาไว้ทั้งหมด มันจึงไม่แปลกใหม่อะไรอีกแล้วบนจอ เพียงแต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องคือ การเอาประเด็นเหล่านี้มาใช้อย่างร่วมสมัยต่างหาก

                ก็แปลกหรอกว่าที่หนังซอมบี้จะไม่มีวันตายไปจากจอภาพยนตร์อีกแล้ว เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังอยู่ในสังคม ยังต้องกินต้องใช้ ต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของสังคมและเศรษฐกิจและรัฐบาลแบบนี้

                หนังซอมบี้ก็พร้อมจะลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้อย่างเสมอ

+++++++++++++

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
   (บทความตอนนี้จะเป็นเรื่องเบาๆเพื่อให้เตรียมตัวกันให้พร้อมก่อนชมภาพยนตร์เรื่อง Prometheus)
Mister American
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับป๋าไมเคิ่ล ฮานาเก้ที่ได้รางวัลปาล์มทองอีกครั้งหนึ่งจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ Ffpภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Amour ที่เรียกได้ว่าเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า ฝีมือการทำหนังของผู้กำกับคนนี้เป็นของจริงที่ยิ่งเวลาผ่านไปรสชาติการทำหนังของเขาก็ยิ่งเข้มข้นทุกทีไม่เหมือนผู้กำกับอีกหลายรายที่มือตกไปอย่างไม่น่าอภัย กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับชายที่ชื่อว่า ไมเคิ่ล ฮานาเก้นี้ก็คือ แค่หนังเรื่องแรกของเขานั้นก็ปรากฏแววเก่งมาในทันที  และหนังเรื่องแรกของเขาก็คือ The Seven Continent นั้นเอง
Mister American
ถ้าเอ่ยชื่อของไมเคิ่ล ฮานาเก้ ถ้าไม่ใช่แฟนหนังจริงๆหลายคนอาจจะไม่รู้จักเขาเท่ากับผู้กำกับคนอื่นๆอย่าง ไมเคิ่ล เบย์ สปีลเบิร์กหรือคาเมร่อนก็ตาม แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่หลายคนมารู้จักผู้กำกับจากยุโรปได้ก็คงไม่พ้นนิยามหนังของเขาที่หลายให้คำว่า โหดเหี้ยม เลือดเย็น และน่าขนลุก โดยหนังที่หลายคนมักจะ
Mister American
(เนื้อหาบทความนี้อาจะเปิดเผยความลับของภาพยนตร์)  ผมเชื่อว่าทุกคนเคยมีความฝัน ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่ฮีโร่ของญี่ปุ่นอย่าง อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ขบวนการห้าสีบุกจอโทรทัศน์ หลายคนในตอนนั้นยังเป็นเด็กตัวน้อยๆที่เฝ้ารอคอยหน้าจอที่สัปดาห์เพื่อจะได้ชมฮีโร่ของตัวเองปราบปรามเหล่าร้ายในหน้าจอที่หวังยึดครองโลก เราได้สนุกสนานกับการผจญภัยของพวกเขา บางคนอาจจะถึงขั้นอยากเป็นฮีโร่กับเขาบ้างเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะใฝ่ฝันที่จะได้เห็นฮีโร่ตัวจริงด้วยสายตาของตัวเอง  ซึ่งเด็กชายที่ชื่อ ฟิล โคลสัน คือหนึ่งในนั้น
Mister American
ครั้งหนึ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง เฉือน ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ลงโรงฉายชนกับภาพยนตร์รัก Feel Good อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอนั้นหลายคนที่ไปชมเรื่องนี้ต่างอึ้งกับภาพความโหดร้าย ของฆาตกรต่อเนื่องของไทยที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่ง และมีคำถามขึ้นมาว่า