Skip to main content

                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นเสมือนการเริ่มต้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

                แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราคงมีรัฐบาลใหม่แน่นอน สำหรับผมที่เป็นนักเขียน และ คนดูหนัง หรืออนิเมชั่นนั้นสิ่งที่ผมสนอกสนใจเหลือเกินว่า ใครกันนะคือ คนที่จะมานั่งกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ หรือ อาจจะเป็นกระทรวงเศษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตเป็นได้

                นโยบายการสร้าง Softpower เป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือก้าวไกลต่างชูว่า จะมีการผลักดัน Softpower หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจังผ่านนโยบายของพรรคที่มองว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นสามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้มากมาย ไม่ต่างกับ อุตสาหกรรม การเกษตรหรือการท่องเที่ยวเลย หนำซ้ำยังสามารถใช้เชื่อมโยงไปยังธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียนชนิดว่า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์หรือช่วยขายของได้ทางอ้อมด้วยซ้ำ

(เขาตะปูที่ปรากฏในหนังเรื่อง The Man with the golden gun)

(อ่าวมาหยา เกาะพีพีใน The Beach)

(องค์บากกับการสร้างกระแสมวยไทยให้ดังระดับโลก และ ยกระดับของวงการหนังไทยในช่วงเวลานั้น)

                หากนับย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีตไทยเราเคยมีการตามรอย 007 หรือ เจมส์ บอนด์ ในหนังเรื่อง The Man with the golden gun ที่ทำให้เขาตะปูจังหวัดพังงาโด่งดังมาแล้ว หรือ หนังเรื่อง The Beach ที่นำแสดงโดย เลโอนาโด้ ดิคารปริโอ้เล่นก็ทำให้เกาะพีพีโด่งดังไปทั่วโลก หรือกระทั่งหนังไทยอย่าง องค์บากก็กลายเป็นที่จดจำและสร้างชื่อให้มวยไทยและจาพนมจนกลายเป็นที่คลั่งไคล้ของคนทั่วโลกได้สำเร็จ

                ทว่าเหมือนเป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราวเท่านั้น เพราะ รัฐบาล ณ ช่วงเวลานั้นไม่ได้มีนโยบายในการส่งเสริมคลื่นที่พัดผ่านมาเลยและปล่อยให้มันเกิดขึ้นและผ่านไปโดยไม่ได้ฉกฉวยใด ๆ แม้ว่าจะพยายามส่งเสริมธุรกิจภาพยนตร์ในการสร้างหนัง หรือ อุดหนุนงบต่าง ๆ ก็ตามก็ไม่ได้มีการส่งเสริมเรื่องราวของ Softpower เหล่านี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด

                กระทั่งเมื่อตอนที่ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาสดังและทำให้อยุธยากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งก็ตาม ตัวรัฐบาลในตอนนั้นก็ไม่ได้มีอะไรนอกจากพยายามส่งเสริมสร้างหนังแบบเดียวกันออกมามาก ๆ แต่ก็ไม่ได้มีความป๊อปเรื่องร่วมสมัยมากพอจะทำให้เกิดกระแสแบบเดียวกัน แถมยิ่งรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า Sofpower เลยด้วยซ้ำ (แถมใช้ผิดใช้ถูกอีกต่างหาก)

                เอาจริง ๆ หาจะพูดถึง Softpower เป็นอำนาจการโน้มน้าวแบบหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เท่านั้นเอง ดังนั้นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่หลายเชื่อกันหรือเข้าใจไม่ใช่แค่ความหมายเดียวของคำนี้แต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

                หรือหากจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม คุณค่าทางสังคม เพื่อ เชื้อเชิญให้ผู้คนสนใจแล้วอยากทำตามนั้นเอง

                ในยุคสังคมโลกใหม่การใช้ Hard power แบบเดิมที่เน้นการใช้สงครามหรือการทำร้ายล้างบังคับอีกฝ่ายนั้นไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติอีกต่อไป แต่สิ่งที่มาพร้อมกับการโฆษณาวัฒนธรรม การเผยแพร่ประเพณี หรือ การทำให้ผู้คนสนใจในสถานที่ อาหาร หรือสิ่งต่าง ๆ ของวัฒนธรรมนั้น ๆ ไปพร้อมกัน เราจึงไม่แปลกใจว่า ในโลกยุคปัจจุบันพลังของซอฟพาวเวอร์พวกนี้มากมายมหาศาลมากเพียงใด

                ไม่ต้องไปไกลถึงอเมริกาครับ เอาใกล้ตัวเราอย่างญี่ปุ่นนี่แหละที่บอกได้ว่า เป็นประเทศที่เก่งกาจเรื่องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Softpower แล้วนำมาใช้ในการสร้างค่านิยม วัฒนธรรม และ สอดแทรกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเรียบเนียนโดยเฉพาะ เรา ๆ ท่าน ๆ ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมของประเทศนี้แบบไม่อาจจะแยกได้

ตลาดจิวเฟิ่น ที่เป็นฉากหลังใน Spirit Always

                แนวรบที่น่าสนใจและเรียกว่า เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเผยแพร่คงไม่พ้นอนิเมชั่น ไลท์โนเวล หรือ มังงะที่เรียกว่า มีพลังมากพอจะทำให้เราหลายคนดูจบแล้วอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือ ไปตามรอยกันทีเดียว ซึ่งก่อนหน้าเรามีอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิอย่างเรื่อง Spirit Always ที่เอาตลาดจิวเฟิ่นในไต้หวัน ซึ่งเคยเป็นเหมืองเก่าที่กำลังจะตายมาใช้เป็นฉากหลังของเรื่องส่งผลให้ปัจจุบันที่นี่เป็นที่รู้จักที่ใครต่อใครที่ดูอนิเมชั่นรางวัลออสการ์นี้ต้องอยากไปเยี่ยมชมความงดงามของตลาดและเมืองแห่งนี้กันแทบทั้งนั้น หรือ กับภาพยนตร์ของ ชินไค มาโคโตะ อย่าง Your name , weathering with you จนถึง Suzume นอกจากจะประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์แล้ว สิ่งที่ทั้งสามเรื่องทำได้คือ ส่งเสริมวัฒนธรรมของญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ใช่แค่นั้นยังทำให้คนเดินทางไปตามรอยสถานที่ท่องเที่ยวในภาพยนตร์กันอย่างเป็นล้ำเป็นสันจากทั่วโลกสร้างเม็ดเงินให้กับท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เต็มที่ไม่ว่าจะเป็น โตเกียว หรือกระทั่ง มิยาซากิเองก็ด้วยที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวไปแล้ว

                แต่ก็ใช่ว่าจะมีแค่อนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ฉายโลกเท่านั้นที่ส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะ ไม่ว่าจะเป็นมังงะ หรือ ไลท์โนเวลเองก็มีสอดแทรกเรื่องราวทางวัฒนธรรม หรือ ประวัติศาสตร์ ประเพณีเข้าไปอย่างแนบเนียนทั้งที่มันอาจจะเป็นธรรมดาแบบที่เราเห็นในลอยกระทง หรือ สงกรานต์ หรือ การดูพลุวันปีใหม่ด้วยซ้ำแบบบ้านเราด้วยซ้ำอย่าง การไปเดินงานวัด นั่งดูซากุระ หรือ ดูดอกไม้ในหน้าร้อนเป็นต้น นี่ยังไม่รวมถึง การไปเที่ยวทะเล ไปไหว้พระปีใหม่ ไปศาลเจ้าที่เข้ากันได้อย่างชัดเจน

                ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบทความว่าด้วยอนิเมชั่นเรื่อง Super Cub : อีหนูขี่มอเตอร์ไซด์ พลังอนิเมะและท้องถิ่นนิยมเอกอุกจากญี่ปุ่น ที่พูดถึงท้องถิ่นนิยมอันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งส่วนนี้คือ สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกระจายอำนาจของทางญี่ปุ่นเองที่ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการตัวเองทั้งการหารายได้ การประชาสัมพันธ์ ทำให้เห็นผู้สนับสนุนที่เป็นจังหวัดต่าง ๆ ในอนิเมชั่นมากมาย อาทิ ใน Supercub กับจังหวัดโฮคุโตะ จังหวัดยามานางิ หรือ Yuru Camp อนิเมชั่นที่มาจากมังงะสี่ช่องของสาว ๆ ชมรมตั้งแคมป์ที่มีฮอตฮิตจนมีสองซีซั่น กับ มูฟวี่หนึ่งภาค ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดยามานาชิ หรือกระทั่ง Zombielandsaga ที่มีเนื้อหาในจังหวัดซากะเองก็กลายเป็นสื่อที่ดีในการนำเสนอท้องถิ่นทั้งตัวจังหวัดที่มีคนรู้จักมากขึ้น รวมทั้งโฆษณาขายของของจังหวัดได้มากขึ้นอีก

                ดังนั้นต้องพูดว่า หากเราจะศึกษาการขายของผ่านอนิเมชั่นแล้วละก็ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ขายมันแบบโง่ ๆ หรือแบบยัดเยียดจนคนรู้สึกขัดหูขัดตา แต่พวกเขาสอดแทรกใส่เข้าไปในเรื่องได้อย่างดีจนเรียกว่าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องได้แบบแนบเนียน แถมยังทำให้หลายคนรู้จักวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่น่าสนใจและน่านำมาศึกษา

                โดยเฉพาะในอนิเมชั่นซีซั่นล่าสุดที่พึ่งผ่านไปนี้ก็มีอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นอนิเมชั่นที่หยิบเรื่องราววัฒนธรรม ประเพณี และ ประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง แถมยังขายของเก่งจนน่าเอาอย่างยิ่ง นั่นคือ อนิเมชั่นเรื่อง คุณเอล์ฟโอตาคุ (Edomae Elf)

                คุณเอล์ฟโอตาคุ (Edomae Elf) ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกันของอากิฮิโกะ ฮิงูจิ ที่มีรวมเล่มมาแล้วถึง 7 เล่ม ออกเผยแพร่ในนิตยสารโชเน็งแม็กกาซีนเอดจ์ของสำนักพิมพ์โคดันชะ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาของมันก็เรียกว่า เป็นแนว Slice of life Comedy (ชีวิตประจำวันตลก) ที่หยิบเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ศาลเจ้าทาคามิมิในโตเกียวมาว่า สิ่งที่อยู่ในศาลเจ้าไม่ใช่เทพเจ้า แต่ เป็นคุณเอล์ฟนามว่า เอลด้า ที่ถูกอัญเชิญมาจากต่างโลกและทำหน้าที่เป็นเทพเจ้าในศาลแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยตั้งเอโดะแล้ว และ เธอก็มีอายุยืนยาวเป็นนิรันดร์ไม่มีวันแก่ ไม่มีวันตาย แถมยังเป็นโอตาคุที่ชื่นชอบเกม อนิเมชั่นไปจนถึงหุ่นกัน (ตื้ด) อีกต่างหาก แน่นอนว่า เอลด้ามีมิโกะประจำตัวอย่าง โคอิโตะ สาวน้อยร่างเล็กผู้อยากโตไว ๆ (แต่พันธุกรรมดันเตี้ย) คอยจัดการนั่นนี่ให้ ท่ามกลางบรรดาตัวละครมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพวกเขา ณ เมืองหลวงที่อายุกว่า 400 ปีแห่งนี้

(ปกฉบับมังงะ)

                แน่นอนว่า ตัวอนิเมชั่นเรียกได้ว่า เป็นอนิเมชั่นที่ไม่ใช่งานฟอร์มยักษ์อะไรนัก แถมยังดูนอกกระแสต่างจากเรื่องดังอื่น ๆ เสียอีก กระนั้นเอง คุณเอล์ฟโอตาคุก็จัดว่าเป็นงานอนิเมชั่นคุณภาพสูงตั้งแต่งานภาพที่คมกริบแทบมองเห็นการเผาของงาน เพลงที่เพราะ นักพากษ์เองก็คัดตัวท๊อบ ๆ มาทั้งสิ้น

                สิ่งที่น่าสนใจในอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่งานภาพแต่คือ การที่มันได้รับการสนับสนุนสปอนเซอร์จากบรรดาสินค้าต่าง ๆ มากมาย อาทิ Redbull ที่โผล่มาเป็นเครื่องดื่มของเอด้าที่แทบจะเป็นไทด์อินหลักของเรื่อง แต่ที่ทำให้หลายคนต้องตกใจก็คือ บรรดาสินค้า Otop ท้องถิ่นทั้งหลายต่างพาเหรดกันมาเป็นสปอนเซอร์ หรือ โผล่มาในเรื่องแทบทั้งสิ้น

                ไม่ว่าจะเป็น ขนมคบเคี้ยวที่มีเฉพาะท้องถิ่น อาหารจากต่างที่ ซาลาเปาที่หาซื้อได้ที่โอซาก้าเท่านั้น และ อีกมากมายเรียกว่าแทบจะโผล่มาในเรื่องนี้จนไม่หวาดไม่ไหว แถมยังอยู่ในเรื่องนี้ได้แบบไม่ยัดเยียดอะไรแต่เหมือนเรื่องปกติด้วยซ้ำที่จะเจอสินค้าสักอย่างโผล่มาในเรื่องนี้

                สินค้า Otop ที่เราคุ้นชินกันตั้งแต่สมัยอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรนั้นเกิดขึ้นมาจากไอเดียที่อดีตนายกเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นหยิบเอาโมเดลนี้มาใช้เป็นต้นแบบเพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบของ นโยบาย Otop หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่นผลิตสินค้าจากวัตถุดิบในพื้นถิ่นขึ้นมาน่ะเอง ซึ่ง Otop เป็นนโยบายที่นับว่าประสบความสำเร็จมาก ๆ อีกนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย ณ ขณะนั้นก่อนจะถูกละเลยความสำคัญไปหลังรัฐประหารปี 49 และ สินค้า OTop กลายเป็นสินค้าที่ถูกลืมและปล่อยไว้ไม่มีการทำอะไรจนถึงปัจจุบัน

                ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่า สินค้า Otop นั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก ทุกสถานที่ทุกชุมชนทุกเมืองของญี่ปุ่นต้องมีสินค้าที่เป็นหน้าเป็นตาหรือสัญลักษณ์ของชุมชนนี้แบบหลับตาได้ ไม่ว่าจะเป็น ขนม อาหาร ของฝากไปจนถึงเหล้าหมักเองก็เช่นกัน ซึ่งความสำเร็จนี้คงต้องบอกว่า มาจากการกระจายอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง เก็บภาษีเอง และ จัดการโปรโมทตัวเอง หรือ ส่งเสริมจังหวัดตัวเองด้วยการโฆษณาได้ อย่างเช่นที่เราเห็น จังหวัดอย่าง คุมาโมโต้มีหมีดำมาโปรโมทส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตัวเองน่ะเอง ไม่แปลกที่อนิเมชั่นหลายเรื่อง หรือ อย่าง คุณเอล์ฟโอตาคุจะมีผู้สนับสนุนอย่าง สินค้า Otop ทั้งหลายที่โผล่มาในเรื่องแบบไม่ต้องกลัวค่าลิขสิทธิ์แบบพวกแบรนด์ใหญ่อื่น ๆ

                แม้กระทั่งเบียร์ยังปรากฏในเรื่องได้ แถมยังโชว์ให้เห็นป้ายของสินค้าอีกก็บอกให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนในเรื่องนี้หนาแน่นแค่ไหน

                ไม่ใช่แค่สินค้าบริโภคเท่านั้น คุณเอล์ฟโอตาคุยังมีการโปรโมทหวยและการพนันถูกกฎหมายทั้งหลายด้วยนะ เพราะ อย่างที่บอกว่า ในประเทศญี่ปุ่นเองมอบอำนาจให้จังหวัดดูแลตัวเองทั้งการเก็บภาษี หารายได้ กันเอง แล้วนำส่งรัฐบางส่วน แต่ละจังหวัดจึงมีมาตรการต่าง ๆ ให้คนใช้เงิน ทั้งจ่ายภาษี หรือ หารายได้อย่างเช่น จังหวัดคานาซาวะ ก็มีศูนย์เสี่ยงโชคให้คนได้เสี่ยงโชคกันด้วย ซึ่งตัวเรื่องก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับการพนันในยุคเอโดะไปพร้อม ๆ กันเรียกว่านอกจากขายของแล้วยังให้ความรู้ไปด้วย

                พูดคือ นี่คือ อนิเมชั่นที่เอาเรื่องต่าง ๆ ที่บางครั้งอาจจะดูยากและไกลตัวมาย่อยให้คนเข้าใจง่ายมากขึ้น อาทิ การขึ้นโรงขึ้นศาลของญี่ปุ่นที่ทำให้เราเห็นว่า ระบบศาลของญี่ปุ่นเป็นแบบใด เหตุใดจึงใช้ลูกขุนผสมกับผู้พิพากษา ไม่ใช้ระบบลูกขุน 100 เปอร์เซ็นต์แบบอเมริกา การพูดถึงการส่งของในสมัยเอโดะว่า สมัยนั้นก็มีการสั่งของทางอมาซอนเหมือนกันนะ หรือ อีกมากมายที่เรื่องนี้หยิบโยงมาเล่าและขายของออกมาไม่ยัดเยียดอีกต่างหาก

                การมีตัวตนของเหล่าเอล์ฟที่มีอายุอานามหลายร้อยปีตั้งแต่เมื่อครั้งเอโดะสร้างไม่ต่างกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ยิ่งผ่านปากคนที่มีอายุนานแบบพวกเธอแล้วทำให้เราเห็นภาพของวิถีชีวิตผู้คนและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงแห่งนี้ที่ต่อมาจะกลายเป็นโตเกียวในเวลาต่อมา

                เราจึงได้เห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าผ่านปากของเอลด้าที่ที่ถูกอัญเชิญโดยเพื่อนชายของเธอที่เราได้รู้ว่า เพื่อนชายคนนั้นคือ โตกุกาวะ อิเอยาสึ โชกุนคนแรกของเอโดะ ผู้สร้างเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นแล้วฝากฝั่งให้เอลด้าอยู่ที่นี่เพื่อเฝ้าเมืองที่เขาสร้างขึ้น

                แม้ว่า เวลาจะผ่านไปนานแสนนานเพียงใด ศาลเจ้าแห่งนี้ยังคงอยู่ และ เอลด้าก็ยังเฝ้าเมืองนี้แบบที่เพื่อนชายของเธอได้บอก

                สิ่งที่ตัวอนิเมชั่นเรื่องนี้พยายามพูดอยู่เสมอนั่นคือ เรื่องราวของเวลา ความสัมพันธ์ และ ผู้คนที่มีต่อกันและกัน ซึ่งเอลด้าเป็นเสมือนเทพเจ้าที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งมวลนี้ด้วยสายตาใจเย็น

                ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งประดุดเมืองเอโดะที่เธอเล่าว่า ครั้งหนึ่งมันเป็นเมืองที่มองเห็นแม่น้ำได้สวยงาม และ ท้องทุ่งกับบ้านเรือนที่ไม่ได้แน่นขนัดแบบนี้ ปัจจุบันมีตึกสูงระฟ้า มีถนน มีรถยนต์มากมาย ปรากฏขึ้นแทนที่

                เช่นเดียวกับที่ผู้คนที่มายังศาลเจ้าแห่งนี้ก็เปลี่ยนไปแต่ละรุ่น บางคนเห็นแปป ๆ ก็โตจนเป็นสาวมีการมีงานแล้ว บางคนก็แก่ตัวจนถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง บางคนก็จากไปแล้วก็มี เหมือนที่เอลด้าต้องเจอกับมิโกะมากมายที่เธอเองก็ได้แต่จดจำทั้งหมดเอาไว้ในหัวใจด้วยความรู้สึกของเทพเจ้าที่รู้ถึงวัยอันไม่จีรังของมนุษย์

                ทุกอย่างมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมดา

                มีแค่เอล์ฟ ไม่สิ เทพเจ้าอย่างเธอเท่านั้นที่ยังอยู่

                มันจึงพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างชัดเจน จากศาลเจ้าที่เป็นยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน สู่ชุมชนที่กลายเป็นหมู่บ้าน เมือง และ ประเทศในกาลต่อมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ย้อนกลับมายังตัวของศาลเจ้าที่ยังคงอยู่แม้ว่า รอบ ๆ จะเป็นโลกที่ทันสมัยแค่ไหนก็ตาม

                พวกเขาก็ไม่เคยหายไปไหน

                ดั่งคำว่า เวลาเป็นสิ่งมีค่ามากและไม่ฟรี

                เอลด้ารับรู้เรื่องนี้ได้ดีและใช้ชีวิตของเธอกับบรรดามิโกะรอบกายอย่างเต็มกำลังเนื่องจากรู้ดีว่า อายุยืนนานของเธอต้องรับมือกับการพบพาจากลาไปมากแค่ไหน

                เพื่อนชายของเธอได้จากไปแล้ว มิโกะเองก็เช่นกัน หรือ กระทั่ง ผู้ศรัทธาเองก็ด้วย

                เธอยังอยู่และเฝ้ามองผู้คนและเมืองนี้ด้วยสายตาห่วงใย และ ภาวนาให้พวกเขามีความสุข

                แม้จะไม่ใช่เทพที่มีพลังอะไร เอลด้าคือ ตัวแทนของญี่ปุ่นอนุรักษ์นิยมที่ที่ยิ้มรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ของเธอเสมอมา

                แม้ผู้คนจะเปลี่ยนไป บางคนหลงลืม หรือ ไม่ได้นับถืออะไรเธอ แต่เธอก็ไม่ได้ผิดหวังเจ็บปวดหรืออะไร เพราะ นี่คือสิ่งที่เธอทำในฐานะเทพเจ้าของศาลเจ้านี้

                หลายคนบอกว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีศาสนา ซึ่งจริง ๆ แล้วศาสนาของพวกเขาไม่ได้เป็นสิ่งถูกบังคับให้นับถือแต่แฝงอยู่ในทุกตัวตนของพวกเขา ในวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของพวกเขาเสมอมา

                แบบทีเอลด้าและเหล่ามิโกะในเรื่องได้พบเจอ

                ไม่แปลกหรอกว่า ตอนจบของเรื่องนี้จะเลือกจบที่ประเพณียูมิมิมิ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีขึ้นเพื่อภาวนาต่อความสงบสุขของท้องทะเล ซึ่งจะใช้การแผลงศรของมิโกะที่จะยิงออกไปแล้วโดนเป้าที่เทพเจ้าถือเอาไว้เพื่อทำนายว่า ปีนี้จะจับปลามากแค่ไหน แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้สำคัญอะไรแบบเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็เป็นประเพณีที่แสดงถึงความสัมพันธ์การร่วมแรงร่วมใจของผู้คนที่มีต่อกันและกัน รวมทั้ง ความศรัทธาต่อศาลเจ้านี้กับเอลด้าได้อย่างชัดเจน

                ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ผู้คน เทพเจ้า เมืองก็ยังคงอยู่ต่อไป

                ดังนั้น หากจะพูดนี่คือ อนิเมชั่นที่ควรนำมาให้ทางรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์คนใหม่ได้ชมเพื่อจะได้เห็นว่า เราทำอะไรได้มั้งในสื่อสร้างสรรค์นี้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จไปแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เพราะสื่ออนิเมชั่นนี่คือ Softpower ชั้นดีที่จะเผยแพร่เรื่องราว ตัวตน สินค้าออกไปสู่ชาวโลกได้อย่างงดงามและเข้าถึงทุกคนได้แบบที่เรื่องนี้หรือหลาย ๆ เรื่องทำแล้วอยากไปญี่ปุ่นกันน่ะเอง

                อย่างที่รู้ประเทศเราก็มีของดีเยอะแยะมากมายครับ เหลือแค่การนำเสนอให้มันกลายเป็นจุดขาย ของขายที่คนอยากมาตามรอยก็แค่นั้น

                หวังว่า รัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นนำความหวัง ความฝัน มาสู่ประเทศของเราได้แบบที่เอโดะเปลี่ยนแปลงไปแบบที่เอลด้าเฝ้ามองมาตลอดนะครับ

ป.ล. อนิเมชั่นเรื่องคุณเอล์ฟโอตาคุหาชมได้ในเว็บไซต์ Anione Thailand , Anione Asia , Billbill ครับ

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
   (บทความตอนนี้จะเป็นเรื่องเบาๆเพื่อให้เตรียมตัวกันให้พร้อมก่อนชมภาพยนตร์เรื่อง Prometheus)
Mister American
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับป๋าไมเคิ่ล ฮานาเก้ที่ได้รางวัลปาล์มทองอีกครั้งหนึ่งจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ Ffpภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Amour ที่เรียกได้ว่าเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า ฝีมือการทำหนังของผู้กำกับคนนี้เป็นของจริงที่ยิ่งเวลาผ่านไปรสชาติการทำหนังของเขาก็ยิ่งเข้มข้นทุกทีไม่เหมือนผู้กำกับอีกหลายรายที่มือตกไปอย่างไม่น่าอภัย กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับชายที่ชื่อว่า ไมเคิ่ล ฮานาเก้นี้ก็คือ แค่หนังเรื่องแรกของเขานั้นก็ปรากฏแววเก่งมาในทันที  และหนังเรื่องแรกของเขาก็คือ The Seven Continent นั้นเอง
Mister American
ถ้าเอ่ยชื่อของไมเคิ่ล ฮานาเก้ ถ้าไม่ใช่แฟนหนังจริงๆหลายคนอาจจะไม่รู้จักเขาเท่ากับผู้กำกับคนอื่นๆอย่าง ไมเคิ่ล เบย์ สปีลเบิร์กหรือคาเมร่อนก็ตาม แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่หลายคนมารู้จักผู้กำกับจากยุโรปได้ก็คงไม่พ้นนิยามหนังของเขาที่หลายให้คำว่า โหดเหี้ยม เลือดเย็น และน่าขนลุก โดยหนังที่หลายคนมักจะ
Mister American
(เนื้อหาบทความนี้อาจะเปิดเผยความลับของภาพยนตร์)  ผมเชื่อว่าทุกคนเคยมีความฝัน ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่ฮีโร่ของญี่ปุ่นอย่าง อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ขบวนการห้าสีบุกจอโทรทัศน์ หลายคนในตอนนั้นยังเป็นเด็กตัวน้อยๆที่เฝ้ารอคอยหน้าจอที่สัปดาห์เพื่อจะได้ชมฮีโร่ของตัวเองปราบปรามเหล่าร้ายในหน้าจอที่หวังยึดครองโลก เราได้สนุกสนานกับการผจญภัยของพวกเขา บางคนอาจจะถึงขั้นอยากเป็นฮีโร่กับเขาบ้างเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะใฝ่ฝันที่จะได้เห็นฮีโร่ตัวจริงด้วยสายตาของตัวเอง  ซึ่งเด็กชายที่ชื่อ ฟิล โคลสัน คือหนึ่งในนั้น
Mister American
ครั้งหนึ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง เฉือน ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ลงโรงฉายชนกับภาพยนตร์รัก Feel Good อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอนั้นหลายคนที่ไปชมเรื่องนี้ต่างอึ้งกับภาพความโหดร้าย ของฆาตกรต่อเนื่องของไทยที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่ง และมีคำถามขึ้นมาว่า