Skip to main content

 

 

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ห่างหายไปจากชีวิตของข้าพเจ้านานมากๆ แล้วและทุกทีที่เฉียดก็ไม่เคยคิดที่จะหยิบจับด้วยวัยและความสนใจที่เปลี่ยนไปมากพอสมควร

'ขายหัวเราะ' ยังคงเป็นหนังสือหรือนิตยสารรายสัปดาห์ที่ติดลมบนและทำยอดขายถล่มทลายมากที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศ และน่าจะเป็นการ์ตูนเพียงเล่มเดียวของ ประเทศแถวอาเซียนเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ได้ขึ้นทำเนียบถูกเก็บเข้าไปไว้ในพิพิธภัณฑ์มังงะ (มังงะ หมายถึง การ์ตูน) ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยลายเส้นที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่เหลือไม่มีการ์ตูนเลย แต่ลายเส้นของเค้านั้นไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะไปลอกญี่ปุ่นจ้าวตำรับการ์ตูนในเอเชียมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนญี่ปุ่นเองก็คงไม่ใคร่อยากเก็บการ์ตูนที่เหมือนๆ อย่างที่ตัวเองมีเกลื่อนอยู่แล้วเท่าไรนัก)

คนไทยทั่วๆ ไปอาจเห็นขายหัวเราะเป็น การ์ตูนตลกราคาถูกไว้แก้เครียดไปวันๆ เท่านั้น แต่ความจริงแล้วหน้าที่ของมันยังมีมากกว่านั้นมาก การ์ตูนขายหัวเราะนั้นถูกจัดให้อยู่ ในประเภทการ์ตูนล้อเลียน ทางวัฒนธรรม สังคม แกมด้วยการเมืองบ้างเล็กน้อย ซึ่งประเทศไหนๆ ก็มีกันทั้งนั้น (แต่ส่วนใหญ่อาจจะซุกซ่อนอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์คอลัมม์พิเศษ มากกว่าพิมพ์มาเป็นเล่มพ็อตเกตบุ๊ค) และการ์ตูนประเภทนี้ มันไม่ใช่แค่ล้อเลียนใครก็ได้ไปเรื่อยเปื่อย แต่หน้าที่ของมันนั้น ถือเป็นภารกิจที่ต้องจริงจังและทำประโยชน์มหาศาลให้แก่ประเทศชาติได้เลย

ยาม ที่เหนื่อยจากหน้าที่การงาน เราก็มักจะพักดูข่าวจากทีวี หรือนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ โดยคิดว่าจะหาอะไรเพื่อแก้เครียดได้ แต่หลายครั้งยิ่งอ่านยิ่งดูไป ก็กลับพบว่ามีแต่ข่าวเครียดๆ หรือข่าวอะไรประหลาดๆ ทำให้ต้องร้องอุทานและมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวเสมอว่า 'เกิดอะไรขึ้นกับสังคมฉันกันแน่เนี่ย' ซึ่งนั่นอาจยิ่งทำให้เครียดกว่าเดิมเข้าไปใหญ่ ฉะนั้นแล้วหน้าที่แก้เครียดนั้นอาจต้องตกมาอยู่กับการ์ตูนล้อเลียนอย่างเลี่ยงหลีกไม่ได้

ขายหัวเราะนั้นได้หยิบจับเรื่องราว ธรรมชาติของมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์ ที่พร้อมจะทำเรื่องน่าอาย เพ้อฝัน พิสดารเกินจริง ผิดบาป ผิดกฎหมาย มาทอดถ่าย และเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนเป็นเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเล่าสู่กันฟังอยู่เสมอ มันคือตัวแทนของการระบายความอัดอั้นที่เราอยากจะบ่น อยากจะแชร์เรื่องราวที่เรารู้เห็นกันทั่วไปในสังคมของเรา แต่ทำอะไรกับมันไม่ได้ หรือไม่รู้จะทอดถ่ายมันออกมาอย่างไรดี

ฉะนั้นการออกมาวางแผงสัปดาห์ละครั้งของมัน จึงทำหน้าที่ระบายความเครียดเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม-สังคม-การเมือง ในสังคมไทย ได้สูงมากไม่แพ้ การปรากฎตัวแสดงทอร์คโชว์เดี่ยวไมโครโฟนปีละครั้งของ โน้ส-อุดม เลยทีเดียว แต่คูณูปการประโยชน์ของมันต่อประเทศไทย ที่ข้าพเจ้าค้นพบยังมีมากกว่านั้น

เป็นที่รู้กันดีว่า เอาเข้าจริงแล้ววิถีชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมาในเมืองอย่างข้าพเจ้า มักจะมีเงินพอให้จับจ่ายใช้สอยอย่างเหลือเฟือจนมองข้ามการ์ตูนไทยเล่มราคา 12-15 บาทอย่างขายหัวเราะนี้ไปอย่างรวดเร็ว เพื่อควานหาการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายกว่ามาก จนโอกาสที่จะได้ซื้อการ์ตูนอย่าง 'ขายหัวเราะ' เป็นไม่มี นอกจากนานๆ ครั้งเท่านั้นที่จะได้ไปเยือนร้านตัดผม หรือร้านอาหารบางแห่งที่มีบริการหนังสือให้อ่านรอแก้เซ็ง

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าก็ได้สัมผัส 'ขายหัวเราะ' อีกครั้ง หากแต่อ่านมันด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป จากเด็กคนหนึ่งที่เคยขำอย่างคุ้มค่าจำน วน 12 บาทอยู่หลายมุก จนเติบโตมาได้อ่านใหม่ ก็ตกตะลึงในความลุ่มลึกทางความคิดของผู้เขียน จนต้องสถบกับตัวเองว่า 'ตายๆ เหตุฉะไหน ขายหัวเราะ จึงยังไม่ได้รับการตั้งแต่เป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทยเสียทีเนี่ย'

ข้าพเจ้ารู้สึกสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทยควรจะกระทำมานานมากๆ แล้วก็คือ การมอบรางวัล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมไทยดีเด่นให้ แก่ ทีมงานการ์ตูน 'ขายหัวเราะ' ถ้าทางกระทรวงเกิดถามขึ้นมาว่า มีเหตุสมควรอันใด ที่จะต้องมอบให้รึ? ข้าพเจ้าจะรีบโบ้ย ให้ไปถามฝรั่งตาน้ำข้าว ผู้สนใจศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นโดยด่วนทันที

สิ่งที่หลายๆ คนไม่ค่อยรู้คือ การ์ตูน 'ขายหัวเราะ' นั้น นอกจากประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปเป็นตลาดผู้ซื้อกลุ่มใหญ่แล้ว ก็ยังมีตลาดอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญแม้จะไม่เยอะก็ตามคือ ฝรั่ง ... ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด โดยเฉพาะฝรั่งหรือชาวต่างประเทศชาติอื่นๆ ที่สนใจศึกษาภาษาไทยเป็นความรู้ติด ตัว เหตุผล ก็ไม่มีอะไรพิสดาร หากแต่เป็นเพราะว่า มันอ่านง่าย เข้าใจง่าย กะทัดรัด มีภาพประกอบ ทำให้เรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็ว แต่นั่นไม่ใช่ใจความหลักที่ข้าพเจ้าอยากให้กระทรวงวัฒนธรรมได้ยิน

          --- 'ไอว่านอกจากมันอ่านง่ายสนุกแล้ว สิ่งที่ประเทศของ ยู ควรต้องกลับไปศึกษาจากขายหัวเราะคือ วัฒนธรรมของตัวละครในเล่ม มันโคตร 'ไทย' เลยว่ะ ไอ เคยอ่านใบโบชัวร์แนะนำว่าประเทศไทย มีวิถีชีวิตดีงามนู้นนี้ ไอ คิดว่าแม้มันจะมีจริงก็ตามแต่มันก็ ไม่ใช่ทั้งหมด พฤติกรรมของคนไทยตามหมู่บ้านที่ ไอ สัมผัสมาจริงๆ น่ะเป็นเหมือนที่ใน ขายหัวเราะ บอกเปี๊ยบเลย แต่ไม่ยักกะมีหนังสือเกี่ยวกับสังคมไทยเล่มไหนในประเทศนี้บอก ยู เลยว่าอันนี้แหล่ะ คือของจริง' ---

จากวันนั้นถึงวันนี้การ์ตูน 'ขายหัวเราะ' โลดแล่นอยู่ในหน้าแผงนิตยสารไทยมากว่า 50 ปีเข้าไปแล้ว ขึ้นชื่อว่ามุกของตัวละครเป็นเรื่องของวัฒนธรรม วัฒนธรรมของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การที่จะทำให้ยอดขายไม่ตกก็ต้องปรับปรุงมุกที่จะวาดออกไปตลอดเวลาเพื่อมาสนอง คนอ่านเช่นกัน ฉะนั้นทีมงานการ์ตูนขายหัวเราะ ก็คงจะสะสมคลังความรู้เรื่อง วิถีชีวิต วัฒนธรรม แบบ 'ไทยๆ' ไม่น้อย แม้มันจะไม่ใช่ด้านดีที่จะสามารถเอาไปอวดใครๆ ได้ก็ตาม

ถ้าเราอ่านอย่างตรงไปตรงมาไม่คิดอะไรมาก มันก็คือหนังสือที่รวมความเป็นธรรมดาสามัญหลายอย่างของมนุษย์ที่ใครๆ ก็อาจเผลอพลาดไปทำตามอย่างการ์ตู นนั้นได้ มาให้เราได้ขำขันเฮฮากัน แต่ถ้าจะมองมันในอีกมุมหนึ่งให้ลึกขึ้น หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่าเป็น 'สารานุกรมวัฒนธรรมคนไทย' ที่แหวกแนวไปกว่าเล่มไหนๆ คงจะไม่เกินเลยมากนัก ที่จะบอกว่า ขายหัวเราะ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม-สังคมไทยร่วมสมัย (ที่โดนมองข้าม) ตัวจริง

เราเองนั้นก็ควรจะต้องกลับไปอ่าน ขายหัวเราะ ใหม่ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปคือ เรื่องราวที่ถูกนำมาถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้นั้น 'โคตรจะเป็นไทย' กว่าโบชัวร์หรือหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวประเทศไทยเล่มไหนๆ คนไทยนั้นก็เหมือนชาติ อื่นๆ มีทั้งด้านดีที่น่าชมอย่างยิ่งและมีทั้งด้านเสียที่น่าจะต้องปรับปรุงกันต่อไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเมื่อต้องพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นแล้ว ก็มักจะปิดตาเลือกรับรู้แต่ด้านดีอยู่เสมอ (หลายครั้งก็เป็นด้านดี ที่มาจากการสร้างจินตนาการกันขึ้นมาเอง แล้วก็เอออ่อกันว่าจริงไปในท้ายที่สุด)

ไม่ใช่เพียงแค่ ขายหัวเราะ ... ละครน้ำเน่าของไทยหลายเรื่องก็ฉายภาพวิถีชีวิตแบบไทยๆ ได้อย่างโดดเด่นมาก หรือแม้กระทั่งรายการทีวีที่นำเสนอเรื่องจริงบ้างโม้บ้างผ่านวิถีชีวิตของชาวบ้านกับตำรวจ ไทยได้อย่างขำขันสุดๆ อย่าง 'คดีเด็ด' ก็ตาม การแอบส่องผู้หญิงเข้าห้องน้ำเอย วงเหล้าเอย ขาไพ่เอย หาเลขเด็ดขอหวยเอย ซ่องโสเภณีเอย

เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในเมืองไทยอย่างที่เราๆ ท่านๆ เองก็ล้วนรู้กันดีอยู่ แต่บางทีก็เลือกที่จะมองข้ามในการศึกษามันอย่างจริงๆ จังๆ และหลายทีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเองก็ปฏิเสธมันไปอย่างสิ้นเชิ

ปราชญ์ด้านการพัฒนาสังคมกล่าวไว้ว่า รากฐาน การพัฒนาประเทศที่ดีนั้นอันดับแรก สุดคือ ต้องยอมรับความเป็นจริงตามที่มันเป็นอยู่ก่อน ทุกๆ ประเทศก็ล้วนแต่มีด้านแปลกๆ อัปลักษณ์ให้ต้องปกปิด และไม่ควรนำมาขึ้นโบชัวร์การท่องเที่ยวด้วยประการทั้งปวงเหมือนๆ กันทั้งสิ้น แต่ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมหรือผู้ใหญ่ในประเทศทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่กล้าจะเปิดใจยอมรับ การวิจัยเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาอย่างรอบครอบรัดกุมก็คงไม่เกิด เมื่อมันไม่เกิด เราก็คงพัฒนาสังคมไปอย่างสะเปะสะปะ เกาไม่ถูกที่คัน และก็ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสังคมซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น

ลายเส้นของการ์ตูน 'ขายหัวเราะ' เป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังต้องทึ่งนั้นไม่มีข้อสงสัยเป็นแน่ แต่สิ่งที่โดดเด่นและสำคัญกว่าคือ story และการเล่าเรื่อง พฤติกรรมของตัวการ์ตูนขายหัวเราะนั้นแม้จะทำให้เราต้องอายกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยก็ตาม แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับและยึดอกภูมิใจไม่น้อย ว่าอย่างน้อยก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่หลอกตัวเอง จับจุดด้อยพลิกขึ้นมาเป็นจุดแข็ง จนทำให้ชาวญี่ปุ่นยอมรับได้

ลองคิดดูเล่นๆ ถ้ากลุ่มทีมงานหัวเราะหลอกตัวเอง ด้วยการจับเรื่องราว การไหว้ การยิ้ม ประเพณีอันแสนดี ที่กระทรวงวัฒนธรรมพร่ำบอกกันเสมอๆ ในโบชัวร์ มาเขียนเป็นการ์ตูนมันจะเป็นยังไง ... การ์ตูนเล่มนี้ก็คงไม่มีทางได้ขึ้นทำเนียบพิพิธภัณฑ์มังงะ เป็นแน่ มันคงจะน่าเบื่อ จืดชืด ไม่สนุก และไม่ชวนขำเอาเสียเลย ชื่อเค้าก็บอกอยู่แล้วนิว่า ขายหัวเราะ เราลองมาหัวเราะให้กับความอัปลักษณ์ของประเทศไทยกันหลายๆ ครั้งดีมั้ย การขำตัวเอง อาจเป็นก้าวแรกของการยอมรับความเป็นจริง และอาจทำให้สิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็นอยู่ต่างๆ มันดูดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

 

หมายเหตุ: (ฉบับปรับปรุงแก้ไข จากการตีพิมพ์ครั้งแรกใน Way Magazine ฉบับที่ 55)

บล็อกของ วงศกร ชัยธีระสุเวท

วงศกร ชัยธีระสุเวท
โดย : วงศกร ชัยธีระสุเวท 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  ข้าพเจ้าไม่มีตัวเลขว่า ช่วงที่ผ่านมามีสนามกอล์ฟในประเทศไทยเจ๊งหรือปิดตัวเยอะไปขนาดไหน มันอาจจะไม่ลดลงไปมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากจะเดาว่ามีแนวโน้มที่จะต้องลดลงไปเรื่อยๆ แน่ๆ 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  'อัจฉริยะเกิดจาก พรสวรรค์ 1% และ พรแสวง 99%'
วงศกร ชัยธีระสุเวท