moon's picture

<p>เกิดใกล้แม่น้ำ แต่ว่ายน้ำไม่เป็น หลานชาวนา แต่ทำนาไม่เป็น ลูกข้าราชการ แต่ก็ทำราชการไม่เป็น (อีกนั่นแหละ)</p> <p>เคยทำหลายๆ อย่างทั้งด้วยความเต็มใจและทำโดยตกกระไดพลอยโจน ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาชนบท เขียนหนังสือ วาดรูป เล่านิทาน จัดรายการวิทยุ ครูโรงเรียน พี่เลี้ยงเด็ก ลูกจ้างบริษัท ฯลฯ </p> <p>สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ก็ยินดีกับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต</p>

บล็อกของ moon

สิ่งที่เรา(อาจ)มองไม่เห็น

14 December, 2007 - 00:10 -- moon

แสงแดดอ่อนๆ ในฤดูหนาว ที่ส่องเข้ามาอาบขนนุ่มละเอียดของแมวข้างหน้าต่าง ทำให้ฉันคิดถึงเด็กคนหนึ่งและความสุขที่ยังคงอุ่นอยู่ในใจเสมอมา

หลังเรียนจบ ฉันทำงานพัฒนาชนบทอยู่ที่เมืองโคราช และได้พบกับจ่อย เด็กน้อยวัยสี่ขวบในศูนย์บริบาลเด็กขาดสารอาหารของโรงพยาบาลประจำอำเภอ จ่อยเคยเป็นเด็กขาดอาหารระดับรุนแรง หลังจากรับการรักษาฟื้นฟูจึงเริ่มเดินได้เมื่ออายุราวสามขวบ และเป็นเด็กที่ช่างจดจำอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถเรียกชื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนที่รู้จักได้ไม่พลาด ขอแค่ได้ฟังเสียง หรือใช้มือป้อมๆ ลูบคิ้วคางปากจมูกของคนนั้น

หลังโรงพยาบาลเป็นทุ่งหญ้ากว้างๆ จำได้ถึงวันหนึ่งในฤดูหนาวที่ฉันว่างเว้นจากการทำงานในหมู่บ้าน และมีโอกาสจูงจ่อยออกไปเดินในแสงแดดอ่อนๆ

“อุ่นไหมจ่อย ตากแดดแล้วอุ่นดีนะ แสงแดดมาจากดวงอาทิตย์ที่อยู่บนฟ้าโน่นแน่ะ”
ฉันชวนคุยเรื่อยเปื่อย จ่อยแหงนหน้าส่ายไปมาเหมือนจะมองหาดวงอาทิตย์ แต่ภายใต้เปลือกตาที่เกือบปิดสนิทนั้นไม่มีดวงตามาตั้งแต่เกิด

“แสงแดดเป็นยังไงคับ” อยู่ๆ เขาก็ถาม
“แสงแดดเหรอ อืมม.. สีเหลือง อ๊ะ ไม่ใช่สิ สีทองต่างหาก แสงแดดสีทอง”
“สีทองเป็นยังไงหลือคับ” เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆ  
“ก็เป็นสีที่สวยมาก เป็นประกายสว่าง ทำให้เรามองเห็นทุกอย่างชัด เอ๊ยไม่ใช่” ฉันสะดุ้งเมื่อนึกได้ว่าเขามองไม่เห็น “คือ...เวลาเช้าๆ แสงแดดสีทองทำให้เรารู้สึกสดชื่น รู้สึกโล่ง สบายใจ เวลาเราหนาวๆ ก็มาตากแดด แล้วเราก็รู้สึกอุ่นๆ แบบนี้ไง เออ จะว่าไงดีหว่า”

เป็นคำอธิบายที่ไม่เข้าท่าเอาซะเลย แต่จ่อยพูดขึ้นว่า
“ลู้แล้วคับ สีทองอุ่นๆ” เขายิ้มแป้น  
ฉันจูงมือน้อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ จ่อยยื่นมือไประใบหญ้าเรียวๆ ที่ยื่นมาจากข้างทาง
“หญ้า” เขาพูด
“หญ้าสีเขียว” ฉันต่อโดยอัตโนมัติ ลืมนึกว่ากำลังคุยกับเด็กช่างซัก
“สีเขียวเป็นยังไงหลือคับ” นั่นไง ว่าแล้วเชียว

อีกครั้งที่คิดหนัก นั่นสิ สีเขียวเป็นยังไง อ่อนกว่าสีน้ำเงิน แต่เข้มกว่าสีเหลือง แล้วสีน้ำเงินกับสีเหลืองล่ะเป็นยังไง โอ๊ย อธิบายไม่ได้ คิดไม่ออก ฉันจึงเด็ดใบหญ้ามาให้เขาดม
“สีเขียวกลิ่นแบบนี้ไงจ๊ะ”
จ่อยทำจมูกฟุดฟิดแล้วร้อง “อื๋อ...” ก่อนจะถามต่ออย่างรวดเร็ว
“แล้วสีทองกลิ่นยังไงคับ”
“อืม กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันกุมขมับ เพิ่งรู้ว่าการอธิบายมันยากจริงๆ
“ก็มีหลายกลิ่นนะ อย่างกลิ่นสีทองของแสงแดด แล้วแต่ว่ามันส่องไปที่ไหน อย่างตอนนี้ แดดสีทองกำลังส่องทุ่งหญ้า ทำให้มีกลิ่นสดๆ หอมๆ ลองสูดกลิ่นดูนะ หายใจเข้ายาวๆ นะ ฮืดดด...หอม หอมจัง”
“ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง” เขาทำตาม ยืดคอขึ้นลงอย่างน่ารัก

แมวตัวหนึ่งเดินออกมาจากโรงครัวของโรงพยาบาล มันส่ายหางอย่างอารมณ์ดีอยู่แถวๆ กอหญ้า คงกำลังมองหาตั๊กแตน  
“แน่ะ แมว” ฉันบอกจ่อยแล้วร้องเรียก “เมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว”
มันหันขวับแล้ววิ่งหางชี้มาหาทันที คงจำได้ว่าคนนี้เองที่แบ่งกับข้าวให้กินบ่อยๆ มาถึงก็เอาหัวมาถูไถขาของฉัน ร้องเหมียวเสียงหวาน

จ่อยนั่งลงเอื้อมมือไปตามเสียง ฉันจับมือเล็กป้อมให้ค่อยๆ ลูบไปทั่วตัวแมวเพื่อให้เขารู้จักรูปลักษณ์ของมัน เจ้าแมวอ้วนลงนอนพลิกคว่ำพลิกหงาย ครางเบาๆ ในลำคออย่างพอใจ
“นิ่มจัง” จ่อยพูดและยิ้มอย่างชอบใจ ก่อนจะนึกได้แล้วถามว่า
“แมวสีอะไลคับ”
“แมวมีหลายสีจ้ะ แต่ตัวนี้มันเป็นแมวสามสี ขนของมันมีสีขาว สีส้ม กับสีดำ” ฉันเผลออธิบาย ลืมคิดว่าจะพูดถึงสีขาว สีส้มและสีดำอย่างไร แต่โชคดี (หรือเปล่านะ) ที่เขาไม่ถามเรื่องสี
“แมวกลิ่นยังไงคับ” จ่อยสนใจเรื่องกลิ่น อาจเป็นเพราะเขาใช้จมูกได้ดี ในขณะที่ใช้ดวงตาไม่ได้
“เออ กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันอึ้ง ไม่เคยนึกถึงกลิ่นแมว ถ้ากลิ่นอึแมวละว่าไปอย่าง เคยหอมแก้มเจ้าสามสีครั้งหนึ่ง มีแต่กลิ่นปลาทู ส่วนตัวมันก็ เอ หอมก็ไม่ใช่ เหม็นก็ไม่เชิง จะว่ากลิ่นทะแม่งๆ ก็คงจะต้องอธิบายว่าทะแม่งคืออะไร
“ลู้แล้วคับ” เสียงจ่อยดังแทรกความคิดของฉัน เขาลูบหลังที่ปกคลุมด้วยขนนุ่มของแมว ก้มลงไปซุก แล้วเงยใบหน้ากลมแป้นน่าเอ็นดูขึ้นมายิ้ม บอกว่า “ดีจังเลย”

วันนั้น เราได้สัมผัสกับดอกหญ้าที่มีกลิ่นแสงแดด ได้ดมกลิ่นสะอาดของผ้าที่ซักตากแดดจนแห้งสนิท แล้วก็ได้แข่งกันสูดกลิ่นของสายลมรอบตัวที่ ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง ครั้งหนึ่งจ่อยถามว่า สายลมสีอะไร ฉันนึกไม่ทัน จึงบอกว่า ทุกสีในโลกรวมอยู่ด้วยกันหมด
“ดีจังเลย” เขายิ้มอย่างมีความสุข

ผ่านมาหลายปีแล้ว แสงแดดอุ่น และสายลมอ่อนของฤดูหนาว กับการลูบไล้ขนนุ่มนิ่มของแมวที่นอนขดอยู่บนตัก ยังคงทำให้ฉันได้อิ่มเอิบกับความสุขใจ ที่รู้จักหัดมองโลกมุมใหม่ผ่านหัวใจใสสว่างของเด็กชายผู้ไร้ดวงตาคนนั้น
โลกที่มีหลายสิ่งสำคัญ แม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา

พ่อ, บางช่วงบางฉากในความทรงจำ

7 December, 2007 - 03:32 -- moon

“ชีวิตดังตัวคนเดียว ท่ามกลางทะเลเปลี่ยว ต้องลอยคว้างกลางลมคลื่น
หลับใหลไม่เคยเต็มตื่น ข้าวกลืนไม่เคยอิ่ม โอ้ รอยยิ้มไม่เคยได้”

เสียงเพลง “ชีวิตคนเศร้า” ของทูล ทองใจ ทำให้ฉันนึกถึงพ่อ และท่อนหนึ่งของเพลงที่พ่อมักร้องซ้ำไปซ้ำมาไม่เคยจบสักที

พ่อหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านปู่ตั้งแต่อายุไม่ถึงยี่สิบ ทิ้งผืนนาไปตามหาความฝันของวัยหนุ่ม แต่ดูเหมือนว่าพ่อใช้เวลาตามหาตลอดชีวิต และพบเพียงความฝันที่แหว่งวิ่น

ความทรงจำของฉันเกี่ยวกับพ่อ เหมือนชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจาย แต่ทุกชิ้นชัดเจน และไม่เคยสักครั้งที่ฉันคิดจะลืม

ตอนที่ฉันอายุราวๆ ห้าหกขวบ พ่อพาไปดูหนังอินเดียเรื่อง “โชเล่ย์” ที่โรงหนังประชาบดี นครสวรรค์ เรื่องของชายหนุ่มกับการต่อสู้อะไรสักอย่างจำไม่ได้ พระเอกสองคนชื่อ อมิตาป ปัจจัน กับทราเมนเดอร์ นางเอกคือเฮม่า มาลินี

เป็นการเข้าโรงหนังครั้งแรกในชีวิต ฉันจึงดูด้วยความตื่นเต้นตาโตตลอดเรื่อง แทบร้องไห้สงสารนางเอกที่ถูกบังคับให้ร้องเพลงและเต้นรำเท้าเปล่าบนพื้นที่มีเศษแก้วกระจายเกลื่อน พอหนังจบฉันก็เหนื่อยจนหลับ พ่อจึงอุ้มพาดบ่าโหนรถเมล์กลับบ้าน

ชีวิตและการต่อสู้ของลูกผู้ชายในหนังคงวนเวียนอยู่ในใจพ่ออีกหลายวัน ได้ยินพ่อฮัมเพลงจากเรื่อง “โชเล่ย์” อยู่บ่อยๆ “เย้ โซซิตี้ อั่มน้าฮี โตเลงเก้....”

พ่อเป็นคนช่างฝัน และช่างเหงา บางครั้งจึงยึดเอาลูกสาวตัวเล็กๆ เป็นเพื่อน พ่อมักอุ้มฉันขึ้นนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปไหนๆ ด้วย งานที่ต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย พ่อก็พาฉันไปโดยไม่สนใจเสียงของแม่

บ่อยครั้งที่ฉันต้องไปนั่งอยู่ข้างวงเหล้าที่มีต้มยำไก่ใส่ใบกัญชาชามโตอยู่กลางวง ฟังเรื่องคุยที่ฉันไม่เข้าใจ ดูคนเมาหลับไปทีละคน และกลับบ้านเมื่อพ่อตื่นขึ้นมาอีกที บางคืนก็ไปหลับกลิ้งอยู่บนเสื่อหน้าจอหนังกลางแปลงในงานวัดที่ไหนสักแห่ง บางทีพ่อก็แบกฉันไปตะโกนเชียร์แข่งเรือยาวในหน้าน้ำ

พ่อมักจะกลับบ้านดึก เมามายและหิวโหย ทุกครั้งพ่อจะตะโกนปลุกหรือเปิดมุ้งเข้ามาควักตัวฉันออกจากที่นอน พาเข้าครัวไปหาอะไรกินเป็นเพื่อนพ่อ ส่วนใหญ่จะเป็นมาม่า ใส่อะไรก็ได้ที่หาได้ในครัว อาจจะเป็นเศษปลาทู เศษไข่เจียว บางทีก็เป็นผักที่ไม่เคยเห็นใครเขาใส่กัน เช่นผักชีล้อม ใบชะพลู ผักขะแยง หรือไม่ก็น้ำพริกน้ำแกงอะไรสักอย่างที่เหลือก้นถ้วยในตู้กับข้าว แต่แปลกที่อร่อยทุกที

มีบ้างที่กะละมังคว่ำก่อนกิน ถ้าบังเอิญแม่ตาสว่างและลุกขึ้นมาทะเลาะกับพ่อ

สำหรับแม่ พ่อมีดีอย่างเดียวคือไม่เคยตีลูกๆ เลยสักครั้งในชีวิต

พ่อมีไดอารี่เก่าๆ เล่มหนึ่ง ปกแข็งสีเทา มีปฏิทินของปี ๒๕๐๒  ซึ่งคงเป็นปีที่พ่อได้สมุดเล่มนั้นมา แล้วพ่อก็ใช้สมุดเล่มเดียวบันทึกอะไรต่อมิอะไรอยู่หลายปีก่อนมีครอบครัว มีอยู่หน้าหนึ่ง พ่อเขียนไว้ประโยคเดียวว่า “วันนี้ข้าฯ ยังไม่รู้จะนอนที่ไหนเลย แต่ช่างมันเถอะ ตราบชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นต่อไป”

ตอนนั้นพ่อคงอยู่ในช่วงพเนจรร่อนเร่ มีภาพถ่ายเก่าๆ เสียบไว้ในปกสมุด ภาพหนึ่งพ่อยืนเต๊ะท่าสะพายกระเป๋าอยู่บนทางรถไฟที่ไหนสักแห่ง อีกภาพหนึ่ง พ่อนั่งชันขาอยู่บนราวสะพานริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีรอยยิ้มแจ่มใสอย่างที่ฉันไม่ได้เห็นบ่อยนัก

พ่อกับแม่แยกทางกัน พ่อไปมีชีวิตล้มลุกคลุกคลานเพียงลำพังอยู่หลายปี และมักเขียนจดหมายทีละหลายแผ่นถึงฉัน เล่าถึงงานพิมพ์หนังสือ ทำฟาร์มไก่ ทำนาบัว ขายอาหาร งานรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ สารพัดความฝันที่ริเริ่ม แล้วก็ล้มเหลว แต่พ่อมักจะบอกว่า “ช่างหัวมัน” แล้วก็ฝันใหม่

จนกระทั่งฉันทำงานมีเงินเดือน จึงส่งเงินให้พ่อตามที่อยู่หัวจดหมายที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นานๆ พ่อจะถามถึงแม่และลูกชายอีกสองคนที่ห่างเหินไปเหมือนคนแปลกหน้า

วันหนึ่ง พ่อดั้นด้นไปหาฉันถึงบ้านเช่าที่ขอนแก่น ไหล่สะพายกระเป๋าเก่าๆ ที่รูดซิปไม่ได้ แต่ยังอุตส่าห์ใช้เข็มกลัดติดไว้

“พ่อเอาเพื่อนมาด้วย” พ่อปลดเข็มกลัดแล้วควักเอาลูกหมาผอมกระหร่อง หน้าตาหงอยๆ ขึ้นมาตัวหนึ่ง
“หลบกระเป๋ารถแทบแย่” พ่อบอก ฉันนึกทึ่งทั้งพ่อและลูกหมา ช่างระหกระเหินข้ามจังหวัดมาด้วยกันได้โดยไม่ถูกไล่ลงกลางทาง

เจ้าหมาน้อยถูกใครทิ้งมาไม่รู้ มันเดินเร่ร่อนหิวโซอยู่ข้างทางแถวๆ ร้อยเอ็ด พ่อเรียกมันว่า หมาน้อยพเนจร และตั้งชื่อว่า ทิวา เหมือนนักพากย์หนังอินเดียรุ่นเก่าชื่อทิวา-ราตรี แต่ฉันสมัครใจเรียกมันว่ามอมแมมมากกว่า วันๆ พ่อคุยกับเจ้ามอมแมม (ทิวา) มากกว่าคุยกับฉันเสียอีก

มอมแมมโตขึ้นเป็นหมาสวยอย่างไม่น่าเชื่อ ตาโตสดใส ขนสีน้ำตาลเข้ม มีอานบนหลังเสียด้วย  

“ไอ้ทิวามันหล่อ” พ่อบอกอย่างภูมิใจ บางวันพ่อนั่งดื่มอยู่คนเดียว พอครึ้มๆ ก็ร้องเพลงสลับกับรำพึงรำพันอะไรต่อมิอะไรให้เจ้ามอมแมมฟัง ซึ่งมันก็ช่างตั้งอกตั้งใจนั่งฟัง ฉันเสียอีกที่บางครั้งรำคาญจนต้องหนีเข้าห้อง

อย่างไรก็ตาม ฉันกับพ่อคุยกันได้มากขึ้น แม้จะไม่มากเหมือนพ่อลูกอีกหลายคู่ แต่ก็ดีกว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกินอยู่ของหมา(ทิวาของพ่อ) ก็ตาม ฉันนึกดีใจที่มีมอมแมมอยู่กับเรา

เช้าวันหนึ่ง บ้านเงียบกริบ พ่อกับมอมแมมคงยังไม่ตื่น ฉันอาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปทำงาน ออกมาเจอพ่อนั่งอยู่บนม้าหินหน้าบ้าน จ้องอะไรบางอย่างในมือ

“อุ่นกับข้าวแล้วนะ ข้าวหมาอยู่บนหลังโอ่ง” ฉันบอกพ่อ แต่พ่อยังนั่งก้มหน้านิ่ง ฉันชำเลืองมองในมือพ่อ มันเป็นโซ่ติดกะพรวนที่ฉันซื้อมาให้พ่อห้อยคอมอมแมมตั้งแต่สองสามเดือนก่อน โซ่นั้นขาด ลูกกะพรวนบุบบี้ และมีคราบสีแดงคล้ำๆ

ฉันรู้สึกมืออ่อนจนต้องวางแฟ้มงานในมือ

“ทิวามันถูกรถชน” พ่อพูดเบาๆ “อาจารย์บ้านโน้นเขามาบอกพ่อ มันถูกชนตั้งแต่ตีห้า พ่อออกไปดูก็ไม่เห็นมัน เห็นเขาว่ารถเก็บขยะของเทศบาลคงเก็บไปแล้วตอนเช้ามืด พ่อเจอแต่โซ่”

พ่อส่งโซ่ที่ขาดเหลือครึ่งเส้นให้ฉันแล้วเดินไหล่งุ้มไปหลังบ้าน ฉันรู้สึกเจ็บในคอจนต้องเดินกลับเข้าไปในห้อง ทรุดนั่งพังพาบอย่างหมดแรง ตั้งแต่โผล่ออกมาจากกระเป๋าเก่าๆ ของพ่อ มอมแมมไม่เคยออกไปนอกบ้านเลย มันอยู่ข้างๆ พ่อเสมอ บางทีพ่อเรียกมันว่า “ไอ้เพื่อนยาก”

ฉันน้ำตาไหลเมื่อนึกถึงคนที่ยังอยู่ พ่อคงจะเหงายิ่งกว่าเดิม และฉันก็คงไม่อาจทดแทนมอมแมมได้เลย

บุญและกรรม ใครทำใครได้

30 November, 2007 - 13:03 -- moon

ใกล้บ้านเช่าหลังเก่าของฉันที่ขอนแก่น มีวัดป่าแห่งหนึ่งร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ฉันชอบไปเดินเล่นดูโบสถ์เก่าแก่คร่ำคร่าเต็มไปด้วยรอยตะไคร่ ไปนั่งฟังเสียงลมพัดใบไม้ และนั่งเล่นริมบึงกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยปลา เป็นวัดที่ให้บรรยากาศสงบงามสมกับเป็นสถานที่สำหรับ "หนีร้อนมาพึ่งเย็น" จริงๆ

แต่ฉันไม่เคยเห็นวัดไหนเต็มไปด้วยไก่เท่าวัดนี้ ไก่หลากสีหลายขนาดเดินกันขวักไขว่ นับคร่าวๆ ได้สักหกหรือเจ็ดสิบตัว หลายตัวบินขึ้นไปเกาะอยู่บนกิ่งเตี้ยๆ ของต้นก้ามปูใหญ่ เจ้าอาวาสบอกว่า คนแถบนี้นิยมปล่อยไก่เป็นการสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่ง

"สมัยก่อนเขาต้องตัดหางด้วยนะ ที่เรียกว่าตัดหางปล่อยวัดไงล่ะ"
ฉันถามถึงจำนวนไก่ เจ้าอาวาสบอกนับไม่ถ้วนสักที เดี๋ยวเพิ่มเดี๋ยวลด
ที่เพิ่มก็เพราะมีคนมาปล่อยอยู่เรื่อยๆ ที่ลดก็เพราะมีคนมาขโมย(เรื่อยๆ เหมือนกัน)
เช่นเดียวกับปลาในบ่อที่มีคนมาปล่อย แล้วก็มีคนมาแอบวางเบ็ดทอดแหอยู่บ่อยๆ ทั้งที่มีป้าย "ห้ามจับปลาในวัด" ปักอยู่ทนโท่

คนเราต่างจิตต่างใจ การเข้าวัดไม่ได้หมายถึงศรัทธาอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากไก่และปลา สัตว์ที่คนขยันปล่อยวัดรองลงมาคือหมาๆ แมวๆ

"เขาปล่อยหมาแมวสะเดาะเคราะห์กันด้วยหรือคะหลวงพ่อ" ฉันถามเจ้าอาวาส มองหมาที่นอนเรียงรายอยู่ใต้ถุนกุฏิ
ท่านหัวเราะหึๆ บอกว่า "ไม่ใช่หรอก มันเป็นเรื่องของคนที่อยากผลักภาระออกจากตัวน่ะ"

ความเป็นมาของหมาแมวแต่ละตัวในวัด เป็นเรื่องที่พระและเณรขยันเล่าให้ฉันฟัง บางเรื่องฉันก็ประสบด้วยตนเอง

วันพระหนึ่ง หลังจากทำบุญฟังสวดและกรวดน้ำเสร็จสรรพ พระรูปหนึ่งที่คุ้นหน้ากันดีกวักมือเรียกให้ฉันตามไปดูกล่องกระดาษใบหนึ่งที่ถูกวางทิ้งไว้ข้างกำแพงหลังวัด สภาพกล่องเปียกแฉะจนยุ่ย คงเพราะฝนที่ตกหนักเกือบตลอดคืนที่ผ่านมา ในนั้นมีลูกแมวน้อยๆ อยู่สามตัว เปียกโชกจนดูเหมือนก้อนสำลีเปียกๆ และสกปรก

"คงเอามาทิ้งเมื่อวานหรือเมื่อคืน แต่อาตมาเพิ่งรู้เมื่อกี้ที่เด็กไปบอก" หลวงพี่บ่น "คนหนอคน จะทิ้งทั้งทีก็ไม่ยักไปทิ้งในวัด วางตากฝนไว้ได้"
ฉันนั่งยองๆ สำรวจลูกแมวในกล่อง ตัวหนึ่งตายแล้ว ตาลืมโพลง ตัวเย็นเฉียบ อีกสองตัวนอนหายใจแผ่วๆ ตัวสั่นริกๆ ด้วยความหนาว น้ำมูกข้นๆ สีเหลืองไหลย้อยจนตันรูจมูก

"ช่วยมันหน่อยเถอะโยม นึกว่าทำกุศล" หลวงพี่บอกแล้วช่วยหาเศษผ้าเหลืองในวัดมาให้ห่อลูกแมวทั้งสอง เรียกเด็กวัดมาเอาลูกแมวตัวที่ตายไปฝัง
ฉันหอบแมวน้อยไปหาหมออนันต์ สัตวแพทย์เจ้าประจำที่รู้จักสมาชิกบ้านสี่ขาเกือบทุกตัว คุณหมอตรวจแมวแล้วส่ายหน้า
"ปอดอักเสบ ขาดอาหารด้วย มันยังไม่อดนมเลย ร่างกายอ่อนแอมาก ผมไม่แน่ใจว่ามันจะรอด"

หมอฉีดยาลูกแมวแล้วฉันก็หอบกลับไปประคบประหงมที่บ้าน พยายามหยอดน้ำนมและหยอดยา เปิดโคมไฟส่องไว้ให้มันอบอุ่น แต่ลูกแมวอยู่ได้แค่สามวันก็ตาย ฉันกลับมาแจ้งข่าวให้หลวงพี่ทราบ

"กรรมของแมว กรรมของคนทิ้งแมว" หลวงพี่บอก
เณรองค์หนึ่งเล่าว่าเคยเห็นรถยนต์คันหนึ่งแล่นเข้ามาวนเวียนอยู่ในบริเวณวัด ตอนแรกคิดว่าจะมาทำสังฆทานหรือมาพบเจ้าอาวาส เณรกำลังจะลงจากกุฏิไปถาม ก็เห็นรถจอด มีคนอุ้มห่ออะไรสักอย่างมาวางไว้ข้างศาลาแล้วขับรถออกจากวัดไปเลย

เณรเข้าไปดูพบว่าเป็นผ้าขนหนูที่ห่อหมาพุดเดิ้ลสีดำขนหยิกหยองตัวหนึ่ง น่าสงสัยว่าทำไมเอาหมาสวยๆ มีราคามาทิ้ง นั่งดูอยู่พักหนึ่งถึงรู้คำตอบ หมาเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว ขาทั้งสี่เหยียดเกร็งและคอเอียงไปข้างหนึ่ง เจ้าของคงคิดว่าเป็นภาระเกินกว่าจะเลี้ยงไว้

เจ้าพุดเดิ้ลไม่กินข้าวกินน้ำเลย เณรน้อยสงสารหมาจึงเอานมกล่องที่มีคนใส่บาตรมาหยอดใส่ปากมัน แต่ก็ไหลหกออกมาหมด เพราะมันไม่สนใจจะกิน เอาแต่ร้องและพยายามกระเสือกกระสนทั้งที่ขยับตัวแทบไม่ได้ มันคร่ำครวญทั้งวันทั้งคืน ไม่กี่วันก็หมดแรงและหมดลม

"มันคงคิดถึงเจ้าของ อยากกลับบ้าน" เณรน้อยบอกเศร้าๆ

.......................

ครั้งหนึ่งฉันเอาข้าวไปให้หมาแมวในวัด เจ้าอาวาสก็เดินลงมาหา
"ให้เด็กๆ คอยดูๆ อยู่ว่าโยมจะเข้ามาอีกเมื่อไร มีธุระจะไหว้วาน" ท่านบอก
"จะให้ทำอะไรคะ" ฉันถาม
"เห็นโยมสนใจหมาแมว คงจะรู้จักหมอดีๆ อยากให้ถามว่าเขาจะมาช่วยฉีดยากันหมาบ้าที่วัดได้ไหม จะให้พระพาไปหาหมอคงจะลำบาก คนมาทำบุญบางคนเขาบ่น อาตมาจะได้บอกว่ามันฉีดยาหมดแล้ว เขาจะได้สบายใจกัน"

"ได้สิคะ ได้" ฉันรีบรับคำ "มีหมอใจดีอยู่คนหนึ่งค่ะ เดี๋ยวจะไปนัดให้ว่าหมอจะมาได้วันไหน"
"บอกหมอว่าไม่ต้องกลัว อาตมาจะให้เณรช่วยกันจับหมา"
หมออนันต์หิ้วกระเป๋ายามาที่วัดในเช้าวันหนึ่ง มีเณรคอยอุ้มหมามาให้ฉีดยาทีละตัว บางตัวเห็นเพื่อนร้องเอ๋งๆ ตอนฉีดยา มันรีบวิ่งหนี เณรน้อยสองสามองค์ต้องวิ่งไล่จับหมาจนจีวรปลิว หมอยังฉีดยาคุมกำเนิดให้หมาตัวเมียอีกด้วย

กว่าจะเสร็จก็เกือบเพล เจ้าอาวาสลงมาจากกุฏิถามหมอว่าค่ายาเท่าไร
"ไม่ต้องค่ะหลวงพ่อ หนูขอทำบุญ" ฉันบอก

เมื่อท่านเจ้าอาวาสให้ศีลให้พรเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ติดรถหมอกลับมาที่คลินิกในเมืองเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย พอเปิดกระเป๋าเตรียมควักสตางค์ หมออนันต์ก็บอกว่าคิดแต่ค่ายา และขอคิดแค่ครึ่งเดียว
"ผมก็อยากทำบุญเหมือนกัน"

ฉันย้ายบ้านสี่ขามาจากที่นั่นนานแล้ว แต่หมออนันต์ยังรับรักษาสัตว์อยู่ในคลินิคเล็กๆ เหมือนเดิม
ส่วนวัดป่าแห่งนั้น ก็ยังคงเป็นวัดป่าที่แสนสงบ เต็มไปด้วยต้นไม้ ไก่ ปลา หมา แมว ยังคงมีคนแวะเวียนไปทำบุญ(บางทีก็ทำกรรม) อย่างสม่ำเสมอ

บางคนไปแบบทูอินวัน คือ หิ้วของไปทำบุญ กับหอบหมาแมวไปทิ้งที่วัดพร้อมกันในคราวเดียว ไม่ให้เสียเที่ยวที่ไปวัด!

น้ำปลาพริกขี้หนูในตู้กับข้าว

23 November, 2007 - 07:13 -- moon

ลมหนาวพัดฟางหลังเก็บเกี่ยวปลิวว่อนกลางทุ่ง หลายบ้านเตรียมโกยฟางมัดเป็นท่อนเก็บไว้ให้วัวควายในหน้าแล้ง นึกเล่นๆ ว่าถ้าคนเรากินแค่หญ้าก็คงจะดี ไม่ต้องมีกิเลสอยากกินนั่นนี่ให้เดือดร้อนไปถึงพืชและสัตว์อีกมากมาย ที่ต้องถูกไล่ล่าบ้าง ถูกบังคับให้โตผิดธรรมชาติบ้าง ถูกเปลี่ยนนั่นแปลงนี่ให้ถูกใจคนจนวุ่นวายไปทั้งโลก เข้าทำนองเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (ว่าเข้าไปนั่น)

คิดจนหิว จึงหันไปเปิดตู้กับข้าว อะไรกันนี่ ช่างโล่งดีแท้ๆ มีแต่ถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนู อ้อ มีปลาทู(แย่งแมวมา)หนึ่งตัว ทำปลาทูต้มน้ำปลาดีกว่า ทำง้ายง่าย แล้วก็อร้อย อร่อย

ตั้งน้ำให้เดือดพลั่กๆ ใส่ปลาทู เหยาะน้ำปลาพริกขี้หนู บีบมะนาว หักกะเพราข้างรั้วมา เด็ดใบงามๆ โรยลงไปแล้วรีบยกลง เปรี้ยวนิด เค็มหน่อย เผ็ดจี๊ดๆ ซดร้อนจี๋ๆ มีหมานั่งน้ำลายหกอยู่ใกล้ๆ อากาศเย็น ลมก็หอมชื่นใจ เฮ้อ ข้าวหมดสองจานไม่รู้ตัว

ง่ายกว่านั้นก็ควักกะปิก้นกระปุกออกมาคลุกข้าว โรยกุ้งแห้งป่น มีแตงกวาค้างตู้อยู่ ๒-๓ ลูกเอามาล้างสะอาด กัดกร้วมๆ พริกขี้หนูต้นข้างบ้าน เลือกเม็ดเขียวอ่อนๆ เผ็ดน้อย เคี้ยวแนมเข้าไป ง่ายๆ แต่อร่อยค่ะ

บางวันมีปลาดุกย่างเหลือค้างอยู่ครึ่งตัว เอามาย่างใหม่ให้กรอบๆ หอมๆ แกะเนื้อใส่ข้าว หอมแดงซอย กระเทียมซอย พริกขี้หนูซอย โรยลงไป เหยาะน้ำปลาหอมๆ สักนิด บีบมะนาวเปรี้ยวจี๊ดสักหน่อย คลุกๆ เข้า ได้ข้าวคลุกปลาดุกย่างอร่อยๆ อีกมื้อหนึ่ง

จานเด็ดของฉันขอแค่ไข่ต้มยางมะตูม คลุกข้าวร้อนๆ กับน้ำปลาพริกขี้หนู ถ้าไม่เรื่องมาก ชีวิตก็ไม่ยุ่งยากนัก จริงไหมคะ

ถ้าคุณยายของฉันยังอยู่ น้ำปลาพริกขี้หนูคงไม่มีโอกาสเป็นเมนูหลัก ไม่ใช่รังเกียจสำรับคนยาก แต่เพราะใส่ใจในความสุขของทุกปากท้อง แต่ละมื้อของเมนูคุณยายจึงต้องผ่านกระบวนการอันประณีต ในวันเวลาอันเนิบนาบที่เรายังไม่รู้จักบะหมี่ซองชนิดใส่น้ำร้อนกินได้ใน ๑ นาที

คุณตาเป็นนายพันสั่งงานทหารในค่าย แต่พออยู่บ้านก็กลายเป็นลูกมือให้คุณยายใช้โม่แป้ง เก็บผัก ขึ้นมะพร้าว เหลาไม้กลัด ตัดใบตอง ดองไข่เค็ม เย็บกระทงห่อหมก

หลานวัยกำลังซนอย่างฉันก็หมดโอกาสหนีไปเล่น ต้องนั่งพับเพียบปอกหอมกระเทียม ขูดกระชาย ซอยตะไคร้ ฉีกใบมะกรูด รูดใบชะอม

แล้วเราก็ได้กินแกงเทโพ แกงมะรุม ปลาหมอต้มเค็ม ผัดสายบัว ปลาร้าหลน เนื้อเค็มฝอย กุ้งหวาน หมี่กรอบ บัวลอยญวน ถั่วแปบ ข้าวต้มมัด และอีกสารพัดที่ไม่เคยซื้อจากตลาด แม้แต่ผักบุ้งกินกับน้ำพริก คุณยายยังอุตส่าห์เจียนเป็นเส้น ลวกแล้วจับม้วนเป็นคำๆ เรียงใส่จานอย่างสวยงาม มีขันใส่น้ำฝนลอยดอกมะลิวางรอไว้ให้ชื่นใจหลังอิ่มข้าว

คุณยายเผื่อแผ่ความเอาใจใส่ลงไปถึงหมาแมว มีหม้อนึ่งข้าวต่างหากสำหรับหมา มีปลาย่างตำละเอียดเก็บใส่โหลไว้คลุกข้าวแมว คุณยายจะชิมข้าวคลุกทุกครั้งจนแน่ใจว่าอร่อย จึงใส่จานสังกะสีให้แมวกิน

ฉันเคยแอบแย่งข้าวแมวเพราะอดใจไม่ไหว อร่อยจริงๆ ด้วยสิคะ

คุณยายจากไปทิ้งไว้แต่หลานหัวขี้เลื่อยที่ได้วิชาคุณยายมาแค่ขี้เล็บ แถมยังลำบากยากจน นั่งกินข้าวคลุกน้ำปลาพริกป่นให้เสียชื่อคุณยายซะงั้น แต่คุณยายไม่ต้องห่วงนะคะ หลานมีความสุขและพอใจในชีวิตแล้วค่ะ

จะว่าไป เรื่องของหมาวุ่นวายไม่แพ้คน ฉันพยายามคิดค้นเมนูสำหรับหมาโดยยึดหลักประโยชน์สูง ประหยัดสุด

สมัยที่บ้านสี่ขามีหมาไม่ถึงสิบตัว ฉันสนุกคิดเมนูไม่ซ้ำกันในหนึ่งสัปดาห์ อาทิ พะโล้โครงไก่ ต้มยำไข่(ไม่ใส่พริก) พอหมอบอกว่าควรให้หมากินพืชผักบ้าง ฉันก็เพิ่มเมนูจับฉ่ายกระดูกหมู กับโครงไก่บดใส่ฟักเข้าไป บางวันมีต้มเศษเครื่องในใส่ผักบุ้งสับ จนมีคนทักเมื่อเห็นฉันนั่งสับผักบุ้งว่า ฉันผสมข้าวเลี้ยงหมาหรือเลี้ยงหมู

ฉันพบว่าหมาชอบกินฟักทองผัดใส่ไข่ เมื่อก่อนหมามีน้อยๆ ก็พอทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวค่ะ หมาก็เยอะ ไข่ก็แพง แถมปลูกฟักทองไว้ก็ยังไม่ยอมขึ้นสักที

มีคนแนะนำว่าหัดให้หมากินกล้วยน้ำว้าจะดี ฉันก็ลอง แต่ไม่ค่อยสำเร็จ กล้วยหมดหวีไม่ใช่เพราะหมา แต่ว่าเป็นฉันเอง

หมาทุกตัวชอบกินตับย่าง คุณหมอเคยเตือนว่าตับเป็นของแสลงต่อผิวหนังและขน  แต่หมามันไม่สนคำเตือนหรอก แหม คงเหมือนคนน่ะแหละ อาหารอะไรไม่มีประโยชน์(แถมโทษยังเยอะ) เป็นชอบกินกันนัก

เคยมีคนใจดีเอาเศษกระดูกไก่โยนข้ามรั้วมาให้หมาบ้านสี่ขา หมาดีใจ แต่ฉันกลุ้มใจ พยายามห้ามแกมขอร้อง(คน ไม่ใช่หมา)ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการคือ หนึ่ง ไม่อยากให้หมาๆ เคยชินกับการกินอะไรที่ใครก็ได้โยนเข้ามาในบ้าน เพราะอาจจะนำไปสู่อันตรายในภายหลัง และสอง ไม่อยากให้หมากินกระดูกไก่ กลัวจะแทงลำไส้มัน

“แหม เลี้ยงหมายังกะเทวดา” มีถ้อยคำหยอกล้อลอยมาพอให้อารมณ์แสบๆ คันๆ

ถามว่าทำไมต้องพิถีพิถันขนาดนี้ ก็เพราะเรารัก เราจึงดูแลและรับผิดชอบชีวิตของมันให้ดีที่สุด การป้องกันดีและ(อาจจะ)ง่ายกว่าการรักษา เพราะค่ารักษานั้นไม่ใช่จะมีตลอดเวลา ไม่ว่าคนหรือหมา ทุกปัญหา “กันไว้ดีกว่าแก้” เสมอ

กระดูกไก่อันตรายค่ะ โดยเฉพาะกระดูกขา เพราะเวลาแตกจะมีลักษณะเป็นเสี้ยนที่แหลมและคม แทงกระเพาะและลำไส้ได้ มีหมาเจอกระดูกไก่คร่าชีวิตมานักต่อนักแล้ว

บ้านฉันมีพาราเซตามอลติดตู้เป็นกระปุก จริงๆ เตรียมไว้ให้หมา แต่บางทีปวดหัวขึ้นมา คนกับหมาก็กินยากระปุกเดียวกัน

พาราเซตามอล ๕๐๐ มิลลิกรัม สำหรับหมาโตเป็นไข้ ให้ครั้งละครึ่งเม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง ส่วนหมาเด็กๆ ควรใช้พาราเซตามอลชนิดน้ำ เพราะกินง่าย แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้แบบเม็ด โดยลดอัตราส่วนลงไป (ใช้อัตราไหน ควรถามหมอค่ะ)

แต่ถ้าแมวเป็นไข้ ห้ามใช้พาราเซตามอลเด็ดขาดนะคะ เพราะแมวจะแพ้ถึงตายทีเดียวเชียว ต้องใช้ยาน้ำแก้ไข้เฉพาะของแมวเท่านั้น

มีหลายโรคที่คนเป็นได้ หมาแมวก็เป็นได้ ตั้งแต่โรคหวัด โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ไปจนถึงโรคมะเร็งนั่นเทียว การป้องกันโรคก็ไม่ต่างกัน เวลาฟังหมออบรมเรื่องการดูแลสุขภาพเจ้าสี่ขา ฉันนึกไปว่า หมอกำลังพูดถึงตัวฉันเองทุกที

อย่างตอนนี้ ฉันซึ่งติดรสเค็มก็กำลังพยายามลดเกลือและน้ำปลา กลัวเป็นอย่างแมว คือตายไวด้วยโรคไตวาย (ว่าแล้วก็เก็บถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนูเข้าตู้โดยทันที)

ความไม่มีโรคเป็นโชคอันประเสริฐ สุขภาพดีวิเศษกว่ามีทรัพย์จริงๆ ค่ะ

โศกนาฏกรรมธรรมดาๆ ของหมา(อีก)ตัวหนึ่ง

10 November, 2007 - 04:04 -- moon

หมาขนฟูสีขาวในรถยนต์คันใหญ่ที่จอดติดไฟแดงอยู่ตรงสี่แยกนั้น ทำให้ฉันคิดถึงลัคกี้

สมัยที่ฉันยังรับจ้างทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง สำนักงานเราเป็นบ้านเช่าที่อยู่ติดกับรั้วด้านหลังของบ้านสวนกว้างใหญ่ เจ้าของบ้านสวนก็คือเจ้าของบ้านเช่า รวมทั้งหอพักปากซอย ร้านค้าและตึกแถวใหญ่ในตลาด แถมที่ดินจัดสรรอีกหลายแห่ง

คุณนายเจ้าของบ้านเช่ามีลูกสาวทำงานอยู่ต่างประเทศ ครั้งหนึ่งลูกสาวกลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมกับซื้อลัคกี้มาฝากแม่ 

เราเห็นหมาตัวโตขนยาวขาวสะอาดนั่งชูคอในรถยนต์ไปไหนๆ กับคุณนาย ที่ชอบใจนักเวลามีคนชมความสวยสง่าของลัคกี้ แล้วเธอก็จะคุยให้ใครๆ ฟังถึงลูกสาวคนเก่ง

ลัคกี้ร่าเริงและชอบอยู่ใกล้ๆ คน มันเคยมุดรั้วเข้ามาวิ่งเล่นในสำนักงาน แต่อยู่ๆ เราก็รู้สึกว่าลัคกี้หายหน้าไป

“ลัคกี้ไปไหนหรือคะ” ฉันเลียบๆ เคียงๆ ถามเมื่อคุณนายแวะมาเก็บค่าเช่า
“อู๊ย ก็อยู่บ้านนั่นละค่า” คุณนายตอบเสียงหวาน “แต่มันนิสัยไม่ดี ชอบไปเล่นกับหมานอกบ้าน สกปรกจะตายไป เปลืองค่าอาบน้ำ ต้องล่ามไว้ค่ะ ดัดนิสัยมัน”

ฉันไม่แน่ใจว่าการล่ามนั้นคือวิธีดัดนิสัย แต่เจอลัคกี้อีกครั้ง ฉันเกือบจำมันไม่ได้ ขนยาวสีขาวสวยของมันร่วงเป็นหย่อมๆ ผิวหนังเฉอะแฉะ ขี้ตาสีเหลืองขุ่นเกรอะกรัง มันถูกล่ามโซ่ไว้ใต้ต้นมะม่วงข้างรั้วหลังบ้าน ใกล้ๆ สำนักงานของฉัน

ฉันไม่กล้าถามคุณนาย จึงไปดักถามแม่บ้านที่เข้ามาซักผ้าและทำความสะอาดบ้านสวนทุกๆ สองวันว่าลัคกี้ไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร

“คุณ...เขาไม่ชอบ” ป้าเอ่ยชื่อคุณนาย “เขาว่ามันเหม็น สกปรก ให้เอาไว้ห่างๆ กลัวแขกไปใครมาเห็น ป้าไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน เลยเอาไปผูกไว้ตรงนั้น มันร่มหน่อย”
“อ้าว ก็อาบน้ำ รักษาแผลมันสิคะ จะได้สวยเหมือนเดิม”
ฉันแนะนำแบบงงๆ
“โอ๊ย ใครจะทำ เจ้าของมันยังไม่เอาธุระ ตั้งแต่ซื้อมาเห็นพาไปอาบน้ำที่ร้านหนเดียวมั้ง แล้วอย่าไปชี้ไปแนะอะไรเขาล่ะ เขาไม่ชอบร้อก” แกว่า

“สงสารมันนะป้า แล้วถ้ามีใครเขาอยากได้ล่ะ” ฉันถามอย่างเต็มใจจะเพิ่มจำนวนสมาชิกบ้านสี่ขา (ที่ตอนนั้นยังน้อยอยู่)
“เขาไม่ให้ใครหรอก ลูกสาวรู้จะได้โกรธปะไร อุตส่าห์ซื้อมาให้แพงๆ” ป้าบอก

บางทีก็เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่เราจะทำความเข้าใจวิธีคิดของคนอื่น หัวใจคนไม่ได้เป็นสีแดงเสมอไป
ลัคกี้ถูกทิ้งให้อยู่ข้างรั้วอย่างถาวร ไม่มีใครมาดูแล นอกจากป้าแม่บ้านที่เทอาหารเม็ดไว้ให้ทุกสองวัน รั้วด้านนั้นมีช่องโหว่อยู่ ฉันจึงใช้เป็นทางมุดเข้าไปดูลัคกี้ เอาขันใส่น้ำไปวางไว้ให้มันกิน ลัคกี้มีทีท่าดีใจ แต่ก็ไม่ร่าเริงเหมือนเคย

ครั้งหนึ่ง ลัคกี้เห็นคุณนายเดินอยู่ในสวน มันตื่นเต้นดีใจจนฉี่ราด เห่าเสียงดังและกระโดดเต็มแรง แต่โซ่ที่ล่ามไว้สั้นๆ ทำให้มันล้ม มันรีบตะเกียกตะกายลุกขึ้น แต่คุณนายก็เดินลับตาไปเสียแล้ว

“อยากพาลัคกี้ไปหาหมอจัง” ฉันบ่นกับน้องที่ทำงานองค์กรเดียวกัน เขาเคยเล่นกับลัคกี้
“ผมต้องเอารถออกไปติดต่องานข้างนอก ผมช่วยพาพี่ไปได้นะ แต่จะเอามันไปยังไงล่ะ คุณนายคงไม่โอเคหรอก กลัวเสียหน้า” น้องโอมพูดขำๆ

ฉันทำการลักหมาไปหาหมอ ด้วยการมุดรั้วเข้าไปปลดโซ่ลัคกี้ แล้วพามุดออกไปอีกด้านหนึ่งโดยไม่มีใครเห็น น้องโอมปูกระดาษหนังสือพิมพ์หลายชั้นเพราะกลัวรถของสำนักงานเปื้อนแล้วความจะแตก

เราพาลัคกี้ไปคลินิกหมออนันต์ ลัคกี้เป็นโรคผิวหนังอย่างรุนแรง ทั้งยังเป็นพยาธิหนอนหัวใจ มีเห็บตัวเป้งๆ เกาะติดเต็มตัว มันต้องกินยาหลายขนาน ทั้งยากำจัดพยาธิ ยาบำรุงเลือด ยาฆ่าเชื้อ ยากระตุ้นภูมิ รวมแล้ววันละเป็นสิบเม็ด

อาการลัคกี้ไม่ดีขึ้น ฉัน(แอบ)พามันลอดรั้วไปหาหมออนันต์อีกสามสี่ครั้งด้วยความช่วยเหลือของน้องโอม แต่ละครั้ง เราสามคนจะยืนล้อมวงกันรอบโต๊ะ ช่วยกันดึงเห็บตัวโตๆ ออก หมอแบ่งอาหารเสริมชนิดป้ายปาก(ซึ่งค่อนข้างแพง) มาให้โดยไม่คิดเงิน

ทุกวันก่อนกลับบ้าน ฉันจะมุดรั้วเข้าไปป้อนยา ทายา คุยเล่นด้วย แต่ลัคกี้ซึมเศร้า เอาแต่เดินวนไปมาเท่าที่ความยาวของโซ่จะไปได้ อาหารเม็ดที่ค้างอยู่เต็มจานมีแต่มดขึ้น

ฉันคลุกข้าวไปให้ แต่ลัคกี้กินน้อยลงทุกวัน พอป้อนยาเสร็จ มันก็อ้วกออกมาทั้งยาทั้งข้าว วันไหนที่ฉันอยู่ทำงานจนดึก มักได้ยินเสียงมันหอนเบาๆ ด้วยเสียงที่ฟังแล้วเศร้าเหลือประมาณ

เย็นวันหนึ่งฉันมุดเข้าไปพร้อมถุงข้าวและยาตามปกติ เห็นลัคกี้เดินงุ่มง่ามอยู่ห่างจากรั้ว ปรากฏว่าโซ่หลุด ท่าทางมันคงจะเดินไปหาเจ้าของ แต่แล้วมันก็หยุดเดิน ชะเง้อมองไปยังทิศทางของบ้าน ครางเบาๆ ในลำคออย่างเศร้าสร้อย

แล้วมันก็ล้มทั้งยืน ชักตาตั้ง ฉันวิ่งแน่บไปเรียกน้องโอมที่สำนักงาน น้องก็วิ่งตามมาทั้งๆ ที่กำลังจะกลับบ้านอยู่แล้ว เราใช้รถสำนักงานไม่ได้ จึงช่วยกันหามลัคกี้มุดออกไปเรียกตุ๊กตุ๊กที่ถนน กว่าจะเจอคันที่ยอมรับหมาขึ้นรถ ฉันก็เกือบร้องไห้

หมออนันต์รีบฉีดยากระตุ้นหัวใจให้ทันที ลัคกี้ลืมตาขึ้นมากระดิกหางอย่างอ่อนแรงทีหนึ่งแล้วแน่นิ่งไป หมอรีบปั๊มหัวใจเป็นการใหญ่

ลัคกี้ฟื้นขึ้นมามองหน้าคนนั้นคนนี้ครู่หนึ่งก็เงียบไปอีก หมอต้องปั๊มอีกรอบ เสียงลมพ่นออกมาทางจมูกและปากมันดังฟืดๆ ตามจังหวะที่หมอออกแรงกดตรงซี่โครง ฉันกับน้องโอมได้แต่ยืนลุ้น ฉันกลั้นน้ำตา พร่ำพูดแต่ว่า ทนหน่อยลัคกี้ ทนหน่อยลัคกี้
ลัคกี้หายใจได้อีกครั้ง แต่ก็แผ่วเบามาก หมออนันต์ปาดเหงื่อบอกว่าคงไม่ปั๊มอีกแล้ว เพราะหัวใจของมันอ่อนแอเกินไป เรายืนรอบเตียง มองร่างผ่ายผอมของลัคกี้ที่ขยับช้าลง ช้าลง จนหยุดนิ่ง มันหมดลมหายใจท่ามกลางคนที่รัก ห่วงใยและจริงใจกับมัน (ยิ่งกว่าเจ้าของ)

“บางทีอาจจะดีนะพี่ ที่มันตาย มันจะได้ไม่ต้องทรมานอีกต่อไป” น้องโอมพูดขรึมๆ

แต่บางครั้ง ฉันก็เคยคิดว่า หัวใจของมันอาจจะตายไปนานแล้ว ตายไปก่อนหน้านี้สองเดือน นับตั้งแต่วันที่มันถูกล่ามทิ้งไว้ข้างรั้ว

เหตุผลของวันพรุ่งนี้

2 November, 2007 - 02:57 -- moon

จับเจ่ารอรถอยู่ที่สถานีขนส่งเมืองอุบลฯ ลมปลายเดือนตุลาคมพัดมาในช่วงค่ำทำให้ต้องนั่งกอดอก กำลังเกือบสัปหงกเมื่อรู้สึกเหมือนมีใครบางคนมายืนเกือบชิดหัวเข่า

โงหัวขึ้นเจอกับดวงตากลมใสคู่หนึ่ง กำลังจ้องมองฉันอยู่อย่างคาดหวัง

เรามองตากันอยู่เงียบๆ ฉันพินิจลักษณะของเธอแล้วเดาว่า น่าจะกำลังเป็นแม่ลูกอ่อน ด้วยว่าเต้านมที่หย่อนยานนั้นดูอวบเต่ง แต่รูปร่างที่ผอมเกร็งก็บอกว่า อาการการกินคงไม่บริบูรณ์เท่าไร อาจจะถึงขั้นขาดแคลนเสียด้วยซ้ำ

“หิวเหรอจ๊ะ” ฉันถามเบาๆ ไม่มีเสียงจากเธอ แต่มีคำตอบอยู่ในแววตาละห้อยคู่นั้น
ฉันเหลียวซ้ายแลขวาไปทั่วท่ารถที่ค่อนข้างเงียบเหงา รถโดยสารที่แล่นระหว่างอำเภอหมดไปนานแล้ว ไม่กี่คนที่เหลืออยู่กำลังรอรถอุบล-กรุงเทพฯ เที่ยวสุดท้าย เห็นแสงไฟสว่างอยู่ห่างออกไปตรงป้ายที่เขียนว่า ห้องน้ำ 3 บาท

“เดี๋ยวมานะ” ฉันบอกเธอแล้วลุกเดินไปดู หวังว่าจะมีขนมปังหรืออะไรที่เธอพอจะกินได้บ้าง
หน้าห้องน้ำเป็นแผงขายหนังสือพิมพ์ มีหนังสือนิยายเล่มละสิบบาทกองอยู่บนชั้น กับหนังสือเรื่องย่อละครโทรทัศน์ที่กำลังฉายอยู่ 4-5 เรื่อง มีตู้แช่ใส่น้ำอัดลมกับเครื่องดื่มชูกำลัง และมะม่วงดองอีก 2-3 ถุง ใกล้กันมีแผงเล็กๆ ที่เดาว่ากลางวันอาจจะขายขนมอื่นๆ แต่ตอนนี้ว่างเปล่า

หันกลับไปมอง เธอยังยืนอยู่ที่เดิมและมองตรงมาที่ฉันอย่างไม่วางตา

เดินกลับมาค้นเป้ใบมอมๆ ที่แบกมาตั้งแต่สุพรรณฯ ยันอำนาจเจริญ พอถึงอุบลราชธานีมันก็ยับเยินใกล้หมดสภาพ นอกจากสมุด หนังสือ เทปบันทึกเสียง กับเสื้อผ้าเลอะๆ ที่ยังไม่ได้ซักแล้ว ก็มีแต่ยากับผ้าพันแผล และขวดที่มีน้ำเหลืออยู่ไม่กี่อึก

“ทำไงดีล่ะ” ฉันบ่นกับตัวเอง เห็นเธอขยับตัวอย่างตื่นเต้นเล็กน้อย คงหวังว่าฉันจะยื่นอะไรให้ แต่พอฉันส่ายหน้า บอกว่า “ไม่มีอะไรเลยจ้ะ” เธอก็หน้าสลด

หลังจากยืนอยู่จนแน่ใจว่าไม่ได้อะไรแล้ว เธอจึงค่อยๆ เดินเกร่ไปแถวๆ ถังขยะใบใหญ่ที่สูงกว่าตัวเธอมาก มีถุงขนมปลิวอยู่ที่พื้นใบหนึ่ง เธอใช้เท้าเขี่ยๆ ดู พอเห็นเป็นถุงเปล่าก็เดินข้ามไป ฉันภาวนาขออย่าให้เธอคุ้ยขยะ เพราะกลัวว่าเธอจะถูกใครๆ รังเกียจ แต่อีกใจกลับหวังแทนเธอว่า จะมีใครทิ้งถุงไก่ย่างหรือข้าวผัดที่กินไม่หมดไว้บ้าง

ไม่รู้ว่าคำภาวนาของใครได้ผล รถซาเล้งคันหนึ่งเข้ามาจอดใกล้ๆ ห้องน้ำ เป็นรถขายลูกชิ้นปิ้ง มีหลอดไฟเล็กๆ ติดไว้ดวงหนึ่งพอให้มองเห็นลูกชิ้นในถาด คนขายเป็นชายหนุ่มผิวคล้ำ มีผ้าขาวม้าพาดคอ เขากวาดตามองปริมาณคนที่รอรถอยู่ด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อย

ฉันรีบลุกไปสั่งลูกชิ้นสี่ไม้ ตาโรยๆ ของเขาดูมีประกายขึ้นนิดหน่อย 

“ไม่ต้องอุ่นนะ” ฉันบอกเมื่อเห็นเขาเขี่ยถ่านใกล้มอดในเตาแล้ววางลูกชิ้นลงบนตะแกรงปิ้ง
“ไม่ต้องรีบหรอกคุณ รถเที่ยวท้ายยังไม่มาง่ายหรอก” เขาพูดเนือยๆ
“ไม่ดีกว่า เดี๋ยวร้อนเกินไป อ๊ะ ไม่ต้องจิ้มค่ะ” ฉันรีบบอกก่อนที่เขาจะจุ่มลูกชิ้นลงในโถน้ำจิ้ม

ถือถุงลูกชิ้นไปหาเธอที่ยังเดินวนอยู่รอบๆ ถังขยะ ยังไม่ทันเรียก เธอก็หันขวับมาหาราวกับจะรู้ ฉันพาเธอไปนั่งหลังเสาต้นใหญ่ ไม่อยากให้คนขายลูกชิ้นเห็น เธอจ้องมือของฉันที่รูดลูกชิ้นออกจากไม้ ตัวสั่นด้วยความหิวและตื่นเต้น

ลูกชิ้นสี่ไม้หมดในพริบตา แต่เธอคงยังไม่อิ่ม หรือไม่ก็หิวมากยิ่งขึ้น เพราะเธอเอาแต่จ้องมองถุงเปล่าในมือของฉันและเลียริมฝีปากไม่หยุด ฉันจึงลุกไปหาคนขายลูกชิ้นอีกครั้ง

“ลูกชิ้นอีกสี่ไม้ค่ะ ไม่ต้องอุ่น แล้วก็ไม่ใส่น้ำจิ้ม”
คนขายมองถุงเปล่าที่ฉันถือติดมือไปด้วย หน้าคล้ำเฉยของเขาไม่แสดงอารมณ์ใดๆ หยิบลูกชิ้นใส่ถุงตามสั่ง แต่จู่ๆ เขาก็หยุดมือ แล้วถามขึ้นว่า

“เอาไปให้หมาใช่มั้ย”
ฉันสะดุ้ง อ้าว เห็นด้วยแฮะ ไม่พอใจหรือเปล่าเนี่ย

“ใช่แล้ว ก็มันหิวนี่นา สงสารมันน่ะ คงจะไม่ได้กินอะไรเลย เมื่อกี้มันกินเร็วจนดูไม่ทัน สงสัยมันไม่อิ่ม เลยต้องมาซื้ออีก” ฉันรีบอธิบายยืดยาว ไม่อยากให้เขาเข้าใจว่าลูกชิ้นคุณภาพแย่จนฉันต้องเอาไปให้หมา

แต่ทันใดนั้น เขาก็ยิ้ม เป็นยิ้มใสๆ ที่ทำให้หน้าดำคล้ำนั้นสว่างขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

“รู้มั้ย มันเป็นหมาแม่ลูกอ่อนนะ” เขาบอก “มันหิวบ่อยเพราะลูกมันดูดนม”
ท่าทางเขาเหมือนผู้ใหญ่ที่ตั้งใจจะอธิบายอะไรสักอย่างกับเด็ก ทั้งที่เขาคงอายุน้อยกว่าฉันหลายปี

“ใครเอามันมาทิ้งท่ารถก็ไม่รู้ มันออกลูกอยู่ตรงโน้นแน่ะ” เขาชี้ไปแถวๆ ริมกำแพงอีกฟากหนึ่งของสถานีขนส่ง ฉันมองตามมือเขา เห็นแต่เงาตะคุ่มๆ ของพุ่มไม้

“ลูกมันมีสามตัว ตัวเล็กๆ ทั้งนั้น วันไหนผมมาขายแถวนี้ ผมให้มันกินลูกชิ้นทุกทีแหละ ทีละไม้สองไม้ เห็นมันแล้วคิดถึงหมาที่บ้าน”
“แล้วบ้านพ่อค้าอยู่ไหนล่ะคะ”
ฉันถาม
“บ้านผมไม่อยู่นี่ ผมคนบ้านโป่ง ราชบุรี ผมมาหางานทำ” เขายื่นถุงให้ฉัน ในนั้นมีลูกชิ้นห้าไม้ ฉันกำลังจะอ้าปากถาม เขาก็บอกว่า
“ผมแถมไม้นึง เอาให้หมา”

..........

แม่ลูกอ่อนกินลูกชิ้นหมดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เธอยืนกระดิกหางให้ฉันอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็วิ่งเต้านมแกว่ง ข้ามพื้นที่จอดรถของสถานีขนส่งหายไปในเงามืดของกำแพงฟากโน้น คงรีบกลับไปหาลูก

พรุ่งนี้เธอจะได้กินอะไร จะอิ่มบ้างไหม หรือจะวิ่งหิวโหยต่อไป ไม่มีใครบอกได้

คนขายลูกชิ้นถีบซาเล้งจากไป พรุ่งนี้เขาจะยังขายลูกชิ้น หรือจะได้งานใหม่ หรืออาจจะเปลี่ยนใจกลับไปบ้านเกิดที่มีครอบครัวและหมาๆ รออยู่ เขาเองก็อาจจะยังตอบไม่ได้เช่นกัน

ลมต้นฤดูหนาวพัดมาแผ่วๆ หญิงสาวคนหนึ่งนั่งพิงคนรัก มีกล่องกระดาษใบใหญ่ข้างตัว ม้านั่งปลายสถานีมีผู้ชายคนหนึ่งนอนคู้ตัวหลับอยู่ ทุกคนกำลังรอรถที่จะพาไปสู่จุดหมาย อาจเป็นปลายทางของบางคน และเป็นจุดเริ่มต้นของอีกบางคน

ฉันกลับมานั่งกอดเป้ใบเก่า ใจนึกถึงแม่และสมาชิกบ้านสี่ขา คิดถึงช่วงเวลาอบอุ่นของการกลับบ้าน แล้วก็คิดถึงการทำงานกับการเดินทางที่ไม่รู้จบ

วันพรุ่งนี้ของแต่ละคนอาจมีความหมายไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคงเป็น “ความหวัง” ที่ทำให้เรามีกำลังใจยิ้มรับวันใหม่ที่จะมาถึง รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่

สุนทรียสนทนาบนรถสองแถว

26 October, 2007 - 02:07 -- moon

รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)

มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด

ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้  ถ้าเย็บแผลละก็ เท่ากับอำนวยความสะดวกให้มันเชียวละค่ะ จึงจำเป็นต้องเปิดปากแผลไว้ เพื่อให้ออกซิเจนได้เข้าไปฆ่าเชื้อโรคด้วยประการฉะนี้ 

หมอบอกว่า บางคนแผลกว้างไม่พอ หมอต้องกรีดปากแผลเพิ่มให้อีกก็มีนะ โชคดี(หรือเปล่าเนี่ย) ที่แผลฉันกว้างพอแล้ว เฮ้อ...

แหม แต่ยี่สิบกว่าวันที่แขนขวาไม่โดนน้ำเลย ขี้ไคลจับจนปั้นวัวปั้นควายให้ลูกใครๆ เล่นได้หลายตัวเชียวละ มีใครอยากได้สักตัวไหมคะ

ฉันยื่นแผลให้เสือจิ๋วดู มันไม่ยักสนใจ ตาใสแจ๋วของมันไม่มีวี่แววจดจำรำลึก ราวกับจะบอกว่า อย่ายึดติด อะไรผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป น้าน...ฉันช่างบรรลุธรรมได้ถึงขนาดนั้น

แผลที่โดนบริเวณเส้นเอ็น ทำให้ฉันยังขยับข้อมือไม่ไหว และยังขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อทองม้วน แมวน้อยอีกตัวหนึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ดูอาการแล้วไม่สมควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงจำต้องหิ้วตะกร้าใส่แมว ขึ้นรถสองแถวไปหาหมอ

โชคดีอีก(ทั้งที่ปกติไม่สมควรคิดว่าโชคดี)ที่ทองม้วนผอมมาก น้ำหนักเบาหวิวของมันทำให้ฉันหิ้วตะกร้ามือซ้ายได้ตลอดระยะทางกว่าสามสิบกิโลเมตร ด้วยเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจากตลาดหน้าอำเภอไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี
ทองม้วนนอนซมในตะกร้าไปจนถึงมือหมอ หลังจากให้น้ำเกลือ กับฉีดยาอีกสองเข็ม มันจึงค่อยมีแรง และเริ่มส่งเสียงร้องเมี้ยวม้าวแสดงอาการตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมา ทองม้วนยังไม่เคยขึ้นรถไปไหนเลย

บนรถสองแถวขากลับที่ค่อนข้างเต็มไปด้วยผู้โดยสาร เสียงร้องของทองม้วนจึงเป็นต้นเรื่องของบทสนทนาเหล่านี้

“เอ๊ะ เสียงเหมือนเด็กอ่อน ลูกใครหว่า” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นดังๆ แล้วมองไปทั่วรถ
“ไม่ใช่ เสียงลูกแมวตะหาก” อีกคนแย้งแบบผู้สันทัดกรณี เธอหันมาสบตากับฉันพอดี แล้วจึงเห็นตะกร้าใส่แมว
“นั่นไง แมวจริงๆ ด้วย ต๊าย ผอมจัง เป็นไรจ๊ะ”

ฉันเลยได้บรรยายอาการเจ็บป่วยของทองม้วนเป็นวิทยาทาน
“แหม ตัวแค่เนี้ย ป่วยทีเสียเงินเป็นร้อยเป็นชั่ง เลี้ยงเยอะๆ คงจนแย่ ดีนะนี่แค่ตัวเดียว ไม่เท่าไหร่เนาะ” พี่ผู้หญิงแต่งตัวเหมือนสาวโรงงานคนหนึ่งพูดปลอบใจฉัน

ฉันหัวเราะแหะๆ ไม่กล้าเล่าถึงแมวหมาอีกกว่าเจ็ดสิบตัวที่บ้าน กลัวพี่เขาเป็นห่วง
“แมวฉันตัวใหญ่กว่านี้สามสี่เท่า อ้วนยังกะหมู” คุณป้าคนหนึ่งที่ขึ้นรถมาพร้อมกระบุงใบใหญ่เล่าเสียงดังแข่งกับเสียงเครื่องรถ “อุตส่าห์เลี้ยงไว้จับหนู มันก็อ้วนซะจนไล่หนูไม่ไหวแล้ว”

“นังสามสีของชั้นก็เหมือนกัน มันหลงมา ชั้นก็เลี้ยงไว้ แหม้..มันมุดมุ้งชั้นทู้กคืน มุดเข้ามานอนแล้วก็ออกไม่ได้ ร้องจะออกอีก ดึกดื่นต้องลุกมาเปิดมุ้งให้มันเข้าๆ ออกๆ เบื๊อ เบื่อ” ปากบ่น แต่หน้าตาคนพูดเอ็นดูเจ้าตัวที่เล่าถึงเป็นอย่างยิ่ง

“แมวที่ไหนไม่รู้ชอบมาออกลูกหลังบ้านฉัน” คราวนี้เป็นทีของคุณน้าเสื้อเหลืองเล่าบ้าง “ออกแล้วออกอีก ท้องมันอยู่นั่น ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไอ้เราก็เลี้ยงไปสิ จะไล่ไปรึก็สงสาร อุตส่าห์มาหาที่พึ่ง”

“แล้วเป็นไง ต๊าย แมวมิเต็มบ้านไปหมดรึ” มีเสียงถาม
“ไม่ร้อก พอมันโตก็ไปกันหมด แต่อย่าวางใจเชียว เดี๋ยวก็มาออกอีกละ แหม้ มันเห็นบ้านฉันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็ก” คุณน้าบ่นด้วยเสียงหัวเราะ

“ต้องจับทำหมันค่ะ” ฉันเสนอแนะ
“ก็เนี่ย คอยจ้องจะจับอยู่ แต่มันโผล่มาตอนจะคลอดทู้กที” คุณน้าบอก

“หลานฉันก็เลี้ยงแมว” แม่ค้าปลาที่นั่งอยู่เกือบท้ายรถเล่าบ้าง “แต่วันก่อนมันถูกรถชน หลานมันอุ้มแมวมา อู๊ย ร้องไห้ซะจนเรานึกว่าใครตาย อพิโถ แมวตาย”
“ก็เขารักของเขานี่นา เป็นฉัน ฉันก็ร้อง” อีกคนพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ  
“แน่ะ แล้วแขนเป็นไร ปิดแผลเต็มเชียว” คุณป้ากระบุงใหญ่เริ่มเบนความสนใจมาที่ฉัน พอได้คำตอบว่าถูกแมวกัด แถมด้วยการบรรยายเหตุการณ์พอสังเขป ประเด็นการสนทนาก็เปลี่ยนไป

“ว้าย น่ากลัวจัง” สาวน้อยนักเรียนที่หิ้วถุงเทสโก้โลตัสอุทานพลางทำท่าขนลุก
“ฉันก็เคยโดนแมวกัด” คุณป้าคนเดิมว่า แล้วใครอีกคนก็บอกว่า “หลานฉันก็เคยถูกหมากัด” จากนั้น ใครๆ ที่เคยถูกตัวอะไรต่อมิอะไรกัดก็ผลัดกันเล่าเป็นการใหญ่ คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าญาติถูกตุ๊กแกกัด

“เขาว่าตุ๊กแกกัด ต้องกินขี้สามชาม กินน้ำสามโอ่ง” แม้ค้าปลาบอก
“จะตายก็ตอนนี้แหละ ไม่ใช่เพราะตุ๊กแกกัด” เสียงใครไม่ทราบพูด เลยได้หัวเราะกันลั่นรถ
“ใครไม่เคยถูกกัดไม่รู้ร้อก” คุณป้าสรุป

หนึ่งชั่วโมงถัดมา ฉันก้าวลงจากรถสองแถวอย่างอาลัยอาวรณ์บทสนทนาน่ารักที่ยังไม่จบ

“หายเร็วๆ นะ ทั้งคนทั้งแมว” คุณน้า (เจ้าของโรงพยาบาลแม่และเด็ก) ตะโกนจากรถ

ฉันยังยืนยิ้มอยู่อีกพักใหญ่ ถึงจะยังกังวลใจในอาการของทองม้วนที่หมอบอกว่า ถ้าผ่านสามวันไปได้ก็จะรอด แต่ถ้อยสนทนาบนรถสองแถวทำให้ใจทั้งอิ่มและอุ่น

ฉันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักดาราศาสตร์ เป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่า ความใส่ใจใยดีที่คนมีให้คน และเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นี้เอง ที่ทำให้โลกของเรายังหมุนได้

กล้วยปิ้งในหัวใจ

19 October, 2007 - 01:02 -- moon

แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ”

เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”

ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท

“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)

คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง ราดน้ำจิ้มเหนียวๆ แล้วใส่ไม้แหลมๆ ให้หนึ่งไม้
“สี่ลูกเอง แพงจัง” ฉันรำพึงกับตัวเอง แต่คงเผลอพูดดังไปหน่อย คนขายเลยขมวดคิ้วใส่
“ราคานี้มาตั้งนานแล้วพี่”
“ค่ะ ค่ะ ขอโทษที ไม่ค่อยได้มาแถวนี้” ฉันอยากยิ้มให้เธอ แต่ก็รีบหันหลังออกจากแผงกล้วยด้วยความเกรงใจคนขาย กลัวเธอเข้าใจรอยยิ้มของฉันผิด

จุดหมายอยู่ห่างออกไปอีกราวๆ สองป้ายรถเมล์ แต่ฉันกำลังอยากชิมกล้วยปิ้งคนกรุง เลยตัดสินใจไม่ขึ้นรถ จะได้เดินไปกินไปอย่างสบายอารมณ์

มาตรฐานความอร่อยเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สำหรับฉัน กล้วยปิ้งนั้นฝาดไปหน่อย แถมน้ำจิ้มยังหวานแสบไส้ นึกถึงสีหน้าไร้อารมณ์ของคนขายแล้วเห็นใจเธอ ได้ยินว่า ธุรกิจกล้วยปิ้งปัจจุบันนี้มีการทำแฟรนไชส์แล้ว แสดงว่าคนไทยยังไม่เบื่อกล้วยปิ้ง แต่ทำไมหนอ เธอถึงมีหน้าตาเบื่อลูกค้าขนาดนั้น

แล้วฉันก็คิดถึงรอยยิ้มของยาย

ยายนั่งอยู่ในเพิงสังกะสีหน้าห้องแถวเก่าๆ ริมถนนในจังหวัดหนึ่งทางภาคอิสาน ตอนที่ฉันยังทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเพิงของยายเกือบทุกวัน

ยายจะมานั่งปิ้งกล้วยขายตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงเย็น ยกเว้นวันที่ยายปวดเมื่อยจนลุกไม่ขึ้น แต่ทุกวันที่ยายมาขาย ยายจะมียิ้มแจ่มใสมาด้วยเสมอ เหลียวมองทีไร เห็นยายยิ้มทุกที จนฉันอยากจะคิดว่ายายยิ้มให้รถทุกคันที่ผ่านหน้ายายไป

รอยยิ้มนั้นเองที่ดึงดูดให้ฉันจอดรถซื้อกล้วยปิ้ง
“หนู้...” ยายจะขึ้นต้นแบบนี้ทุกครั้ง “ไปไหน้มาจ๊า กินกล้วยปิ้งของยายไหม้ อร่อยนาจ๊ะ”

เสียงเหน่อๆ ของยายทำให้ฉันต้องยิ้ม ยายก็บอกไม่ถูกว่าตัวเองนั้นพูดด้วยสำเนียงจังหวัดไหน เพราะวัยกว่าแปดสิบของยายนั้น ย้ายตามลูกชายมาหลายจังหวัด จังหวัดละหลายๆ ปี ทั้งอุตรดิตถ์ จันทบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา

“อู๊ย มันหลายแห่งเหลือเกิ๊น ย้ายจนยายเวียนหั้ว หนู้เอ๊ย ....”

เริ่มคุ้นหน้ากัน ยายก็ถามฉันว่า “หนู้ ค้ายอะไรหรือจ๊ะ” แกชี้ไปที่ตะกร้าใบใหญ่ที่ฉันมัดไว้ท้ายรถ ฉันจึงอธิบายว่าไม่ได้ขาย ของที่เต็มตะกร้าเกือบทุกวันนั้นคือกับข้าวหมา

ยายฟังเรื่องบ้านสี่ขาแล้วก็หัวเราะตาหยี  “เหมือนยาย เหมือนยาย”

ในกระจาดกล้วยของยาย ทุกวันจะมีถุงก๊อบแก๊บหลายถุงใส่ข้าวคลุกน้ำแกงบ้าง หัวปลาบ้าง ต้มเศษเนื้อบ้าง ยายบอกว่า “เอาไว้ให้หม้า”

มีหมามอมแมมหกเจ็ดตัว แวะเวียนมาหายายที่แผงกล้วยปิ้งทุกวัน ยายจะหยิบถุงก๊อบแก๊บใส่ข้าวโยนให้มันคาบไปกิน มีตัวหนึ่งมารอยายแต่เช้า กินข้าวเสร็จแล้วก็นอนข้างๆ แผงของยายไปจนถึงเย็น พอยายกลับ มันก็กลับบ้าง ยายบอกว่ากลางคืนมันนอนไหนไม่รู้ แต่กลางวันมันมาอยู่เป็นเพื่อนคุยกับยาย

บางวันมันมีสีม่วงๆ เป็นหย่อมๆ เต็มตัว ยายเล่าว่ามันได้แผลมาจากไหนไม่รู้ ยายเลยเอายาสีม่วงใส่แผลให้ เมื่อแผลมันหาย ยายก็รีบบอกฉันให้ร่วมดีใจด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข เงินที่ฉันซื้อกล้วย ยายบอกว่าจะเอาไว้ช่วยหมาที่อดอยาก

วันหนึ่ง ยายเห็นฉันมีพลาสเตอร์แปะอยู่ตรงหางคิ้วเนื่องจากถูกบานหน้าต่างกระแทกใส่ ยายรีบถามไถ่อาการอย่างห่วงใย แล้วหยิบกล้วยปิ้งใส่ถุงให้จนนับไม่ทัน

“ยายจ๋า หนูซื้อแค่สิบบาท ยายหยิบเกินแล้วยาย” ฉันรีบบอก
“ไม่เป็นไร้ กินกล้วยปิ้งของยาย หนู้จะได้ห้ายไวๆ” ยายยื่นกล้วยถุงใหญ่ (มีเกือบยี่สิบลูก) ให้แล้วบอกด้วยรอยยิ้มแฉ่งว่า “อ้ะ ซิบบาท”

“สิบบาทยายขาดทุนแย่ แถมให้เยอะขนาดนี้หนูกินไปสามวันก็ไม่หมด” ฉันไม่ได้บอกว่า ที่ซื้อยายเมื่อวาน (และเมื่อวานซืน) ก็ยังไม่หมด
“ขาดทุนอาไร้ กล้วยถูกจะตายไป๊ กินไม่หมดก็เอาไปค้ายต่อ” ยายแนะนำ
“โธ่ หนูจะไปขายใครเล่ายาย” ฉันยิ้มขำ นึกถึงน้องๆ ที่ทำงานที่ถูกชวนแกมบังคับให้ช่วยกินกล้วยปิ้งทุกวัน ยิ่งช่วงที่แผลยังไม่หาย ยายจะแถมกล้วยให้จนฉันแทบกินแทนข้าว

คิดถึง “เจ้าชายน้อย” ของอองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี และถ้อยคำที่ว่า
“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามก็อยู่ตรงที่ว่า มันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง”

เจ้าชายน้อยและนักบินเดินอยู่ในทะเลทราย
“เธฮหิวน้ำเหมือนกันหรือ” นักบินถาม
เจ้าชายน้อยไม่ตอบ แต่พูดว่า น้ำอาจจะดีสำหรับหัวใจ

ทั้งสองพบบ่อน้ำเมื่อรุ่งสาง เจ้าชายน้อยขอให้นักบินตักน้ำในบ่อให้ นั่นเองคือสิ่งที่นักบินค้นพบ การเดินใต้แสงดาว การค้นพบบ่อน้ำกับเสียงเพลงของลูกรอก และแรงแขนของเพื่อนที่สาวถังน้ำขึ้นจากบ่อ ทำให้น้ำนั้นสดชื่นราวน้ำหวานในงานรื่นเริง

เจ้าชายน้อยบอกนักบินว่า
“ผู้คนในโลกของคุณ ปลูกกุหลาบห้าพันต้นในสวนเดียว แต่เขากลับไม่เคยพบสิ่งที่เขาต้องการ”
“ใช่ เขาไม่เคยพบมันหรอก” นักบินตอบ

เจ้าชายน้อยบอกว่า
“ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาค้นหา อาจจะพบได้ในกุหลาบเพียงดอกเดียว หรือในน้ำเพียงเล็กน้อย”

แล้วเขาก็เสริมว่า
“แต่ตาของคนเราบอด สิ่งนั้นต้องหาด้วยหัวใจ”

กล้วยปิ้งราคาสี่ลูกยี่สิบบาทบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษ และฉันก็ไม่ได้อยากกินกล้วยปิ้ง เพียงแต่ฉันคิดถึงรอยยิ้มของยาย และรู้สึกว่า กล้วยปิ้งนั้นดีต่อหัวใจ

ขอบใจเสือจิ๋ว

11 October, 2007 - 02:13 -- moon

อยู่ดีๆ ฉันก็เหลือมือที่ใช้การได้ข้างเดียว แถมเป็นข้างซ้ายที่ไม่ถนัดเสียด้วย

มือขวาหายไปไหนล่ะ ไม่หายหรอกค่ะ ยังอยู่ แต่มันยื่นใบลาพักชั่วคราว ฉันจำต้องอนุมัติ เพราะมันอ้างว่าเป็นคำสั่งแพทย์

สาเหตุการป่วยของมือขวามาจากตัวฉันเอง มีแมวน้อยน่ารักสองตัวเป็นส่วนประกอบ

เสือจิ๋วกับสตางค์เป็นลูกแมวกำพร้าที่ถูกทิ้ง ความจริงมันมีพี่น้องสี่ตัว แต่อดตายไปสอง มันโชคดีที่ได้เจอฉัน หรือว่าฉันโชคดีที่มีโอกาสได้ช่วยมันก็ไม่รู้ สองแมวเลยมาอยู่บ้านสี่ขา ได้ป้อนน้ำป้อนนมกันจนโต

ความที่ไม่รู้ว่าแมวทั้งสองตัวเกิดเมื่อไร การคาดเดาอายุของมันจึงคลาดเคลื่อนไม่มากก็น้อย ฉันตั้งใจจะจับมันไปทำหมันก่อนวัยกลัดมันจะมาถึง แต่เกิดมีหมาๆ พากันเจ็บป่วยต่อเนื่องกันถึงห้าตัวในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดบ้านสี่ขาเกิดภาวะ "วิกฤติเศรษฐกิจ"

โครงการทำหมันแมวประสบภาวะชะงักงัน เนื่องจากการเงินของเจ้าของแมวขาดสภาพคล่อง เพื่อความปลอดภัย ฉันตัดสินใจเอาเสือจิ๋วกับสตางค์ใส่กรงไว้ก่อน เพราะมีแมวสาวๆ ที่ยังไม่ทำหมันอยู่หลายตัว

สองแมวน้อยไม่มีทีท่ารังเกียจกรง แถมยังรักกันนักหนา เดี๋ยวเล่นเดี๋ยวเลียเนื้อตัวให้กัน กอดปล้ำกันจนกรงสะเทือน บางทีมีส่งเสียงเหมียวๆ คุยกันเสียด้วย ยามนอนก็กอดกันหลับปุ๋ยทุกคืน ใครจะนึกว่า ระหว่างแมวตัวผู้ "ไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวร"

เช้าวันหนึ่ง ฉันจึงตื่นด้วยเสียงแหบห้าวสองเสียงที่แผดใส่กันดังสนั่น ตอนแรกนึกว่าฝันไป เฮ้ย ไม่ใช่นี่หว่า เสียงมาจากกรงแมว ลุกไปดูด้วยความแปลกใจ ไม่ทันคิดว่าลูกแมวน้อยจะแตกเนื้อหนุ่มในช่วงข้ามคืน

เสือจิ๋วกับสตางค์เบียดพิงกรงอยู่คนละด้าน กำลังโก่งตัวพองขน ส่งเสียงเถียง(หรือท้ารบก็ไม่รู้) กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ยังไม่ทันที่ฉันจะประเมินสถานการณ์ สองแมวก็พุ่งใส่กันเหมือนคู่ชกมุมแดงและมุมน้ำเงินบนเวทีมวยราชดำเนิน โรมรันพันตูอยู่ในกรงจนขนกระจุยกระจาย ฉันกลัวสตางค์ที่ตัวเล็กกว่าจะโดนฟัดตาย จึงเปิดกรงเอื้อมมือเข้าไปดึงสตางค์ออก

พริบตานั้น เสือจิ๋วที่กำลังเมามันกับการต่อสู้ก็กระโจนเข้าขย้ำมือขวาของฉันเต็มที่ ฉันสะบัดมือขึ้นด้วยความเจ็บปวด เขี้ยวที่ยังฝังอยู่จึงแหวกเนื้อเป็นทางยาว เสือจิ๋วถอนเขี้ยวแล้วกัดซ้ำ ทั้งกัดและตะกุยด้วยกรงเล็บตั้งแต่หลังมือจนถึงข้อศอก พริบตาเดียว มือฉันก็พรุน เลือดพรูออกมาจากทุกๆ รอยแผลเหมือนถุงใส่น้ำที่มีรูรั่ว

ฉันร้องไม่ออกเพราะตกใจ ผงะหงายหลังออกจากกรงจนเกือบหกล้ม รีบใช้ชายเสื้ออุดปากแผล แต่เอาไม่อยู่ (เพราะมีหลายรูเกินไป) เลือดไหลจนชุ่มเสื้อ บางส่วนหยดเป็นดวงๆ บนพื้นบ้าน ฉันก้มหน้าเห็นเลือดก็ตาลาย นึกได้ว่าต้องล้างแผลเป็นอันดับแรก รีบตะกายไปเปิดก็อกน้ำใส่มือและแขน เลือดไหลพลั่กๆ ปนกับน้ำจนแดงเต็มพื้น สีเข้มยิ่งกว่ายาอุทัยทิพย์

ฉันตกใจเสียดายเลือดตัวเองจนใจสั่นหวิวๆ รีบเอามือซ้ายรัดข้อมือขวาเพื่อห้ามเลือด เดินโซเซกลับมาล้มนอนบนแคร่เพราะหน้ามืด รู้สึกปวดแผลจนจะเป็นลม แต่ไม่กล้าเป็น เพราะกลัวว่ามือที่กดแผลไว้จะหลุด แล้วเลือดจะไหลหมดตัว จินตนาการว่าถ้าตายไปใครจะให้ข้าวหมาแมว

นอนหลับตากดแผลอยู่ราวห้านาที นึกได้ว่ากรงเปิดอยู่ ตายละ เดี๋ยวมันกระโจนไล่กันข้าวของพังหมด (ยังอุตส่าห์ห่วงสมบัติ) ฝืนสังขารลุกมาดู เห็นกรงว่างเปล่า ปรากฏว่าสองแมวไปแอบหลบกันอยู่คนละมุมบ้าน จานอาหารกับอ่างน้ำหกกระจายระเนระนาด

เจ้าน้อยหน่า หมาในบ้านตัวหนึ่งกระโดดไปนั่งอยู่บนเก้าอี้ ส่วนโมเม หมาพิการผู้น่าสงสารของฉันอุตส่าห์กระเสือกกระสนไปซุกอยู่ใต้แคร่ เลยจำต้องเลิกหน้ามืด กัดฟันล่อให้เสือจิ๋วเข้ากรง ไล่สตางค์ลงตะกร้าแล้วปิดฝา รู้สึกปวดแผลจนหน้ามืดอีกรอบหนึ่ง กลั้นใจดูสภาพยับเยินของมือและแขนแล้วก็เห็นว่าต้องไปโรงพยาบาลสถานเดียว กัดฟัน(จนเกือบหัก) อีกครั้ง ซมซานขี่รถออกไป ไม่รู้ว่าขี่ได้ยังไงโดยไม่ตกถนน แต่แล้วฉันก็ฝืนไปโรงพยาบาลไม่ไหว เพราะอยู่ห่างออกไปกว่าสิบกม.เลยไปหมดแรงแค่สถานีอนามัยตำบล

“แผลลึกนะคะนี่ ต้องรักษากันยาวเลย” เจ้าหน้าที่พยายามยัดผ้าก็อซชุบยาลงไปในแผลจนหมดทั้งชิ้น ฉันมองดูกรรมวิธีทำแผลที่ดูเหมือนการยัดนุ่นใส่หมอนแล้วก็เกือบเป็นลมอีกครั้ง

กว่าจะเสร็จเรื่อง วันนั้นหมาแมวได้กินข้าวเกือบเที่ยงคืนเพราะฉันหิ้วหม้อข้าวไม่ไหว

ผ่านไปสองวัน มือและแขนของฉันก็อักเสบ บวมเป่งเหมือนใส่นวมนักมวย ลองกดดูก็นิ่มๆ เหมือนลูกโป่งที่ใส่น้ำเข้าไปจนพองแทนการเป่าลม  มองอีกทีก็เหมือนแขนป๊อบอายหลังกินผักโขม ดูแล้วตลกดี

นึกถึงปฏิกิริยาของบางคนที่รับรู้เหตุการณ์ระทึกใจในบ้านสี่ขา

คนที่ทำแผลให้ฉันบอกว่า
“ยังจะเลี้ยงมันไว้อีกหรือคะ น่าจะทิ้งๆ ไปซะ เดี๋ยวก็ถูกกัดอีกหรอก”

เพื่อนบ้านคนที่เคยเอาหมาแลกถังถึงกับเดินมาขอดูบาดแผล แล้วแสดงทัศนะส่วนตัวว่า
“เป็นฉันหน่อยไม่ได้ จะทุบหัวให้ตายคามือเดี๋ยวนั้นเลย”

อีกคนบอกว่า “บอกแล้วไง อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน เลี้ยงยังไงก็ไม่เชื่อง” แถมอาสาว่า “ถ้าไม่กล้า จะจัดการให้เอามั้ย”

ทำไมบางคนจึงชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ฉันโทรศัพท์เล่าให้แม่ฟัง แม่(ซึ่งถือหางข้างแมว)บอกว่า “จะเอาสำนึกอะไรนักหนากับหมาแมว อยู่ๆ มันมากัดเล่นๆ เมื่อไหร่ เราไปยุ่งกับมันเองแท้ๆ ทีคนมีสมองมากกว่ายังทำผิด แล้วก็ไม่ใช่จะประหารชีวิตกันง่ายๆ นะ ยังมีขออภัยโทษ นี่อาไร้ เป็นสัตว์เข้าหน่อย เอะอะก็จะฆ่าจะแกง”

แล้วแม่ก็สรุปว่า “คนใจดำ”

ในเรื่องร้ายๆ ฉันพบว่ามีหลายเรื่องดีๆ การที่มือขวาใช้ไม่ได้ ทำให้ฉันค้นพบศักยภาพของมือซ้ายที่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

ชีวิตประจำวันของบ้านสี่ขา อันประกอบไปด้วย ก่อไฟ หุงข้าว(ให้หมา) ซักผ้า ล้างจาน หิ้วน้ำรดต้นไม้ เผาขยะ กวาดอึหมา เก็บอึแมว และอีกร้อยเรื่องจิปาถะ ฉันพบว่ามือซ้ายก็ทำได้ แม้จะไม่เรียบร้อย และใช้เวลามากกว่ามือขวาหลายเท่า รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้นอีกเยอะ

เป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า “ปากกัดตีนถีบ” จริงๆ อะไรที่มือเดียวทำไม่ได้หรือไม่ถนัด ฉันจำเป็นต้องใช้ทั้งปากและเท้าช่วย

ใครอยากรู้ว่ายากแค่ไหน ลองนุ่งผ้าถุงด้วยมือข้างเดียวดูนะคะ มือข้างที่ไม่ถนัดนั่นละค่ะ ใครนุ่งได้ง่ายๆ และรวดเร็วช่วยบอกวิธีให้ด้วย

มีคนถามว่าฉันจัดการยังไงกับเสือจิ๋ว ฉันว่า หาวิธีจัดการกับตัวเองสนุกกว่า

สิ่งหนึ่งที่ฉันคิด ขณะที่กำลังพยายามเขียนเรื่องนี้ให้สำเร็จด้วยมือซ้าย ก็คือ ถึงแม้เราจะรักและหวังดีต่อชีวิตแมว หรือชีวิตใครก็ตาม ในบางวิถี เราก็ไม่มีสิทธิยื่นมือเข้าไปแทรก

ขอบใจเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋ว ที่ทำให้คน(บางคน)ตระหนักในที่ทางและศักยภาพของตัวเอง

พบกันวันคิดถึง

4 October, 2007 - 00:42 -- moon

ฝรั่งมักเลี้ยงหมา ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เฝ้าบ้าน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสมบูรณ์ของผู้ชาย ต้องประกอบด้วย การงาน บ้าน ภรรยา ลูกๆ และหมาอย่างน้อยหนึ่งตัว

การเลี้ยงหมา(อย่างถูกวิธี) ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กๆ ให้ละเอียดอ่อนและรู้จักความรับผิดชอบ เพราะหมาพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการใส่ใจสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันหิว หนาว ร้อน หรือป่วยไข้ไม่สบาย การใส่ใจในทุกข์สุขของอีกชีวิตหนึ่ง สอนให้เด็กๆ อ่อนโยนและลดความเห็นแก่ตัว

นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักสบายใจที่ได้บอกเล่าความลับหรือปรับทุกข์กับเพื่อนสี่ขา ในหลายๆ เรื่องที่เขาไม่อาจสื่อสารกับผู้ใหญ ทั้งเด็กๆ ยังได้หัดเผชิญกับความสูญเสีย เพราะหมานั้นอายุสั้นกว่าคนหลายเท่า

วงการแพทย์พบว่า หมาแมวสามารถเยียวยาอาการเจ็บป่วยของเด็กๆ และช่วยฟื้นฟูผู้ชราที่เป็นโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

ตลอดเวลาที่อยู่กับเจ้าสี่ขากว่าเจ็ดสิบตัว ฉันรู้สึกว่าชีวิตเรียนรู้เท่าไรก็ไม่หมด ไม่น่าเชื่อว่าการคลุกคลีกับสัตว์ที่พูดไม่ได้ และ(บางครั้ง)เดาใจไม่ออก จะทำให้ฉันสามารถอยู่กับคนได้อย่างปล่อยวางมากขึ้น ไม่มีเงื่อนไข และไม่คาดหวัง

นึกถึงเรื่อง “พบกันวันคิดถึง” หรือ See you anytime I want ของคิคุตะ มาริโกะ หนังสือภาพเล่มเล็กๆ ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากงานมหกรรมหนังสือเด็กโบโลนญา ปี 1999 และจำหน่ายมาแล้วกว่า 1,000,000 เล่มในประเทศญี่ปุ่น

เป็นเรื่องราวความผูกพันของเพื่อนรักคู่หนึ่ง ชิโระกับมิกิ

เหตุเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน
ชิโระต้องก้าวข้ามความโศกเศร้า
พอหลับตาลงแล้วคิดถึงเรื่องราวของมิกิจัง
ผมจะได้พบมิกิจังเสมอ
แม้อยู่ไกล เราก็อยู่ใกล้กัน
ภายใต้เปลือกตา เราไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เรายังคงเหมือนวันเวลานั้น
ผมพบกับมิกิจัง
ทุกเวลาที่คิดถึง

........

เป็นหนังสือที่หยิบเอาเรื่องความตายมาอธิบายได้อย่างสวยงาม ทั้งยังบอกวิธีรับมือกับความเศร้าได้อย่างอ่อนโยน ภาพลายเส้นง่ายๆ ของหมาน้อยในหนังสือ เรียกรอยยิ้มได้ทุกครั้งที่อ่าน แม้บางครั้งจะดึงให้เรานึกถึงเรื่องที่อยากร้องไห้

หมาแมวบ้านสี่ขาล้วนมีความเป็นมาที่น่าเศร้า หลายตัวผ่านการถูกทำร้าย อดอยากขาดแคลนทั้งอาหารและความรัก จึงเจ็บป่วยอ่อนแอทั้งกายและใจ ถึงจะพลิกฟื้นคืนความแจ่มใสได้ แต่หลายตัวก็อายุไม่ยืนยาวนัก

การนั่งมองเพื่อนสี่ขาหมดลมหายใจในมือของฉันตัวแล้วตัวเล่า ไม่ได้ทำให้เกิดความเคยชิน การจากพรากแต่ละครั้งยังสะเทือนใจไม่ต่างกัน

ยุ่งยิ่งเป็นหมาเล็กๆ อีกตัวหนึ่งที่ฉันรับเลี้ยงไว้ ครั้งแรกที่พบกันนั้น เป็นระหว่างทางที่ฉันกลับจากการจัดรายการวิทยุที่ FM 103 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ลูกหมาตัวหนึ่งนอนหมดเรี่ยวแรงอยู่บนพื้น แทบทุกตารางนิ้วของผิวหนังเต็มไปด้วยเห็บ หมัด และเหา ทั้งเกาะติดแน่นและไต่ยั่วเยี้ยเต็มตัวจนไม่อาจนับจำนวนได้

ฉันขนลุกเมื่อมองเห็บที่กระจุกอยู่เหมือนเมล็ดข้าวโพดในฝัก ลูกหมาตัวนี้กำลังจะตาย ดวงตากลมโตแต่เซื่องซึมของมันบอก พี่น้องตัวอื่นๆ ของมันถูกขายไปแล้ว เหลือแต่ยุ่งยิ่งที่ตัวเล็ก อ่อนแอ และไม่สวย แม่ของมันกำลังถูกบำรุงเพื่อท้องลูกครอกใหม่ ยุ่งยิ่งเป็นหมาที่ไม่มีใครอยากได้ แม้แต่เจ้าของของมัน

“ขอได้ไหม” ฉันถามเจ้าของ และเมื่อเขาบอกอย่างไม่สนใจว่า “ก็เอาไปสิ” ฉันจึงหยิบเจ้าตัวกระจ้อยร่อยเบาหวิวใส่ถุงและรีบพาไปหาหมอ สัตวแพทย์อุทานด้วยความตกใจเมื่อเห็นปริมาณเห็บหมัดบนตัวเจ้าหมาน้อย

ยุ่งยิ่งโตขึ้นเป็นหมาแคระแกร็นเพราะสุขภาพไม่ดี หมอบอกว่าหมาตัวนี้อายุไม่ยืน แต่ฉันพยายามยืดชีวิตมันไว้ให้นานที่สุด ให้มันมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขที่ขาดไปในวัยเยาว์ แต่ยุ่งยิ่งเป็นโรคโลหิตจางและมีภูมิคุ้มกันต่ำ มันจึงป่วยบ่อยๆ ด้วยสารพัดโรค 

เกือบห้าปีที่วนเวียนกินยา ฉีดยา และให้น้ำเกลือ ยุ่งยิ่งอยู่กับฉันอย่างน่ารักน่าสงสาร มันสงบเสงี่ยมเจียมตัว พอใจเพียงแค่ได้มานอนซุกเงียบๆ อยู่บนตัก และมีความสุขอย่างเห็นได้ชัดเมื่อฉันอุ้มไปเดินเล่น

ยุ่งยิ่งสามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานครึ่งค่อนวัน มีเพียงดวงตากลมโตที่กลอกตามความเคลื่อนไหวของฉันตลอดเวลา อย่างที่ฉันไม่เคยเห็นจากหมาตัวไหนๆ แม้ในชั่วโมงเจ็บปวดทุรนทุราย ตาคู่นั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนเป้าหมายไปที่อื่น

วันที่เขียนเรื่องนี้ ฉันเพิ่งขุดหลุมฝังยุ่งยิ่ง แดดจัดจ้าทำให้ผิวดินร้อนระอุ ทั้งแน่นและแข็ง เหวี่ยงจอบแต่ละทีสะเทือนไปทั้งไหล่ แต่ฉันก็พยายามขุดให้ลึกที่สุด เพื่อให้ถึงเนื้อดินเย็นๆ ข้างล่าง

ฉันบรรจงจัดท่านอนให้ยุ่งยิ่ง เกลี่ยดินกลบตัวมันจนแน่น แล้วก็นั่งเป็นเพื่อนมันอยู่อีกนาน คิดว่าข้างใต้นั้นคงเย็นสบาย เจ้าหมาน้อยจะไม่ทุรนทุรายอีกต่อไป

ความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ ทุกชีวิต จะคนหรือหมา สุดท้ายก็ต้องกลับคืนสู่ผืนดิน

นึกถึงเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่เคยนั่งอยู่บนพื้นดินใต้ต้นสะเดาเก่าแก่ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในภาคอิสาน ลึกลงไปใต้โคนต้นสะเดา ฝังกระดูกของพ่อฉันไว้ ตอนนั้นฉันก็คุยกับพ่อว่า ข้างใต้นั้นคงเย็นสบายนะ พ่อน่าจะหลับสบาย ใช่ไหมพ่อ

ไม่มีใครจากไปอย่างแท้จริง
ตราบเท่าที่เรายังรักและคิดถึงเขาเสมอ
เราพบกับคนที่เรารัก
ทุกเวลาที่คิดถึง

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ moon