The Quiet Ones/2014/John Pogue/US-UK
หนังสยองขวัญของค่ายแฮมเมอร์นี่จะดีจะห่วยยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันดู "สนุก" จริงๆ มันมีมนต์ขลังมีเสน่ห์เฉพาะตัวของมัน ถ้าไม่ใช่หนังปิศาจหรือสัตว์ประหลาดโด่งดัง ภาพจำอีกอย่างก็จะเป็นลักษณะ "โกธิค" ของหนังค่ายนี้ที่เราๆท่านๆคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์หรือปราสาทโอฬารเต็มไปด้วยห้องหับลึกลับและซอกหลืบดำมืด บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจ ตัวละครที่ต่างขั้วกันสุดคนละปลายด้าน ด้านหนึ่งก็อินโนเซ็นต์ใสซื่อกับอีกด้านหนึ่งก็ดูร้ายกาจแต่ก็มีเสน่ห์ชวนให้เข้าหาและน่าหลงใหล ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ครบถ้วนใน The Quiet Ones เรื่องนี้
The Quiet Ones เล่าเรื่องในช่วงเวลา 1970s ศาสตราจารย์โจเซฟ คูปแลนด์ (แสดงโดย จาเร็ด แฮร์ริส ที่อาจจะคุ้นหน้ากันจากบทศาสตราจารย์มอริอาร์ตี้ในหนัง Sherlock Holmes) และกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไบรอัน แมคนีล (แสดงโดย แซม แคฟลิน หรือหนุ่มฟินนิคสุดฮ็อตจาก The Hunger Games: Catching Fire นั่นเอง) ที่ร่วมมือกันทำโปรเจ็คต์ทดลองรักษาอาการ “ผีเข้า” ของเจน ฮาร์เปอร์ (แสดงโดย โอลิเวีย คุก ที่หลายคนอาจจะจำเธอได้จากบทเอ็มม่า ดีโคดี้ ในซีรี่ยส์ Bates Motel ) โดยที่ไบรอันเพิ่งได้รับการชักชวนจากศาสตราจารย์คูปแลนด์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะตากล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการทดลองเอาไว้ โดยถูกสั่งว่าห้ามใกล้ชิดสนิทสนมหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับเจนเป็นอันขาด แต่ก็ดูเหมือนว่าไบรอันจะอดเผลอไผลไม่ได้ ในช่วงแรกการทดลองดังกล่าวกระทำในเมืองซึ่งชาวบ้านก็ได้ร้องเรียนทางการว่าเป็นเหตุให้เกิดความรำคาญเพราะการทดลองนั้นส่งเสียงดังรบกวนพวกเขา ร้อนถึงคณะกรรมการมหาวิทยาลัยต้องออกมาสอบสวนการทดลองนี้และลงมติให้ยุติ รวมทั้งไม่ให้ทุนทำการทดลองต่อ เพราะหนึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเป็นการทรมานทำร้ายเด็กสาวผู้เป็นหนูทดลอง และสองเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญชาวเมือง ซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยได้ แต่ไหนเลยที่คูปแลนด์จะหยุด เขาย้ายสถานที่ทดลองจากแฟลตในเมืองไปยังคฤหาสน์ร้างแถบชานเมืองเพื่อให้ห่างไกลหูตาผู้คน และแล้ว ณ ที่แห่งนี้เองที่ความน่าสยดสยองได้บังเกิดขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้สำหรับเราคือการให้ไบรอันเป็นตากล้องและใช้กล้องถ่ายเหตุการณ์ ภาพที่เราเห็นในหนังจึงสลับกันไปมาระหว่างภาพในหนังกับภาพเหตุการณ์ที่ซ้อนอยู่ในหนัง เป็นการเล่นกับมุมมองที่น่าสนใจมาก เพราะมันยิ่งขับเน้นลักษณะของ “ถ้ำมอง” (Voyeurism) ของทั้งตัวละครและคนดูอย่างเราๆ โดยเฉพาะในฐานะคนดู นี่เป็น double voyeurism เลยทีเดียว มันยิ่งดึงอารมณ์ร่วมให้เราตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวในเหตุการณ์มากขึ้น เพราะมันทำให้เราเสมือนเป็นพยานรู้เห็นในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ในอีกทางพอหนังสลับกลับมาที่เหตุการณ์ของตัวหนังเองมันก็เตือนให้คนดูรู้ตัวว่านี่เป็นเพียงภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งการกลับไปกลับมานี้ทำให้คนดูได้ตั้งคำถามต่อเรื่องเล่าที่ถูกถ่ายทอดออกมาทั้งในเรื่องและตัวหนังเองว่าที่เราเห็นว่าเป็น “จริง” นั้น ที่แท้แล้วมัน “จริง” แค่ไหน หรือถูกประกอบสร้างจัดฉากขึ้นมาเท่านั้น (เครดิตเปิดเรื่องของหนังขึ้นว่าเรื่องนี้ “based on true story” ซึ่งยิ่งเตือนให้เราสงสัยและมองเรื่องราวด้วยสายตาพินิจพิเคราะห์มากขึ้น) แตกต่างจากเทร็นด์หนังสยองขวัญในปัจจุบันหลายเรื่องที่ใช้วิธีว่าเป็น “เรื่องจริง” โดยการแสดงให้เห็นว่าหนังทั้งเรื่องเป็นภาพบันทึกผ่านกล้องทั้งหมด จึงอาจทำให้คนดู “อิน” เข้าไปกับเรื่องราว และเชื่อทุกอย่างโดยไม่ตั้งคำถาม เพราะหนังได้ตั้งตัวเองอยู่ในฐานะ “ภาพเหตุการณ์จริง” เสียแล้ว
และอีกอย่างที่น่าสนใจคือประเด็นที่ว่า การรักษาอาการป่วย โดยเฉพาะอาการป่วยทางจิตนั้น ที่แท้แล้วเป็นการรักษาเพื่อตัวผู้ป่วยเอง หรือว่าเพื่อเยียวยาจิตใจของผู้รักษากันแน่ หรือทั้งสองอย่างนี้เป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่ด้วยกันและกันอย่างยากจะแยกแยะออก เราอาจมองว่าการรักษาอาการทางจิตนั้นส่วนหนึ่งคือการ “บังคับ” ให้คนที่มีความคิดเห็นและปฏิบัติตัวแตกต่างจากสิ่งที่สังคมกำหนดว่าเป็นครรลองการใช้ชีวิตที่ดีงามและถูกควร (โดยแปะป้ายให้เขาเป็นคนบ้าหรือคนวิปริตเพียงเพราะเขาทำตัวหรือคิดเห็นแตกต่างจากเรา) ให้กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอยที่สังคมกำหนดไว้และควบคุมมิให้กลับไปแปลกแยกแตกต่างอีก แต่จริงๆแล้วคนที่มีหน้าที่ต้องดึงคนเหล่านี้กลับเข้ามาในสังคมปรกตินั้นล่ะ เขาเชื่อในสิ่งที่ทุกคนมองว่าถูกต้องนั้นแค่ไหน หรือจริงๆแล้วภายในตัวเองก็มีปมหรือความป่วยไข้บางอย่างอันข้องเกี่ยวกับความนอกรีตนอกรอยเหล่านั้น จึงต้องทุ่มเทเยียวยารักษาคนที่ตนคิดว่าเป็นบ้าเหล่านั้นให้หายขาดและกลับมาใช้ชีวิตปรกติให้ได้ หรือถึงที่สุดแล้วเขาอาจจะอยากเป็นหรือครอบครองอาการวิปริตวิปลาสปรวนแปรเหล่านั้นเสียเองก็เป็นไปได้
นอกจากนี้ การได้ดู The Quiet Ones นั้นถือเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจสำหรับคอหนังสยองขวัญอย่างเรามาก เพราะหนัง pay homage หรือบูชาครูให้แก่หนังสยองขวัญเก่าๆมากมาย ถ้าไม่นับหนังสยองขวัญโกธิคและหนังระทึกจิตวิทยาของค่ายแฮมเมอร์เอง (ที่ต้อง tribute ให้แน่ๆอยู่แล้ว) ที่เด่นๆก็คือ The Haunting (1963) ของโรเบิร์ต ไวส์ The Exorcist (1973) ของวิลเลียม ฟรีดกิน และ The Shining (1980) ของสแตนลีย์ คูบริก