Skip to main content

ในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน บางครั้งมีสายใยที่มองไม่เห็นผูกโยงเราไว้ด้วยกัน และสายใยเส้นนั้นก็อาจถักทอมาจากหนวดหรือขนแมวสักตัวหนึ่ง

หลายคราวที่คนไม่รู้จักกัน มาพบเจอ พูดคุย และถูกชะตากันด้วยเรื่องของเจ้าสี่ขา เป็นไปได้ว่า ในโลกของมิตรภาพอันไร้เงื่อนไข ไม่อาจมีกำแพงใดๆ ตั้งอยู่ได้

เย็นวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 แรงดึงดูดทางโทรศัพท์จากน้องสาวน่ารักชื่อน้องยู “ไปคุยเรื่องแมวๆ กันนะคะพี่” ทำให้ฉันเต็มใจนั่งรถบขส.จากบ้านนอกเข้ากรุง มุ่งไปโรงละครมะขามป้อม สี่แยกสะพานควาย ที่พลพรรครักแมวรวมตัวกันจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อชุมชน

เป็นงานเล็กๆ ที่แสนอบอุ่น มีคนรักแมว คนเลี้ยงแมว คนไม่เลี้ยง(แต่รัก)แมว คนอยากเลี้ยง(แต่แพ้)แมว รวมทั้งคนที่รักคนรักแมว(อีกที) มาคุยกัน ดูนิทรรศการแมวๆ ผลัดกันเล่าเรื่องแมว นินทาแมว วาดรูปแมว กินขนมเค้กหน้าแมว และช่วยกันซื้อเสื้อแมว(ให้คนใส่) เพื่อรายได้เล็กน้อยๆ จะมอบให้กองทุนแมวไร้เจ้าของแถบสะพานควาย ที่มีจำนวนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง คือมีพ่อค้า แม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำในย่านสะพานควาย แวะเวียนมาร่วมงานด้วยหัวใจอันอ่อนโยนของคนที่เมตตาสัตว์ร่วมชุมชน บางคนโผล่เข้ามาในผ้ากันเปื้อนมอมๆ มาคุยเรื่องแมว แล้วรีบผลุบกลับออกไปเพราะ “ทิ้งร้านเอาไว้นะเนี่ย”

อยากรู้จริงว่าสะพานควายมีแมวกี่ตัว

“ร้อยหกสิบเอ็ดตัวค่ะ” เด็กหญิงเล็กๆ ลูกหลานชาวสะพานควายที่มาร่วมงาน บอกเสียงดังฟังชัด แถมยืนยันด้วยการกางแผนผังให้ฉันดู เป็นแผนผังที่สถาปนิกใจดีชื่อพี่เบนวาดขึ้นมา มีชีวิตชีวาอันพลุกพล่านย่านสะพานควายแทรกอยู่ในห้างร้าน ตลาด อาคาร ถนน ต้นไม้ รวมทั้งประชากรแมวที่เธอบรรจงใส่ลงในภาพอย่างตั้งอกตั้งใจ

“ไม่น้อยไปหรือคะ” ฉันแกล้งถาม ก้มดูแผนผังที่มีแมวแทรกอยู่แทบทุกตารางนิ้ว ยิ้มกับขบวนแมวที่กำลังข้ามถนนกันเป็นพรวน

“หนูนับตั้งสองรอบ มีแค่นี้เองค่ะ” หนูน้อยตอบราวกับว่า จริงๆ มันมีมากกว่านี้

พี่นวล บ.ก.สำนักพิมพ์วงกลม เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของงาน พอฉันถามไถ่ว่าทำไมเธอจัดงานนี้ ทั้งๆ ที่เธอกลัวแมว

“เพราะพี่ชอบฟังคนคุยกันเรื่องแมว ฟังแล้วสนุกทุกทีเลย” พี่นวลตอบพลางยิ้มพลางอย่างอารมณ์ดี

นิทรรศการเล็กๆ ที่เล่าเรื่องแมวและคนรักแมวในชุมชนย่านสะพานควาย ทำให้เราได้รู้จักเสือน้อย แมวเปอร์เซียขี้หงุดหงิดที่ชอบนอนบนตู้แช่หน้าร้านขายของชำสวัสดี เสือน้อยมีใบหน้าที่ไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ได้ ตอนที่พวกเราแวะเอาอาหารแมวไปให้ ฉันเกิดอยากรู้ว่าเสือน้อยกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน เจ้าของร้านจ้องหน้ามันอยู่พักหนึ่งแล้วว่า “ไม่แน่ใจแฮะ” มือฉันที่กำลังเอื้อมไปหามันจึงหดทันที

เราได้รู้จักเหมียวใหญ่ แมวแสนงอนที่ร้านเสริมสวยของพี่อลิน กับถุงทอง แมวประจำร้านสมุนไพรและแผงลอตเตอรี่ที่หวงตัวสุดๆ พอพวกเราโผล่ไป มันรีบหนีไปซ่อน เห็นแต่ดวงตาแวววับที่จ้องมาจากใต้โต๊ะ

ยังมีเดี่ยว อ้วน และบราซิล สามแมวรู้มากที่พี่จรี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อวัวหลีง้วนบอกว่า ตัวหนึ่งๆ จะขอลูกชิ้นกินวันละสามสิบลูก!!

ฉันคุยกับพี่เจี้ยบและพี่เลิศ คนขายไก่ย่าง ที่เลี้ยงอดีตแมวจรจัดไว้ในบ้านแปดตัว แมวนอกบ้าน(แถวศาลเจ้า) อีกเกือบสิบตัว พี่เจี๊ยบบอกว่าจ่ายค่าปลาทูวันละสิบเข่ง (ไม่นับค่าอาหารเม็ด นม และค่าทำหมัน) และแมวทุกตัวของพี่จะหอมกรุ่นเป็นพิเศษทุกวันจันทร์ซึ่งเป็นวันอาบน้ำแมวประจำสัปดาห์

ไม่กี่วันมานี้เพิ่งมีคนเอาลูกแมวมาทิ้งอีกสองตัว พี่เจี๊ยบอดไม่ได้ต้องเอาอาหารและนมไปให้ด้วยความเวทนา ฉันเดาว่าไม่ช้า พี่ทั้งสองต้องเพิ่มค่าปลาทูแน่ๆ

โจโจ้ เป็นแมวตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ร้านเสริมสวยของป้าหงษ์ ขนนุ่มแน่นของมันชวนลูบเล่นเป็นอย่างยิ่ง แรกๆ โจโจ้นอนนิ่งให้ลูบโดยไม่แสดงอาการใดๆ ฉันได้ใจลูบไม่หยุด โจโจ้คงรำคาญเลยลุกออกไปกางเล็บฝนกับขาโต๊ะดังแกรกกรากเหมือนจะบอกว่า ลองมาลูบอีกทีสิ

อีกตัวที่น่าทึ่งคือเจ้าแสตมป์ แมวเร่ร่อนที่ทุกๆ วันตอนตีห้าจะมาเกาประตูห้องแถวของพี่สุณี คนขายไก่สดในตลาดสุดาเพื่อขอกินมื้อเช้า บางวันแวะไปขอกินมื้อเย็นพี่สุณีที่แผงเสียด้วย หลายคนสงสัยว่ามันคิดได้ยังไงว่า ถ้าไม่เจอพี่สุณีที่บ้าน มันต้องไปหาในตลาด

ดำเป็นแมวไม่มีเจ้าของ ชอบมุดเข้าออกตรงรูกำแพงของโรงแรมสุภาพ แต่น้าศาสตร์ คนขับรถแท็กซี่จะมีอาหารเม็ดมาให้ดำและแมวเร่ร่อนไร้ชื่อตัวอื่นๆ เป็นประจำ บางวันก็เป็นปลาดุกย่างจากรถเข็นขายส้มตำแถวนั้น น้าศาสตร์มีความเชื่อส่วนตัวว่าแมวเป็นเทพเจ้า จึงตั้งจิตอธิษฐานด้วยความเคารพทุกครั้งที่ให้อาหารแมว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีโชคดีเกิดขึ้นกับน้าศาสตร์เสมอๆ

ยังมีเรื่องราวของไข่ตุ๋น สามสี ถุงเงิน โมโม่ โชค น้ำหวาน เก๋ง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่บอกเล่าถึงชีวิตเล็กๆ ในย่านสะพานควายและหัวใจเอื้ออารีที่คนมีให้แมว

งานวันนั้น หลายคนยิ้ม หัวเราะและนั่งคุยกันอย่างสนิทใจทั้งที่ไม่รู้จัก แต่เราเชื่อมโยงกันโดยใช้แมวเป็นสะพาน จนฉันอยากจะเรียกย่านนั้นใหม่ว่า สะพานแมว

ถ้าใครมีโอกาสไปแถวสะพานควาย ไม่ต้องเสียเวลามองหาควาย แต่ลองสังเกตประชากรแมว ถ้าเจอก็ทักทายกันบ้างนะคะ ไม่แน่ว่าสักวันเราอาจจะได้พบกัน และได้เป็นเพื่อนกัน ผ่านสายสัมพันธ์แบบเหมียวๆ ก็ได้

หรือไม่ต้องไปถึงสะพานควาย รอบๆ ตัวคุณก็อาจมีแมวหรือหมาไร้บ้านวนเวียนอยู่ใกล้ๆ รอความรักความใส่ใจที่ยืนยันว่า โลกนี้ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่คิด

และสังคมอันอุดมด้วยคนแปลกหน้า ก็อาจดำรงอยู่ได้ด้วยสายใยที่มองไม่เห็นเช่นนี้เอง

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…