“ทำไม” เข้าใจว่า นี่เป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในชีวิต ในกระบวนการเรียนรู้ และการเติบโตของผู้คนส่วนใหญ่ ว่าก็เมื่อเริ่มรู้จักกับการตั้งคำถาม หรือเริ่มสงสัยใคร่รู้เรื่องราวในชีวิต
พี่ชายคนหนึ่งเคยเล่าให้เราฟัง เมื่อคราวที่เราขึ้นดอยไปอยู่ในหมู่บ้านปกาเกอะญอใหม่ๆ ว่า เมื่อแรกเข้ามาอยู่หมู่บ้านบนดอย ในฐานะปัญญาชนจากเมือง ไม่นานนักกับการสัมผัสรู้จักชุมชนมากขึ้น เขาก็พบกับภูมิปัญญาอันลึกล้ำ ของผู้คนบนดอย ความรู้ ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต กับธรรมชาติ เมื่อนั้นเขาพบว่า เขาช่างมีความรู้อยู่น้อยนิดเหลือเกิน จากปัญญาชนในเมืองจึงกลายมาเป็นผู้เรียนรู้วิถีชีวิต นานวันเข้า ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ เขาก็พบว่า ความรู้ที่เขาเพิ่มพูนมีมากขึ้นนั้น เขาก็ยิ่งรู้น้อยลงทุกที เมื่อเทียบกับเรื่องราวที่ได้รับฟังรับรู้มากขึ้นประหนึ่งว่ามันจะไม่มีวันจบสิ้น
การเดินทางอันยาวนานของชีวิตเรา มักมีเส้นทางคู่ขนานกันอยู่เสมอ นั่นก็คือหนทางภายนอก กับหนทางภายใน นั่นก็คืออาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลในใจของเรา
หนทางภายนอกนั้น ว่าไปมันไม่มีความสลับซับซ้อนมากมายนัก มีบ้างบางครั้งหรอกกระมังหากมันเป็นเส้นทางใหม่ของชีวิต เราอาจต้องใช้เวลากับมัน อาจหลงทาง ให้ได้ค้นหา แต่ทั้งหมดนั้น เราก็พบทางออกเสมอ เราพบหนทางที่เราต้องการเสมอ แต่ที่ยากก็คือ หนทางในอาณาจักรภายในต่างหาก ที่หลายครั้ง เราต่างเดินทางไปอย่างไม่ได้รู้ตัว เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้ตัว สิ่งแรกๆ ที่เราจะเริ่มรู้สึกก็คือ กลัว เราไม่แน่ใจว่าในอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นเราจะพบอะไรบ้าง ทั้งหมดมันอาจลึกลับ แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คำถามว่าก็โดยเฉพาะคำว่า “ทำไม”
เมื่อเรารู้ว่า หนทางภายในนั้น นำมาซึ่งการเติบโตทางจิตวิญญาณ แม้ว่าทั้งหมดนั้นเราดำเนินไปบนความเสี่ยง ความไม่แน่ใจ แต่ทุกครั้งที่ก้าว ทุกคราวที่พบ นั่นมันหมายถึงความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณนั่นเอง สำคัญที่สุดของการเดินทางนั้น ไม่ได้อยู่ที่การกล้าเผชิญกับสิ่งที่เราพบหรอกกระมัง แต่สิ่งที่สำคัญที่เราต้องเผชิญ ก็คือ ความกลัว