Skip to main content

...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา

 

ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว

ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า)

บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา

(จะดราม่าไปไหน?)

นึกอยากเล่าเรื่องแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ หาสาระมิได้บ้าง เพราะบางครั้งความคิดก็ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ปะติดปะต่อ สงสัยจริงว่าจะมีใครทนฟังการพูดคุยแบบไม่มีหัวไม่มีหาง (ปี่ขลุ่ยก็ไม่มี) อย่างที่ฉันเป็น (ออกจะบ่อย) ได้บ้าง

 

มีอยู่วันหนึ่ง เกิดความสงสัยในบางเรื่องราวเลยไปตั้งคำถามกับเด็กๆ

เรื่องของเรื่องคืออยากจะเล่านิทาน ชวนเด็กวาดรูปและเล่นสี ก็เลยถามขึ้นมาดื้อๆ ว่า เด็กๆ จ๋า หนูคิดว่า เจ้าม้าลายมันสีดำลายขาว หรือสีขาวลายดำกันแน่น่ะฮึ

ช่างเป็นคำถามที่ไร้สาระสิ้นดี! อันนี้เป็นคำวิจารณ์จากเพื่อน(ไม่สนิท)คนหนึ่ง

แต่สำหรับเด็กๆ มันไม่ใช่อ้ะ! เนี่ย ปัญหาที่สั่นสะเทือนมวลมนุษยชาติกันเลยทีเดียว ดูได้จากการที่เด็กๆ คิดๆๆๆๆ แล้วก็พยายามตอบกันอย่างจริงจังจริงใจยิ่งกว่านักการเมืองอภิปรายในสภา อุ๊ปส์ ขออภัยค่ะ ผิดที่!

 

สาระของฉันไมได้อยู่ที่คำตอบถูกผิด แต่อยู่ที่ว่า ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ตะหาก

เรียกว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด โอ้ว ฟังดูดีมีเหตุผล

หนูคนหนึ่งตอบว่า หนูว่าสีดำลายขาวค่ะ ทำไมล่ะคะ ฉันถามทันทีไม่ให้มีช่องว่าง

ก็สีดำมันมากกว่านี่คะ แล้วสีขาวก็เป็นเส้นๆ แบบนี้ไง (วาดเส้นๆ ให้ดูด้วย)

ใครบอก สีขาวลายดำตะหาก (อีกคนแย้งทันควัน) นี่ไงๆ มันมีสีขาวก่อน แล้วถึงทาสีดำทับลงไปแบบนี้ (วาดบ้าง)

 

ผมว่ามันไม่อยากสีนี้ร้อก! หนุ่มน้อยคนหนึ่งบอกอย่างมั่นใจ ฉันรีบตะครุบทันที แล้วหนูคิดว่ามันอยากสีอะไรคะ...

(ช้อบชอบ เด็กคิดนอกกรอบแบบนี้)

มันต้องอยากสีส้มลายสีเขียว ตอบอย่างมั่นอกมั่นใจ ทำไมล่ะคะ ถามต่ออีก

ก็มันไม่อยากซ้ำกับใครไงคู! ทำท่าขมวดคิ้วแบบรำคาญความไม่รู้ของ “คู” เสียอีกด้วย

ฉันทำตาโต บอกว่า แหม อยากเห็นจัง! ได้ยินดังนั้น จิตรกรน้อยก็ลงมือวาดม้าลายส้มเขียวทันที

ทีนี้มากันใหญ่เลย หนูก็ว่ามันต้องสีชมพู ใครบอก! มันต้องลายสีฟ้ากับสีแดง ไม่ใช่! สีฟ้ากับสีเหลืองตาหาก

ม้าลายเริ่มมีสีมหัศจรรย์มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่หนูว่ามันไม่อยากมีสีเลยซักสีเดียว! สาวน้อยคนหนึ่งเชิดหน้าประกาศ

แล้วม้าลายสีต่างๆ (รวมทั้งม้าไม่มีสี) ก็ควบกุบกับรอบตัวจนฉันตาลาย

 

ท่ามกลางความตาลาย ก็เกิดปิ๊งแวบว่า คราวหน้าเล่นเรื่องลายบ้างดีกว่า

ถ้าม้าลายไม่อยากลายเป็นริ้ว มันน่าจะลายอะไรดี ลายดอกไม้ดีมั้ย หรือว่าจะลายไทย ลายสก็อต ...อิอิ ได้ไอเดียหากินต่ออีกแล้วครับพี่น้อง

 

ครั้งหนึ่งเล่านิทานเรื่องเค้าแมวน้อยกลัวความมืด แล้วชวนเด็กๆ วาดรูปนกเค้าแมวตัวกลมๆ ตาโตๆ วาดไปคุยไป

อยู่ๆ ก็มีเด็กถามว่า คูขา ทำไมมันถึงชื่อนกเค้าแมวล่ะค้าคู...ครูค่ะ เด็กขา ครูรูรูรู...อย่าลืม ร เรือ สิคะ

ก็มันมีบางอย่างที่ดูเหมือนแมวสิคะ คำว่าเค้า หมายความว่ามีส่วนที่เหมือน คือนกมันมีส่วนเหมือนแมวอยู่นิดหน่อย

แล้วมันเหมือนแมวตรงไหนล่ะค้า....

เออ นั่นสิ ตรงไหนหว่า แต่คนอย่างฉันรึจะอับจนกับคำถามเด็กๆ เลยตอบไปว่า แล้วหนูๆ คิดว่าตรงไหนล่ะคะ

ฮิฮิ คิดไม่ออกก็ใช้วิธีถามกลับอย่างนี้แหละ นอกจากเอาตัวรอดได้แล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกทักษะการคิดหาเหตุผลอีกด้วย น้าน..มีหลักวิชาการอ้างอิงพร้อม

 

เด็กๆ หาเหตุผลกันใหญ่ เด็กคนหนึ่งตอบเสียงดัง รู้แล้วๆ ว่าเหมือนแมวตรงไหน...ตรงไหนคะ... ก็มีตาสองข้างเหมือนกันเลยไงคับคู! โอ้ว ให้คะแนนการสังเกตและการเชื่อมโยงเต็มสิบอ้ะค่ะ

คูขา แล้วนกกะแมวอะไรเกิดก่อนกันคะ...แน่ะ มีคนถามเลียนแบบฉันเข้าแล้ว เพราะวันก่อนๆ ฉันเคยถามว่า เด็กๆ จ๋า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันคะ

แล้ว...เอิ่ม แล้วหนูคิดว่าอะไรมาก่อนล่ะคะ...(ยังคิดไม่ทันเลยใช้มุขเดิม) แต่เด็กๆ คงเดาทางออก รีบบอกกันใหญ่ ไม่เอา ไม่เอา ครูบอกมาก่อนเซ่

ก็ได้ค่ะ พี่ เอ๊ยครูคิดว่า แมวต้องเกิดก่อนแน่นอนที่สุด

ทำไมครับ...ทำไมคะ...จริงหรอ...พี่รู้ได้ไง...ขี้โม้.. (อ๊ะ ไอ้คำวิจารณ์สุดท้ายนี้ดังมาจากไหนกัน?)

คือหยั่งนี้นะคะ... (รู้จริงมั้ยไม่รู้ละ ทำท่าอมภูมิไว้ก่อน)

...เวลาคนเขาตั้งชื่อนกชนิดนี้ เขาก็นึกๆๆ ว่าเอ จะชื่ออะไรดีน้า อ๊ะ นึกออกละ ก็มันดูมีเค้าแมวอยู่นิดๆ นะ งั้นให้ชื่อนกเค้าแมวแล้วกัน นี่แสดงว่าแมวต้องเกิดก่อน นกถึงเหมือนแมวได้ เด็กๆ ลองนึกดูสิคะ ถ้านกเกิดก่อนแมว ก็ต้องมีแมวเค้านกแล้วละสิ จริงมั้ย น้าน...งง...งงละสิ โฮ่ะ โฮ่ะ บอกแล้วไม่เคยจนมุมเด็ก

(แต่มาทบทวนทีหลัง ดูเหมือนสีหน้าเด็กๆ จะบอกว่า ไม่ไหวจะเคลียร์ เพลียที่จะเอาสาระจากพี่เอ๊ย “คู” คนนี้แล้วหละ เฮ้อ...)

 


 

สมัยที่ยังสอนอยู่ในโรงเรียนหนึ่งแถวๆ ถนนสายไหม ใกล้ๆ ซอยวัชรพล สอนวันละ 5 คาบ ตั้งแต่อนุบาลหนึ่งถึงป.6 บางช่วงได้โบนัสพิเศษ (ตรงไหน?) คือได้สอน ม.1 ถึง ม.3 ด้วย สนุกแทบสาหัสแน่ะค่ะคุณขา (จำได้นะฮึ่ม เด็กโข่งม.3 ที่ถามว่า จาน จาน จานอายุเท่าไหร่เหรอ...น่ะ)

บางวันสอน 5 ชั้น เตรียมการสอนตั้ง 5 แบบแน่ะ (เรียกว่าถั่งโถมโหมแรงไฟกันเลยทีเดียว)

ประสาครูผู้กระตือรือร้นคิดว่า เด็กแต่ละวัย ความสนใจไม่เท่ากัน ต้องหารูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาให้เหมาะสม จะมาสอนแบบเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ด๊าย...

 

แต่มีอยู่เช้าวันหนึ่ง กำลังเล่านิทานแบบ “เล่าไปวาดไป” เรื่องคุณกลมๆ เล็กๆ กับหมาน้อยกลมๆ เล็กๆ อยู่ในชั้นอนุบาล 3

ก็มีเด็กๆ ชั้นป.4 เดินผ่านห้องน้องๆ จะไปเรียนอะไรไม่ทราบ (เป็นชั้นป.4 ที่จะต้องเจอฉันในช่วงบ่าย) ชะโงกเข้ามาฟังกันใหญ่จนโดนครูประจำวิชาดุเอา

 

พอบ่ายเดินเข้าห้องป.4 ดังกล่าว ก็เจอตาแป๋วแหวววิบวับสามสิบกว่าคู่ มีกระดาษกับสีวางบนโต๊ะเรียบร้อย

หยิบขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่หมดชั่วโมงผมแน่ะ” อาจารย์หนุ่ม (เหลือ) น้อยบอกก่อนเดินสวนออกไป ไม่รู้อารมณ์ไหน เลยได้แต่หัวเราะแหะๆ ขอโทษค่ะ

ยังไม่ทันจะเอื้อนเอ่ยเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เตรียมมาเล่าเพื่อจุดประกายในการสร้างงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ พลันข้อเสนอใหม่ก็เซ็งแซ่ “เอาเรื่องกลมๆ เล็กๆ” “อยากฟังนิทานแบบน้องอนุบาล” “จะวาดรูปอย่างนั้นบ้างอ้ะ” “จานขา เอาเล่านิทานแบบเมื่อเช้านะค้า...”

จาน เอ๊ยครูที่ดีต้องให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กควรมีสิทธิเลือกเรียนในสิ่งที่เขาชอบและสนใจ เรื่องโลกร้อนจึงจำต้องร้อนต่ออีกนิด ปล่อยให้คุณกลมๆ เล็กๆ กับหมาน้อยกลมๆ เล็กๆ สามสิบกว่าตัวสนุกสนานอยู่ในห้องชั้นป.4

 

ฉันว่า รอยยิ้มและประกายสดใสในแววตาของเด็กๆ ก็ทำให้โลกเย็นลงได้เหมือนกัน

 

คราวหน้า (ถ้าไม่ไปสนใจเรื่องอื่นซะก่อน) มีเรื่องหมาๆ ในชั้นเรียนมาเล่าให้ฟังค่ะ

 

 

 

บล็อกของ มูน

มูน
รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้ …
มูน
แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ” เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง…
มูน
อยู่ดีๆ ฉันก็เหลือมือที่ใช้การได้ข้างเดียว แถมเป็นข้างซ้ายที่ไม่ถนัดเสียด้วยมือขวาหายไปไหนล่ะ ไม่หายหรอกค่ะ ยังอยู่ แต่มันยื่นใบลาพักชั่วคราว ฉันจำต้องอนุมัติ เพราะมันอ้างว่าเป็นคำสั่งแพทย์สาเหตุการป่วยของมือขวามาจากตัวฉันเอง มีแมวน้อยน่ารักสองตัวเป็นส่วนประกอบเสือจิ๋วกับสตางค์เป็นลูกแมวกำพร้าที่ถูกทิ้ง ความจริงมันมีพี่น้องสี่ตัว แต่อดตายไปสอง มันโชคดีที่ได้เจอฉัน หรือว่าฉันโชคดีที่มีโอกาสได้ช่วยมันก็ไม่รู้ สองแมวเลยมาอยู่บ้านสี่ขา ได้ป้อนน้ำป้อนนมกันจนโตความที่ไม่รู้ว่าแมวทั้งสองตัวเกิดเมื่อไร การคาดเดาอายุของมันจึงคลาดเคลื่อนไม่มากก็น้อย ฉันตั้งใจจะจับมันไปทำหมันก่อนวัยกลัดมันจะมาถึง…
มูน
ฝรั่งมักเลี้ยงหมา ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เฝ้าบ้าน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสมบูรณ์ของผู้ชาย ต้องประกอบด้วย การงาน บ้าน ภรรยา ลูกๆ และหมาอย่างน้อยหนึ่งตัวการเลี้ยงหมา(อย่างถูกวิธี) ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กๆ ให้ละเอียดอ่อนและรู้จักความรับผิดชอบ เพราะหมาพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการใส่ใจสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันหิว หนาว ร้อน หรือป่วยไข้ไม่สบาย การใส่ใจในทุกข์สุขของอีกชีวิตหนึ่ง สอนให้เด็กๆ อ่อนโยนและลดความเห็นแก่ตัว นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักสบายใจที่ได้บอกเล่าความลับหรือปรับทุกข์กับเพื่อนสี่ขา ในหลายๆ เรื่องที่เขาไม่อาจสื่อสารกับผู้ใหญ ทั้งเด็กๆ ยังได้หัดเผชิญกับความสูญเสีย…
มูน
ในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน บางครั้งมีสายใยที่มองไม่เห็นผูกโยงเราไว้ด้วยกัน และสายใยเส้นนั้นก็อาจถักทอมาจากหนวดหรือขนแมวสักตัวหนึ่ง หลายคราวที่คนไม่รู้จักกัน มาพบเจอ พูดคุย และถูกชะตากันด้วยเรื่องของเจ้าสี่ขา เป็นไปได้ว่า ในโลกของมิตรภาพอันไร้เงื่อนไข ไม่อาจมีกำแพงใดๆ ตั้งอยู่ได้เย็นวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 แรงดึงดูดทางโทรศัพท์จากน้องสาวน่ารักชื่อน้องยู “ไปคุยเรื่องแมวๆ กันนะคะพี่” ทำให้ฉันเต็มใจนั่งรถบขส.จากบ้านนอกเข้ากรุง มุ่งไปโรงละครมะขามป้อม สี่แยกสะพานควาย ที่พลพรรครักแมวรวมตัวกันจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อชุมชนเป็นงานเล็กๆ ที่แสนอบอุ่น มีคนรักแมว คนเลี้ยงแมว คนไม่เลี้ยง(แต่รัก)แมว…