Skip to main content

 

เมื่อพูดถึงคำว่า 'ภาษาเทพ' คงมีคนอย่างน้อย 2 กลุ่ม ที่นึกภาพต่างกันออกไป

กลุ่มแรก ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีวิถีชีวิตคุ้นเคยกับ ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าที่เจ้าทาง

ส่วนคนกลุ่มหลัง เป็น กลุ่มคนที่อยู่ในวิถีชีวิตเมืองสมัยใหม่ ที่มีความเชื่อทางศาสนาน้อยลงไปทุกที แต่กลุ่มหลังนี้กลับจะมีคนที่เข้าข่ายนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ว่าด้วยกลุ่มแรกก่อน ภาษาเทพนั้น ถ้าว่าตามอย่างที่คนกลุ่มนี้คนเชื่อแล้ว เป็นภาษาที่ร่างทรง เอาไว้ติดต่อ กับเทพที่มาลงองค์ประทับ อย่างที่หลายเคยเห็นของจริงบ้าง เห็นตามคลิปข่าวบ้าง เมื่อเรี่มพิธี เจ้าทรงก็จะเริ่มบนบานตามกระบวนการ และก็จะตามมาด้วยท่าทีบางอย่างที่บอกเป็นสัญญาได้ว่าเทพลง เทพเข้าแล้ว เช่น ตัวสั่น ตัวชัก แล้วสุดท้าย เราจะแน่ใจว่าเทพท่านลงจริงก็ต่อเมื่อ ภาษาที่ร่างทรง พูดกับเราเมื่อกี้ กลายเป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ ฟังไม่ได้ศัพท์ไปเสียแล้ว

ภาษาเทพที่ว่านี้ ก็ไม่มีใครบอกถูกว่า เป็นของจริงหรือไม่ ก็ต้องอาศัยตามแต่ศรัทธา ของผู้ที่เข้าหรือเคยร่วมพิธีว่าจะเชื่อหรือเปล่า แต่อย่างน้อย ผู้ที่เข้าร่วมโดยมาก ก็มักจะเชื่อไว้ก่อนเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่ไม่ว่าจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ (เพราะว่าบางคน ก็ตามมาดูร่างทรง เพราะว่าอยากดูของแปลกเฉยๆ ไม่ได้ศรัทธาอะไร) ภาษานี้มีอิทธิพลสูงมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะในด้านดี หรือลบ

ภาษาเทพนั้น ว่ากันตามตรง เป็นภาษาที่ไม่มีใครสามารถเข้าใจ ฉะนั้นพูดอะไร ก็พูดมาเถิด มันได้กลายเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ตรวจสอบไม่ได้ไปเสียแล้ว ฉะนั้นร่างทรงที่พูดมั่วก็มีสิทธิ์หลอกชาวบ้านได้อย่างน่าเชื่อถือ พอๆ กับร่างทรงที่พูดจริง (ถ้าเทพท่านมีจริง ตามที่พวกเขาเชื่อ) และสามารถพูดอะไรให้กำลังใจผู้ที่เข้าร่วมพิธีได้ เช่น ถูกหวยแน่นอน เป็นมะเร็งแต่หายแน่นอน แม้ว่า เทพท่านอาจจะไม่ได้พูดอย่างนั้นจริงๆ แต่ร่างทรงก็อาจพลิกคำพูด เพื่อให้ดูดี ก็เพราะมันตรวจสอบไม่ได้ พูดอะไรมาเค้าพร้อมจะเชื่อหมดแหล่ะ

ที่ว่ามีอิทธิพลสูงนั้น ก็เพราะว่า กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับมนุษย์โลกผู้ที่หาความแน่นอนอะไรในชีวิตได้ยาก ทุกคนย่อมมีสิ่งไม่คาดฝันเข้ามาในชีวิต เช่น ถูกไล่ออกจากงาน บ้านไฟไหม้ ชีวิตคู่ไม่สมหวัง ฉะนั้น การไปพึ่ง 'ภาษาเทพ' ไม่ว่าทางไหนก็ตาม (รวมถึง หมอดูด้วย) ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จรรโลงสังคมเราไว้ ให้มีความหวังและสร้างชีวิตที่มีความหมายขึ้นต่อไป

แต่แน่นอน ด้านเสียของมันก็มีไม่น้อย ถ้าสังคมนั้น จะยินยอมเสพ 'ภาษาเทพ' ให้รื่นหูเรื่อยไป โดยไม่ยอมกลับมานั่งวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ควรจะแก้ ความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิตนั้น ควรจะทำอย่างไรบ้าง เช่น อยากรวย แทนจะ ไปถามร่างทรง ว่าหวยจะออกเลขอะไร ก็ควรจะไปปรับปรุงชีวิตตามหลัก ที่พระ (หรือศาสนาใดๆ ก็ตาม) ท่านสอนจะดีกว่า

สิ่งที่ ภาษาเทพ ในแบบที่คนกลุ่มแรกรู้จัก เห็นจะขาดไปนั้น น่าจะเป็น ความเป็นวิทยาศาสตร์นั่นเอง

วงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (โดยเฉพาะหลังการประกาศทฤษฏีอันลือลั่นของ ไอน์สไตน์) เริ่มเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สิ่งเหนือธรรมชาติคงจะมีอยู่จริง ฉะนั้นจึงไม่ ปฏิเสธการทำบุญ ไม่ปฏิเสธศาสนา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็น่าจะเป็นศาสนา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีหลักวิทยาศาสตร์กำกับตรวจสอบคู่ไปด้วย

มิฉะนั้น เราก็คงจะกลับไปเหมือน ศาสนาคริสต์ ในยุคกลาง (ยุคมืด) ที่ว่าหลอกให้ผู้คนซื้อใบไถ่บาป จนศาสนาเสื่อม

ส่วนภาษาเทพ ตามนิยามของกลุ่มที่ 2 นั้นแตกต่างจาก กลุ่มแรกไกลโขเลยทีเดียว เป็นกลุ่มที่รับเอาความเป็น วิทยาศาสตร์มาเต็มๆ จนศาสนาชักจะห่างตัวไป ทุกวันๆ หรือเป็นความเข้าใจที่เกิดในยุคสมัยใหม่ (Modern) นั่นเอง

ข้าพเจ้าเองนั้นก็เติบโต ขึ้นมากับคนกลุ่มนี้ ฉะนั้นแต่ตั้งเด็กๆ มาก็ได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ เสียแล้ว  คำว่า 'ภาษาเทพ' ตามความหมายรูปแบบใหม่นี้ไม่ใช่คำที่ คนวัยทำงาน ผู้ใหญ่ หรือครูภาษาไทยที่ไหนเป็นคนสร้าง แต่เป็นกลุ่มเด็กๆ ประถม มัธยม หัวเกรียนนี่แหล่ะ

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เราต้องลองแยกคำออกมาดูก่อน คำว่า 'เทพ' ในสังคมสมัยใหม่นี้ ก็ไม่ใช่ผีสางเทวดาที่ไหน หากแต่มันหมายถึง คนธรรมดาทั่วไป ที่ทำอะไรเก่งมากๆ ท่ามกลางผู้คนธรรมดาๆ ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน จนเพื่อนฝูง หรือคนที่นิยมนับถือในความสามารถ แต่ตั้งฉายาว่า ไอ่เทพ

ส่วนคำว่า ภาษาเทพ นั้น ก็อาจจะระบุลงไปได้ยากว่า มาจากไหน แต่ข้าพเจ้าจะขอลองสันนิษฐานเอาคร่าวๆ ว่ามีที่มา 2 ทาง (และอาจจะเป็นไปได้มากกว่านั้น)

ทางแรก เด็กไทยรุ่นใหม่เติบโตมากับการ์ตูนของญี่ปุ่น ค่อนข้างมาก เป็นที่รู้กันดีว่าการ์ตูนญี่ปุ่นมีอิทธิพลในสังคมไทยมากกว่าการ์ตูนฝรั่งขนาดไหน ตัวละครการ์ตูนญี่ปุ่นมีลักษณะอยู่อย่าง ที่ไม่เหมือนกับการ์ตูนฝรั่งเลยทีเดียว คือ แม้การ์ตูนทั้ง 2 ชนิดนั้นแฝงเรื่องเทพไว้เหมือนกัน แต่ญี่ปุ่นจะแฝงไว้อยู่สูงกว่ามาก (ด้วยความเชื่อจิตวิญญาณแบบตะวันออก หรืออะไรก็ตาม) ในขณะที่เทพฝรั่ง ปรากฏอยู่ในการ์ตูนฝรั่งน้อยเสียเหลือเกิน เว้นแต่เนื้อเรื่องจะย้อนกลับไปสมัย อียิปต์ หรือกรีก จริงๆ

การ์ตูนแบบญี่ปุ่นนั้น แม้เนื้อเรื่องจะเป็นสมัยปัจจุบัน ตัวละครมีรถ มีมือถือใช้ แต่ก็ยังแฝงความเชื่อเรื่อง เทพที่เหนือมนุษย์เข้ามาเนื่องๆ เช่น เทพเซียนเต่า เทพไคโอชิน ขบวนการไอ่มดแดง อุลตร้าแมน เองที่แท้แล้วก็คือ เทพ แบบหนึ่งนั่นแหล่ะ ส่วนการ์ตูนฝรั่ง ที่ดูเหมือนเทพ อย่าง ซุปเปอร์แมน สไปร์เดอร์แมน แม้จะดูเหมือนเทพมาก แต่ความจริงแล้ว ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ทลายขีดจำกัดของตนเอง บวกด้วยพลังวิทยาศาสตร์แบบสุดโต่ง (สารเคมีอัดเข้าไปในร่างกาย) ที่ฝรั่งเชื่อจะว่าจะสร้างสรรค์โลกนี้ให้สงบสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเทพเข้ามาเกี่ยว

แม้ในการ์ตูนญี่ปุ่น ตัวละครที่เป็นมนุษย์ธรรมดากับเทพ จะคุยกันด้วยภาษาคนอย่างรู้เรื่อง แต่อย่างน้อย เราก็ได้ซึมซับว่า เทพมีอยู่จริงแยกออกจากกลุ่มมนุษย์อย่างสิ้นเชิง (เช่นอาจเป็นมนุษย์ต่างดาว ทำนองนั้น) จึงน่าจะต้องมีภาษาของตนเอง เช่นการปล่อยพลังท่าไม้ตายที่ต้องท่องบ่นเป็น 'ภาษาเทพ' เสียก่อนจึงปล่อยมาปราบตัวโกงได้ และตัวละครที่เป็นมนุษย์นั้นก็ไม่ได้ติดต่อกับเทพอย่างง่ายๆ บางครั้ง หนทางที่ยากลำบากกว่าจะได้ติดต่อกับเทพนั่นแหล่ะ คือ ภาษา หรือวิถี ที่ต้องฟันฝ่า เพื่อจะได้ติดต่อกับเทพนั่นเอง

ทางที่สอง เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่โตมากับ ยุคคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นจะมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่จะได้มีโอกาสเรียนทางสาย การเขียนโปรแกรม เช่น ภาษา C ซึ่งความจริงแล้ว ก็คงจะไม่ยากจนเกินความสามารถมนุษย์ถ้าได้ร่ำเรียนมา แต่ด้วยความที่ไม่จูงใจให้ผู้คนทั้งหลายเรียนด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม และด้วยความที่มีอักขระภาษาอังกฤษบวกด้วยตัวเลข ชวนตาลาย เต็มไปหมด แล้วดูจะสื่อสารกับใครไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่กับคอมพิวเตอร์ (ชวนนึกถึงร่างทรงที่ใช้ภาษาติดต่อแค่เหล่าเทพได้พวกเดียวเท่านั้น) ก็ชวนทำให้คนที่ไม่ได้เรียนมาอดแซวไม่ได้ว่า มันคือ 'ภาษาเทพ' แท้ๆ เลย (รวมไปถึง ภาษาคณิต สมการวิทยาศาสตร์ยากๆ ด้วย)

นอกจากนี้คนกลุ่มที่เรียนมานี้ ก็ยังยึดกุมความศักดิ์สิทธิ์ไว้เสียด้วย โลกเราทุกวันนี้ หาคนที่ไม่เคยแตะคอมพิวเตอร์เลยได้น้อยลงไปทุกวันแล้ว ฉะนั้นรูปร่างหน้าตาโปรแกรมต่างๆ ที่เราใช้อยู่เป็นประจำ แม้ความจริงมันจะเป็นสิ่งที่สะดวกที่สุดสำหรับให้เราใช้ได้ง่ายก็ตาม แต่ถ้าจะมองแบบสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง เจ้าคนทำโปรแกรมทั้งหลาย ก็ยึดกุมความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมไว้ ไม่ให้เราเข้าไปแก้ไขอะไรง่ายๆ ให้เดินไปตาม 'ภาษาเทพ' ที่เค้าเขียนขึ้นมาได้เหมือนกัน

ถ้าใครเคยเห็นภาษาโปรแกรม ที่ Programmer เขียนขึ้นมา ก็คงเคยนึกเล่นๆ อยู่ในใจว่า มันยุ่งเหยิงชุลมุน ชวนเวียนเกล้าเสียเหลือเกิน แค่ดูเฉยๆ ยังไม่ทันได้อ่าน ก็ชวนให้นึกสยบยอมเสียแล้ว ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากภาษาโบราณที่หาคนอ่านเป็นได้ยาก เช่น พวกภาษาในจารึกเก่าๆ ทั้งหลาย ที่มีสภาพเป็น 'ภาษาเทพ' มานานแล้ว

ทุกวันนี้ ภาษาเหล่านั้นไม่ได้มีหน้าที่สื่อสารพูดคุย กันอีกแล้ว แต่มีหน้าที่ ไว้ให้สยบยอม กราบไหว้เสียจะมากกว่า เช่น เวลาเราไปเจอผ้ายันต์ ที่เขียนภาษาขอมโบราณ เราก็มักจะกราบไหว้ ยกไว้เป็นของสูงไปทันที โดยยังไม่ทันจะรู้ความหมายว่าเค้าต้องการสื่ออะไร ภาษาในผ้ายันต์ เกือบทั้งร้อยนั้น ก็มักจะเป็นคำที่มีความหมายในเชิงมงคลอยู่แล้ว เป็นสิ่งไม่น่าหนักใจอะไร แต่สิ่งที่น่าหนักใจนั่นก็คือ บางครั้ง ภาษาเหล่านี้ ก็ไปอยู่ในหน้ากระดาษเก่าๆ โบราณอายุอานามกว่าร้อยปี เราเห็นอักษรมันดูขลังๆ ดีก็กราบไหว้ไว้ก่อนแบบงมงาย ทั้งๆ มันอาจจะเขียนว่า ขี้หมาเน่า ก็เป็นได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้นึกถึงคือ โน้ตดนตรี ถ้านิยามกันจริงจังแล้ว บางคนก็จัดให้ โน้ตดนตรี นับเป็นภาษาได้เหมือนกัน ในฐานะที่มันใช้สื่อสารอะไรบางอย่างได้ ในบ้านเมืองอื่นนั้น ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่ในเมืองไทย ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว คนที่อ่านโน้ตดนตรีเป็นอย่างจริงๆ จังๆ ก็นับว่าไม่มากเท่าไหร่ จนบางครั้งเจ้าโน้ตดนตรีนี้ ก็อาจเคลื่อนย้ายฐานะของมันจากภาษาธรรมดาที่ใครก็อ่านได้ (ถ้าฝึก) ไปเป็น 'ภาษาเทพ' เสียแล้ว ใครอ่านและเล่นมันได้คล่อง ก็นับได้ว่าเท่ห์และเทพ โปสเตอร์หรือรูปถ่ายต่างๆ ถ้าอยากให้ชวนอภิรมย์ นอกจากเปลี่ยนสีเปลี่ยนแสงแล้ว การตัดต่อใส่โน้ตดนตรีเข้าไป ก็ชวนให้ดูขลัง ในแบบอ่อนนุ่มละมุนได้เหมือนกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นภาษาเทพ ในแบบเก่าหรือแบบใหม่ ทั้งสองแบบนั้น ก็ยังคงทำงานตามความหมาย ที่ยังมีคนใช้หยิบใช้งานมันอยู่เรื่อยๆ เพราะภาษาก็ต้องมีหน้าที่รับใช้คนในการสื่อสารอยู่แล้ว ถ้าอ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นมา ดูเผินๆ เหมือนจะสรุปชวนให้เชื่อว่าภาษาเทพในแบบแรก มีแนวโน้มว่าคนจะใช้น้อยลง ตามวิถีชีวิตเทคโนโลยี แต่ก็เชื่อได้ไม่สุด การ์ตูนญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ต่อให้ชีวิตสมัยใหม่จะศิวิไลซ์อย่างไร ในจิตวิญญาณลึกๆ พวกเค้าก็ยังเชื่อและฝากความหวังในตัวเทพ ที่เหนือมนุษย์อยู่ ไม่ว่าเทพนั้นจะเป็นมนุษย์ต่างดาวจริงๆ หรือคนธรรมดาที่มีบารมี (Charisma) พอจะให้ฝากความหวังได้ ฉะนั้นจึงยังคงต้องมี ภาษาเทพ ไว้แยกจากภาษาคน เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า เทพมีอยู่จริง

เทคโนโลยี เอาเข้าจริง คนคลั่งมันมากๆ จนไม่เชื่อ ศาสนาเลย ไอ่เจ้าตัวเทคโนโลยี นั่นแหล่ะ ก็คือเทพเจ้าของพวกเขา เมื่อมีความคาดหวัง อยากจะเชื่อมั่นในอะไรบางอย่าง เทพไม่ว่าจะในรูปแบบใด ก็ย่อมต้องลงมาช้อนใจมนุษย์ให้มีความหวังขึ้นมา เพื่อรอสร้างชีวิตที่ดีกว่า

เทพ จะมีอยู่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่มนุษย์โลกธรรมดาๆ ที่ล้วนแต่ยังคงมีทั้งวันที่จิตใจเข้มแข็ง และวันที่จิตใจที่บอบบาง ภาษาเทพ ยังเป็นความหวังน้อยๆ ไม่ต่างจากกำลังใจดีๆ จากคนที่เราสนิท แม้รู้ว่าพูดไป มันจะจริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ตาม

บล็อกของ วงศกร ชัยธีระสุเวท

วงศกร ชัยธีระสุเวท
โดย : วงศกร ชัยธีระสุเวท 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  ข้าพเจ้าไม่มีตัวเลขว่า ช่วงที่ผ่านมามีสนามกอล์ฟในประเทศไทยเจ๊งหรือปิดตัวเยอะไปขนาดไหน มันอาจจะไม่ลดลงไปมากเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากจะเดาว่ามีแนวโน้มที่จะต้องลดลงไปเรื่อยๆ แน่ๆ 
วงศกร ชัยธีระสุเวท
  'อัจฉริยะเกิดจาก พรสวรรค์ 1% และ พรแสวง 99%'
วงศกร ชัยธีระสุเวท