Skip to main content
 
 
ข้าพเจ้าไม่มีตัวเลขว่า ช่วงที่ผ่านมามีสนามกอล์ฟในประเทศไทยเจ๊งหรือปิดตัวเยอะไปขนาดไหน มันอาจจะไม่ลดลงไปมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากจะเดาว่ามีแนวโน้มที่จะต้องลดลงไปเรื่อยๆ แน่ๆ
 
คนไทยไม่มีเงิน? ชาวต่างชาติไม่มีบินเข้ามาเล่น? 
 
มีแน่ๆ และมีมาอยู่เรื่อยๆ ทีเดียวล่ะ จากเศรษฐกิจที่ผ่าน ก็พอมองออกว่าคนไทยก็มีเงินกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป คือวิธีคิดเกี่ยวกับการพักผ่อนต่างหาก และการเล่นกอล์ฟซึ่งเป็นหนึ่งในการพักผ่อนยอดนิยมของคนรวย ก็น่าจะโดนผลกระทบชิ่งไปด้วย
 
ข้าพเจ้าไม่ค่อยแน่ใจอีกเช่นกันว่า คนไทยส่วนใหญ่ เล่นกอล์ฟด้วยเหตุผลอะไร แต่อยากจะเดาว่าส่วนใหญ่ ไม่ได้เล่นเพราะมีใจรักจริงๆ จังๆ มากนัก ส่วนใหญ่เล่นเพราะเข้าสังคม การติดต่อธุรกิจ เป็นหน้าเป็นตา และคิดว่ามันคือความหรูหรา ที่จะยกระดับตัวเองได้
 
กอล์ฟ เป็นกีฬาที่มีแง่มุมอะไรน่าสนใจพอสมควร ข้าพเจ้าคิดว่า มันเป็นกีฬาที่ต้องนิ่งมากๆ เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้สมาธิสูงกีฬาหนึ่ง ใครสมาธิไม่นิ่งก็เป๋ไปทุกราย หวดไม่แม่นบ้าง วงสวิงไม่ดีบ้าง ต้องแข่งกับจิตใจตนเองให้มากกว่าแข่งกับคู่แข่ง รับแรงกดดันให้ดี นักกอล์ฟเองก็บอกว่ากีฬาของเค้ามันมีความเป็นศิลปะอยู่สูงมาก ดูไปดูมาก็ไม่ต่างอะไรเลยกับกีฬาเชิงจิตวิญญาณของประเทศฝั่งเอเชียอย่าง มวยจีน ยูโด คาราเต้ ที่เน้นการแข่งกับจิตใจตนเองก่อน จะไปแข่งกับคู่ต่อสู้
 
กอล์ฟ มีความเป็นกีฬาตะวันออก หรือเอเชียสูงมากจนแอบแปลกใจนิดๆ ว่ามันถือกำเนิดที่ยุโรปได้ยังไง กอล์ฟ ไม่ใช่กีฬาเดียวของชาวยุโรปที่ต้องใช้สมาธิสูง ถ้าเราลองไล่นับดู กีฬาอย่าง ยิงธนู เปตอง สนุกเกอร์ หรือเทนนิส (ที่ใช้สมาธิสูงมาก จนการเงียบกริบในสนามของคนดูกลายเป็นมารยาทสำคัญ ไม่ต่างจากโรงหนัง) ก็ใช้สมาธิสูงเหมือนกัน
 
[ ถึงตรงนี้ มีข้อสังเกตชวนคิดต่อ ว่าแต่เดิมกีฬาอย่างเทนนิส มันก็คงเริ่มมาจาก การหวดใส่คู่ต่อสู้อย่างบ้าพลัง โชว์ความเหนือกว่าทางพลังกำลัง ไม่ต่างจากกีฬาเน้นกำลังอื่นๆ ในยุโรป หรือเปล่า? แต่มีการพัฒนาระดับขึ้นมากเรื่อยๆ จนเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ และวอนขอกำลังใจจากคนดูด้วยการหุบปากเงียบแทน ยิ่งลองคิดว่า กีฬานี้แต่เดิมมีการเล่นเฉพาะในวงชนชั้นสูงของยุโรป ซึ่งความนิ่งสงบเยือกเย็นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้ดียุโรปด้วยแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ -- กีฬาเกือบทุกชนิดในปัจจุบันเช่น ฟุตบอล รักบี้การฝึกสมาธิเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไปแล้ว ทั้งๆ ที่แต่แรกดั้งเดิมมันอาจจะแค่ห้ำหั่นเข้าสู้อย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้สมาธิใดๆ ก็ได้]
 
ความจริงแล้วกีฬากอล์ฟ น่าจะถือว่าเป็นกีฬาที่ไม่ต้องมีการนับคะแนนเพื่อมาตัดสินว่าตัวเองชนะหรือ แพ้คู่แข่งก็ได้ มันสามารถเล่นได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องสนใจใคร และไม่ต้องมีคู่แข่ง แข่งกับตัวเองเป็นพอ ข้าพเจ้าแอบคิดพาดพิงเล่นๆ ว่า ดีที่กีฬากอล์ฟ ไม่ได้พัฒนามาในแนวทางเอเชียจนต้องมีจ้าวสำนักนั่น สำนักนี่ อย่างกีฬา มวยจีน ยูโด ที่มักจะมีจ้าวสำนัก และเน้นการฝึกจิตอย่างเข้มข้นตามแบบฉบับศาสนาในเอเชีย ไม่งั้นถ้าจ้าวตำรับสำนัก (นึกหน้าชายแก่ เคราขาว หัวล้านๆ เอาไว้) มาเห็นการพัฒนากีฬากอล์ฟอย่างปัจจุบัน คงมีลุกจากหลุมศพขึ้นมาตบฉาดหัวลูกศิษย์เป็นแน่ 'โว้ย เอ็งจะนับคะแนนแข่งกับคนอื่นทำไม จะมีคนดูมามุงจ้าวเจี้ยวทำไม เราฝึกให้เอ็งพัฒนาจิตใจเพื่อช่วยผู้อื่น ไม่ได้ฝึกให้มาเป็นเซเลป (ดารา)'
 
แต่ก็เพราะการที่มันต้องนำคะแนนมาตัดสินแข่งกับผู้อื่นทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเนี่ยแหล่ะ ที่ทำให้กอล์ฟกลายเป็นเกมส์ไว้เข้าสังคม เหมือนๆ กับกีฬาอื่นๆ ที่ต้องมีการปะทะกับคู่แข่งและมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกันของมนุษย์ขึ้นมาเป็น ปกติอยู่แล้ว (เช่น ฟุตบอล ถ้าเราชนคู่แข่งล้มเราก็จะขอโทษขอโพยดึงมือคู่แข่งลุกขึ้นมา ทั้งๆ ที่เค้าเป็นคู่แข่งและเราอาจไม่ได้อยากทำด้วยซ้ำ แต่กอล์ฟจะไม่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันอย่างว่าเลย) เพื่อจะได้พูดคุยกับคู่แข่งบ้าง โดยไม่เปลี่ยวเหงาเกินไป ได้สร้างสังคมใหม่ขึ้นมา โดยไม่ต้องปลีกวิเวก อย่างรำไทเก๊กฉบับดั้งเดิม (ที่ไม่เหมือนปัจจุบันที่มีกลุ่มอาแปะ อาม่า มารำกันเป็นหมู่และสร้างสังคมเพื่อสุขภาพอย่างทุกวันนี้) และเหมาะจะไว้ให้ชนชั้นสูง ไฮโซมาสังสรรค์เฮฮา ติดต่อธุรกิจกันแคบๆ เฉพาะหมู่ตนอย่างยิ่ง
 
เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยเรามีสนามกอล์ฟเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจบูมเติบโตจนสามารถจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียได้อยู่รอมร่อ จนเข้ามาสู่ยุควิกฤติต้มยำกุ้งอย่างไม่มีใครคาดฝัน คำว่า 'ผุดขึ้นราวดอกเห็ด' ในตอนนั้น นอกจากหมายถึงบ้านจัดสรรและคอนโดฯ (ที่สร้างไม่เสร็จร้างค้างเติ่งเป็นซากมาจนทุกวันนี้) มันก็เอาไว้หมายถึงสนามกอล์ฟเนี่ยแหล่ะ
 
มีคำถาม ขึ้นตรงนี้ว่า ประเทศเราหลงใหลคลั่งไคล้กีฬากอล์ฟกันจริงๆ หรือ? เราคงได้เคยเห็นภาพกีฬากอล์ฟจากข่าวทางทีวีมามากมาย ในรายการแข่งขันกอล์ฟระดับโลกอย่าง PGA Tour หรือ Ryder Cup นั้นเราสามารถเห็นฝูงชนจำนวนมากแห่กันเข้ามาดูถึงขอบสนาม ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเค้ามาดูกันจริงๆ จังๆ หรือเป็นหน้าม้า แต่ที่ทราบคือเราไม่มีทางเห็นภาพฝูงชนเยอะๆ แห่กันมาดูกอล์ฟในเมืองไทยแน่ๆ
 
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาที่ดูยาก กติกาที่ซับซ้อนแต่พองามไม่สำคัญเท่า ระยะเวลาการแข่งขันที่ช่างยาวนานมากเหลือเกิน จนข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าจะมีสมาธิดูจนจบได้อย่างไร (แม้แต่ติดตามดูในทีวีก็เถอะ) โดยไม่หมดความอดทนเสียก่อน
 
สำหรับฝรั่งเค้าคงมีวัฒนธรรมและความอดทนที่สร้างต่อๆ กันมาจนสามารถสร้างผู้ชมให้ตั้งใจติดตามได้ไม่รู้เบื่อ แต่ข้าพเจ้าค่อนข้างเชื่อว่าจะไม่เกิดกับสังคมไทย เพราะข้าพเจ้ารู้สึกเรามีความนิ่งกันค่อนข้างน้อย การจัดศูนย์อบรมนั่งสมาธิตามวัดต่างๆ (หลายๆ แห่งแต่ไม่ทุกแห่ง) หลังจากท่านเจ้าอาวาสเริ่มนำนั่งได้สัก 5-10 นาที ก็จะเริ่มมีคนลุกนั่ง เข้าๆ ออกๆ ไปห้องน้ำบ้าง ไปแก้เมื่อยบ้าง จนข้าพเจ้าแน่ใจว่า คนที่ตั้งใจมาจริงๆ คงจะได้ฝึกความอดทนและตบะที่เป็นเลิศกว่าประเทศใดๆ ประเทศเรานั้นมีความ 'อดทน' เป็นเลิศพอสมควร แต่ไม่ได้มีความ 'นิ่ง' อยู่กับความเงียบสงบสงัด เท่าไหร่นัก
 
ฉะนั้นแล้ว การที่กีฬากอล์ฟบูมขึ้นในสังคมไทย จนธุรกิจนี้สร้างกำไรได้มหาศาลเป็นกอบเป็นกำอาจเป็น 'กระแสชั่วคราว' ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่ามีคนอยู่จำนวนไม่น้อยที่ชอบเล่นและรักมันอย่างจริงๆ จังๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วเล่นเพราะเป็นค่านิยมมากกว่า และค่านิยมนี้ก็อาจจะอยู่ไปอีกนาน ถ้าไม่มีค่านิยมใหม่เข้ามาแทน
 
แต่โลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะหลังมีการพัฒนา คอมพิวเตอร์ มือถือ ถือว่าหมุนเปลี่ยนไวมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ สิ่งที่ฮิตในวันนี้ ปีหน้าก็อาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว กีฬากอล์ฟเอง ก็ดูจะหลีกหนีไม่พ้นเช่นกัน
 
กอล์ฟนั้น ถ้าจะว่ากันเฉพาะในเมืองไทย ส่วนมากจะเล่นกันในหมู่ไฮโซชั้นสูง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง เพื่อหน้าตา และความหรูหรามีระดับ ซึ่งกีฬากอล์ฟเหมาะเหม็งมากกับความมีระดับคู่ควรในยุคนั้นทีเดียว ความหรูหราในยุคนั้นก็เลียนแบบมาจากวงไฮโซผู้ดีฝรั่งนั่นแหล่ะ ที่ต้องการความนุ่มลึกเนิบช้า ดูเท่ห์ดูสง่าประชันกับเพื่อนในวงไฮโซด้วยกัน (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ภาพลักษณ์ของการมีสตางค์จ่ายค่าเล่น การมีแคนดี้คู่ใจ (คนถือไม้กอล์ฟ) ที่เดินทอดน่องช้าๆ เคียงคู่ไปกับเจ้านายในสนามกอล์ฟ ค่อยเป็นค่อยไปค่อยๆ คิด ก็ดูสอดคล้องกับความหรูหราฉบับอุ่ยอ่าย แต่มีภูมิฐาน ในยุคนั้นดีเหลือเกิน แต่ความหรูหรานั้นก็พังทลายลง เมื่อโลกมันได้เปลี่ยนไปแล้ว
 
ในโลกยุค Facebook และ มือถือ iPhone ถ้าจะมามัวอุ้ยอ้ายค่อยๆ คิดเนิบช้าเดินช้า ตามแบบฉบับความหรูหราของผู้ดียุคก่อน ก็คงไม่ทันหากินกาลใดๆ ไม่แปลกใจที่เวลานี้วงการไฮโซ นักการเมือง เวลาจะเรียกนักข่าวมาทำข่าวโปรโมตความสัมพันธไมตรีของตัวเองจะต้องให้ไปที่ สนามฟุตบอล เพื่อไปดูพวกเค้าแข่งฟุตบอลกันแทน จะแข่งกอล์ฟกันแบบเมื่อก่อนแล้ว
 
ถ้าพูดในเชิงเศรษฐกิจ กลุ่มลูกค้าที่มีเงินหนาในยุคก่อนก็คงจะเป็น ไฮโซ คนมีฐานะ ที่ชอบความอุ่ยอ่ายเนิบคิดเนิบช้านั่นแหล่ะ จึงต้องจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกอล์ฟเอาไว้เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มนี้ แต่มาในยุค Facebook และ มือถือ iPhone เศรษฐกิจประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว คนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ลำดับถัดๆ มาต่างหากที่กลายมาเป็นผู้ถือเงินมากไม่แพ้กัน และพวกนี้แหล่ะที่นักธุรกิจ ข้าราชการ ต้องหันไปให้ความสนใจ และต้องสร้างภาพลักษณ์หากิจกรรมทำกับคนหมู่นี้ไว้ให้มาก และกีฬาที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ชินและชื่นชอบเอามากๆ คือฟุตบอล
 
ฟุตบอล โดยเฉพาะสนามเล็กที่เรียกอีกอย่างว่า ฟุตซอล นั้น มีภาพลักษณ์ที่เปรี้ยว ฉับไว ทันสมัยและดูตอบรับกับกระแสชีวิตยุค Facebook และ มือถือ iPhone เอามากๆ ถ้าพอจะสังเกตเห็น เราจะพบว่ามีคนใส่เสื้อกีฬาฟุตบอลออกมาเที่ยวนอกบ้านมากขึ้น โดยไม่ได้เป็นแค่เสื้อนอนหรือผ้าขี้ริ้วอีกต่อไป บางโอกาสก็ยกระดับตัวเองเป็นเสื้อที่เป็นทางการจนถึงสุภาพเอาได้เลย (รายการอ่านข่าวของสรยุทธนั่นเป็นไง) และสนามฟุตซอลนั้นมักเตะกันตอนกลางคืน มีสปอตไลท์ส่องฉาย จนคนขับรถผ่านไปมาอดสงสัยไม่ได้ว่า 'มันมาเตะบ้าอะไรกันตอนเที่ยงคืน' ก็พุดขึ้นมาราวดอกเห็ดไม่แพ้กันกับสนามกอล์ฟในยุคก่อนหน้านั้น
 
ความจริงมีสาเหตุอื่นๆ ปลีกย่อยอีกมากมาย แต่ก็เพียงพอแล้วละ ที่พอจะอธิบายได้ว่า สนามกอล์ฟ เข้าสู่ช่วง 'ดอกเห็ดที่โรยรา' เสียแล้ว
 
อันที่จริง เรื่องความโรยราของกีฬาของชนชั้น 'มีเงิน' ก็เคยมีปรากฎมาแล้วในประวัติศาสตร์ไม่น้อย เท่าที่ข้าพเจ้าพอจะนึกออก ก็เห็นจะเป็น กีฬาขี่ม้าโปโล ถ้าใครเคยดูหนังฮอลลี่วู้ดบ่อยๆ คงจะนึกภาพออก โดยเฉพาะในหนังที่สื่อถึงความเป็นผู้ดีอังกฤษยุควิคเตอเรีย ที่มักจะได้เห็นกีฬาขี่ม้าโปโล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราในยุคนั้นอยู่เสมอ และก็เช่นเดียวกับกีฬากอล์ฟที่กำลังโรยราไป เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ความคิดของคนเกี่ยวกับความหรูหราก็โดนเปลี่ยน
 
ในยุคนั้น สมัยที่ยังไม่มีรถไฟหรือรถยนต์ส่วนตัว ยานพาหนะที่เร็วมากๆ อันหนึ่ง ก็คือม้า นอกจากวิ่งได้เร็วแล้วก็ยังดูเท่ห์ชะมัดยาก ดูมีภูมิฐาน หนักแน่น มีศักดิ์ศรี ยิ่งพันธุ์ที่ดีๆ ฉลาด สวยงามแล้วราคาแพงมาก ไม่ใช่ใครจะมีกันง่ายๆ ก็ไม่ต่างจากสมัยนี้ ที่เรามีรถเบนซ์ บีเอ็ม กันนั่นแหล่ะ และแน่นอนเมื่อโลกใบนี้ผลิตรถยนต์ส่วนตัวขึ้นได้ ความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง ม้ากลายเป็นพาหนะที่เชื่องช้าไปทันตา บวกกับปัจจัยอีกหลายอย่างคนอังกฤษก็ค่อยๆ เริ่มมองเห็นว่ากีฬาขี่ม้าโปโล เป็นกีฬาที่ไม่เท่ห์เฟี้ยวฟ้าวอีกต่อไปแล้ว
 
แต่กีฬาขี่ม้าโปโลก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟนั่นแหล่ะ ยังไงก็ยังมีคนเล่นอยู่แน่ๆ แม้จะน้อยลงมาก ในฐานะของความหรูหราในอดีต ที่คอยให้คนมีสตางค์ทุ่มเทมากพอไปโหยหาเสน่ห์ของมันอีกครั้ง
 
 
 
 
 
หมายเหตุท้ายเรื่อง : น่าสนใจมากว่า กีฬากอล์ฟ ในแง่ยุคสมัยใหม่ที่มีการรณรงค์กันเรื่องโลกร้อนกันอย่างหนาหูแล้ว มันเป็นกีฬาที่สิ้นเปลื้องเอามากๆ ทีเดียว ไหนจะพื้นที่ในยุคใหม่ ที่ต้องแบ่งสรรเพื่อประโยชน์ส่วนสาธารณะ ไหนจะการบำรุงที่ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อคนไม่กี่คน (แม้จะบอกว่าเป็นเงินของคนมาเล่นก็เถอะ) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวนอกเหนือจาก 'วิกฤตโรยราของสนามกอล์ฟ' ที่น่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

บล็อกของ วงศกร ชัยธีระสุเวท

วงศกร ชัยธีระสุเวท
โดย : วงศกร ชัยธีระสุเวท 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  ข้าพเจ้าไม่มีตัวเลขว่า ช่วงที่ผ่านมามีสนามกอล์ฟในประเทศไทยเจ๊งหรือปิดตัวเยอะไปขนาดไหน มันอาจจะไม่ลดลงไปมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากจะเดาว่ามีแนวโน้มที่จะต้องลดลงไปเรื่อยๆ แน่ๆ 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  'อัจฉริยะเกิดจาก พรสวรรค์ 1% และ พรแสวง 99%'
วงศกร ชัยธีระสุเวท