Skip to main content

รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)

มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด

ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้  ถ้าเย็บแผลละก็ เท่ากับอำนวยความสะดวกให้มันเชียวละค่ะ จึงจำเป็นต้องเปิดปากแผลไว้ เพื่อให้ออกซิเจนได้เข้าไปฆ่าเชื้อโรคด้วยประการฉะนี้ 

หมอบอกว่า บางคนแผลกว้างไม่พอ หมอต้องกรีดปากแผลเพิ่มให้อีกก็มีนะ โชคดี(หรือเปล่าเนี่ย) ที่แผลฉันกว้างพอแล้ว เฮ้อ...

แหม แต่ยี่สิบกว่าวันที่แขนขวาไม่โดนน้ำเลย ขี้ไคลจับจนปั้นวัวปั้นควายให้ลูกใครๆ เล่นได้หลายตัวเชียวละ มีใครอยากได้สักตัวไหมคะ

ฉันยื่นแผลให้เสือจิ๋วดู มันไม่ยักสนใจ ตาใสแจ๋วของมันไม่มีวี่แววจดจำรำลึก ราวกับจะบอกว่า อย่ายึดติด อะไรผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป น้าน...ฉันช่างบรรลุธรรมได้ถึงขนาดนั้น

แผลที่โดนบริเวณเส้นเอ็น ทำให้ฉันยังขยับข้อมือไม่ไหว และยังขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อทองม้วน แมวน้อยอีกตัวหนึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ดูอาการแล้วไม่สมควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงจำต้องหิ้วตะกร้าใส่แมว ขึ้นรถสองแถวไปหาหมอ

โชคดีอีก(ทั้งที่ปกติไม่สมควรคิดว่าโชคดี)ที่ทองม้วนผอมมาก น้ำหนักเบาหวิวของมันทำให้ฉันหิ้วตะกร้ามือซ้ายได้ตลอดระยะทางกว่าสามสิบกิโลเมตร ด้วยเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจากตลาดหน้าอำเภอไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี
ทองม้วนนอนซมในตะกร้าไปจนถึงมือหมอ หลังจากให้น้ำเกลือ กับฉีดยาอีกสองเข็ม มันจึงค่อยมีแรง และเริ่มส่งเสียงร้องเมี้ยวม้าวแสดงอาการตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมา ทองม้วนยังไม่เคยขึ้นรถไปไหนเลย

บนรถสองแถวขากลับที่ค่อนข้างเต็มไปด้วยผู้โดยสาร เสียงร้องของทองม้วนจึงเป็นต้นเรื่องของบทสนทนาเหล่านี้

“เอ๊ะ เสียงเหมือนเด็กอ่อน ลูกใครหว่า” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นดังๆ แล้วมองไปทั่วรถ
“ไม่ใช่ เสียงลูกแมวตะหาก” อีกคนแย้งแบบผู้สันทัดกรณี เธอหันมาสบตากับฉันพอดี แล้วจึงเห็นตะกร้าใส่แมว
“นั่นไง แมวจริงๆ ด้วย ต๊าย ผอมจัง เป็นไรจ๊ะ”

ฉันเลยได้บรรยายอาการเจ็บป่วยของทองม้วนเป็นวิทยาทาน
“แหม ตัวแค่เนี้ย ป่วยทีเสียเงินเป็นร้อยเป็นชั่ง เลี้ยงเยอะๆ คงจนแย่ ดีนะนี่แค่ตัวเดียว ไม่เท่าไหร่เนาะ” พี่ผู้หญิงแต่งตัวเหมือนสาวโรงงานคนหนึ่งพูดปลอบใจฉัน

ฉันหัวเราะแหะๆ ไม่กล้าเล่าถึงแมวหมาอีกกว่าเจ็ดสิบตัวที่บ้าน กลัวพี่เขาเป็นห่วง
“แมวฉันตัวใหญ่กว่านี้สามสี่เท่า อ้วนยังกะหมู” คุณป้าคนหนึ่งที่ขึ้นรถมาพร้อมกระบุงใบใหญ่เล่าเสียงดังแข่งกับเสียงเครื่องรถ “อุตส่าห์เลี้ยงไว้จับหนู มันก็อ้วนซะจนไล่หนูไม่ไหวแล้ว”

“นังสามสีของชั้นก็เหมือนกัน มันหลงมา ชั้นก็เลี้ยงไว้ แหม้..มันมุดมุ้งชั้นทู้กคืน มุดเข้ามานอนแล้วก็ออกไม่ได้ ร้องจะออกอีก ดึกดื่นต้องลุกมาเปิดมุ้งให้มันเข้าๆ ออกๆ เบื๊อ เบื่อ” ปากบ่น แต่หน้าตาคนพูดเอ็นดูเจ้าตัวที่เล่าถึงเป็นอย่างยิ่ง

“แมวที่ไหนไม่รู้ชอบมาออกลูกหลังบ้านฉัน” คราวนี้เป็นทีของคุณน้าเสื้อเหลืองเล่าบ้าง “ออกแล้วออกอีก ท้องมันอยู่นั่น ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไอ้เราก็เลี้ยงไปสิ จะไล่ไปรึก็สงสาร อุตส่าห์มาหาที่พึ่ง”

“แล้วเป็นไง ต๊าย แมวมิเต็มบ้านไปหมดรึ” มีเสียงถาม
“ไม่ร้อก พอมันโตก็ไปกันหมด แต่อย่าวางใจเชียว เดี๋ยวก็มาออกอีกละ แหม้ มันเห็นบ้านฉันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็ก” คุณน้าบ่นด้วยเสียงหัวเราะ

“ต้องจับทำหมันค่ะ” ฉันเสนอแนะ
“ก็เนี่ย คอยจ้องจะจับอยู่ แต่มันโผล่มาตอนจะคลอดทู้กที” คุณน้าบอก

“หลานฉันก็เลี้ยงแมว” แม่ค้าปลาที่นั่งอยู่เกือบท้ายรถเล่าบ้าง “แต่วันก่อนมันถูกรถชน หลานมันอุ้มแมวมา อู๊ย ร้องไห้ซะจนเรานึกว่าใครตาย อพิโถ แมวตาย”
“ก็เขารักของเขานี่นา เป็นฉัน ฉันก็ร้อง” อีกคนพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ  
“แน่ะ แล้วแขนเป็นไร ปิดแผลเต็มเชียว” คุณป้ากระบุงใหญ่เริ่มเบนความสนใจมาที่ฉัน พอได้คำตอบว่าถูกแมวกัด แถมด้วยการบรรยายเหตุการณ์พอสังเขป ประเด็นการสนทนาก็เปลี่ยนไป

“ว้าย น่ากลัวจัง” สาวน้อยนักเรียนที่หิ้วถุงเทสโก้โลตัสอุทานพลางทำท่าขนลุก
“ฉันก็เคยโดนแมวกัด” คุณป้าคนเดิมว่า แล้วใครอีกคนก็บอกว่า “หลานฉันก็เคยถูกหมากัด” จากนั้น ใครๆ ที่เคยถูกตัวอะไรต่อมิอะไรกัดก็ผลัดกันเล่าเป็นการใหญ่ คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าญาติถูกตุ๊กแกกัด

“เขาว่าตุ๊กแกกัด ต้องกินขี้สามชาม กินน้ำสามโอ่ง” แม้ค้าปลาบอก
“จะตายก็ตอนนี้แหละ ไม่ใช่เพราะตุ๊กแกกัด” เสียงใครไม่ทราบพูด เลยได้หัวเราะกันลั่นรถ
“ใครไม่เคยถูกกัดไม่รู้ร้อก” คุณป้าสรุป

หนึ่งชั่วโมงถัดมา ฉันก้าวลงจากรถสองแถวอย่างอาลัยอาวรณ์บทสนทนาน่ารักที่ยังไม่จบ

“หายเร็วๆ นะ ทั้งคนทั้งแมว” คุณน้า (เจ้าของโรงพยาบาลแม่และเด็ก) ตะโกนจากรถ

ฉันยังยืนยิ้มอยู่อีกพักใหญ่ ถึงจะยังกังวลใจในอาการของทองม้วนที่หมอบอกว่า ถ้าผ่านสามวันไปได้ก็จะรอด แต่ถ้อยสนทนาบนรถสองแถวทำให้ใจทั้งอิ่มและอุ่น

ฉันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักดาราศาสตร์ เป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่า ความใส่ใจใยดีที่คนมีให้คน และเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นี้เอง ที่ทำให้โลกของเรายังหมุนได้

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…