La Veuve de Saint-Pierre (The Widow of Saint-Pierre)/2000/Patrice Loconte/French
***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***
ความตายของแอเรียล นีล ออกุสต์กำลังมาเยือนและกำลังใกล้เข้ามาทุกที
เขาถูกตัดสินประหารชีวิตเนื่องด้วยข้อหาฆ่าคนตาย แต่การประหารยังไม่ถูกดำเนินการเพราะเครื่องกีโยตินยังถูกส่งมาไม่ถึง
อันที่จริงแล้วเขาควรจะต้องใช้ชีวิตทุกๆวินาทีที่เหลือแห่งการมีชีวิตอยู่ในห้องขังอันมืดทึบ สกปรก และเดียวดาย หากพอลีนหรือที่ทุกคนเรียกกันว่ามาดาม ลา ไม่ขอร้องฌอง สามีของเธอผู้ได้รับหน้าที่ให้รับผิดชอบนักโทษผู้นี้เพื่อให้เขามาเป็นผู้ช่วยทำสวนของเธอท่ามกลางการคัดค้านหนักแน่นของเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
แล้วเรื่องราวหลังจากนั้นก็ดำเนินไปพร้อมๆกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างนีลกับมาดาม ลาก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างเงียบกริบทว่าเร่าร้อน ทำเอาคนดูใจหายใจคว่ำไปหลายครั้งหลายหน และก็ต้องถอนหายใจโล่งอก (หรือขัดใจ?) เมื่อสุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ผู้กำกับปาทริคซ เลอกงต์ล่อหลอกคนดูไปกับหนังเรื่องนี้ให้คิดย้อนแย้งถึงศีลธรรมในตัวเองอยู่ตลอดเวลาผ่านวงจรความสัมพันธ์ของตัวละครหลักสามตัวคือ มาดาม ลา (จูเลียต บินอช) ฌอง (ดาเนียล โอเตอยล์) และนีล (เอเมียร์ คุสตูริกา) ตลอดความยาวของหนังเรื่องนี้เล่นกับประเด็นของความสัมพันธ์ของทั้งสามคน มันไม่ได้มุ่งเจาะจงให้ความสัมพันธ์ของพวกเขามีความกระจ่างชัด แต่กลับเลือกที่จะนำเสนอออกมาอย่างคลุมเครือ หากก็งดงามไปในขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับตัวหนังที่ส่วนใหญ่ใช้โทนสีของภาพเป็นสีทึบทึม ไม่ใช่เฉพาะในฉากเวลากลางคืนหรือฉากที่อยู่ภายในอาคารบ้านเรือนเท่านั้น แม้ในฉากกลางแจ้งสีสันของภาพก็ยังหม่นหมองมืดมัวอยู่ดี แต่โทนสีหม่นๆนี้กลับขับเน้นให้ภาพของหนังดูสวยงามโดดเด่นขึ้นมายิ่งกว่าใช้สีสันสว่างจัดจ้านเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีของเครื่องแต่งกายของมาดาม ลาซึ่งเป็นสีแดงหม่นเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากทำให้เธอโดดเด่นออกมาจากตัวละครอื่นแล้วยังเป็นสัญญะที่บ่งบอกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว หากต้องเก็บมันเอาไว้ข้างในได้เป็นอย่างดี
ความสัมพันธ์ของมาดาม ลา ฌอง และนีลเป็นความสัมพันธ์สามเส้าที่คลุมเครืออย่างที่สุด มาดาม ลากับนีลนั้นต่างคนต่างก็ดูเหมือนจะมีใจให้กัน ถึงขนาดที่ในหลายๆตอน ถ้าขาดความยับยั้งชั่งใจเพียงนิดเดียว ความสัมพันธ์นี้อาจเลยเถิดไปได้ ฉากที่แสดงอารมณ์ปรารถนาอันปริ่มจนเกือบทะลักล้นได้ยอดเยี่ยมที่สุดฉากหนึ่งก็คือฉากที่มาดาม ลาสอนให้นีลอ่านหนังสือ แสงสลัวราง บรรยากาศเงียบสงบเป็นใจ และเนื้อตัวที่คอยแต่จะกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันตลอดเวลาทำให้อารมณ์ของทั้งคู่เพริดเตลิดไปได้ง่ายๆ กล้องโคลสอัพดวงตาของคนทั้งสองที่ใช้สายตาสื่อสารความปรารถนาร้อนแรงในตัวท่ามกลางแสงตะเกียงส้มสลัวได้อย่างดีทีเดียว แต่ในที่สุดมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างกัน
ไม่ใช่แค่ความปรารถนาเท่านั้นที่มาดาม ลากับนีลมีต่อกัน แต่เป็นความรักด้วย มาดาม ลานั้นถึงขั้นยอมเสี่ยงช่วยเหลือให้นีลรอดพ้นจากคมกิโยตินด้วยการพาเขาไปส่งอีกเกาะหนึ่งเพื่อให้เขาหนีไปเสีย แต่นีลก็แสดงความรัก (อันพัฒนาต่อไปเป็นความจงรัก) ด้วยการไม่หนีไปไหนทั้งนั้น แต่กลับมาเพื่อช่วยมาดาม ลาปลูกดอกไม้ในสวนเล็กๆของเธอและทำงานจิปาถะแล้วแต่เธอจะสั่ง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมาดาม ลากับฌองนั้นก็เป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่ง หนังไม่ได้แสดงออกมาเลยว่ามาดาม ลาหมดรักในตัวฌองหรือฌองไม่รักเธอจนเธอต้องหันไปหานีล แต่กลับแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งว่าทั้งสองเป็นสามีภรรยาที่รักกันมากผ่านฉากการแสดงความรักซึ่งกันและกันอย่างดูดดื่ม และทั้งมาดาม ลาและฌองก็ต่างเคารพการตัดสินใจของกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฌอง เขาไม่เคยก้าวก่ายหรือขัดแย้งการตัดสินใจของภรรยาเลยสักครั้ง เขามักจะพูดว่าให้ภรรยาของเขาเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเธอเอง แม้กระทั่งการตัดสินใจให้เขาเดินทางไปรับโทษทัณฑ์ในท้ายเรื่อง ดังนั้นคนดูจึงถูกผูกติดอยู่กับความคลุมเครือว่าแล้วทำไมมาดาม ลาจึงปันใจให้ชายผู้ด้อยกว่าสามีตัวเองในทุกๆทาง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างฌองกับนีลซึ่งก็คือผู้ตัดสินโทษกับอาชญากรนั้นได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างคลุมเครือเช่นกัน ฌองให้ความเคารพแก่นีลเยี่ยงเพื่อนคนหนึ่งมิใช่ผู้ร้าย ในขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆไม่เคยแม้แต่จะวิสาสะกับนีล และใช้เวลาทั้งหมดไปกับการหาวิธีที่จะประหารเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จุดนี้หนังได้แสดงให้เห็นถึงความคิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถือว่าตัวเป็นผู้พิทักษ์รักษาให้คงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดีงาม แต่กลับกลายเป็นผู้ร้อนรนที่จะกระทำละเมิดมาตรฐานทางศีลธรรมที่ตนถืออยู่ เมื่อเทียบกับอาชญากรรมของนีลแล้ว (ซึ่งเป็นการฆ่าโดยไม่ได้ตั้งใจ) มันก็ทำให้น่าคิดทีเดียวว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังทำอยู่นั้นมีความชอบธรรมไปกว่าอาชญากรรมของนีลสักแค่ไหนกัน และเพราะฌองปฏิบัติตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติกับอาชญากรอย่างนีลแตกต่างไปจากเจ้าหน้าที่คนอื่นๆหรืออย่างไรที่ทำให้ในที่สุดเขาต้องพบกับโทษทัณฑ์ที่ไม่แตกต่างไปจากนีลสักเท่าไรเลย
หรือแม้แต่บรรดาชาวบ้านทั้งหลายที่รุมประณามนีลและอยากให้เขาถูกประหารไปเสียในตอนแรกก็ได้เปลี่ยนมาชื่นชอบจนกระทั่งชื่นชม และได้พากันช่วยเหลือไม่ให้เขาถูกประหาร ถึงขั้นฉีกประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ประหารชีวิตของทางการ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนใจจากการประณามมาเป็นชื่นชมนี้จะมีเงื่อนไข นั่นคือเขาต้องแลกมาด้วยการที่เขาช่วยหยุดบาร์ที่ไถลในขณะเคลื่อนย้ายไม่ให้มันไหลไปทับคนอื่นหรือทำให้ข้าวของเสียหายก็ตาม ตรงนี้สามารถชี้ให้เห็นว่าบางทีบรรทัดฐานทางศีลธรรมก็อาจเลื่อนไหลได้ง่ายๆแล้วแต่ความคิดส่วนใหญ่ของสังคม ต่างจากมาดาม ลาและฌองที่ไม่ต้องอาศัยตราชั่งทางศีลธรรมใดๆทั้งสิ้น ทั้งสองไม่เคยตั้งแง่รังเกียจรังงอนนีลมาตั้งแต่แรกแล้ว
ในที่สุดสวนดอกไม้เล็กๆของมาดาม ลาก็งดงามขึ้นเรื่อยๆ ดอกไม้นานาพันธุ์พากันออกดอกประชันกัน พร้อมๆกับที่เรือขนเครื่องกิโยตินเข้าเทียบฝั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างในวงจรความสัมพันธ์ของมาดาม ลา ฌองและนีลก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ นีลถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตินนั้น ส่วนฌองก็ต้องได้รับโทษทัณฑ์ฐานท้าทายรัฐด้วยการไม่ยอมให้ประหารนีล ส่วนมาดาม ลานั้นก็ต้องกลายเป็นหญิงม่าย ทั้งม่ายจากสามีคือฌอง และม่ายจากความรักที่เธอมีให้นีล
นอกเหนือจากที่แต่ละเหตุการณ์ของหนังจะลวงล่อคนดูให้คิดสงสัยเคลือบแคลงไปกับความคลุมเครือของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร เหตุการณ์เหล่านั้นยังนำเสนอทั้งในด้านมืดและด้านสว่างของตัวละครแต่ละตัว เหมือนกับที่หนังได้แสดงนัยไว้ด้วยการตัดสลับระหว่างความมืดเข้มข้นของเวลากลางคืนกับความสว่างโชติช่วงของเวลากลางวันและเงามืดในเคหาสน์อาคารกับแสงเจิดจ้าในที่แจ้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนทุกคนย่อมต้องมีทั้งความดีงามและความเลวร้ายอยู่ในตัว ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันและกันได้ ไม่มีใครที่ดีพร้อมไปหมดทุกอย่าง เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครเลวไปเสียทั้งหมด ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของตัวละครในหนังเรื่องนี้กระตุ้นให้คนดูได้ตระหนักว่าเราไม่สามารถที่จะชี้นิ้วเปรี้ยงลงไปตัดสินใครได้ว่าเขาหรือเธอผิดบาปไร้ศีลธรรม ไม่เหมาะควรกับคุณค่าความเป็นคน...มันยุติธรรมแล้วหรือที่ถือเอาสิ่งที่ตนเห็นว่าดีงามมาเอ่ยอ้างเพื่อตัดสินคนอื่นที่ตนเห็นว่าแตกต่างหรือประณามการกระทำๆใดที่ขัดแย้งต่อสิ่งที่ตนยึดถือ เพราะในที่สุดแล้วศีลธรรมก็คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้กำกับกำหนด มันย่อมจะหลีกจากการแฝงด้วยอคติได้ยาก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันต้องกดทับบางอย่างที่เห็นว่า “ผิด” เพื่อเชิดชูบางอย่างที่คิดว่า “ถูก” ดังนั้นมาตรฐานทางศีลธรรม คุณธรรม หรือจริยธรรม จึงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป