“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ”
The Joy Luck Club
สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า
ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก
บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น
วันที่กินข้าวคลุกน้ำปลาอย่างเดียวก็เคยมี ฉันไม่รู้สึกแย่อะไร เพราะว่าอร่อยดี แต่แม่เดือดร้อนมาก
แม่จึงมักหอบลูกๆ ดั้นด้นไปไว้กับตายายทุกวันหยุดและทุกปิดเทอม เพราะอยู่บ้านตายายนั้น “ยังไงก็ไม่อด”
แม่ชอบทุเรียนมาก สมัยก่อนเราไม่เคยซื้อเพราะว่าแพงเกินฐานะ แต่ทุกวันนี้ ทุกหน้าทุเรียน ฉันจะซื้อให้แม่ ไม่ใช่ว่ารวยแล้ว แต่ทุเรียนไม่ใช่เพชรหรือทอง ฉันพอมีปัญญาซื้อ แต่ซื้อทีไรถูกบ่นทุกครั้ง
ไม่ใช่แค่ทุเรียน ซื้ออะไรให้ก็ตาม แม่จะบ่นแล้วบ่นอีกไปสามวันเจ็ดวัน ต่อด้วยการรำลึกอดีตว่า สมัยก่อน แม่ไม่มีวันซื้อของแพงๆ อย่างนี้
แล้วแม่ก็จะพูดว่า กินไม่ลง เสียดายเงิน ให้ฉันเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันด้วยความโมโห เพราะที่สุดแล้วแม่ก็กิน ฉันเลยไม่รู้ว่าแม่จะบ่นทำไม
แม่ซื้อเสื้อยกทรงชนิดสามตัวร้อยจากตลาดนัด ฉันรู้ว่าแม่ไม่ได้ชอบหรอก แต่อยากประหยัด คุณภาพของก็สมราคา คือใช้ไม่นานก็ยืดจนย้วย เสียทรงและไม่สบายตัว แต่แม่ก็ทนใส่เป็นปีๆ ขาดก็เย็บซ่อมเอง
ฉันเคยซื้อยกทรงมียี่ห้อให้ ถูกบ่นจนหูชา ความจริงแม่ชอบมากทั้งแบบและเนื้อผ้า แต่เผอิญฉันเผลอบอกราคาไป
เป็นอันว่าถ้าอยากให้แม่กินอะไรหรือใช้อะไร เวลาแม่ถามว่าซื้อมาเท่าไร ฉันยอมบาปด้วยการบอกราคาถูกกว่าจริงอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง โกหกตกนรกหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่โกหกแล้วทำให้แม่ยอมกินหรือใช้อย่างสบายใจ ฉันเองก็สบายหูสบายใจไปด้วย
ปกติฉันจะหาเวลาล้างตู้เย็นครั้งใหญ่เดือนละครั้ง ทุกครั้งจะต้องพบกับข้าวเล็กๆ น้อยๆ ในถุงหรือในกล่องพลาสติก เช่น ไข่เค็มเสี้ยวหนึ่ง หางปลาทูทอดหางหนึ่ง ผัดถั่วงอกคำหนึ่ง หรือแกงขี้เหล็กช้อนหนึ่ง ประมาณว่า มีถุงหรือกล่องใส่อาหารเหลืออย่างละนิดหน่อย เต็มตู้ไปหมด
“อะไรเนี่ย ผัดถั่วงอกทำให้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว แม่เหลือไว้ทำไมคำเดียว” ฉันโวยวาย
“ก็มันกินไม่หมดนี่”
“เหลือคำเดียวกินไม่หมดก็ผสมต้มข้าวให้หมาไปเลยก็ได้ จะเก็บไว้ทำไม”
“อ้าว ก็มันเสียดาย ของยังกินได้ก็เก็บไว้ก่อนสิ”
“เก็บไว้แล้วทำไมไม่กินล่ะ”
“ก็มันลืมนี่นา” แม่เถียงเหมือนเด็ก
“แม่รู้ไหม กับข้าวเก็บไว้นานเกินมันก็ไม่มีประโยชน์แล้ว มันหมดอายุ เผลอๆ จะทำให้ท้องเสียอีก”
“เอ๊ะ ทำไมเรามันถึงขี้บ่นหยั่งงี้นะ” แม่หน้างอ “ทีหลังไม่ต้องทำอะไรไว้ให้แม่หรอก กินไม่หมดก็บ่น”
“ไม่ได้บ่นที่กินไม่หมด แต่ไม่เข้าใจว่าเก็บไว้นานๆ ทำไม เก็บทีไรก็ลืมทุกที ทั้งเปลืองถุง ทั้งรกตู้ด้วย”
เถียงกันทีไร แม่จะต้องพูดว่า รอให้มีลูกเองเถอะ เวลาลูกมานั่งเถียงฉอดๆ แล้วจะรู้ว่ากรรมตามทัน
ซึ่งฉันก็จะอดปากไวไม่ได้อีก “กรรมตามไม่ทันหรอก เพราะจะไม่มีลูก” หรือไม่ก็ “มีแต่ลูกหมาลูกแมว ถึงมันเถียงก็ฟังไม่ออก” ถ้าไม่เริ่มเถียงกันใหม่ แม่ก็ค้อนจนตาคว่ำ
ทั้งๆ ที่ฉันก็สงสัยตัวเองบ่อยๆ ว่าจะเถียงแม่ไปทำไม แต่ก็อดไม่ได้สักที(สิน่า)
เวลาฉันเผลอ แม่จะปีนบันไดเปลี่ยนหลอดไฟบ้าง ตอกตะปูบ้าง สิ่งที่ฉันต้องเตือนตัวเองคือให้อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อย่าได้อ้าปากบ่นเชียว เพราะแม่จะ “ของขึ้น” ทันที
“นึกว่าแม่ทำไม่ได้เหรอ อ๋อ จะให้นั่งเฉยๆ เป็นยายแก่หงำเหงือกทำประโยชน์อะไรไม่ได้งั้นสิ”
“ไม่ได้ว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าตกบันไดลงมาจะทำยังไง หรือทุบฆ้อนใส่มือตัวเองจะเป็นยังไง”
“เออ รอให้มันเป็นก่อนเหอะ” เป็นซะอย่างนี้
บ้านเราไม่คุ้นกับการแสดงความรักอย่างการกอด การหอมแก้ม หรือการออดอ้อนฉอเลาะ นอกจากไม่ฉอเลาะแล้ว บางครั้งกลับกวนโมโหไปเสียนี่
“อายุตั้งเจ็ดสิบแล้ว สายตาก็เสื่อมลง ทำให้กะระยะผิด กระดูกก็เริ่มพรุน ตกลงมาหักเอาง่ายๆ ต้องไปหาหมอก็ไม่ชอบอีก เดี๋ยวต้องใส่เฝือกนานๆ ก็บ่นเบื่ออีก ตัวเองก็สุขภาพจิตเสียอีก” ฉันว่าไปเรื่อย
“ไม่ต้องมาสอนแม่”
“ไม่ได้สอน แต่พูดบางเรื่องที่แม่อาจจะไม่รู้ สมัยนี้เขาว่าไม่มีใครแก่เกินเรียน แม่ไม่เคยได้ยินเหรอ เรื่องการศึกษาตลอดชีวิต”
“ไม่ต้องมาใช้คำพูดวิชาการ ขี้เกียจแปล”
“ไม่ได้พูดวิชาการ พูดเรื่องธรรมดาๆ นี่แหละ”
“เรื่องไหนๆ ก็ไม่ต้องพูด” แล้วแม่ก็จะหน้าบูดไปพักหนึ่ง (เวลาแม่หน้าบูดชอบทำปากยื่น ฉันต้องแอบไปขำ ขำแม่นี่บาปไหมนะ)
รู้จักมักจี่กันมาตลอดชีวิต แต่บางทีฉันก็เอาใจแม่ไม่ถูก
สมัยที่บ้านสี่ขายังมีสมาชิกไม่กี่ตัว แม่ชอบต่อภาพจิ๊กซอว์มาก ต่อจนลืมเวลา บางทีดึกดื่นยังไม่ยอมนอน ต่อเป็นร้อยๆ ภาพจนไม่มีที่เก็บ ฉันมีหน้าที่ตระเวนหาซื้อภาพใหม่ๆ มาให้ทันกับการต่อของแม่ (แม่มีการพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราเร็วสูงทีเดียว)
พอสมาชิกในบ้านเยอะขึ้น แม่ก็เลยห่างจิ๊กซอว์ไป (ความจริงแม่หันมาติดละครโทรทัศน์ต่างหาก)
วันดีคืนดีก็บอกว่า
“เมื่อไรจะเลิกเลี้ยงซักทีเจ้าพวกเนี้ย ดูซิ แม่ไม่ได้ต่อจิ๊กซอว์เลย มัวแต่ดูหมาแมว”
“อ้าว ซะงั้น ไม่เคยห้ามเลยนะเนี่ย แม่อยากต่อจิ๊กซอว์ก็ต่อสิ หมาแมวมันก็อยู่ของมันไป ไม่ต้องไปดูมันทั้งวันหรอก เดี๋ยวจะไปซื้อภาพใหม่ๆ ให้ เอาแบบพันห้าร้อยชิ้นเลยดีไหม”
“ซื้อมาทำไม ต่อไปก็เสียเวลา ดูหมาแมวยังดีกว่าอีก”
เป็นงั้นไป
บางครั้งฉันกลับจากต่างจังหวัด เจอลูกแมวหน้าใหม่สี่ตัวในตะกร้า
“ไหนตกลงกันว่าจะพอแล้วไง อุตส่าห์ทำใจไม่มองตามถนนหนทางแล้วนะ แล้วแม่เอามาจากไหนอีกเนี่ย”
“ก็แม่ไปเจอมันถูกทิ้งไว้หลังตลาดเก่า จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะให้แม่ทำไง ฮะ ให้แม่เดินผ่านไปเฉยๆ เรอะ แม่ทำใจไม่ลงหรอก หรือเราทำลง ฮึ ช่วยมาได้เป็นร้อยตัว นี่แค่สี่ตัว ใจร้ายนะเราเนี่ย”
ก็อย่างนี้ทุกที
ช่วงหนึ่ง แม่นึกครึ้มลุกขึ้นมาหัดแต่งโคลงสี่สุภาพ ฝึกไปฝึกมา แม่ก็แต่งโคลงบทหนึ่งชื่อพระคุณแม่ ส่งไปที่สถานีวิทยุ ปรากฏว่า โคลงของแม่ได้รับการอ่านออกอากาศในวันที่ 12 สิงหาคม (ปีไหนฉันก็ลืมไปแล้ว) แม่ปลาบปลื้มมาก เอามาอ่านออกเสียงให้ฉันฟังหลายครั้ง
ฤดูฝนหนึ่ง ผ้าใบกันสาดที่ใช้ขึงกันฝนให้หมาๆ เปื่อยจนรุ่งริ่ง ตอนนั้นเงินขาดมือ ฉันจึงยังไม่สามารถเปลี่ยนผ้าใบได้ในทันที ได้แต่ตั้งใจว่าจะต้องรีบหาเงินมาซื้อให้เร็วที่สุดก่อนฝนจะมาอีกครั้ง
อยู่ๆ แม่ก็โทรศัพท์มาบอกว่า ไม่ต้องซื้อแล้ว เสียดายเงิน แม่มีผ้าใบกันสาดผืนใหม่แล้ว
เมื่อฉันกลับบ้านไปดู ก็เห็นผ้าพลาสติกผืนใหญ่ที่มีลวดลายแมวเต็มไปหมดทั้งผืน
“แม่เย็บเองนะเนี่ย” แม่บอกว่า เอาถุงอาหารแมวมาตัดเป็นแผ่นแล้วเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ แม่ชี้ให้ดูสีของถุงที่อุตส่าห์สลับกันอย่างสวยงาม แถมแมวหันไปทางเดียวกันเสียด้วย
ฉันนึกภาพแม่อดหลับอดนอน นั่งหลังแข็งเย็บถุงหลายสิบใบเข้าด้วยกัน แถมยังปีนขึ้นไปขึงเอง แวบแรกคือโมโหที่แม่ทำอะไรไม่ระวังตัวเอง แม่น่าจะรู้ว่าฉันไม่ได้เสียดายเงินที่ต้องซื้อผ้าใบ ทั้งยังเคยห้ามไม่ให้ปีนบันไดเวลาอยู่คนเดียวอีก แวบต่อมา ถามตัวเองว่าโมโหแล้วเกิดประโยชน์อะไรกับใครบ้าง
เมื่อฉันชมว่าผ้าใบสวยดี แม่ก็ยิ้ม ตาเป็นประกายอย่างภาคภูมิใจ
ฉันนึกถึงถ้อยคำในหนังสือเรื่อง The Bonesetter’s Daughter ของเอมี่ ตัน ที่ว่า การทำให้แม่มีความสุขนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย แม่เพียงอยากเป็นคนสำคัญ เหมือนอย่างที่แม่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง