ภาพเบื้องหน้า....นาข้าวเป็นสีทอง ทั้งรวงข้าว ต้นข้าวล้วนเป็นสีทอง นอกจากภาพนั้น ทุ่งก็เจอกลิ่นหอมของข้าวใหม่ลอยมาจางๆ ต้นข้าวบางส่วนยังยืนต้น บางส่วนก็ล้มลงไป ทั้งที่เพราะต้นงามสูงเกินไปจึงล้ม บ้างล้มเพราะพายุฝนปลายฤดู
ความทรงจำแรกที่โผล่ปรากฏ เรื่องเล่าของคณะคนเมืองที่ไปเดินป่าศึกษาวิถีชีวิตคนปกาเกอะญอบนดอยสูงของเทือกเขาเมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่เดินไป ชายหนุ่มคนหนึ่งมองไปที่เชิงเขาเบื้องหน้า แล้วก็อุทานว่า "โอ้โห...ทุ่งหญ้าสวยมากเลย" เจ้าบ้าน และผู้ที่พอรู้จักทุ่งนั้นกล่าวออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า "นั่นไม่ใช่ทั่งหญ้า แต่มันคือทุ่งข้าว" ทันใดนั้นชายหนุ่มคนดังกล่าวก็ถลาวิ่งไปเบื้องหน้าเต็มกำลัง ด้วยความตกใจหลายคนวิ่งตามออกไป พบว่าเขานั่งอยู่ริมทุ่งนั้นเพ่งมองต้นข้าวอย่างตั้งใจด้วยท่าทีที่น่าประหลาดใจ เขากล่าวออกมาว่า "นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เห็นต้นข้าว"
ความทรงจำที่สองที่โผล่ปรากฏ เรื่องเล่าของนักเรียนชั้นประถมในโรงเรียนกลางเมืองบางกอก บทเรียนที่จะพูดถึงทุ่งนา การทำนา ชาวนา ครูถามนักเรียนเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนว่า "ใครรู้บ้างว่า ข้าวมาจากไหน" นักเรียนทั้งห้องเงียบกริบ สักครู่ จึงมีเด็กคนหนึ่งกล้าหาญชาญชัย ยกมือด้วยความมั่นอกมั่นใจ และตอบไปว่า "ข้าวมาจากมาบุญครองครับ"
ความทรงจำที่สามที่โผล่ปรากฏ คำสอนในโรงเรียนที่บอกกล่าวเรื่องการกินข้าวว่า เป็นคำที่ก้องอยู่ในทรงจำของผู้คนทั่วไป "กินข้าวให้หมดจาน"
ความทรงจำที่สี่ที่โผล่ปรากฏ ในเวทีการแสดงดนตรีครั้งหนึ่ง ศิลปินหญิงแห่งล้านนากล่าวว่า "เมื่อก่อนเขายกย่องชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ บัดนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นต่อไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เขาเรียกชาวนาเป็นรากหญ้า"
ความทรงจำที่ห้าที่โผล่ปรากฏ ในการสนทนากับผู้เฒ่าปกาเกอะญอแห่งขุนดอยแม่วาง ผู้เฒ่าบอกว่า "ข้าวในนาที่ร่วงหล่นไปในยามเก็บเกี่ยว นกได้กินหนูได้กิน ตอนนวดตอนขน บางส่วนก็ร่วงหล่นลงไป นกได้กินหนูได้กิน เอามาตาก เอามาตำ เป็นรำหมูได้กิน บางส่วนปลิวไปกับลมเวลาฝัดไก่ได้กิน เอามาหุงน้ำข้าวหมาได้กิน หุงเสร็จแล้วคนได้กิน บางครั้งญาติพี่น้องแขกไปใครมาได้กิน กินเหลือกินหก หมูได้กิน หมาได้กิน ไก่ได้กิน ไม่มีส่วนไหนเลยที่เสียหาย สุดท้ายบางส่วนที่เหลือเศษเล็กเศษน้อยก็กลายไปเป็นอาหารของมดปลวก"
ภาพเบื้องหน้า...ชาวนากำลังเกี่ยวข้าว ก้มๆ เงยๆ นกบางตัวบินวนอยู่เหนือทุ่ง เมฆสีขาวลอยอยู่ไกลๆ ตรงขอบฟ้าสีฟ้า
ความรู้สึก สุขๆ เหงาๆ อย่างไรไม่รู้แล้ว