หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์
“อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย
“ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา
แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
\\/--break--\>
เจ้าหนูทำหน้าเลิ่กลั่กเล็กน้อย คงสงสัยว่าตัวเองอยู่ที่ไหน มันยืดตัวยืนสองขา ชูจมูกสูดกลิ่นซ้ายทีขวาที วิ่งไปดมๆ ถ้วยอาหารที่เกลี้ยงเกลา วิ่งวนสำรวจรอบกรงและรอบตัวสตางค์อีกสองสามรอบ ท่าทางจะตัดสินใจได้ว่าไม่มีอะไรน่าสนใจอีกแล้ว มันจึงวิ่งปรู๊ดลอดซี่กรงออกไป
แม่มองหน้าฉันอย่างอัศจรรย์ใจ บอกว่า
“เออ จะงงกับแมวหรือหนูดีเนี่ย”
ความจริงก็ประหลาดอยู่ ที่บ้านสี่ขามีแมวตั้งเกือบห้าสิบตัว แต่ไม่เคยมีหนูถูกแมวจับ จะมีก็แต่คนจับ (หมายถึงหนูที่เผลอวิ่งเข้ากรงดักหนู แล้วแม่กับฉันก็หิ้วมันไปปล่อยในทุ่ง)
บางครั้งเราเห็นหนูวิ่งผ่านหน้าแมวเฉยๆ แล้วแมวก็มองหนูวิ่งผ่านหน้าเฉยๆ (เหมือนกัน)
ไม่รู้ว่าทำไมหนู (บ้านนี้) ไม่กลัวแมว แล้วแมวก็ไม่ตื่นเต้นเมื่อเห็นหนู บางที มันอาจไม่รู้ว่าจะทำเรื่องแบบนั้นไปทำไม
“บางเรื่องไม่รู้บ้างก็ดีเหมือนกันแฮะ” ฉันว่าอย่างนั้น
คิดถึงหนังสือภาพเรื่องหนึ่งของ Tatsuya Miyanishi ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน ฉันก็อยากเล่าให้ฟัง ถึงแม้เขาจะจัดระดับของหนังสือไว้ที่เด็กวัยอนุบาล แต่บางครั้ง (หลายครั้ง) ฉันคิดว่าผู้ใหญ่ควรอ่านหนังสือของเด็กอนุบาลบ้าง
ครูกำลังสอนเรื่อง “ศัตรูที่ต้องระวัง” แต่ลูกหนูสามตัวเอาแต่คุยจุ๊กจิ๊กกันหลังตอไม้ รู้ตัวอีกที ชั้นเรียนก็เลิกแล้วสามหนูน้อยเลยชวนกันไปเก็บลูกพีช
ทันใดนั้น แมวตัวใหญ่เล็บยาวก็โผล่มาขวางหน้า ส่งเสียงขู่ดังสนั่นว่า
“เมี้ยวววว!”
โอ้ว เสียงดังดีจัง (ฉันว่าเจ้าหนูคงออกจะทึ่ง) แทนที่จะตกใจ กลับชวนแมวไปเก็บลูกพีชเสียนี่!
อ๊ะ เข้าทาง แมวอาสาพาหนูทั้งสามขี่หลังไปด้วยกัน
หนูกินลูกพีชกันอย่างอร่อย ส่วนแมวทำเป็นอร่อย ในใจกระหยิ่มว่าอีกเดี๋ยวได้อร่อยกว่านี้แน่ๆ
ขากลับ สามหนูยังเก็บลูกพีชมาอีกสี่ลูก ช่วยกันประคับประคองมาบนหลังเพื่อนใหม่
ได้เวลาเลิกเล่นละครแล้ว เจ้าแมวใหญ่จึงข่มขวัญด้วยเสียงดังสนั่นอีกครั้งว่า “เมี้ยวววว!”
“เมี้ยววว!” หนูน้อยทั้งสามรีบร้องตอบอย่างร่าเริง
เมี้ยว! ครั้งแรกที่เจอกัน คุณคงหมายถึง “สวัสดี” ใช่ไหม ฉะนั้น เมี้ยว! ครั้งหลังนี้ต้องหมายถึง “ลาก่อน” แน่ ๆ เจ้าหนูทั้งสามสรุปเสร็จก็แบ่งลูกพีชให้เพื่อนใหม่หนึ่งลูก ที่เหลือจะเอาไปฝากครอบครัวของตน
“คุณมีครอบครัวไหมครับ” ลูกหนูตัวหนึ่งถาม
แน่นอน แมวก็มีครอบครัวเหมือนกัน แถมมีลูกตั้งสี่ตัวแน่ะ
โอ ถ้าอย่างนั้นลูกเดียวไม่พอแน่เลย หนูทั้งสามจึงพร้อมใจยกลูกพีชทั้งหมดให้แมว
คราวหน้าไปด้วยกันอีกนะ หนูน้อยบอกแมวแล้วโบกมือลา
เจ้าแมวโหดได้แต่โอบกอดลูกพีชสี่ลูก และส่งเสียงอย่างแผ่วเบาว่า “เมี้ยว”
หนังสือนิทานภาพอาจสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับเด็กอนุบาล ที่โลกใบนิดน้อยยังอุดมไปด้วยเรื่องเล่นเรื่องกิน และมิตรภาพจริงแท้ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างสะอาด และยังคงสะอาด ในวัยที่เรื่องเล่น เรื่องกิน และเรื่องมิตรภาพ กลายเป็นภาพหลายมิติ
บางครั้ง (หลายครั้ง) ฉันคิดว่าผู้ใหญ่ควรกลับไปอ่านหนังสือของเด็กอนุบาลบ้าง
อย่างน้อยก็เพื่อรำลึกถึงหัวใจบริสุทธิ์ และน้ำใจจริงแท้ที่เราทุกคนเคยมี