Skip to main content

ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง ว่ากันโดยส่วนใหญ่ตามประสบการณ์ที่เห็นอยู่  คงมีช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตก้าวลงสู่ช่วงตกต่ำ  ในแง่นี้อาจจะหนักกว่าคำว่า “ขาลง”  ว่าก็คือชีวิตเริ่มล้มเหลว ทุกข์แสนสาหัส  ดูเหมือนช่วงเวลานั้นไม่ว่าจะพยายามเพียงใด  ทุ่มเทเพียงใด  มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยังคงแย่ลงๆ เรื่อยๆ  บางครั้งมันก็หนักหนาเกินกว่าจะทนไหว  ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนหนึ่งทนไม่ได้กับสภาวะนั้น  กรณีฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้น  เพราะเมื่อคนยิ่งแย่ลง  ต่ำลง  มันก็ได้เข้าสู่จุดศูนย์ของความเปราะบางมากที่สุด  บริเวณจุดศูนย์ของความเปราะบางนี้เองที่มันก็มีความข้น – จางต่างไปของแต่ละคนตามแต่วิถีของชีวิต  บ้างก็เข้าสู่ภาวะนั้นยาวนาน  บ้างก็สั้นต่างกันไป 

ความสำคัญของจุดศูนย์นั้น  ว่าที่สุดแล้วมันก็เป็นทางผ่านอันหนึ่งที่ชีวิตจำเป็นต้องก้าวผ่าน  หากเราใช้ทางที่ดิ่งลงนั้นหรือใช้จุดศูนย์นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้  แน่นอนว่าเราก็จะเห็น  อันหมายถึงการเฝ้ามองภาวะนั้นตามที่มันเป็น  และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวผ่านมันไปได้อย่างมั่นคง  หรือแม้จะโงนเงนไปบ้าง  แต่ที่สุดเราก็จะผ่านมันได้อยู่ดี  ปัญหาก็คือว่า  เราจะก้าวและดำรงอยู่ในภาวะนั้นด้วยความเข้าใจได้อย่างไร  หากมองลึกลงไปอย่างแท้จริงในใจมนุษย์  ภาวะที่เป็นหลักการว่ามองมันอย่างเข้าใจจึงจะพบหนทาง  อย่างนี้เข้าใจได้ไม่ยากนัก  รับรู้ได้ไม่ยากนัก  แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจลึกลงไปในแง่การปฏิบัติ  นี่จึงเป็นเรื่องยากลึกลงไปกว่านั้น

ลองว่ากันดู…  ทางกายภาพคงต้องเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต  เช่น  ถ้าการทำ ยิ่งทำยิ่งล้มเหลว  ก็อาจเปลี่ยนเป็นทำให้น้อยลง  แต่หันมาลงลึกกับสิ่งที่ทำให้มากขึ้น  ทำให้ช้าลง  และเรียนรู้เฝ้ามองกระบวนการนั้นโดยตลอดและละเอียด  หรือถ้าหนักหนาสาหัสนักก็อาจถึงขั้นหยุดทำทั้งหมด  แล้วรอ  เฝ้าดูกระบวนการที่ทำมาทั้งหมดว่ามันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด  ในแง่นี้แน่นอนอยู่ว่า  ทั้งหมดมันมีกระบวนการเคลื่อนไหวของมัน  วิธีนี้ในขั้นแรกอาจต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น  ดังเช่น  คนป่วยที่ดื้อยา  เมื่อหยุดให้ยาก็อาจมีสภาพลงแดง  อันเป็นผลกระทบจากการหยุดยานั้นเอง  ซึ่งต้องใช้ความอดทนพอสมควร 

อีกวิธี… คือการเปลี่ยนทั้งขบวน  คือการเคลื่อนย้ายกระบวนการทั้งหมดของชีวิต  เปลี่ยนทุกสิ่งที่ทำ  ปล่อยให้ชีวิตก้าวลงสู่จุดศูนย์แล้วเริ่มต้นวิถีใหม่ทั้งหมด  อันนี้อาจยากกว่าแต่ก็เป็นไปได้  ในแง่นี้ก็คือการพาตัวเองมาจากสนามพลังอันนั้น  แล้วหันกลับไปมองมันอีกครั้ง  การเรียนรู้ก็จะผุดโผล่ขึ้นมา  ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องเผื่อใจยอมรับว่า  ที่สุดแล้วมันจะไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด  ความอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ  ในวาระนี้กัลยาณมิตรจึงสำคัญและมีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลง 

วิธีหนึ่ง…  ที่นำพาชีวิตสู่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ง่ายที่สุดในภาวะก้าวลงสู่จุดศูนย์นี้  คือการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมแบบใหม่  อาจเริ่มจากการปรับเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้น  แล้วออกไปเดิน  หรือออกกำลังกาย  หรือเดินแล้วค่อยออกกำลังกาย  เดินอย่างปราศจากจุดมุ่งหมาย  เดินช้าๆ  ไม่ต้องมีกระบวนวิธีอะไร  เพียงแค่เดิน  แค่เดินจริงๆ  วิธีนี้มีผู้คนใช้ได้ผลมาพอสมควรแล้ว  และถ้าว่าตามประวัติศาสตร์  ปราชญ์โบราณหลายคนล้วนเป็นนักเดินกันทั้งนั้น…เพียงแค่เดิน

นี่อาจเป็นวิธี…อาจตอบสนองต่อหลักการ (หรือเปล่า มั้ง) หรืออย่างไร…เชิญร่วมวงสนทนาหาทางร่วมกันเถิด

บล็อกของ นาโก๊ะลี

นาโก๊ะลี
บางกอก เมืองหลวงที่รวมของทุกสิ่งในประเทศ ที่รวมของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ความหลากหลายตามที่ใครต่อใครบอกกล่าวกันว่า นั่นเป็นเรื่องสวยงาม ก็ว่ากันไป บางคนก็อาจเข้าใจได้ตามที่กล่าว แต่บางคนก็แค่ตีฝีปากเพื่อให้ดูดีมีรสนิยม ก็แล้วแต่ต้นทุนของใครของมัน มีความจริงอันหนึ่งก็คือ ในบางกอก ที่ที่มีทุกอย่างให้แสวงหา แต่ก็กลับมีคนจำนวนหนึ่งที่โหยหาอิสรภาพ ซึ่งดูเหมือนเมืองที่มีทุกสิ่งอย่างบางกอก จะไม่มีสิ่งนี้ หรือเปล่า...มั้ง...
นาโก๊ะลี
เดือนธันวาคม....คล้ายกับว่า ผู้คนมากมายล้วนให้คุณค่า ให้ความสำคัญ หรือให้ความหมายต่อเดือนนี้ เป็นพิเศษ อย่างนั้นหรือเปล่า อาจจะด้วยว่ามันเป็นเดือนสุดท้ายของปี และก็เป็นเดือนของฤดูหนาว ที่ผู้คนจะได้ออกเดินทาง จะได้ท่องเที่ยว เป็นเดือนที่มีวันหยุดยาวๆ เป็นเดือนที่ทุกคนคล้ายอยากให้ถึง หรือไม่อยากให้ถึง เพราะนั่นก็เป็นสัญลักษณ์ว่า อีกปีหนึ่งกำลังจะผ่านไปแล้ว สายลมที่นำพาลมหนาวมาหยุดพัดไปบ้างแล้ว ในชนบท สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความเหน็บหนาวที่แทรกอยู่ในอากาศ ดังนั้นแม้ไม่มีลมหนาว ก็ยังหนาว ใต้ถุนเรือน หรือลานบ้าน เป็นที่ก่อไฟให้ล้อมวงผิงไฟ เช้าๆ หรือยามค่ำคืน…
นาโก๊ะลี
  ริมฝั่งน้ำที่ไม้ได้กว้างใหญ่ไพศาลเท่าใดนัก ลมเหนือพัดพาไอหนาวมาถึง และนั่นก็พอก่อให้ผืนน้ำเกิดก่อเป็นคลื่นเล็กๆ เคลื่อนเข้าสู่ฝั่ง หรือแปลเปลี่ยนทิศทางไปตามแรงลม นั่นมิได้มีอะไรพิเศษแตกต่างออกไป หากแต่ว่า ในผืนน้ำอันมิได้กว้างใหญ่เท่านั้นนั้น ปรากฏเศษหญ้าที่ลอยไปตามน้ำและลม เราเห็นแล้ว มันเคลื่อนไปอย่างไม่มีจุดหมาย มันเคลื่อนไปเพราะไม่ใช่ต้นหญ้าอีกต่อไปแล้ว มันไม่มีชีวิต มันไม่มีที่ทางให้หยัดยืน มันมิได้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะของตัวเอง มันย่อมไม่เรียกว่ามันดำรงอยู่  
นาโก๊ะลี
สิ่งแรกที่อยากบอกเล่าก็คือเรื่องของความมหัศจรรย์ ติช นัท ฮันห์ บอกว่า ความมหัศจรรย์ของชีวิต ไม่ใช่อยู่ที่การเดินบนน้ำได้ หรือการเหาะได้ แต่การยืน และเดินอยู่บนผืนแผ่นดิน นี่ก็เป็นความมหัศจรรย์แล้ว เช่นนั้นแล้วยามใดที่ชีวิตมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้น นั่นก็คงเป็นความมหัศจรรย์ด้วยนั่นเอง
นาโก๊ะลี
การสนทนายามเช้า ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ออนไลน์... มีบางสิ่งขาดหาย และเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย นั่นคือ จดหมาย และไปรษณียบัตร เมื่อเราเริ่มแตกเนื้อหนุ่ม เริ่มรู้จักมองหญิงสาว เริ่มหลงรักสาว เริ่มเรียนรู้วิธีจีบหญิง ช่วงเวลานั้น การสื่อสารที่ชัดเจนที่สุดที่เราสามารถสื่อสารได้ ว่าก็มากกว่าการพูดคุย เพราะการพูดคุยเรามักเขินอายกันอยู่มาก การสื่อสารที่ว่านั้นก็คือ จดหมาย
นาโก๊ะลี
อันที่จริง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นมาตลอดชีวิตกระมัง แต่เราก็รู้สึกถึงมันอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และเราทั้งหลายก็อาจจมอยู่ในสภาพวะเช่นนี้อยู่เสมอ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง พยายามเปลี่ยนอยู่บ้าง หรือสยบยอมอยู่บ้าง นั่นก็คงสุดแท้แต่วิถีของแต่ละคน ผิดหรือถูกก็อาจจะไม่มีอยู่ ความเหมาะสมของแต่ละคนคงจะเป็นเกณฑ์ได้กระมัง
นาโก๊ะลี
ฉันจะดำรงอยู่เพื่อเธอ                      และฉันเรียนรู้เสมอเป็นอย่างนี้ เราเก็บเกี่ยวเรื่องราวมากมี                มาหลอมเป็นวิถีเป็นทางของเรา ฉันยังได้ยินเสียงของเธอ                 ถ้อยคำนำเสนอมาบอกเล่า พาไปค้นแก่นแท้จากวัยเยาว์             เห็นดวงจิตเก่าซึ่งงดงาม ฉันจะเป็นหนึ่งเดียวกับเธอ  …
นาโก๊ะลี
เราทั้งหลายต่างก็เคยล้มเหลว หรือประสบผลสำเร็จ นั่นก็ไม่ได้มีอะไรแปลกออกไป เราทั้งหลายรับรู้และประสบเช่นนั้นเสมอมาว่ากันไป แต่สิ่งที่เรานึกถึงในช่วงเวลานี้ก็คือ หลายครั้งหลายคราวที่เราประสบความล้มเหลวกับกิจการงานแห่งชีวิต เรามักมองเห็นเหตุปัจจัยมากมายที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยอันนำมาสู่ความล้มเหลวนั้น นี่ก็ว่าถึงคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเราด้วยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยนั้น คนเดียว และสาเหตุเดียวที่มิได้เกี่ยวข้อง และอยู่นอกเหนือเงื่อนไขนั้นก็คือเรา (หรือเปล่า...มั้ง) หรือว่าเราอาจจะรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ก็เห็นเป็นสาเหตุอันเล็กน้อยเท่านั้น นี่ก็ว่ากันไปตามสภาพที่พบทั่วไป…
นาโก๊ะลี
เช้าวันนี้....มีหมอกจางๆ ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ความรู้สึกบอกเราว่า นี่กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ฤดูที่ใครๆ หลายคนนิยมชมชอบ หมอกจางๆ ทำให้ทางเดินในสวนสลัวราง มองไปไกลๆ ในบึงเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่ในความสลัวนั้น นับเป็นภาพที่งดงามไม่น้อยนัก พระอาทิตย์สีแดงดวงโตๆ ค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นจากสายหมอก นับเป็นยามเช้าที่เบิกบานและงดงามได้ไม่น้อยทีเดียว
นาโก๊ะลี
“ทำไม” เข้าใจว่า นี่เป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในชีวิต ในกระบวนการเรียนรู้ และการเติบโตของผู้คนส่วนใหญ่ ว่าก็เมื่อเริ่มรู้จักกับการตั้งคำถาม หรือเริ่มสงสัยใคร่รู้เรื่องราวในชีวิต
นาโก๊ะลี
เมื่อยังเด็ก ไม่เข้าใจอะไรนัก เวลาที่เราเห็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เรารู้สึกว่ามันเหนือกว่าธรรมชาติ เราจะคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เช่น การบินของเรือบิน เราคิดว่านั่นเป็นความพิเศษที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วยังมีสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งรถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ ไฟฟ้า ทั้งหลายทั้งปวง ที่เรารู้มาว่ามันเป็นผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ และเราก็คิดว่า นั่นไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ มันคือความเก่งของมนุษย์ที่สร้างมันขึ้นมา
นาโก๊ะลี
แผ่นดินกี่แดนใด               มีเอาไว้ให้พักพิง ยามเหนื่อยได้แอบอิง         หลบมาพักเพื่อฟื้นฟู ออกไปจากบ้านเก่า            จากวัยเยาว์ไปเรียนรู้ เติบโตค่อยมาดู                 ผืนแผนดินแห่งวันวาน หรือจากแล้วไปลับ             เดินทางกลับเลยทางผ่าน เป็นเวลาชั่วกาลนาน           ที่ลับล่วงแล้วพ้นเลย…