โดย : วงศกร ชัยธีระสุเวท
มีการวิเคราะห์ และรณรงค์ต่อต้านกันมาหลายทีแล้วกับระบบ SOTUS ที่เกิดขึ้นในแวดรั้วมหาวิทยาลัยไทยข้าพเจ้าจึงขอลองวิเคราะห์และให้มุมมองที่ต่างออกไปอีกสักทีหนึ่งว่า มันมีวัฒนธรรม ความสอดคล้องเชื่อมโยงอะไรที่เกิดขึ้นกับระบบนี้บ้าง
1. เกริ่นนำ
มีผู้ให้ข้อมูลมากมายว่า ระบบนี้เกิดจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษบ้าง มหาวิทยาลัยในอเมริกาบ้าง รวมไปถึงผ่านเข้ามาโดยมารับจากมหาวิทยาลัยของฟิลิปปินส์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลก มันจะเผยแพร่เข้ามาอย่างได้ผลไปไม่ได้ ถ้าสังคมที่รับมานั้นๆ ไม่มีเชื้อความคิดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว
คำขวัญที่เป็นหัวใจหลักอันหนึ่งไว้ใช้อ้างกันในระบบการ รับน้อง คือความหมายในอักษรแต่ละตัวของคำว่า SOTUS เช่น เคารพผู้อาวุโส การเป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่โดยหลักคร่าวๆ แล้วก็มีมาในสังคมไทยแต่โบราณเดิมจริงๆ (แต่ไม่เหมือนกันเปี๊ยบเสียทีเดียว) ด้วยสภาพสังคมที่บีบคั้นผู้คนทางอ้อม จนทำให้เกิดวัฒนธรรมต่างๆ ที่ค้ำจรรโลงให้สืบกันมาอย่างทุกวันนี้ เช่นการพนมมือไหว้ผู้ใหญ่ ไม่ขัดแย้งกันทางความคิดโดยไม่จำเป็น (เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว) การเชื่อฟังผู้อาวุโสกว่าไว้ก่อนไม่ว่าจะถูกหรือผิด
ระบบก็สืบๆ กันมาอย่างนี้ จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองพ.ศ. 2475 ที่นำวิธีคิดความเท่าเทียมกันทางศักดิ์ศรีมาสู่สังคมไทย มันเป็นการท้าทายอย่างกว้างขวางที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการให้ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมโดยไม่เลือกอายุ แต่ดูที่ผลงาน ความคิด การกระทำ เป็นหลัก จนก่อให้เกิดวิธีคิดแบบใหม่ เช่น ผู้น้อยไม่ต้องเคารพไหว้ผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าเราไม่มีความจำเป็นต้องไปไหว้ หรือเราก็มีศักดิ์ศรีเท่ากับเจ้าขุนมูลนายที่ใช้งานเรามาตลอด เค้าจะมาชี้หน้าด่าเราโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ แต่กระนั้นการที่จะมีความเท่าเทียมตามอย่างระบบประชาธิปไตยฝรั่งเศส หรืออังกฤษ-อเมริกาที่เราลอกเลียนแบบมาได้ โครงสร้างสังคมก็ต้องเอื้ออำนวยในการต่อรองทรัพยาการให้เท่าเทียมกันเสียก่อน การเท่าเทียมแม้จะเกิดขึ้นแล้วก็จริง แต่ก็ยังเป็นแค่ทฤษฏีที่ถูกบรรจุไว้อย่างประนีตสวยหรูโดยมิไม่ออกผลค้างอยู่บนพานรัฐธรรมนูญ แล้วในทางปฏิบัติเอง สังคมก็ยังคงต้องทำงานกันอย่างหนักอีกมากๆ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิ์ที่เค้าควรมี
นอกจากความคิดประชาธิปไตยที่นำเข้ามาแล้ว การศึกษาแบบสมัยใหม่ ก็ถูกนำเข้ามาด้วย
การศึกษาแบบเก่า คือ การท่องๆ ต่อกันมา เชื่อฟังครูบาอาจารย์อย่างเข้มงวด มีลำดับชั้นอย่างชัดเจน มีศิษย์พี่ศิษย์น้อง ที่ต้องช่วยๆ ดูแลกัน (ซึ่งในที่นี้ ก็ใช้ได้ผลดีกับ สภาพสังคมสมัยนั้น)
แต่การศึกษาสมัยใหม่ตามโลกยุคใหม่ เน้นให้แต่ละบุคคลหนึ่ง มีความคิดอิสระ การเห็นแย้งเห็นต่างเป็นเรื่องดี ไม่จำเป็นต้องเชื่อครูบาอาจารย์เสมอไป รุ่นพี่รุ่นน้อง มีศักดิ์ศรีเท่ากัน
ซึ่งระบบการศึกษาแบบใหม่ โดยเฉพาะระบบมหาวิทยาลัยนี้ ถือเป็นหลักไมล์ที่ท้าทายความคิดต่อสังคมไทยอย่างสำคัญมาก มันปะทะกับความคิดเก่าอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว และเราเองไม่ก็ค่อยได้สังเกตกัน เพราะในความรู้สึกโดยสามัญสำนึกแล้ว การศึกษาไม่ว่าแบบไหนล้วนเป็นเรื่องที่ดี ทั้งๆ ที่ความจริงถ้าหันมาดูโครงสร้างระบบแล้ว มันกัดกร่อนวิธีคิดเก่าอย่างร้ายแรงไม่แพ้ 2475 เลยทีเดียว
มีความลักลั่นหลายประการอยู่ในมหาวิยาลัย เช่น อาจารย์ชายจะเน้น เรียกนักศึกษาว่า ผม-คุณ เป็นการตัดเหยื่อใยกับความเคยชินแบบเก่าโดยสิ้นเชิง (แต่ในทางปฏิบัติ ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ยังคงมีความเอื้ออาทรแบบไทยๆ นับถือในความอาวุโส เหมือนเดิม) ส่วนอาจารย์ผู้หญิง ก็ลักลั่นมากๆ จะเรียกตัวเองว่า ดิฉัน ก็เกรงจะแปลกๆ เลยหันไปใช้ว่า ครู-เธอ ตามแบบเก่าแทน
ความคิดในระบบเก่า กับระบบใหม่ ก็เลย ค้ำๆ ยันๆ กันมาอยู่อย่างนี้ เป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอะไรก็ตามทั่วโลก ฉกเช่นกันกับระบบรับน้อง ระบบรับน้องที่นำเข้ามาก็ได้ผสมผสานเป็นแบบไทยๆ ผู้ที่ริเริ่มสร้างระบบ รุ่นแรกๆ คงต้องการหาระบบอะไรสักอย่างที่สามารถตอบสนองตัวตนในรูปแบบใหม่ และไม่อยากกลายเป็นพวกเสรีภาพจ๋า ที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนถกความคิดปรัชญาหนักๆ เอาความคิดมาปะทะกันเสียงดัง แบบที่การศึกษาสมัยใหม่ พยายามสร้างเกินไปนัก ผู้ที่เห็นด้วยกับระบบรับน้อง ก็ไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นเหยื่อคนหนึ่งของระบบสังคมที่มันลักลั่น จนทำให้พวกเค้า ต้องมองหน้ามองหลัง ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรจากหน้ามือเป็นหลังมือมากนัก
2. ปัจจุบัน
โดยทั่วไปแล้ว ถึงไม่มี SOTUS เกิดในมหาวิทยาลัย สภาพสังคมเราก็ค่อนข้างเป็น SOTUS โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องด้วยสภาพสังคมสมัยนั้น ที่มีเผด็จทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง (จอมพลป. ยุคหลัง 2490 หรือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เองก็ตาม) นักศึกษาแม้จะมีเสรีภาพทางความคิด ก็โดนขังความคิดนั้นไว้ในรั้วมหาวิทยาลัย
ฉะนั้นการเกิดขึ้นของหลักการที่อยู่เบื้องหลังความคิด SOTUS ในมหาวิทยาลัยไทย อาจไม่ใช่เหตุผลหลักโดยตรงในการทำร้ายเสรีภาพทางความคิด แต่เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยทางอ้อม เพราะถึงไม่มี SOTUS เราก็เสนอความคิดต่างอะไรไม่ได้มากในสังคม (มิฉะนั้นก็จะโดนปราบเหมือน เหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา)
ตัว SOTUS หลังผ่านพ้นยุคเผด็จการเองนั้น ก็ไม่ใช่ระบบที่กักขังความคิดอย่างสุดโต่งเข้มงวดตลอด 4 ปีแล้ว เพราะบรรยากาศเผด็จการได้จางหายไปจากประเทศไทยอยู่พอสมควรและกำลังก้าวหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ พวกเค้านั้นถูกขังทางความคิดอยู่แค่ช่วงเข้ามาปี 1 พอขึ้นปี 2 มาก็เริ่มมีอิสระบ้าง จนมีอิสระทางความคิดสูงสุดตอนปี 3-4 และดูเผินๆ เหมือนไม่ใช่ผู้ที่โดนกักขังความคิดเอาเสียเลย เพราะก็ดูมีอิสระดี มีอำนาจตัดสินใจ พวกเค้าจะตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมว๊ากน้องในปีนั้นๆ แล้วไปทำประโยชน์ต่อสังคมทันทีเลยก็ได้ แต่ก็ไม่ทำกัน
เป็นไปได้ไหมที่เราจะมองว่า SOTUS ไม่ใช่ความเลวร้ายสุดโต่ง แต่เป็นแค่การละเล่น แบบแผนหนึ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เป็นความคึกคะนองอย่างหนึ่งของนักศึกษา พวกเค้าแค่คิดอยากสนุก มีกิจกรรมอะไรถึงลูกถึงคนทำกัน ในภาวะที่ไม่รู้จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากอย่างไรดี
ลักษณะอย่างหนึ่งของระบบมหาวิทยาลัยไทยคือ นักศึกษาส่วนมาก ต้องจากบ้านแดนไกลหอบเข้ามาเรียนในเมือง เช่นจากบ้านนอกหอบเข้ามาเรียนในกรุง หรือมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคอย่าง ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ก็จะมีเด็กจังหวัดรอบนอกในภูมิภาคนั้นๆ เข้ามาเรียน ฉะนั้นอาจมีภาวะบางอย่างที่อยากโหยหาความอบอุ่น อยากหาฝูงหาพวก อยู่กันเยอะๆ อยู่กันอย่างแนบแน่น จึงต้องมีสร้างประเพณีบางอย่าง ให้ยอมรับกันเป็นครอบครัวขึ้นมา
ไม่น่าเชื่อว่า ประเพณี SOTUS ก็เข้ามาสวมรอยสอดคล้องกับ ประเพณีโหยหาความอบอุ่นแบบไทยๆ อย่างลงตัว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเพณีรับน้องคือ การสร้าง story ละครให้มีความเป็น เมโลดราม่าขึ้น (อยู่ดีๆ จะมาเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้องกันง่ายๆ ได้ไง ต้องมีการพิสูจน์ตัวบางอย่างสิ) แล้วแบบแผนอย่างนี้ ก็ถูกใจนักศึกษาไทยกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง รุ่นพี่ปี 4 ความจริงก็เอ็นดูไม่อยากจะว่าน้องอยู่หรอก แต่อีกใจก็อยากแกล้งเสียให้เข็ด ส่วนปี 1 เองยอมโดนดุด่าจนแก้วหูแทบแตก แต่ก็มีภาวะอยากพิสูจน์ตัวเองอะไรบางอย่าง จนแทนที่จะเดินออกจากระบบไปอย่างเฉยๆ ก็เลือกจะทนอยู่กับมันต่อเสียอย่างนั้น ในขณะที่ปี 2 ก็ตื่นเต้นที่จะได้มีน้องเป็นของตัวเอง รูปแบบดราม่าอย่างนี้ ก็จะทำให้เค้าได้ดูแลน้องอย่างอ้อนแอ้นใกล้ชิดมากขึ้น
พอเสร็จกระบวนทั้งหมด รับเข้าเป็นน้องแล้ว ก็ให้อภัยกันง่ายๆ และยังบอกอีกด้วยว่าทั้งหมดทำไปด้วยความรัก ซึ่งช่างดูจะสอดคล้องลงรอยกับพล็อตเรื่องน้ำเน่าที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในละครไทย เช่น รักแท้ต้องมีการฟันฝ่าอุปสรรค ที่คนไทยตลอดจนนักศึกษาเองชอบดูเสียเหลือเกิน โดยที่การรับน้องนั้นก็มีอารมณ์ประมาณนี้แล
จุดที่น่าสนใจอีกประการคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยเอง ที่ก็รู้ดียิ่งกว่านักศึกษาอีกว่าระบบมันไม่ดีอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจัง บางท่านก็ช่วยพูด ช่วยต่อต้านเต็มที่แล้วจริง แต่หลายท่านกลับเห็นว่ามันมีข้อดีอยู่เหมือนกัน เป็นที่รู้กันดีว่า ระบบทั้งสังคมไทยไม่ว่าจะทางบ้านหรือในโรงเรียน ให้อิสระภาพแก่เด็กประถม-มัธยมน้อยมาก พวกเค้าถูกประคบประหงมราวกับไข่ไก่
ฉะนั้น การปล่อยถีบให้พวกเขาช่วยตัวเอง ทันทีที่ขึ้นระดับมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กเกิดรูโหว่ในการช่วยเหลือตัวเอง อาจารย์มหาวิทยาลัย คงไม่อยากให้เด็กมาสอบถามตามติดพวกท่าน เหมือนสมัยมัธยมแล้ว เพราะท่านเองก็มีภาระงานเยอะ ฉะนั้น รุ่นพี่ จึงเป็นตัวแทน ที่จะดูแลน้องใหม่ต่อไป จนแกร่งพอ เมื่อยามอยู่ปี 2 (นึกภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนน้อยนิด ตรวจแถว เช็คชื่อ นำขบวนเด็กปี 1 ที่มีมากมายมหาศาล เข้าหอประชุม คงตลกพิลึก)
ฉะนั้น การยอมให้มีการรับน้องแบบนี้ ก็เป็นการต่างตอบแทนรุ่นพี่ที่จะอาสาดูแลได้เป็นอย่างดี
ประเพณีนี้ดูเผินๆ ไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ดูจะ สมๆ ยอมๆ กันโดยดี (เด็กปี1 สมัยใหม่นี้ ฉลาดและรู้ทางดีล่วงหน้าอยู่แก่ใจแล้วว่าจะโดนอะไรบ้าง) ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์กันทั้งมหาวิทยาลัย แต่ปัญหามันมาตกอยู่ที่ว่า มันขัดกับปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่อย่างแรง ! อีกทั้งกิจกรรมบางอย่างก็ยังคงทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย คนเราจะเสียเวลาไปยืนฟังใครก็ไม่รู้มาตะโกนด่าว่ากล่าว (ที่ถ้ามองกันอย่างจริงๆ แล้วกว่าครึ่งไม่ค่อยมีเหตุผลและสาระเท่าที่ควร เพราะมันก็ได้แค่นี้) ได้นานหลายเดือนทำไม ยังมีอะไรอีกมากมายและสร้างสรรค์ให้เรียนรู้ รออยู่อีกเยอะ
กิจกรรมนี้เข้าจริง อาจจะสร้างความสามัคคี สร้างการทำงานเป็นระบบ สร้างอะไรหลายอย่าง (ตามแต่พวกเค้าจะอ้าง เพราะถ้าจะอ้างอะไร ก็อ้างได้หมดแหล่ะ) แต่โดยตัวมันเอง ไม่สร้างสรรค์ต่อสังคมสักเท่าไหร่ เป็นกิจกรรมที่สนอง อัตตา ตัวเองอยู่ในโลกแคบๆ เสร็จกิจกรรม ก็จบๆ กันไป ภูมิใจกันเองในคณะ โดยสังคมนอกมหาวิทยาลัยไม่ได้อะไรจากพวกเค้าเลย (นักศึกษาบางมหาวิทยาลัยจะรู้มั้ยหนอว่าที่มหาวิทยาลัยเค้ายังคงค่าเทอมถูกๆ อยู่ก็เพราะมีภาษีประชาชนมาหนุน มหาศาล) ถ้ายังอยู่ในวัยมัธยมก็พอทำเนา แต่นี่เป็นระดับมหาวิทยาลัยแล้ว สังคมควรจะได้อะไรจากพวกเค้ามากกว่านี้หรือเปล่า?
3. อนาคต
นักศึกษาทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าระบบนี้ โดยตัวมันเองไม่ดีอย่างไร คนที่ยิ่งสนับสนุนให้มีอยู่ก็ยิ่งรู้ดีกว่าใคร เพราะพวกเค้าต้องพยายามหาเหตุผลมาอ้างสุดฤทธิ์ ว่าระบบนี้มันยังมีประโยชน์อย่างไร (คุณคนนอก ไม่เข้าใจหรอก) แล้วพวกเค้าก็ใช้หลักเหตุผลแคบๆ ในโลกส่วนตัวของพวกเค้าเอง มากล่อมเกลี้ยให้ตัวเองเชื่อจนได้ว่ามันดีจริงๆ โดยที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักการใหญ่กว่ามากที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย
เอาเข้าจริงแล้วเป็นไปได้มั้ย ว่าสิ่งที่พวกเค้ากลัว ไม่ใช่กลัวว่า รูปแบบการรับน้องอย่างนี้มันจะหายไป ในใจจริงๆ ก็อยากก็อยากเลิกหลายส่วนอยู่เหมือนกัน เพราะบางส่วนในระบบ SOTUS มันก็ล้าสมัยเต็มแก่อยู่แล้วเช่น การตะโกนว๊าก การพาเข้าห้องมืด พวกเค้ารู้ดีว่า อะไรคือตรรกะเหตุผลที่ดีและสมควรกว่า
ในใจของพวกเค้าจริงๆ มีแต่รูโหว่เวิ้งว้าง ผสมความกังวล โดยเฉพาะกังวลกลัวต่อมือที่มองไม่เห็น
มือที่มองไม่เห็นคืออะไร ก็มีหลายอย่างเช่น คำว่า สิ่งที่ทำสืบๆ ต่อกันมา ซึ่งเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายเหลือเกิน ในสังคมไทย ทั้งๆ ที่คำๆ นี้ แท้ที่จริงแล้วไม่มีตัวตน แต่ทำให้พวกเค้ากังวลได้ยิ่งไปกว่าอะไร
มันเป็นความกลัวที่คิดไปเอง : เอ้ ถ้าเลิกแบบนี้ไปรุ่นพี่แก่ๆ จะว่ามั้ย เอ้ ถ้าเปลี่ยนอย่างนี้จะผิดมั้ย รุ่นพี่รุ่น 1 ที่ตายไปแล้ว เค้าจะมาเข้าฝันดุด่ามั้ย
พวกเค้าคิดกังวลไปต่างๆ นาๆ ทั้งๆ ที่รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว อาจจะไม่ได้คิดอะไรด้วยซ้ำ (เพราะหมดความคะนองในชีวิตแล้ว) แต่พอรุ่นน้องมาถามว่าจะเอายังไงดี ก็ต้องทำฟอร์ม พูดว่าให้รักษาเอาไว้ก่อน เดี๋ยวเสียศักดิ์ศรีแก่คณะอื่น (ทั้งๆ ที่คณะอื่นอาจจะไม่ได้คิดอะไรเหมือนกัน) มันเป็นความกลัวที่ค้ำกันไป ค้ำกันมา รุ่นพี่กลัวรุ่นน้อง รุ่นน้องกลัวรุ่นพี่ กลัวกันไป กลัวกันมา อยู่อย่างนี้ โดยที่แทบทั้งหมดไม่ได้ไปถามไถ่อะไรกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว แต่คิดกันขึ้นมาเอง (พอจะถามอย่างจริงจัง คนไทยส่วนใหญ่ก็มีนิสัย ไม่ชอบพูดอะไรอย่างที่ใจคิดจริงๆ อีก ชอบพูดเซฟๆ ไว้ก่อน ไม่อยากเป็นส่วนแปลกแยก แม้มันจะดีก็ตาม)
สิ่งที่ขาดไปในตอนนี้คือ กลุ่มคนในระบบรับน้องเองที่จะกล้าเดินออกมา ตัดใจฉับ ว่าต่อไปนี้เราจะไม่ทำแล้ว กลุ่มคนที่กล้าจะเป็นตัวแทนรับผิดชอบต่อคำด่า (ที่ไม่มีตัวตน แต่กลัวกันเอาเอง) แล้วก็เลิกไปสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์กว่าเสียที ไม่อย่างงั้นแล้วเราก็จะเป็นสังคมแห่งการ ค้ำกันไปมา อยู่อย่างนี้ จนระบบใกล้จะพังและมีฮีโร่สักคนเข้ามาจนได้ แล้วทำไมจนถึงวันนี้ ณ จุดนี้แล้วพวกเค้าไม่เป็นฮีโร่ผู้นั้นเสียเองล่ะ?