ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง ว่ากันโดยส่วนใหญ่ตามประสบการณ์ที่เห็นอยู่ คงมีช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตก้าวลงสู่ช่วงตกต่ำ ในแง่นี้อาจจะหนักกว่าคำว่า “ขาลง” ว่าก็คือชีวิตเริ่มล้มเหลว ทุกข์แสนสาหัส ดูเหมือนช่วงเวลานั้นไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ทุ่มเทเพียงใด มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยังคงแย่ลงๆ เรื่อยๆ บางครั้งมันก็หนักหนาเกินกว่าจะทนไหว ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนหนึ่งทนไม่ได้กับสภาวะนั้น กรณีฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้น เพราะเมื่อคนยิ่งแย่ลง ต่ำลง มันก็ได้เข้าสู่จุดศูนย์ของความเปราะบางมากที่สุด บริเวณจุดศูนย์ของความเปราะบางนี้เองที่มันก็มีความข้น – จางต่างไปของแต่ละคนตามแต่วิถีของชีวิต บ้างก็เข้าสู่ภาวะนั้นยาวนาน บ้างก็สั้นต่างกันไป
ความสำคัญของจุดศูนย์นั้น ว่าที่สุดแล้วมันก็เป็นทางผ่านอันหนึ่งที่ชีวิตจำเป็นต้องก้าวผ่าน หากเราใช้ทางที่ดิ่งลงนั้นหรือใช้จุดศูนย์นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ แน่นอนว่าเราก็จะเห็น อันหมายถึงการเฝ้ามองภาวะนั้นตามที่มันเป็น และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวผ่านมันไปได้อย่างมั่นคง หรือแม้จะโงนเงนไปบ้าง แต่ที่สุดเราก็จะผ่านมันได้อยู่ดี ปัญหาก็คือว่า เราจะก้าวและดำรงอยู่ในภาวะนั้นด้วยความเข้าใจได้อย่างไร หากมองลึกลงไปอย่างแท้จริงในใจมนุษย์ ภาวะที่เป็นหลักการว่ามองมันอย่างเข้าใจจึงจะพบหนทาง อย่างนี้เข้าใจได้ไม่ยากนัก รับรู้ได้ไม่ยากนัก แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจลึกลงไปในแง่การปฏิบัติ นี่จึงเป็นเรื่องยากลึกลงไปกว่านั้น
ลองว่ากันดู… ทางกายภาพคงต้องเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต เช่น ถ้าการทำ ยิ่งทำยิ่งล้มเหลว ก็อาจเปลี่ยนเป็นทำให้น้อยลง แต่หันมาลงลึกกับสิ่งที่ทำให้มากขึ้น ทำให้ช้าลง และเรียนรู้เฝ้ามองกระบวนการนั้นโดยตลอดและละเอียด หรือถ้าหนักหนาสาหัสนักก็อาจถึงขั้นหยุดทำทั้งหมด แล้วรอ เฝ้าดูกระบวนการที่ทำมาทั้งหมดว่ามันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด ในแง่นี้แน่นอนอยู่ว่า ทั้งหมดมันมีกระบวนการเคลื่อนไหวของมัน วิธีนี้ในขั้นแรกอาจต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังเช่น คนป่วยที่ดื้อยา เมื่อหยุดให้ยาก็อาจมีสภาพลงแดง อันเป็นผลกระทบจากการหยุดยานั้นเอง ซึ่งต้องใช้ความอดทนพอสมควร
อีกวิธี… คือการเปลี่ยนทั้งขบวน คือการเคลื่อนย้ายกระบวนการทั้งหมดของชีวิต เปลี่ยนทุกสิ่งที่ทำ ปล่อยให้ชีวิตก้าวลงสู่จุดศูนย์แล้วเริ่มต้นวิถีใหม่ทั้งหมด อันนี้อาจยากกว่าแต่ก็เป็นไปได้ ในแง่นี้ก็คือการพาตัวเองมาจากสนามพลังอันนั้น แล้วหันกลับไปมองมันอีกครั้ง การเรียนรู้ก็จะผุดโผล่ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องเผื่อใจยอมรับว่า ที่สุดแล้วมันจะไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด ความอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ ในวาระนี้กัลยาณมิตรจึงสำคัญและมีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลง
วิธีหนึ่ง… ที่นำพาชีวิตสู่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ง่ายที่สุดในภาวะก้าวลงสู่จุดศูนย์นี้ คือการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมแบบใหม่ อาจเริ่มจากการปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น แล้วออกไปเดิน หรือออกกำลังกาย หรือเดินแล้วค่อยออกกำลังกาย เดินอย่างปราศจากจุดมุ่งหมาย เดินช้าๆ ไม่ต้องมีกระบวนวิธีอะไร เพียงแค่เดิน แค่เดินจริงๆ วิธีนี้มีผู้คนใช้ได้ผลมาพอสมควรแล้ว และถ้าว่าตามประวัติศาสตร์ ปราชญ์โบราณหลายคนล้วนเป็นนักเดินกันทั้งนั้น…เพียงแค่เดิน
นี่อาจเป็นวิธี…อาจตอบสนองต่อหลักการ (หรือเปล่า มั้ง) หรืออย่างไร…เชิญร่วมวงสนทนาหาทางร่วมกันเถิด